ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ที่อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นที่ตั้งของเมืองฟ้าแดดสงยาง เมืองโบราณยุคทวารวดีเมื่อพันกว่าปีก่อนโน้น จนเดี๋ยวนี้ก็ยังมีคูน้ำคันดินล้อมรอบตัวเมืองเป็นรูปวงรี มองเห็นได้ชัดแจ๋วในภาพถ่ายจากดาวเทียม

หลักฐานสำคัญที่ค้นพบในแถบนี้คือใบเสมาหินขนาดใหญ่สมัยทวารวดี สลักภาพทางพุทธศาสนา เช่นพระพุทธรูป พุทธประวัติ นิทานชาดก (เรื่องราวอดีตชาติของพระพุทธองค์) และรูปสถูปเจดีย์ แหล่งรวบรวมใบเสมาที่สำคัญได้แก่วัดโพธิ์ชัยเสมาราม กลางเมืองฟ้าแดดสงยางนั่นเอง ทางวัดสร้างโรงเรือนเก็บรักษาไว้เป็นพิพิธภัณฑ์ ใครผ่านไปทางนั้นขอชวนเชิญให้แวะเข้าไปชมดูกันได้

ในตัวเมืองโบราณฟ้าแดดสงยางทางด้านเหนือมีเจดีย์เก่าแก่องค์หนึ่ง เรียกกันว่า “พระธาตุยาคู” เป็นเจดีย์แบบล้านช้างหรือศิลปะลาว อายุหลายร้อยปี ซึ่งสร้างซ้อนทับบนฐานสถูปสมัยทวารวดีที่มีอายุเก่าแก่กว่านั้นมากอีกทีหนึ่ง ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นที่บรรจุอัฐิธาตุของ “ญาคู” จึงเรียกกันว่า “ธาตุญาคู” แต่ภาษาราชการแบบกรุงเทพฯ ฟังเสียงชาวบ้านแล้วจับไปสะกดแปลงจนเสียความ กลายเป็น “ยาคู”

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

คำว่า “ญาคู” ในภาษาอีสานใช้เรียกพระสงฆ์ระดับพระเถระผู้ใหญ่ผู้เป็นที่เคารพเลื่อมใส ทำนองเดียวกับคำว่า “ครูบา” ของทางภาคเหนือ ตัวอย่างเช่น “ญาคูขี้หอม” หรือพระครูโพนเสม็ก มหาเถระชาวล้านช้างซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงชักชวนราษฎรมาบูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม เมื่อหลายร้อยปีก่อน

ที่พระธาตุยาคู เราพบตุ๊กตาตัวสูงสักไม้บรรทัดตั้งอยู่ตรงที่จุดธูปจุดเทียนด้านหน้า เป็นตุ๊กตารูปข้าราชการไทยชุดสีกากีบ้าง นางพยาบาลบ้าง หมอบ้าง และมีที่เป็นตุ๊กตาทหารตำรวจอีกไม่น้อย เห็นอย่างนี้แล้วก็พอเดาได้ว่ามีคนเอามาถวายไว้เนื่องด้วยการสอบบรรจุเป็นข้าราชการ ในวันนั้น แม้จะได้ลองสอบถามพูดคุยกับผู้ที่มากราบไหว้บางคน แต่ก็ยังไม่ได้คำตอบว่าเรื่องนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร

แต่ถ้าจะให้นึก “เดา” เอาเอง สงสัยว่าชื่อธาตุ “ญาคู/ยาคู” นั้น ฟังคล้ายๆ คำว่า “ครู” เลยทำให้คนที่ตั้งใจจะสอบบรรจุข้าราชการครูมาบนบานกันก่อน เมื่อสอบได้แล้วเลยถวายตุ๊กตาข้าราชการครู (ชุดกากี) ไว้แทนตัว จากนั้นกลุ่มที่สอบบรรจุเป็น “คนในเครื่องแบบ” อื่นๆ ทั้งทหาร ตำรวจ พยาบาล ได้ยินข่าวว่าศักดิ์สิทธิ์ เลยมาสักการะกันในภายหลัง

คตินี้จึงแตกต่างไปจากการบนบานแบบอื่นๆ ที่เคยพูดถึงมาก่อนหน้านี้ คือมิได้เป็นการเลือกเฟ้นหาสิ่งที่เชื่อว่า “ท่าน” โปรดปรานไปถวาย แต่เป็นการถวายตัวเอง-ในรูปแบบของตุ๊กตุ่นตุ๊กตา- ไว้ให้เป็นลูกหลาน เหมือนอย่างที่มีธรรมเนียมในการถวายเด็กเล็กๆ ให้เป็น “ลูก” ของพระธาตุหรือพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ แม้กระทั่งถวายให้เป็น “ลูกพระพุทธเจ้า” ด้วยการให้บวชเรียนเป็นเณรน้อย


srun

ศรัณย์ ทองปาน

เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์ นิตยสาร สารคดี