วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


klawannakam01

ห้องเรียนใต้ร่มไม้ ค่าย(กล้าวรรณกรรม)สร้างนักเขียนสารคดีเยาวชน

ค่าย “กล้าวรรณกรรม” เป็นค่ายที่ยาวและต่อเนื่อง คือจัดต่อเนื่องมาถึงปีที่ ๑๔ แล้ว โดยกำหนดเอาช่วงต้นเดือนตุลาคมของทุกปีเป็นวันจัดค่าย ใช้เวลา ๔ วัน อยู่ร่วมเรียนรู้ด้วยกัน ทั้งกลุ่มงานร้อยแก้ว (เรื่องสั้น สารคดี) และร้อยกรอง (บทกวี)

มีนักเรียนระดับมัธยมปลายจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศมาเข้าร่วมค่ายรุ่นละเกือบ ๑๐๐ คน ในวันแรกจะเป็นการเปิดโลกวรรณกรรมในภาพกว้าง สร้างแรงบันดาลใจ โดยนักเขียนรุ่นใหญ่ระดับชั้นนำประเทศ ต่อมาเยาวชนสมาชิกค่ายจะได้ผ่านทุกฐานงานเขียน เพื่อมีโอกาสได้รู้จัก จำแนกแยกแยะได้ และเข้าใจพื้นฐานของงานเขียนแต่ละประเภท

จากนั้นพากันออกไปเรียนรู้นอกห้องเรียน สัมผัสพื้นที่หาข้อมูลและสร้างแรงบันดาลใจ ก่อนตัดสินใจว่าจะเขียนงานประเภทไหน ก็เข้าร่วมเรียนรู้แบบลงลึกในกลุ่มนั้น และฝึกปฏิบัติการเขียน กระทั่งมีผลงานส่งตอนท้ายค่าย

เปิดโอกาสให้เลือกเข้ากลุ่มได้ตามความสมัครใจอย่างเสรี ซึ่งกลุ่มสารคดีมักได้รับความสนใจจากนักเขียนหัดใหม่แต่เพียงเล็กน้อยเสมอ

จากการสอบถามเบื้องต้นตอนเปิดค่าย มีคนที่ตั้งใจมาจากบ้านว่าจะอยู่กลุ่มสารคดีเพียง ๒ คน จากจำนวนเด็กค่ายกล้าวรรณกรรม รุ่นที่ ๑๔ ทั้งสิ้นราว ๖๐ คน

klawannakam02

ล้อมวงเรียนรู้ ดูวิธีการเล่าเรื่อง

นักเรียน ม.ปลาย กลุ่มที่สมัครมาร่วมค่ายกล้าวรรณกรรมทุกคน รู้จักและคุ้นชื่องานเขียนประเภท เรื่องสั้น บทกวี แต่สำหรับงานสารคดีมีเพียงเล็กน้อยที่เคยได้ยิน และส่วนหนึ่งในนั้นเข้าใจว่าหมายถึงวิดีโอจำพวกสัตว์โลกน่ารัก อะไรทำนองนั้น

เนื้อหาหลักในฐานสารคดีในวันแรกจึงเป็นการให้พื้นฐานในเรื่องความหมาย ความต่าง และลักษณะของงานเขียนประเภทสารคดี ซึ่งหลังจากล้อมวงคุยกันแล้ว พวกเขาก็เริ่มตอบตัวเองได้ และยืนยันว่าจะกลับไปเล่าให้เพื่อนๆ ที่โรงเรียนและคนที่บ้านฟังได้ว่า สารคดีคือการเล่าเรื่องจริง…

วิทยากรประจำฐานก็เพียงแต่ช่วยเสริมว่า …และให้คนอ่านเชื่อด้วยว่าเป็นเรื่องจริง

เพราะจากประสบการณ์ที่ได้อ่านงานของนักเขียนสารคดีมือใหม่ มีบ่อยครั้งที่อ่านแล้วรู้สึกไม่เชื่อและไม่เห็นคล้อยตามที่ผู้เขียนเล่า เมื่อได้ซักไซ้ผู้เขียนในระหว่างการพัฒนาต้นฉบับ คำอธิบายของเขาไขความกระจ่างว่าความจริงเขาไม่ได้โกหกหรือบิดเบือน เพียงแต่ไม่ได้แจกแจงให้เห็นที่มาที่ไปอย่างรอบด้าน และไม่ได้แสดงเหตุผลแบบที่นำไปสู่…

ดังนั้นหลักสำคัญข้อหนึ่งที่นักสารคดีพึงใส่ใจคือ การเขียนเล่าเรื่องจริงต้องทำให้สมจริงด้วย

