อังคาร-เก็บตกจากลงพื้นที่
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี…จากการลงพื้นที่ภาคสนาม


crocphuket01

หลังออกติดตาม ๒ วัน ๒ คืน กลางดึกคืนวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๐ เจ้าหน้าที่สามารถจับจระเข้ได้บริเวณขุมน้ำกร่อยที่อยู่ติดกับทะเล (ภาพ : อำนวย ทองสม ที่มาภาพ https://news.thaipbs.or.th/content/265715)

๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๐ เว็บไซต์ The Phuket News เผยแพร่ภาพจากโดรนขณะกำลังบินอยู่เหนือหาดเลพัง ตั้งอยู่ระหว่างหาดบางเทากับหาดลายัน จ.ภูเก็ต อากาศยานไร้คนขับจับภาพวัตถุลึกลับกลางทะเลห่างชายฝั่งประมาณ ๒๐๐ เมตร แลเห็นเป็นเงาตะคุ่มๆ เมื่อบินโฉบเข้าไปใกล้ก็เห็นจระเข้กำลังลอยตัวอยู่ในน้ำ ก่อนดำมุดหายไป

รายงานข่าวระบุว่าโดรนลำดังกล่าวเป็นของชายชาวต่างชาติชื่อ ไมค์ ออกมาเดินเล่นกับภรรยาแล้วสังเกตเห็นสิ่งผิดปรกติจึงรีบกลับมาที่พัก เรียกให้ลูกชายช่วยกันเอาโดรนไปบันทึกภาพเก็บไว้

การพบจระเข้น้ำเค็มที่ภูเก็ตเคยเป็นข่าวมาแล้วเมื่อปี ๒๕๕๖ ที่หาดไม้ขาวทางตอนเหนือของเกาะ แต่ก็ไม่ได้มีการออกติดตาม จากนั้นเรื่องราวก็เงียบหาย และไม่มีรายงานข่าวว่าคนถูกจระเข้ทำร้าย

คำถามสำคัญของการพบจระเข้ครั้งล่าสุด คือ เป็นจระเข้หลุดจากฟาร์มเลี้ยง มีคนปล่อย หรือเป็นจระเข้ที่อาศัยอยู่แต่เดิมตามธรรมชาติ
ทั้งนี้ นรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่าพื้นที่ใกล้เคียงไม่มีฟาร์มเลี้ยงจระเข้ โดยเลิกกิจการแล้วเมื่อปี ๒๕๕๙
อย่างไรก็ตาม หลายปีก่อนเคยมีข่าวจระเข้หลุดออกจากฟาร์ม จ.พังงา ในช่วงที่มีน้ำท่วม

crocphuket02

ภาพ google map แสดงตำแหน่งหาดหาดเลพัง จ.ภูเก็ต สถานที่พบพบจระเข้น้ำเค็มกำลังว่ายน้ำทะเล ตั้งอยู่ระหว่างหาดบางเทากับหาดลายัน จ.ภูเก็ต ชายขอบรอบนอกอุทยานแห่งชาติสิรินาถ

ทันทีที่ภาพถ่ายจากโดรนเผยแพร่ลงโลกออนไลน์ เรื่องราวการพบจระเข้ในเขตท่องเที่ยวทะเลสำคัญของ จ. ภูเก็ต ก็กลายเป็นข่าวใหญ่ หน่วยงานในจังหวัดสั่งเจ้าหน้าที่ออกตระเวนค้นหาตัว ประสานเรือเล็กและเจ็ตสกีสำรวจตลอดแนวหาด แจ้งให้ชาวบ้านช่วยเป็นหูเป็นตา รวมทั้งประสานไปยังหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านการจับจระเข้

ไม่นานก็มีรายงานพบจระเข้บริเวณแหล่งน้ำที่เชื่อมต่อกับทะเล สภาพเป็นหาดเลน

การตามจับจระเข้ใช้เรือติดอวนยาวหลายสิบเมตรลงไปลากในแหล่งน้ำเพื่อต้อนจระเข้เข้าฝั่ง หลังเป็นข่าว ๒ วันก็สามารถจับจระเข้ตัวนี้ได้

ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ นักวิชาการอิสระด้านระบบนิเวศน้ำจืด อธิบายว่าประเทศไทยมีจระเข้ทั้งหมด ๓ ชนิด คือ จระเข้น้ำจืด จระเข้น้ำเค็ม และตะโขง ตะโขงในธรรมชาติสูญพันธุ์ไปแล้วเพราะถูกล่า แต่ในสถานที่เพาะเลี้ยงยังมี เอกชนยินดีให้กรมอุทยานนำไปปล่อยที่ไหนก็ได้ตามต้องการแต่ก็ยังมีไม่มีการปล่อย ส่วนจระเข้น้ำจืดเคยพบมากแถบบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ ปัจจุบันลดจำนวนลงเหลืออยู่แค่ไม่กี่แหล่ง และอาจเหลือที่ผสมพันธุ์กันเองได้ที่แก่งกระจานเท่านั้น ส่วนจระเข้น้ำเค็มอาศัยอยู่ตามน้ำเค็มและน้ำกร่อย กระจายพันธุ์ในเขตอินโด-แปซิฟิก ตั้งแต่อ่าวเบงกอล หมู่เกาะอันดามัน ชายฝั่งอาเซียน ไล่ไปถึงออสเตรเลียตอนเหนือ

ที่เกาะตะรุเตาของประเทศไทยก็มีการพบหัวกะโหลกจระเข้น้ำเค็ม

ทั้งจระเข้น้ำจืด น้ำเค็ม และตะโขง มีสถานะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมาย แต่อยู่ในรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดเพาะพันธุ์ได้ จึงสามารถครอบครอง เพาะพันธุ์ และค้าจระเข้จากการเพาะเลี้ยงอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

crocphuket03

การ์ตูนสั้นเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างจระเข้กับมนุษย์ (เครดิต : Fah Kanjanavanit)

หลังถูกจับ เจ้าหน้าที่นำจระเข้มาไว้ในบ่อพักฟื้น ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเขต ๕ ภายในบ่อปูนสี่เหลี่ยมขนาดกว้าง ๓.๖ เมตร ยาว ๓.๖ เมตร สูง ๑ เมตร ต้องใช้ไม้และตาข่ายขึงปิดปากบ่อเพื่อป้องกันจระเข้ปีนออกมา และมีภาพเจ้าหน้าที่ใช้สายยางฉีดน้ำราดลงไปบนตัวจระเข้

ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ ให้ความเห็นว่าบ่อที่จับมันมาขังไว้ ไม่ใช่บ่อที่เอาไว้เลี้ยงจระเข้ หากเป็นบ่อที่เอาไว้เลี้ยงจระเข้อย่างน้อยน้ำต้องท่วมหลัง เพื่อไม่ให้น้ำหนักตัวของมันกดทับตัวเองอยู่ตลอดเวลา ยิ่งจระเข้ตัวใหญ่ต้องลอยอยู่ในน้ำ เคยมีกรณีจระเข้ชื่อ Lolong ของฟิลิปปินส์ก็ถูกจับมาขังในน้ำตื้น เพราะอยากให้นักท่องเที่ยวมองเห็นตัวจระเข้ตลอดเวลา สุดท้ายก็ตาย

ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้เติมน้ำลงไปในบ่อสูงประมาณ ๑ ฟุต จระเข้สามารถว่ายน้ำแบบตะกุยเท้าไป

“ขอนลอย” เป็นชื่อแรกๆ ที่มีผู้ตั้งให้กับจระเข้ตัวนี้ เป็นชื่อเดียวกับจระเข้ช่างสงสัยในรายการเจ้าขุนทอง รายการเด็กชื่อดังทางช่อง ๗

ผู้เรียกคือเจ้าของเฟสบุค Fah Kanjanavanit ทำการ์ตูนสั้นเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างจระเข้กับมนุษย์ เริ่มจากบอกว่าขอนลอยมีธรรมชาติเป็นบ้าน เช่นเดียวกับมนุษย์ที่มีบ้าน เมื่อออกจากบ้านมาเจอคนแปลกหน้า ก็ย่อมเกิดความหวาดกลัวกันและกัน สุดท้ายได้ตั้งคำถามถึงวิธีจัดการกับความกลัวว่าเป็นการเบียดเบียนกัน โดยใช้กำลังอย่างนั้นหรือ ? มนุษย์แบบไหนที่เราอยากจะเป็น

ต่อมามีผู้เรียกจระเข้ตัวนี้ว่า “เลพัง” ตามชื่อหาดที่โดรนบันทึกภาพไว้ขณะกำลังว่ายน้ำ

crocphuket04

เบื้องต้นจระเข้ถูกนำมาขังไว้ในบ่อปูน  เดิมเป็นบ่อเลี้ยงปลา กุ้ง  ต้องใช้ไม้และตาข่ายขึงปิดปากบ่อเพื่อป้องกันจระเข้ปีนออกมา (ภาพ : เฟซบุค เสียงประชาชน คนภูเก็ต)

มีผู้แสดงความเห็นมากมายถึงเส้นทางข้างหน้าของจระเข้ตัวนี้ อาทิ

“งี้ไปเที่ยวป่าก้อต้องไปตามจับเสือ จับสัตว์มีพิษ จับช้างที่ทำร้ายมนุษย์ ก่อนจะเข้าไปเที่ยวใช่ปะคับ สังคมจะได้สบายใจ”

“ต้องแยกแยะก่อนว่า มันอยู่ตามธรรมชาติหรือหลุดมา ซึ่งในข่าว น่าจะหลุดมา เขาดูจากสถิติแล้ว มันไม่ใช่ถิ่นมัน เอาง่ายๆ คนไทยกี่คนเคยเห็นจระเข้น้ำเค็มในธรรมชาติ กี่ตัว ? แล้วเขาเอาไปไว้ที่ๆ ควรอยู่ก็ถูกแล้ว ลองคิดกลับกันว่าถ้ามันไม่ได้เป็นสัตว์ต้นตระกูลแถวนั้นละอยู่ๆ มาอาศัย ขยายพันธุ์ ระบบนิเวศมีการเปลี่ยนแปลงแน่นอน กระทบท่องเที่ยวด้วย”

“ค่ะ โลกเป็นของมนุษย์ ไม่สามารถ อยู่ร่วมกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆได้”

“คือนั้นคือบ้านมันไง เราอ่ะไปบุกรุกมัน คือเราต้องป้องกันตัวเองไม่ใช่ไปจับมัน ทำลายระบบนิเวศของมัน”

“คนที่สนับสนุนการ “ปล่อยจระเข้น้ำเค็มสู่ธรรมชาติโดยไม่มีเงื่อนไขใดใด” ในครั้งนี้ ขอให้กล้ารับรองว่าจระเข้จะไม่ทำร้ายคนไม่ว่าในกรณีใดใด ไม่ใช่แค่ความอยู่รอดปลอดภัยของคนอย่างเดียว ทั้งนี้รวมถึงความปลอดภัยของจระเข้ด้วย”

๘ กันยายน ๒๕๖ เจ้าหน้าที่กรมประมง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ผู้เชี่ยวชาญจาก ม.มหิดล และ ม.เกษตรศาสตร์ ฯลฯ ดำเนินการตามแผนขั้นที่ ๑ เพื่อพิสูจน์จระเข้ ประกอบด้วยการตรวจร่างกาย เก็บข้อมูลทางชีวภาพ หาตำหนิและไมโครชิพ

ผลการตรวจออกมาว่าจระเข้เลพังมีความยาว ๒.๘ เมตร ความกว้างเมื่อกางขาคู่หน้าออก ๑ เมตร เป็นจระเข้เพศผู้ สุขภาพภายนอกดี ทั่วร่างกายไม่มีไมโครชิพ จึงฝังไมโครชิพไว้บริเวณโคนหางด้านซ้าย

นอกจากนี้ยังเก็บตัวอย่างเลือด เซลล์เยื่อบุ อุจจาระ ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ ๒ สัปดาห์ แบ่งออกเป็น

ตรวจพิสูจน์สายพันธุ์ โดยภาควิชาพันธุ์ศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์
ตรวจสุขภาพ โดยศูนย์วิจัยสุขภาพจระเข้ คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.มหิดล
ตรวจปรสิต โดยศูนย์ตรวจวินิจฉัยทางการสัตวแพทย์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.มหิดล
ตรวจโรคติดเชื้อ และ เก็บเนื้อเยื่อเข้า DNA BANK โดยศูนย์เฝ้าระวังและติดตามโรคจากสัตว์ป่าต่างถิ่นและสัตว์อพยพ คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.มหิดล

หลังดำเนินการ คาดว่าจระเข้เลพังจะต้องถูกขังอยู่ที่เดิมอีกอย่างน้อย ๓-๔ สัปดาห์ จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงสภาพบ่อ หาบ่อที่มีขนาดกว้างขวางขึ้น และมีที่ให้ขึ้นมาผึ่งแดด และให้ปลาเป็นเป็นอาหาร

หากผลการตรวจพันธุกรรมพบว่าเป็นสายพันธุ์แท้อาจปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ถ้าปล่อยที่เดิมต้องสอบถามความเห็นคนในพื้นที่ ถ้าปล่อยในแหล่งใหม่ที่อยู่ห่างไกลจากนักท่องเที่ยวต้องพิจารณาว่าที่ไหน

แต่หากเป็นลูกผสมไฮบริจด์อาจกันพื้นที่ขนาดใหญ่ไว้ให้อาศัยเป็นการเฉพาะ

crocphuket05

ต่อมาเจ้าหน้าที่เติมน้ำสูงประมาณ ๑ ฟุต ให้จระเข้สามารถว่ายน้ำแบบตะกุยเท้าไป  ในภาพจะเห็นน่องสะโพกไก่ถูกโยนลงไปเป็นอาหาร (ภาพ : ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง)

๑๐

เส้นทางที่จระเข้น้ำเค็มไม่มีสิทธิเลือกยังต้องติดตามต่อไป เช่นเดียวกับความเห็นหนึ่งที่น่าสนใจในโลกออนไลน์ของผู้ที่แนะนำตัวเองว่าอาศัยอยู่ในบริเวณเดียวกับจระเข้น้ำเค็มตัวนี้ว่า

“มนุษย์ผู้ประเสริฐทั้งหลายจะหาวิธีอยู่ร่วมกันอย่างผาสุกได้ต่อไป และถ้าคุณคิดว่าการปล่อยจระเข้สู่ธรรมชาติมันจะจบอย่างสวยงาม Happy Ending คุณคิดผิดแล้ว นั่นมันแค่เพิ่งเริ่มต้นต่างหาก”

เก็บตกจาก : สัมภาษณ์ ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ นักวิชาการอิสระด้านระบบนิเวศน้ำจืด ๔ กันยายน ๒๕๖๐


tei

ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล

อีกภาคหนึ่งของ “เจ้าชายหัวตะเข้” นักเขียนสารคดีที่เรียนจบมาด้านวิทยาศาสตร์ สนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม สังคม และกีฬาเป็นพิเศษ