ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต
เมื่อมีดวงดาวย้ายราศี แบบธรรมเนียมราชสำนักสยามก็ต้องตั้งพิธีพราหมณ์บวงสรวง ส่ง-รับเทวดานพเคราะห์แต่ละองค์ ทั้งที่ย้ายออกไปและองค์ใหม่ที่เข้ามา “เสวยอายุ” พระบรมวงศานุวงศ์พระองค์นั้นๆ แต่นี่เป็นเรื่องของ “เจ้านาย” สมัยก่อนเท่านั้น เพิ่งจะมาช่วง 10 ปีหลังนี้เองที่มี “เจ้าสำนัก” บางท่านเริ่มเผยแพร่คติความเชื่อเรื่องการบูชาพระราหู-หนึ่งในเทวดานพเคราะห์ผู้เป็นเทพฝ่ายบาปเคราะห์-กันอย่างเอาจริงเอาจัง
ตามคัมภีร์โบราณของแขก พระราหูเป็นหนึ่งในเทวดานพเคราะห์ และเป็น “เงาดำ” คอยตามราวีพระอาทิตย์พระจันทร์ ตำนานนี้เท้าความไปถึงเรื่องนารายณ์สิบปางตอนหนึ่งเมื่อเหล่าเทวดาไปหลอกล่อชักชวนพวกอสูรให้มาช่วยกวนเกษียรสมุทร แต่แล้วเมื่อได้น้ำอมฤตมา กลับกีดกันอสูรไม่ให้ได้ดื่มน้ำอมฤตนั้น พระราหูซึ่งเป็นอสูรตนหนึ่งรู้ทัน แอบมาต่อแถวเทวดาเข้าคิวดื่มน้ำอมฤตด้วย พระอาทิตย์พระจันทร์เห็นเข้าก็โวยวาย พระนารายณ์เลยขว้างจักรใส่พระราหูจนตัวขาดสองท่อน แต่เนื่องจากได้ดื่มน้ำอมฤตไปแล้ว พระราหูเลยกลายเป็นอมตะ แม้ตัวเหลือแค่ครึ่งเดียวก็ไม่ตาย ด้วยเหตุนี้ พระราหูจึงคิดอาฆาตแค้นพระอาทิตย์พระจันทร์มาก หากมีโอกาสเมื่อใดก็จะไล่จับกินเสีย แต่เนื่องจากพระราหูเหลือร่างกายแค่ครึ่งท่อนอย่างที่ว่า กลืนพระอาทิตย์พระจันทร์เข้าไปทีไร เทวดาสององค์นั่นก็เล็ดลอดหนีออกมาได้ทุกทีไป นี่จึงเป็นที่มาของการเกิดสุริยคราส (สุริยุปราคา) และจันทรคราส (จันทรุปราคา)
เมื่อตำนานเรื่องนี้มาถึงเมืองไทย ช่างไทยโบราณเห็นว่าพระราหูนับเป็น “อสูร” จึงวาดรูปปั้นรูปออกมาให้เป็นยักษ์เป็นมารในทำนองเดียวกับตัวละครฝ่ายยักษ์ในเรื่อง “รามเกียรติ์” คือสวมมงกุฎ ตาโปน อ้าปากกว้าง มีเขี้ยวโง้งๆ
ศูนย์กลางใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของลัทธิพิธีไหว้บูชาพระราหูที่เฟื่องฟูในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ได้แก่วัดศีรษะทอง อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ซึ่งมีรูปปั้นพระราหูองค์ใหญ่ มีร่างกายแค่ครึ่งท่อนบน คือศีรษะ คอ ไหล่ อก และแขนสองข้าง อ้าปากคาบลูกกลมๆ ที่สมมติว่าเป็นพระอาทิตย์/พระจันทร์อยู่ โดยมีมือสองข้างช่วยยึดลูกกลมนั้นไว้อีกแรง
และเมื่อพระราหูเป็นเทพฝ่ายบาปเคราะห์ที่ผูกพันกับ “เงาดำ” แห่งคราส ความเชื่อร่วมสมัยจึงผลักให้พระราหูไปผูกติดกับ “สีดำ” รูปปั้นพระราหูจึงย่อมต้องเป็นสีดำ รวมถึงของที่ใช้บวงสรวงสังเวย ซึ่งตั้งตำราใหม่ขึ้นมาให้ใช้เครื่องบูชาสีดำ 8 อย่าง ตามกำลังวันของพระราหู ได้แก่ ไก่ดำ เหล้าดำ กาแฟดำ เฉาก๊วย ถั่วดำ ข้าวเหนียวดำ ขนมเปียกปูน และไข่เยี่ยวม้า
แต่บางตำราก็บอกเหมือนกันว่าเพื่อความสะดวก อาจไม่ต้องจัดตามนี้เป๊ะๆ อนุโลมให้ปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม ขอเพียงให้ครบ 8 และมีทั้งของคาว-ของหวาน-น้ำสีดำก็เพียงพอ ไก่ดำจึงลดรูปลงมาเป็นซุปไก่สกัดได้ รวมถึงของอื่นก็อาจเป็นได้ตั้งแต่สาหร่ายแผ่น องุ่นดำ น้ำอัดลมรสโคล่า ฯลฯ
ดังนั้น คิดว่าถ้ามีฐานะดีพอ และอยากจะให้พระราหูรับรู้ว่า “เราเป็นใคร” ผู้ศรัทธาบางท่านก็ย่อมสามารถ “จัดเต็ม” ได้ถึงระดับผนวกเอาดาร์กชอคโกแล็ต เบียร์ดำ หรือไข่ปลาคาเวียร์ ก็คงไม่ผิดกติกา
คติบูชาพระราหูยังแพร่หลายไปตามวัดต่างๆ ด้วย จึงมีรูปปั้นราหูให้คนมาไหว้มาปิดทอง โดยตั้งต่อแถวกับพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์จำลอง และพระเกจิอาจารย์จากทุกภาค
บางวัดยังผนวกรวมเอาพระราหูเข้าไปกับการก่อสร้างถาวรวัตถุในวัดอีก เช่นวัดช่องแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ซึ่งยกโบสถ์เก่าขึ้นเพื่อหนีน้ำท่วม พร้อมกันนั้นก็เลยทำทางเข้าไปประกอบพิธีลอดใต้โบสถ์ให้เป็นการมุดเข้าปากพระราหูเสียด้วยเลย