ผีสางเทวดา  เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ที่วัดพนัญเชิง นอกเกาะเมืองอยุธยาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เป็นประดิษฐาน “พระพุทธไตรรัตนนายก” หรือ “หลวงพ่อโต” พระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน ปางมารวิชัยองค์มหึมา ซึ่งมีผู้สันนิษฐานว่าชื่อวัดพนัญเชิงคงมาจาก “ปาง” ของหลวงพ่อโต ซึ่งประทับนั่งขัดสมาธิราบ อย่างที่ในภาษาเขมรเรียกว่า “แพนงเชิง” คือพับขานั่นเอง

“พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน” ฉบับล่าสุด คือ ๒๕๕๔ ก็ยังเก็บคำนี้ไว้ ว่าเป็นคำนาม มีความหมายว่า การนั่งขัดสมาธิ พร้อมวงเล็บ (ข.) คือมาจากภาษาเขมร ต่อข้างท้าย

แต่ก็มีตำนานอธิบายที่มาของชื่อนี้ไปอีกทางหนึ่งด้วย ดังที่เล่าไว้ใน “พงศาวดารเหนือ” ว่าพระเจ้าสายน้ำผึ้ง กษัตริย์กรุงอโยธยา ได้นางสร้อยดอกหมาก ธิดาพระเจ้ากรุงจีน มาเป็นมเหสี แต่พระเจ้าสายน้ำผึ้งพูดจาไม่เข้าหู นางสร้อยดอกหมากเกิดน้อยใจเลยกลั้นใจตาย “จึงเชิญศพมาพระราชทานพระเพลิงที่แหลมบางกะจะ สถาปนาเปนพระอารามให้นามชื่อวัด พระเจ้าพระนางเชิงแต่นั้นมา”

“พงศาวดารเหนือ” นั้น คงเป็นการรวบรวมตำนานท้องถิ่นต่างๆ มา “เย็บเล่ม” เข้าเป็นเรื่องเดียวกัน มีตั้งแต่เรื่องพระร่วง พระยาแกรก พระเจ้าอู่ทอง จนถึงตำนานพระแก้วมรกต อย่างเรื่องพระเจ้าสายน้ำผึ้งกับพระนางสร้อยดอกหมาก และการ “เชิญ” พระศพ “พระนาง” มาพระราชทานเพลิงนี้ ก็น่าจะเป็นตำนานชาวบ้านสมัยก่อน เพื่ออธิบายที่มาของชื่อ “วัดพนัญเชิง” ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่าแปลว่าอะไร

แต่ที่วัดพนัญเชิงก็ยังมีศาลเจ้าแม่สร้อยดอกหมากซึ่งสร้างขึ้นตามตำนานเรื่องนี้ด้วย ผู้ไปสักการะนิยมถวายผ้า ถวายเรือ และถวายสายสร้อย ในทำนองเดียวกับที่พบเป็นของถวายเจ้าแม่ทับทิม เลยชวนให้คิดต่อไปว่า หรือว่าดั้งเดิม ที่นี่จะเป็นศาลเจ้าแม่ทับทิมมาก่อน แล้วจึงมาถูกซ้อนทับด้วยตำนานเจ้าแม่สร้อยดอกหมากที่นำมาจาก “พงศาวดารเหนือ” ?

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

chaomae04

คนจีนในเมืองไทยนับถือเจ้าแม่ทับทิมมาช้านาน เชื่อกันว่าเจ้าแม่เป็นเทพธิดาแห่งท้องทะเล คุ้มครองรักษาชาวประมงและคนเดินเรือทะเล กล่าวกันว่าเจ้าแม่ทับทิมเป็นคติความเชื่อท้องถิ่นชายฝั่งทะเลตะวันออกเฉียงใต้ของจีน แถบเกาะไหหลำ คนจีนที่เข้ามาเมืองไทยหลายยุคหลายสมัย และผสมกลมกลืนกลายเป็นบรรพชนของคนไทยปัจจุบัน ก็คงนำเอาความนับถือนี้ข้ามน้ำข้ามทะเลมากับด้วย ในเมืองไทยเราจึงพบศาลเจ้าแม่ทับทิมกระจายอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะตามบ้านเมืองริมทะเลและริมเส้นทางน้ำ บางทีก็เรียกว่า ศาลอาม่า ศาลม่าจู ฯลฯ

ซึ่งตำแหน่งของศาลเจ้าแม่สร้อยดอกหมากที่วัดพนัญเชิงก็ดู “เข้าเค้า” ที่จะเป็นศาลเจ้าแม่ทับทิม-ผู้เป็นที่นับถือในหมู่ชาวเรือ-เป็นอย่างยิ่ง เพราะบริเวณนั้นคือ “บางกระจะ” ย่านพักจอดเรือสำเภา หรือ “ท่าเรือ” เดินทะเลยุคกรุงศรีอยุธยา

อีกตัวอย่างหนึ่งที่ว่าเจ้าแม่ทับทิมถูกกลายกลืนและแตกตัวไปเป็นความรับรู้ ความทรงจำ และเรื่องเล่าอีกสารพัด ก็คือเมื่อหลายปีก่อน เคยเห็นศาลสร้างไว้บนเสาสูงปักไว้กลางทะเลบริเวณปากแม่น้ำเพชรบุรีเขตอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ถามเด็กเสิร์ฟในร้านอาหารริมทะเลแถวนั้นว่านั่นศาลของใคร เขาบอกว่าเป็นศาลเจ้าแม่ทับทิม พระสนมของรัชกาลที่ 5 ซึ่งมาเรือล่มตายตรงนั้น เป็นต้น


srun

ศรัณย์ ทองปาน

เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์ นิตยสาร สารคดี