อังคาร-เก็บตกจากลงพื้นที่
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี…จากการลงพื้นที่ภาคสนาม


เซลฟี่สัตว์ป่า ภาพถ่ายที่ระลึกที่สัตว์ป่าปวดใจ

การถ่ายรูปร่วมกับสัตว์ป่าทั้งแบบให้ผู้อื่นถ่ายให้ หรือถ่ายเองแบบ “เซลฟี่” กำลังได้รับความนิยมในอเมริกาใต้แถบลุ่มน้ำอเมซอน  นักท่องเที่ยวคงไม่รู้ว่าเบื้องหลังภาพถ่ายสุดประทับใจคือความเจ็บปวดของสัตว์ป่าจากการทารุณกรรมสัตว์ [ภาพ : องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection)]

รายงานเรื่อง “A Close up on cruelty : ผลกระทบอันตรายในการถ่ายรูปเซลฟี่กับสัตว์ป่าแถบลุ่มน้ำอเมซอน” โดยองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) เผยเรื่องราวการนำสัตว์ป่ามาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวชนิดคาดไม่ถึง เนื้อหาหลักคือการอนุญาตให้นักท่องเที่ยวใกล้ชิดกับสัตว์ป่า รวมถึงให้ถ่ายรูปคู่กับสัตว์ป่าด้วยตนเองหรือ “เซลฟี่” (Selfie) เป็นแรงดึงดูด

รายงานดังกล่าวระบุว่า ในบรรดาสถานที่ท่องเที่ยว ๒๔๙ แห่งแถบลุ่มน้ำอเมซอน ร้อยละ ๕๔ อนุญาตให้นักท่องเที่ยวมีปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับสัตว์ป่า โดยเฉพาะการอุ้มสัตว์ป่าเพื่อถ่ายรูปด้วยกันใกล้ชิดแบบเซลฟี่ นอกจากนี้มีร้อยละ ๓๕ อนุญาตให้ใช้อาหารล่อ ร้อยละ ๑๑ เสนอกิจกรรมว่ายน้ำร่วมกับสัตว์ป่า เช่น โลมา

จากการลงพื้นที่ภาคสนามของผู้ทำรายงานมุ่งไปยัง ๒ เมืองหลัก

หนึ่งคือเมือง Manaus เมืองหลวงของรัฐ Amazonas ซึ่งเป็นรัฐที่ใหญ่ที่สุดในประเทศบราซิล มีพื้นที่ป่าไม้เขตร้อนถึงร้อยละ ๗๗ พบว่าจากบริษัทผู้ประกอบการท่องเที่ยว ๑๘ บริษัท มีบริษัทที่อนุญาตให้อุ้มหรือสัมผัสสัตว์ป่าเพื่อถ่ายรูปมากถึง ๑๗ บริษัท หรือร้อยละ ๙๔ มัคคุเทศก์ของบริษัทเหล่านี้จะพูดจาเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูปร่วมกับสัตว์ป่า โดยมีบริษัทที่ดำเนินกิจกรรมลักษณะนี้มายาวนานต่อเนื่องถึง ๑๔ บริษัท หรือร้อยละ ๗๗

อีกเมืองหนึ่งคือ Puerto Alegria ประเทศเปรู จากสถานที่ท่องเที่ยว ๓ แห่งอนุญาตให้นักท่องเที่ยวอุ้มหรือสัมผัสสัตว์ป่าเพื่อถ่ายรูปด้วยราคา ๑๕ เหรียญสหรัฐหรือราว ๕๐๐ บาท

selfieanimal01

มีรายงานว่าสัตว์ป่าที่ได้รับความนิยมในการนำมาให้นักท่องเที่ยวสัมผัส ลูบคลำ อุ้มเล่น ไปจนถึงถ่ายภาพคู่ ประกอบด้วยสล็อต  โลมาน้ำจืดสีชมพู งูยักษ์อนาคอนดา จระเข้เคแมน [ภาพ : องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection)]

สล็อต (sloth) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีลักษณะเด่นคือหน้าตาที่เหมือนจะยิ้มอยู่ตลอดเวลา ชอบเกาะอยู่ตามต้นไม้คล้ายหมีโคอะล่า เป็นหนึ่งในสัตว์ป่าที่ผู้ประกอบการนิยมนำมาจัดให้นักท่องเที่ยวเซลฟี่มากที่สุด