กับคุณลักษณะอย่างหนึ่งของสารคดีคือ เป็นงานเขียนที่เหมาะจะใช้ในการบันทึก ถ่ายทอดหรือนำเสนอเรื่องราวที่อยู่ในใจ ประทับใจ เป็นเรื่องสลักสำคัญสำหรับผู้เขียน เรื่องที่เห็นว่าโลกควรรู้ เรื่องเหล่านี้เหมาะเจาะที่เราจะใช้รูปแบบงานสารคดีเป็นเครื่องมือในการสื่อสารเรื่องราว

klawannakam03

นำเสนอและรับการวิจารณ์ อ่านผลงานให้กันฟัง

ถึงเวลาเลือกฐานเข้ากลุ่มการเรียนรู้แบบเจาะลึก แต่ละคนมีสิทธิเลือกเพียงประเภทเดียว กลุ่มสารคดีได้สมาชิกรวม ๑๖ คน ถือเป็นจำนวนสูงสุดกว่าทุกรุ่นที่แล้วมา

ในกลุ่มย่อยเรามีเวลาจากยามสายถึงเที่ยงในการเรียนลัด(หลัก)สูตรการสร้างงานเขียนสารคดี ทั้งลำดับขั้นการทำงาน องค์ประกอบของสารคดี ประเภทของข้อมูลและการได้มาของข้อมูลแต่ละประเภท โครงสร้างและแนวทางที่จะสร้างสรรค์แต่ละส่วนให้โดดเด่นและสื่อความได้จับใจคนอ่าน

ผลงานที่เกิดจากการผสานกันอย่างลงตัวของ ๒ องค์ประกอบคือ ข้อมูล กับกลวิธีการนำเสนอ จะเป็นสารคดีที่ดี

เป็นเงื่อนไขเด็ดขาดตายตัวว่าในภาคส่วนของข้อมูลนั้นต้องยึดกุมอยู่กับข้อเท็จจริงอย่างเคร่งครัด จะแต่งเติมเสริมแต่งบิดผันเอาตามใจผู้เขียนไม่ได้ ส่วนวิธีการนำเสนอนั้นสามารถสร้างสรรค์กลวิธี สรรคำ ใช้สำนวนภาษาได้อย่างอิสระ กว้างไกล อย่างไม่แตกต่างจากวรรณกรรมเรื่องแต่ง หรือ fiction

โดยโครงสร้างคร่าวๆ งานสารคดีก็ไม่ต่างจากเรื่องสั้น ที่ประกอบไปด้วย ชื่อเรื่อง – เปิดเรื่อง – ตัวเรื่อง – ปิดเรื่อง และแต่ละส่วนก็สามารถรังสรรค์ภาษาและเทคนิคการเล่าเรื่องให้ลึกล้ำด้วยชั้นเชิงอย่างไรก็ได้ เพียงแต่นักเขียนสารคดีต้องไม่เผลอลืมว่าเนื้อหาจะต้องยืนอยู่บนข้อเท็จจริงเท่านั้น

klawannakam04

 เยาวชนนักเขียนค่ายกล้าวรรณกรรม ปี ๒๕๖๐ กับคณะวิทยากรบางส่วน

เมื่อเข้าใจ เหล่านักเรียนที่เป็นนักเขียนหัดใหม่-หลายคนเพิ่งเขียนสารคดีเป็นครั้งแรก ก็ทำออกมาได้อย่างน่าชื่นใจผู้อ่าน

พวกเขาส่วนใหญ่เล่าเรื่องที่สนใจใกล้ตัว เรื่องคนที่ผูกพัน สัตว์เลี้ยง ประสบการณ์ครั้งสำคัญ เหตุการณ์สำคัญของครอบครัว เรื่องส่วนตัว รวมทั้งความประทับใจที่ได้มาเข้าค่าย

อาจดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาทั่วๆ ไป แต่ด้วยภาษาและวิธีการเล่าที่ชวนตื่นตา รื่นรมย์สมค่างานวรรณศิลป์

นับตั้งแต่ชื่อเรื่อง

klawannakam05

“พี่ชายที่แสนดี” งานสารคดีที่ดีสมวัยเด็ก ม.ปลาย

“พี่ชายที่แสนดี” (เล่าถึงความผูกพันและการต้องห่างกันของพี่น้องลูกผู้ชาย)

“เส้นสายลายดาบ” (ผู้เขียนเล่าประสบการณ์ส่วนตัวจากการเข้าร่วมเรียนในสำนักฟ้อนดาบพื้นเมืองล้านนา ที่เต็มไปด้วยรายละเอียดเชิงศิลปะ พิธีกรรม ความเชื่อ รวมทั้งตัวดาบ)

“ขนม(กล้วย)ไม่ผสมมะพร้าว” (หลานเขียนเล่าความผูกพันระหว่างเธอกับยาย ผ่านขนมพื้นบ้านที่เธอโปรดปราน)

“หน้ากากแก้วสีแดงของเด็กขี้อิจฉา” (ผู้เขียนเผยปมที่แท้จริงในใจตนซึ่งซ่อนอยู่หลังบุคลิกนิสัยที่ดูดีในสายตาผู้ใหญ่ ออกมาในงานเขียนแบบเปิดเปลื้อง ล่อแหลม ชวนสะทกสะเทือนใจ)

ใครจะกล้าปฏิเสธว่าชื่อเรื่องดังที่ยกมานี้ไม่งดงามเร้าใจ ไม่สื่อความ และไม่ชวนให้เข้าไปอ่านเนื้อเรื่อง

เรื่อง “เส้นทางหนามกุหลาบ” เปิดเรื่องด้วยฉากราวหนังสยองขวัญ

เสียงฟ้าร้องเหมือนกับมีดอันแหลมคมที่กรีดลึกลงบนหัวใจของฉัน วันที่ชีวิตฉันเปลี่ยนไปเหมือนกับถูกผลักลงหุบเหวลึกอันเคว้งคว้างที่ยากจะหยั่งถึง เหมือนชีวิตฉันตายทั้งเป็น

วันนี้ฉันมาโรงเรียนเป็นวันสุดท้ายเพราะจะปิดเทอมแล้ว เย้ ฉันดีใจมาก แต่ฉันไม่ชอบบรรยากาศแบบนี้เลย ฉันไม่ชอบเวลาที่ฝนตกเพราะมันดูเศร้า

ฟ้าร้องและหยาดฝนโปรยปรายราวกับว่าต้องการบอกเหตุการณ์อันน่าเศร้า

เมื่อฉันกลับถึงบ้าน แม่บอกฉันว่า “บ้านเราล้มละลายแล้วลูก”

นี่เป็นฉากเปิดของงานสารคดีที่ไม่ต่างจากเรื่องสั้นเลย-ในแง่รสวรรณศิลป์ แต่ต่างที่ เนื้อเรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องจริง

บางตอนของบางเรื่อง ใช้ภาษาได้อย่างเข้าใจความงามของภาษา

เรื่อง “มิตรภาพจากค่ายวรรณกรรม” เล่าภาพความรู้สึกหลังผ่าน ๓ วันแรกของค่าย แล้วถึงเวลาต้องลงมือสร้างสรรค์งานเขียน

ผมยอมรับว่ารู้สึกกลัวและเป็นกังวลมาก แต่มันเป็นความรู้สึกช่วงหนึ่งเท่านั้น เมื่อมองไปรอบๆ ผมเห็นรอยยิ้มจากก้อนเมฆที่ลอยอยู่บนฟ้า คำพูดของครูที่พร่ำสอนพวกเราเรื่อยมา และสิ่งสำคัญที่สุด แววตาของนักสู้แห่งความเป็นกล้าวรรณกรรมที่รินไหลอยู่ในตัวของทุกคน เป็นแรงผลักดันให้ความมุ่งมั่นในตัวผมตื่นขึ้น

“โลกนี้คนเก่งมีเยอะแล้ว แต่ยังขาดคนเข้าใจ” คำพูดนี้กึกก้องเข้ามาในหัวจิตและหัวใจ

ผมไม่รู้ว่าบทประพันธ์ชิ้นนี้จะได้รับรางวัลหรือไม่ แต่ผมก็ภูมิใจ และเมื่อผมกลับบ้านผมจะเล่าเรื่องนี้ให้ครอบครัวฟัง

นอกจากความสามารถทางภาษา ผู้เขียนเรื่องนี้ยังวางใจได้ถูกต้อง

รางวัลเป็นเรื่องชั่วคราว ที่มอบให้กับงานเขียนเรื่องหนึ่ง หรือขณะหนึ่งแด่ผู้เขียน แต่ฝีมือที่ได้จากการเรียนรู้ฝึกฝนต่างหาก ที่จะอยู่กับตัวเราเสมอไป

และนำออกมาใช้ได้ตลอดเวลา ทุกครั้งที่ลงมือทำงานชิ้นใหม่


veeวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา