ผีสางเทวดา  เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


OLYMPUS DIGITAL CAMERA

เมื่อราว 20 กว่าปีมาแล้ว ตอนที่คนเลี้ยงช้างเริ่มพาช้างมาเดินหากินในเมืองหลวงใหม่ๆ จำได้ว่ารายได้ของพวกเขามาจากการเร่ขายเครื่องรางและวัตถุมงคลที่ทำจากงาช้างหรือขนหางช้าง จำพวกสร้อยคอ หรือแหวนถัก รวมถึงให้คนลอดท้องช้างสะเดาะเคราะห์ หรือให้ผู้หญิงท้องมาลอดจะได้คลอดง่าย ต่อมาจึงค่อยขยับขยายไปเป็นการขายผักผลไม้เป็นถุงๆ เช่นถั่วลิสงหรือแตงกวา ให้คนช่วยซื้อเลี้ยงช้าง อย่างที่เห็นกันในระยะหลัง

ความเชื่อที่ว่าการลอดท้องช้างเป็นเรื่องมงคลคงมีมาช้านานแล้ว แต่การลอดใต้อุโบสถเป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 10 กว่าปีมานี้ เริ่มต้นจากเมื่อวัดหลายแห่งต้องประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากเป็นประจำในหน้าน้ำทุกปี จึงมีดำริให้รับบริจาคเงินซื้อดินมาถมที่วัดให้สูงขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ บรรดาถาวรวัตถุที่ตั้งอยู่ในวัดมาแต่เดิมนั้นเลยพลอยจมลงไปใต้ลานวัดที่ถมใหม่ แต่แล้วความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก็มาตอบสนองปัญหานี้ได้พอดี ด้วยการ “ดีด”

อธิบายแบบบ้านๆ วิธีการก็คือใช้เครื่องมือพยุงยกรับน้ำหนักตัวอาคารเดิมไว้ก่อน จากนั้นขุดเข้าไปตัดฐานรากเดิมให้ขาดออก ต้องการความสูงเท่าใดก็ยกขึ้น จากนั้นจึงสร้างเสริมฐานรากใหม่ก่อนจะวางสิ่งก่อสร้างเก่ากลับลงไป

ระหว่างการ “ดีด” ขึ้นนั้นเอง เกิด “ช่องว่าง” ใต้ฐานอุโบสถขึ้น กลายเป็นที่มาของธรรมเนียมใหม่ คือการลอดโบสถ์สะเดาะเคราะห์ โดยนำไปผูกกับความเชื่อว่าโบสถ์เป็นสถานที่กระทำสังฆกรรม มีพระมา “ลงโบสถ์” สวดพระปาฏิโมกข์ต่อเนื่องกันมายาวนาน ยิ่งกว่านั้นยังเป็นสถานที่ประกอบพิธีอุปสมบท เปลี่ยนฆราวาสหรือชาวบ้านธรรมดาๆ ให้กลายเป็นพระภิกษุ จนถึงกลายเป็นพระเกจิอาจารย์ได้

การ “ลอด” โบสถ์อันมีความขลังศักดิ์สิทธิ์ จึงถูกให้ความหมายว่าเท่ากับ “รอด” พ้นจากภยันตราย เท่ากับ “ล้าง” เรื่องอัปมงคลและคุณไสย ฯลฯ แถมยังสามารถเข้าไปปิดทองลูกนิมิตเอกใต้พื้นกึ่งกลางอุโบสถได้อีกครั้งหนึ่ง หลังจากถูกฝังไปตั้งแต่ในพิธีฝังลูกนิมิตผูกพัทธสีมาด้วย

lodwatpikul01 lodwatpikul02 lodwatpikul03

ในยุคแรกเริ่ม การลอดโบสถ์ถือเป็นเรื่องพิเศษระดับ “ครั้งหนึ่งในชีวิต” เพราะสามารถกระทำได้เพียงช่วงสั้นๆ ระหว่างที่ช่างกำลังทำการ “ดีด” ยกโบสถ์ขึ้นเท่านั้น และเมื่อการปฏิสังขรณ์เสร็จสิ้นลง ช่องทางดังกล่าวก็ย่อมถูกถมปิดตาย กลายเป็นพื้นเรียบๆ ไปดังเดิม

จนถึงขณะนี้ก็ยังสืบไม่พบว่าวัดไหนทำขึ้นก่อนเป็นวัดแรก แต่น่าจะเกิดขึ้นราวๆ กลางทศวรรษ 2540 จากนั้นเมื่อพบว่าธรรมเนียมนี้เรียกศรัทธาดึงสาธุชนเข้าวัดได้มาก จึงเกิดการทำตามอย่างกันทั่วไปหมด แถมมีอีกหลายวัดเห็นว่าการลอดโบสถ์เป็นกิจกรรมที่น่าจะทำได้ต่อเนื่องเป็นเรื่องเป็นราวจริงจัง จึงสร้างช่องทางถาวรไว้สำหรับให้ลอดโบสถ์ได้ต่อไป แม้การยกอุโบสถหนีน้ำจะเสร็จสิ้นไปแล้ว บางวัดก็ไปขุดช่องทางสำหรับลอดโบสถ์ขึ้นมาใหม่เอง และมีไปจนกระทั่งสร้างอุโบสถหลังใหม่โดยมีซุ้มที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ เพื่อเป็นช่องทางให้ญาติโยมลงไปลอดใต้โบสถ์กันได้ตั้งแต่แรกสร้างด้วยซ้ำ

จึงสมควรต้องบันทึกไว้ว่าเป็นอีกหนึ่งประเพณีที่ “ประดิษฐ์” ขึ้นใหม่ต่อหน้าต่อตาคนรุ่นเราๆ ท่านๆ นี่เอง


srun

ศรัณย์ ทองปาน

เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์ นิตยสาร สารคดี