ผู้คนทั่วไปอาจไม่รู้จักสล็อต สัตว์ป่าที่รักสงบ เคลื่อนตัวช้าคล้ายมีอาการสะลึมสะลือ เมื่อถูกควบคุมตัวมา พวกมันคงไม่ได้ต้องการรับการสวมกอดจากมนุษย์ ในทางตรงกันข้าม การที่ต้องถูกจับมาให้บริการนักท่องเที่ยวในสถานที่ที่มีเสียงดังโหวกเหวก มีผู้คนมากมายอยากจะลองอุ้มลองกอดโดยที่พวกมันไม่สามารถหลบหนีได้ ย่อมก่อให้เกิดความเครียด อ่อนแอ เจ็บป่วยง่าย มีรายงานว่าสล็อตหลายตัวต้องตายลงหลังถูกจับมาเพียง ๖ เดือนเท่านั้น นอกจากสล็อต สัตว์ป่าซึ่งนิยมถูกจับมาถ่ายเซลฟี่ คือ โลมาน้ำจืดสีชมพู งูยักษ์อนาคอนดา จระเข้เคแมน

เนื้อหาของรายงานฉบับนี้ยังเปิดเผยว่าเบื้องหลังการถ่ายภาพเซลฟี่กับสัตว์ป่า ส่วนหนึ่งคือการลักลอบจับสัตว์ป่าจากที่อยู่อาศัย ส่วนหนึ่งเป็นการพรากลูกจากอ้อมอกพ่อแม่ นำมากักขังไว้ในกรงอันคับแคบและสกปรก เมื่อเติบโตพอที่จะ “ให้บริการ” นักท่องเที่ยวได้ สัตว์จำนวนหนึ่งจะถูกทำให้เชื่องด้วยการใช้กำลังทำร้ายเพื่อป้องกันไม่ให้มันทำอันตรายนักท่องเที่ยว

ลำพังแค่การถูกจับจากป่ามาขังกรงนั้นก็เหมือนถูกลงโทษประหาร มนุษย์ยังทำเหมือนสัตว์ป่าเป็นของเล่นด้วยการให้ออกมาถ่ายรูปเซลฟี่ กินอาหารคุณภาพแย่ที่นักท่องเที่ยวมักป้อนผสมๆ กัน ถูกใช้งานจนได้รับบาดเจ็บ ติดเชื้อโรคจากผู้คนที่ผลัดกันเข้ามาอุ้มเล่นแล้วส่งต่อๆ กัน

นับตั้งแต่ปี ค.ศ. ๒๐๑๔ ถึงปัจจุบัน มีรายงานว่าจำนวนรูปถ่ายเซลฟี่คู่สัตว์ป่าบน “อินสตาแกรม” เครือข่ายแลกเปลี่ยนรูปภาพบนสังคมออนไลน์ชื่อดัง เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๒๙๒

มากกว่า ๑ ใน ๔ ของรูปถ่ายแสดงให้เห็นถึงการอุ้ม กอด การมีปฏิสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสมกับสัตว์ป่า

จากภาพถ่าย ๓๔,๐๐๐ ล้านภาพของผู้ใช้อินสตาแกรมกว่า ๗๐๐ ล้านคน มีภาพถ่ายเซลฟี่คู่กับสัตว์ป่านับหมื่นๆ ภาพ

ขณะที่ความนิยมการถ่ายรูปเซลฟี่กับสัตว์ป่าในแถบอเมซอนแล้วเผยแพร่ลงบนสื่อสังคมออนไลน์กำลังเพิ่มขึ้น องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) พยายามแก้ไขปัญหาโดยเรียกร้องให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ บังคับใช้กฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่า

selfieanimal02

มากกว่า ๑ ใน ๔ ของรูปถ่ายใน “อินสตาแกรม” แสดงให้เห็นถึงการกอด อุ้ม ปฏิสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสมกับสัตว์ป่า  มีคำแนะนำว่าการถ่ายรูปเซลฟี่กับสัตว์ป่าที่ดี  ผู้ถ่ายควรอยู่ในระยะห่างที่ปลอดภัย  ปล่อยให้สัตว์ป่าอยู่ตามวิถีธรรมชาติ  ให้พวกมันได้เคลื่อนไหวอย่างเป็นอิสระ  ไม่ถูกกักขัง  สิ่งที่ไม่ควรทำคือการสวมกอด อุ้ม จับสัตว์ป่า ล่อด้วยอาหาร  [ภาพ : องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection)]

selfieanimal03

สถานที่ท่องเที่ยว ๒๔๙ แห่งแถบลุ่มน้ำอเมซอน  ร้อยละ ๕๔ อนุญาตให้นักท่องเที่ยวมีปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับสัตว์ป่า   โดยเฉพาะการอุ้มสัตว์เพื่อถ่ายรูปด้วยกัน  นอกจากนี้ยังอนุญาตให้ใช้อาหารล่อสัตว์ป่า  เสนอกิจกรรมว่ายน้ำร่วมกับสัตว์ป่า เช่น โลมา [ภาพ : องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection)]

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกไม่ได้ปฏิเสธการถ่ายรูปกับสัตว์ป่าอย่างสิ้นเชิง แต่แนะนำว่าการถ่ายรูปเซลฟี่กับสัตว์ป่าที่ดี ผู้ถ่ายควรอยู่ในระยะห่างที่ปลอดภัย ปล่อยให้สัตว์ป่าอยู่ตามวิถีธรรมชาติ ให้พวกมันได้เคลื่อนไหวอย่างเป็นอิสระ ไม่ถูกกักขัง สิ่งที่ไม่ควรทำคือการสวมกอด อุ้ม หรือจับ ล่อด้วยอาหาร การอยู่ใกล้ในระยะที่สัตว์ป่าสามารถทำอันตราย

สมศักดิ์ สุนทรนวภัทร ผู้จัดการฝ่ายโครงการ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกยอมรับว่า ความคลั่งไคล้ในการถ่ายรูปเซลฟี่คู่สัตว์ป่าเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และเป็นที่นิยมเพราะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่ได้รับรู้ถึงสภาพแวดล้อมที่เลวร้าย การดูแลที่ย่ำแย่ซึ่งสัตว์ป่าต้องเผชิญเพื่อมาให้ได้มาปรากฏอยู่ในภาพถ่ายที่ระลึกสุดพิเศษ

หันมองประเทศไทย ธุรกิจค้ากำไรจากการอนุญาตให้ถ่ายภาพคู่กับสัตว์ป่าก็มีอยู่เช่นกัน

ผู้เขียนนึกถึงวัดเสือที่จังหวัดกาญจนบุรี

นึกถึงสวนงูขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในพื้นที่เขตลาดกระบัง ถึงแม้วันที่ไปเยือนจะไม่พบว่ามีการเปิดบริการให้นักท่องเที่ยวได้จับหรือสัมผัสกับงูหลายสิบชนิดที่ถูกสั่งเข้ามาจากทั่วโลก แต่การถ่ายรูปเซลฟี่กับงูผ่านตู้กระจก แสงของเฟลชหรือระบบโฟกัสของอุปกรณ์ถ่ายรูปก็น่าจะส่งผลกระทบกับพวกมันไม่มากก็น้อย

ไม่ว่าจะถ่ายเซลฟี่ด้วยกล้องดิจิตอลหรือสมาร์ตโฟน ทุกคนคงรู้ดีว่ากว่าจะสำเร็จออกมาสักรูปหนึ่ง บางครั้งต้องถ่ายแล้วถ่ายอีกจนกว่าจะได้รูปที่พึงพอใจ นับประสาอะไรกับถ่ายรูปคู่กับสัตว์ป่า ช่างภาพต้องเหย้าแหย่ ให้อาหาร คอยเรียกกระตุ้นให้พวกมันหันหน้ามาถ่ายรูป

ความชื่นชอบในการเซลฟี่กำลังเปลี่ยนชีวิตของสัตว์ป่า ความนิยมในการโพสต์ภาพลงโลกออนไลน์ทำให้เกิดการทารุณกรรมสัตว์ป่าตั้งแต่แถบอเมซอนไปจนทั่วโลกอย่างคาดไม่ถึง โดยมีเบื้องหลังคือการทารุณกรรมสัตว์ที่นักท่องเที่ยวไม่ทันคาดคิด

เป็นเพื่อนถ่ายรูปเซลฟี่ หรือเราจะยอมรับว่าศักดิ์ศรีของสัตว์ป่ามีแค่นี้ เท่านั้น

หมายเหตุ : เก็บตกจาก : (๑) วัดเสือเมืองกาญจน์ : บทเรียนกฎหมายห้ามเพาะพันธุ์สัตว์ป่า นิตยสารสารคดี ปีที่ ๓๒ ฉบับที่ ๓๗๙ กันยายน ๒๕๕๙ (๒) รายงาน “A close up on cruelty : A harmful impact of wildlife selfies in the Amazon” องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection)