ทีมพ่อฮาลูกบ้ากิน
เรื่องและภาพ : เอื้องไพร ไชยต่อเขตต์ โกสุม ไชยต่อเขตต์

Wildlife Friends Foundation Thailand อาสาสมัคร (ใจ) หยาดเหงื่อ เพื่อสัตว์ป่า

พ่อ

“ผัว ผัว ผัว” เสียงร้องชะนีมือขาวดังประสานกึกก้องไปทั่วบริเวณ เพียงพอที่จะปลุกชายวัย ๖๗ ปีให้ตื่นขึ้น

พ่อเป็นครู เกษียณอายุราชการมาได้ ๗ ปีแล้ว สมัยปฏิบัติหน้าที่ ท่านสอนนักเรียนชั้นประถมศึกษาในหลากหลายวิชาตามแบบฉบับครูทั่วไป แต่พ่อชอบสอนภาษาอังกฤษมากที่สุด ท่านสื่อสารภาษาอังกฤษได้ระดับหนึ่ง ถึงจะไม่ได้จบเอกภาษาอังกฤษ ทุกครั้งที่พบชาวต่างชาติ ท่านจะเข้าไปทักทายพูดคุย ซึ่งเป็นภาพชินตามาตั้งแต่ผู้เขียนยังเด็ก

กลางเดือนกรกฎาคมพ่อตัดสินใจขอทำงานอาสาสมัครที่มูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า จังหวัดเพชรบุรี หรือ Wildlife Friends Foundation Thailand (WFFT) ซึ่งผู้เขียนดูแลอาสาสมัครและสัตว์น้อยใหญ่กว่า ๘๐๐ ตัว

สร้างความประหลาดใจแก่คนเป็นลูกยิ่งนัก เพราะตลอดเวลากว่า ๓ ปีที่ทำงาน พ่อไม่เคยสนใจเข้าร่วมอาสาสมัครมาก่อน ถึงแม้จะเอ่ยชวนนับครั้งไม่ถ้วน

ครั้งนี้ท่านเพียงให้คำตอบสั้นๆ ว่า “มาหัดพูดภาษาฝรั่ง”

wildvol02

สัตว์ป่าไม่ใช่สัตว์เลี้ยง!!

wildvol03

ย้อนกลับไปกว่า ๒๐ ปี พื้นที่แห่งนี้เป็นป่าขนาดย่อม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัดพระพุทธบาทเขาลูกช้างที่ร่มรื่นด้วยพรรณไม้น้อยใหญ่

ด้านหน้าป่ามีอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก พร้อมบรรยากาศเขาเขียวขจีด้านหลัง ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่ามีจุดมุ่งหมายในการอนุรักษ์สัตว์ป่าและปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีพันธกิจเป็นแหล่งพักพิงสำหรับสัตว์ที่ถูกทารุณกรรมและถูกทอดทิ้ง ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่เคยเป็นสัตว์เลี้ยงเพื่อนำมาฟื้นฟูและปล่อยคืนสู่ป่า

การค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมาย การพยายามนำสัตว์ป่ามาเป็นสัตว์เลี้ยงโดยขาดความรู้ความเข้าใจ เมื่อสัตว์เหล่านั้นเติบโตและแสดงความก้าวร้าวตามสัญชาตญาณ ผู้เลี้ยงจึงทำร้ายหรือเลี้ยงดูสัตว์ในสภาพย่ำแย่ ส่งผลให้มูลนิธิต้องยื่นมือช่วยเหลือ ทั้งสัตว์ที่มีแหล่งกำเนิดในไทยและนำเข้ามาถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นอกจากนี้ยังดูแลสัตว์ที่ไม่สามารถปล่อยคืนสู่ธรรมชาติด้วย ทางมูลนิธิมีหน่วยเคลื่อนที่ในการเข้าช่วยเหลือสัตว์ มีโรงพยาบาลและทีมบุคลากรที่พร้อมสนับสนุนด้านการรักษาและฟื้นฟู

ปัจจุบันมูลนิธิขยายพื้นที่เพื่อรองรับสัตว์ที่เพิ่มขึ้นทั้งชนิดและจำนวน โดยแบ่งเป็นหกโครงการย่อย มีสัตว์กว่า ๘๐๐ ตัว และช้างอีกกว่า ๒๔ เชือก และยังคงมีสัตว์ในรายงานรับแจ้งที่รอการช่วยเหลืออีกจำนวนมาก ทำให้ปัจจัยด้านค่าใช้จ่ายทั้งอาหารสัตว์และการดำเนินงานเพิ่มขึ้นในแต่ละเดือน คิดเป็นมูลค่ากว่าหกหลัก บวกกับจำนวนพนักงานเพียงหยิบมือไม่สามารถดูแลสัตว์ได้อย่างทั่วถึง

