ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


kingwarrior01

ตุ๊กตายอดนิยมที่มักจะเห็นตั้งถวายไว้ตามหน้าศาลต่างๆ เห็นจะได้แก่ละครรำกับช้างม้าตัวจิ๋วๆ

แต่สำหรับศาลและสถานที่อันเกี่ยวเนื่องด้วยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระผู้ทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีใหม่แทนกรุงศรีอยุธยาที่ล่มสลายลงไป ตุ๊กตาที่นิยมนำมาถวายกันก็คือตุ๊กตาม้า อาจเพราะภาพจำติดตาของพระองค์ท่านคือพระบรมราชานุสาวรีย์ที่ “วงเวียนใหญ่” ฝั่งธนบุรี ซึ่งออกแบบมาให้พระองค์ท่านทรงม้า (ขี่ม้า)

ความรับรู้เรื่องวีรกรรมการกู้ชาติของพระองค์ในฐานะ “มหาราชชาตินักรบ” ยังทำให้มีความนิยมนำสิ่งของอันเนื่องด้วยการรบพุ่งมาถวายด้วย อย่างตุ๊กตารูปทหารไทยโบราณที่ยืนถือดาบสองมือ เช่นที่เคยเห็นตามศาลหรืออนุสรณ์สถานของพระเจ้าตากสิน อย่างพระเจดีย์ที่ปากน้ำโจ้โล้ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา หรือที่ศาลพระเจ้าตากสิน วัดเชิงท่า นอกเกาะเมืองอยุธยาทางด้านเหนือ

kingwarrior02

kingwarrior03

ที่วัดเชิงท่ามี “ตำนาน” เล่าว่า ตั้งแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าตากสินขณะวัยเยาว์ สมัยเมื่อยังเป็นเด็กชายสิน เคยมาศึกษาเล่าเรียนเป็นเด็กวัดอยู่ที่นี่ และด้วยบุคลิกผู้นำ เด็กชายสินจึงตั้งตัวเป็นเจ้ามือ ชักชวนเด็กวัดคนอื่นๆ มาเล่นการพนันกัน ปรากฏว่าถูกสมภารเจ้าวัดจับได้ หลวงพ่อท่านลงโทษด้วยการจับมือมัดประจานไว้กับบันไดท่าน้ำของวัดด้านคลองเมือง (หรือแม่น้ำป่าสัก) ตั้งแต่ตอนเย็น แล้วหลวงพ่อก็ไปลงโบสถ์ นึกขึ้นได้อีกทีก็เป็นตอนดึก น้ำขึ้นแล้ว ท่านตกใจมาก ด้วยเกรงว่าป่านนี้เด็กชายสินอาจจะจมน้ำตายไปแล้ว จึงรีบไปดูที่ท่าน้ำ ปรากฏว่าบันไดท่าน้ำเกิดหลุดลอยน้ำไปติดตลิ่งฝั่งตรงข้ามวัด เด็กชายสินจึงรอดชีวิตมาได้อย่างปาฏิหาริย์ หลวงพ่อจึงรีบนำตัวไปเข้าโบสถ์ ให้นั่งในท่านกลางหมู่สงฆ์ แล้วเจริญชัยมงคลคาถาเป็นการทำขวัญ ภายหลังเมื่อเติบโตขึ้นถึงอายุครบบวช นายสินก็ได้บวชอยู่ที่วัดเชิงท่านั้นเอง แล้วภายหลังสึกออกมาจึงไปถวายตัวรับราชการ จนได้เป็นพระยาตาก ฯลฯ ฯลฯ

เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง ทางวัดเชิงท่าได้ตั้งศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินขึ้นมา นอกจากตุ๊กตาทหารถือดาบสองมืออย่างที่เล่าไปแล้ว ยังพบว่ามีผู้นำเอาพระมาลาปีกกว้าง (อย่างที่คงมีต้นแบบจากพระบรมราชานุสาวรีย์ที่วงเวียนใหญ่เช่นกัน) มาถวายไว้ด้วย

น่าสังเกตว่ารูปปั้นทหารสวม “หมวกทรงประพาส” ยืนถือดาบสองมือที่นิยมนำมาถวายไว้ให้รับใช้พระเจ้าตากสินนี้ ย่อมมีต้นแบบมาจากอนุสาวรีย์อีกแห่งหนึ่ง คืออนุสาวรีย์ของพระยาพิชัยดาบหัก ทหารเอกคู่พระทัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่หน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์

มหาราชชาตินักรบ

แม้ว่ารูปปั้นบางรูปที่เห็นในศาลจะถอดแบบมาให้เหมือนอนุสาวรีย์พระยาพิชัยจนมีดาบในมือขวาที่ใบหักครึ่งอยู่ด้วย แต่ส่วนใหญ่ที่พบ ตุ๊กตาหรือรูปปั้นทหารที่นำมาถวายศาลพระเจ้าตากสินจะถือดาบสองมือที่สมบูรณ์ทั้งซ้ายขวา คือยังไม่หัก จึงอาจหมายถึงทหารเดินเท้าทั่วๆ ไป หรือไม่เช่นนั้นก็เป็นพระยาพิชัยเมื่อดาบยังไม่หัก ก็เป็นได้

ส่วนการแก้บนที่หน้าอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหักที่อุตรดิตถ์นั้น ได้ยินว่าเนื่องจากตามประวัติสมัยเป็น “นายทองดี ฟันขาว” ท่านเป็นนักมวยมีฝีมือมาก่อน ถึงขนาดเมื่อไม่นานมานี้เมื่อจะสร้างภาพยนตร์ที่เป็นเกร็ดประวัติของพระยาพิชัยยังต้องให้นักมวยอาชีพระดับคุณบัวขาว บัญชาเมฆ มารับบท

ดังนั้น คนที่บนบานศาลกล่าวกับเจ้าพ่อพระยาพิชัยไว้ เมื่อแก้บนจึงนิยมหาคู่มวยมาชกให้ท่านชม แต่เดาเอาว่าอย่างถ้าเป็นเด็กนักเรียนที่มาบนให้สอบผ่าน บางทีก็คงใส่นวมชกกันเองกับเพื่อนขำๆ พอเป็นพิธี เจ้าพ่อท่านก็ต้องเมตตาลูกหลานอยู่แล้วย่อมไม่ถือสาหาความว่ามาเล่นละครตบตาท่านแน่