ทางมูลนิธิจึงเปิดรับอาสาสมัครช่วยดูแลสัตว์ป่าและช้าง

wildvol04
wildvol05

กิจกรรมอาสา

“พ่อ ตื่นๆ” เสียงลูกสาวดังขึ้นปลุกพ่อ เพื่อเตรียมอาหารให้สัตว์ พ่อลุกขึ้นอย่างเสียไม่ได้ ท่านล้างหน้าแปรงฟันเพื่อให้ทันเวลาที่ทางทีมงานนัดหมาย

“What do you want me to deal with?” พ่อส่งภาษาอังกฤษสำเนียงไทยผสมอเมริกันถามเพื่อนอาสาสมัครในทีมเดียวกัน

“Can you spread this water melon all around?” อาสาสมัครชาวฝรั่งเศสส่งภาษาอังกฤษสำเนียงฝรั่งเศสที่ฟังแปลกหูตอบกลับ

พ่อพูดคุยกับอาสาสมัครอย่างสนุกสนาน ความท้าทายของท่านคือ ได้ฝึกออกเสียงและการฟังจากชาวต่างชาติ ที่มาจากหลากมุมโลก ด้วยสำเนียงและรูปแบบที่แตกต่าง

พ่อตั้งข้อสังเกตว่ากว่า ๙๙% ของอาสาสมัครเป็นชาวต่างชาติ แล้วเหตุใดคนไทยจึงไม่ทำงานอาสาสมัคร

ผู้เขียนลองค้นหาข้อมูลจึงพบรายงานของมูลนิธิการกุศลระหว่างประเทศ Charities Aid Foundation (CAF) แสดงผลสำรวจเกี่ยวกับการทำจิตอาสา พบว่าประเทศไทยมี ”จิตอาสา” อยู่ในลำดับที่ ๙ และมีสัดส่วนของการระดมเงินบริจาคมากเป็นอันดับ ๑ ซึ่งเทียบเท่ายอดบริจาคของประเทศอังกฤษและไอซ์แลนด์ แต่สัดส่วนของการทำงานอาสาสมัครกลับไม่มากเท่าที่ควร

๐๘.๐๐ น. เป็นเวลารับประทานอาหาร พ่อที่เป็นคนไทยเพียงไม่กี่คนจึงรับหน้าที่แนะนำอาหาร ซึ่งรสชาติ สีสัน และหน้าตาไม่คุ้นเคยให้อาสาสมัครต่างชาติรู้จัก ซึ่งทุกคนต้องเสียค่าใช้จ่ายกับมูลนิธิ ในส่วนของพ่อซึ่งเป็นคนไทยจะชำระ ๒๐๐ บาทต่อวัน เงินที่เหลือหลังหักค่าอาหารและที่พักจะจัดสรรเป็นค่าอาหารสัตว์และค่าเบี้ยเลี้ยงให้พนักงาน

“แก๊ง แก๊ง” เสียงกระป๋องน้ำอะลูมิเนียมกระทบขอบกรงชะนี หลังจากพ่อพยายามเติมน้ำสะอาดที่ผ่านเครื่องกรองอย่างดีให้ชะนีในช่วงเช้า ซึ่งภารกิจหลังอาหารเช้าจะแตกต่างกันในแต่ละทีม โดยแยกเป็น

ทีมไพรเมต ๑ ดูแลสัตว์กลุ่มลิง ทั้งลิงเสน ลิงกัง ลิงแสม และลิงวอก

ทีมไพรเมต ๒ ดูแลชะนีในพื้นที่ป่า หมี ๑และหมี ๒ ที่ดูแลทั้งหมีควายและหมีคนหรือทีรู้จักในนามหมีหมา

ทีม Other Wildlife ซึ่งมีความหลากหลายที่สุด เนื่องจากดูแลสัตว์ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มไพรเมต หมี และช้าง อันได้แก่ เม่น นก วัว แพะ เต่า กระต่าย และกลุ่มสัตว์เลื้อยคลาน เช่น อีกัวน่า เป็นต้น 

ทีม Nocturnal ดูแลสัตว์หากินเวลากลางคืน อย่างนางอาย อีเห็น และหมีขอ

และทีมสุดท้าย Langur and Quarantine ดูแลค่างและสัตว์ในบริเวณกักกัน 

อาสาสมัครทุกทีมจะแบ่งหน้าที่กัน บางส่วนขัดทำความสะอาดกรง สระน้ำ ทำ enrichment ให้สัตว์ และหากเป็นอาสาสมัครในส่วนช้างก็จะพาช้างเดิน และออกไปเก็บต้นกล้วยให้ช้าง

๑๐.๓๐ น. เป็นช่วง enrichment หรือสิ่งส่งเสริมพฤติกรรมสัตว์

สัตว์ที่ถูกเลี้ยงโดยมนุษย์เป็นเวลานาน ไม่รู้วิธีหาอาหาร ไม่มีสัญชาตญาณของสัตว์ป่า และไม่สามารถดำรงชีพด้วยตัวเองตามธรรมชาติ มีโอกาสสูงที่หลังจากปล่อยคืนสู่ป่าแล้ว จะย้อนกลับเข้าหามนุษย์  สัตว์กลุ่มนี้จึงต้องอยู่ในกรงเลี้ยงอาจจะตลอดชีวิตที่เหลือของมัน

และถึงแม้จะได้รับน้ำ อาหารตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ทั้งห้าข้อแล้ว แต่อีกหัวข้อสำคัญคือต้องปราศจากความเครียด

สัตว์ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมเดิมตลอดเวลา ไม่ได้แสดงออกซึ่งพฤติกรรมปกติจะมีความเครียด และแสดงพฤติกรมที่ไม่มีคำอธิบาย อาจมีรูปแบบทำซ้ำหรือไม่ก็ได้ แตกต่างตามปัจเจกของสัตว์ตัวนั้นๆ หรือเรียกว่า stereotyped behavior ยกตัวอย่างเช่น พฤติกรรมการแต่งขนที่มากเกินไป (over grooming) ที่มักพบในสัตว์ที่อยู่ในกรงเลี้ยง โดยเฉพาะสัตว์สังคมเช่นลิง ที่จำเป็นต้องแยกเลี้ยงเดี่ยว ไม่อาจเลี้ยงรวมฝูงกับตัวอื่นได้

enrichment ที่พ่อและทีมเลือกทำเป็นข้าวโพดที่ผูกเรียงร้อยปลายทั้งสองข้างด้วยเชือกกล้วย พวงมาลัยข้าวโพดกว่า ๒๐ พวงถูกรวบไว้ พร้อมนำเสนอให้ชะนีหลากสายพันธุ์ได้เพลิดเพลินและใช้ฆ่าเวลาระหว่างวัน 

ทีมงานมุ่งหน้าสู่ป่าน้อยๆ ที่ตั้งกรงชะนี ทั้งชะนีมือขาว ชะนีมือดำ และชะนีแก้มขาว นอกจากนี้ในพื้นที่อื่นๆ ยังมีชะนีแก้มทองและชะนีเซียมังซึ่งเป็นชะนีหายาก จัดอยู่ในกลุ่ม endangered ตามบัญชีไซเตสอีกด้วย

พ่อค่อยๆ โยนพวงมาลัยข้าวโพดขึ้นไปบนกรงชะนี พร้อมเสียงหอบ ซึ่งผู้เขียนชอบใจมาก

หลังเกษียณอายุ กิจกรรมที่พ่อทำส่วนใหญ่คือนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ จดจ่อกับคลิปเรียนภาษา ข่าว สารคดี รวมถึงการถ่ายทอดสดมวยจากเวทีราชดำเนิน

ในฐานะลูก ต้องยอมรับว่ามีความกังวลด้านสุขภาพ ทั้งการจ้องจอเป็นเวลานาน การนั่งท่าเดิมหลายชั่วโมง และการเสพสื่อที่นับวันต้องใช้วิจารณญาณอย่างสูง

การเลือกทำกิจกรรมอาสาในครั้งนี้เปลี่ยนโลกใบเดิมของพ่ออย่างสิ้นเชิง

พวงมาลัยข้าวโพดห้อยโตงเตง ขณะชะนีคิงพยายามไต่ขึ้นไปเพื่อหวังจะลิ้มชิมรส ชะนีหลายตัวที่ทางมูลนิธิช่วยมามีชีวิตความเป็นอยู่น่าเวทนา เช่น คิง ถูกทำร้ายเนื่องจากไม่ทำตามคำสั่งของผู้ฝึกสอน ร่องรอยของอดีตหลงเหลืออยู่บริเวณเหนือหัวของมัน เพื่อให้ตระหนักว่า ไม่ควรนำสัตว์ป่าใดๆ มาเป็นสัตว์เลี้ยง

และทุกครั้งที่เริ่มเล่าเรื่องราวของชะนีเหล่านี้ ก็เรียกน้ำตาหยดน้อยจากอาสาสมัครได้ทุกครั้ง รวมถึงพ่อด้วย

ท่านรักสัตว์เกือบทุกชนิด และมักสอนให้ลูกไม่เบียดเบียนสัตว์อื่นๆ จึงไม่แปลกที่ผู้เขียนรักและสนใจงานอนุรักษ์สัตว์ ซึ่งนับเป็นสมบัติทางใจที่ส่งผ่านจากพ่อถึงลูก

เพื่อนร่วมทีมของพ่อเป็นคู่พี่น้องหญิงชาย พี่สาวอายุ 10 ขวบ น้องชายอายุ 9 ขวบ โครงหน้าคมเข้มบ่งบอกว่ามีเชื้อสายชาวต่างชาติ

พ่องัดวิชาการสอนเด็กและนิทานขึ้นมาเล่า สร้างความประทับใจแก่เด็กน้อย และพ่อเองก็ได้ย้อนหน้าที่ในวันวานอีกครั้ง

อายุของอาสาสมัครจะมีหลากหลายตั้งแต่ ๙ ขวบถึง ๖๐-๗๐ ปี ดังนั้นไม่ว่าจะเด็กหรือผู้สูงวัย หากสนใจและรักสัตว์ก็เข้าร่วมกิจกรรมอาสาได้

๑๒.๐๐ น. “อึก อึก อึก” เสียงพ่อกระดกแก้วน้ำดื่มจากเครื่องทำน้ำเย็น สภาพอากาศที่แตกต่างจากประเทศแถบตะวันตกอย่างสิ้นเชิง ทำให้อาสาสมัครหลายคนมีสภาพราวกับนักกีฬาวิ่งมาราธอนในฤดูร้อน บ้างเป็นลมแดด เกิดผดผื่นขึ้นจากเหงื่อและความร้อน พ่อต้องคอยแนะนำให้ดื่มน้ำตลอดเวลา

พ่อก็เช่นกัน ตามประสาผู้สูงวัยที่มีปัญหาสุขภาพ พ่อต้องรับประทานยาและงดทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงยกของหนักๆ แต่ท่านก็พยายามทำกิจกรรมต่างๆ ให้มากเท่าที่ร่างกายจะเอื้ออำนวย เพราะสัตว์ทั้งหลายยังต้องการความช่วยเหลือ 

๑๓.๐๐ น. “Country roads, take me home. To the place I belong West Virginia, mountain momma. Take me home, country roads” เสียงเพลงในโรงเตรียมอาหารดังขึ้น พร้อมเสียงร้องคลอของพ่อและอาสาสมัครที่ช่วยกันสับ หัน แบ่งอาหารใส่ชามให้สัตว์

การเปิดเพลงช่วยสร้างบรรยากาศไม่ให้กระอักกระอ่วนนัก ผ่อนคลายชั่วโมงตึงเครียด และอาจทำให้บรรเทาความคิดถึงบ้านได้บ้าง 

พ่อชอบฟังเพลง ฟังได้หลากหลายแนว ทั้งเพลงไทย เพลงเทศ และครั้งนี้ก็เป็นโอกาสดีที่ท่านจะได้แลกเปลี่ยนเพลย์ลิสต์เพลงกับเพื่อนต่างชาติต่างวัย

๑๖.๐๐ น. ใกล้หมดวันแล้ว แต่อาสาสมัครยังคงขะมักเขม้นกับกิจกรรมที่ระบุในตารางอย่างแข็งขัน

มีรอยเหนื่อยล้าบ้างจากสีหน้าอิดโรยที่มีหยาดเหงื่อรื้น

ตอนนี้อาสาสมัครกลุ่มหนึ่งต้องช่วยกันขัดสระให้หมี

เสียงแปรงทองเหลืองเสียดสีพื้นคอนกรีตเป็นจังหวะประสานเสียงหอบหายใจของพ่อ รอยคราบไคลสีเขียวค่อยๆ หลุดออก เพื่อนอาสาสมัครบางคนหน้าเปลี่ยนจากสีขาวอย่างชาวคอเคซอยด์เป็นสีคล้ำแดดเฉกเช่นคนเอเชีย บางคนใช้สายยางฉีดน้ำลงบนเสื้อผ้าและศีรษะระบายความร้อน 

ราวๆ ๑ ชั่วโมงจากสระสีขุ่นก็กลายเป็นสระสะอาดพร้อมให้หมีลงว่ายน้ำเพื่อผ่อนคลาย

เช้าวันถัดมาพนักงานยื่นโทรศัพท์ที่บันทึกภาพหมีลงเล่นน้ำอย่างมีความสุข พ่อและอาสาสมัครผุดรอยยิ้มบางๆ ความเหนื่อยล้าเมื่อวานดูเป็นเรื่องเล็กน้อยทันที

wildvol06

จากลาเพื่อพบกันใหม่

ทุกวันอาทิตย์จะมีอาสาสมัครสับเปลี่ยนเข้ามาใหม่รวมถึงคนเก่าๆ ที่ทยอยกลับบ้าน บรรยากาศบางช่วงชวนน้ำตาเอ่อ อาสาสมัครที่อยู่มานานเป็นที่รู้จักในวงกว้างเดินมาร่ำลาเพื่อนร่วมงาน โดยไม่ลืมแลกเปลี่ยนที่อยู่หรือข้อมูลติดต่อทางโซเชียลฯ เพื่อในอนาคตจะได้กลับมาเจอกันใหม่

พ่อผู้ไม่ชำนาญเทคโนโลยีสมัยใหม่ รบเร้าให้ลูกสาวช่วยเหลือ อาสาสมัครบางคนเขียนข้อความบนกระดาษโน้ตสั้นๆ พร้อมลายเส้นรูปวาดสัตว์ ระบุคำขอบคุณพนักงานทุกคน ขอบคุณที่มูลนิธิไม่ทอดทิ้งสัตว์เหล่านั้น และหวังว่าจะทำงานช่วยเหลือสัตว์ต่อไป

อาสาสมัครยังคงหมุนเวียนมาเรื่อยๆ กลุ่มแล้วกลุ่มเล่า พร้อมกับสัตว์ที่มูลนิธิช่วยเหลือเคสแล้วเคสเล่า

ส่วนพ่อก็กลับไปใช้ชีวิตตามปรกติ  การทำงานอาสาสมัครครั้งนี้ท่านได้บรรลุเป้าหมาย “ ฝึกพูดภาษาฝรั่ง”  ได้เพื่อนใหม่ ซึ่งหลังจากนี้คงรบเร้าให้ลูกสาวสอนใช้อีเมลและไลน์ไว้พูดคุยกัน

ได้รู้ว่าที่ลูกสาวทำทุกวันนี้เพื่ออะไร เพื่อใคร ได้เรียนรู้ที่จะให้และเห็นใจสัตว์ป่าน้อยใหญ่ 

ท่านกล่าวว่า พ่อเหนื่อยก็แค่พัก เดินทางกลับบ้าน แต่สัตว์ที่นี่บางตัวยังคอยความหวังที่จะได้กลับบ้านของพวกมัน ป่าที่อุดมสมบูรณ์ ดูแลด้วยมนุษย์ที่เข้าใจ ไม่พยายามพรากมันออกจากบ้าน พร้อมปิดท้ายว่า

“วันหยุดรอบหน้าจะแวะมาเรียนภาษาฝรั่งใหม่นะ”

………………

wildvol07

เสียงเพลงจากโรงเตรียมอาหารยังคงเล่นอยู่ พ่อและอาสาสมัครได้กลับบ้านแล้ว หวังว่าสักวันจะถึงตาสัตว์ป่าเหล่านี้บ้าง

“Let me go home.
I’m just too far from where you are.
I wanna come home.
Let me go home, It’ll all be all right.
I’ll be home tonight. I’m coming back home”

กิจกรรมดีๆ ของ “ค่ายนักเล่าความสุข” ปี 3 ร่วมสร้างสรรค์เรื่องเล่าความสุข และสังคมที่มีความสุข

  • มูลนิธิเล็กประไพวิริยะพันธุ์
  • นิตยสารสารคดี
  • เพจความสุขประเทศไทย
  • สสส.