ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


naga-dharani-01

นับถือกันมาแต่โบราณว่าแม่พระธรณีเป็นเทพีแห่งผืนแผ่นดิน จะทำอะไรเกี่ยวกับที่ดินจึงต้อง “บอกกล่าว” ก่อนเสมอ อย่างเวลาจะเริ่มการก่อสร้าง ตอกเสาเข็ม ยกเสาเอก ก็ต้องมีพิธีขอขมาลาโทษกันก่อน

นอกจากนั้น แม่พระธรณียังเกี่ยวข้องโดยตรงกับพุทธประวัติตอนตรัสรู้ คือเมื่อพระโพธิสัตว์อดีตเจ้าชายสิทธัตถะ ประทับอยู่ ณ ควงไม้พระศรีมหาโพธิ์ พญาวัสวดีมารยกกองทัพมาข่มขู่ อ้างว่าโพธิบัลลังก์นั้นเกิดขึ้นด้วยบุญบารมีของตัวเอง โดยอ้างเอาไพร่พลมารเป็นพยาน พร้อมกับขับไล่พระโพธิ์สัตว์ให้ลุกหนีไปเสียจากที่แห่งนั้น พระโพธิสัตว์ประทับอยู่เพียงลำพัง จึงทรงเอ่ยอ้างแม่พระธรณีเป็นพยานว่าโพธิบัลลังก์นี้เป็นสิทธิโดยชอบธรรมของพระองค์ ทันใดนั้น แม่พระธรณีจึงผลุดโผล่ขึ้นมาจากพื้นพิภพ แล้วบิดมวยผมที่ซึมซับน้ำที่พระโพธิสัตว์หลั่งทักษิโณทกไว้เมื่อกระทำการกุศลในอสงไขยชาติ ไหลท่วมท้นออกมาเป็นมหาสมุทร กองทัพพระยามารจึงแตกพ่ายไป แล้วพระโพธิ์สัตว์ก็ตรัสรู้อนุตตรสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้า ณ กาลบัดนั้น

ฉาก “มารผจญ” นี้ นิยมเขียนเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังอุโบสถ โดยมีภาพพระพุทธองค์ประทับใต้ต้นโพธิ์ ด้านล่างเป็นแม่พระธรณีบีบมวยผม ซ้ายขวาเป็นกองทัพพญามารที่เข้ามาคุกคามและพ่ายแพ้กลับไป อาจารย์ น. ณ ปากน้ำ (ประยูร อุลุชาฎะ) นักประวัติศาสตร์ศิลปะคนสำคัญ ยกย่องไว้ว่าภาพพระแม่ธรณีที่มีลีลาอ่อนช้อยงดงามเป็นที่สุด คือที่ผนังอุโบสถหลังเดิมของวัดชมภูเวก ย่านสนามบินน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

naga-dharani-03

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ส่วนพญานาคหรืองูใหญ่นั้น ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ นับถือว่าเป็นเจ้าแห่งแผ่นดินแผ่นน้ำเช่นกัน ดังมีตำนานขอมโบราณเล่าถึงต้นวงศ์กษัตริย์เมืองพระนครหลวง ว่าแต่เดิมผืนแผ่นดินแผ่นน้ำทั้งหมดเป็นของนาค อยู่มาวันหนึ่งมีพราหมณ์จากอินเดียแล่นเรือเข้ามา รบกับพญานาคจนได้รับชัยชนะ พญานาคจึงยกธิดาให้แต่งงานด้วย แล้วดูดน้ำออกให้แผ่นดินแห้ง เพื่อมอบให้เป็นที่อยู่อาศัยของลูกหลานสืบมา ขอมโบราณจึงนับถือพญานาคเป็นอย่างยิ่งดังมีภาพสลักรูปนาคอยู่ตามปราสาทหินต่างๆ ทั่วไป ส่วนในงานศิลปะไทยมักแสดงภาพพญานาคเป็นงูใหญ่หลายเศียร มีหงอนเป็นลายกนกพิสดาร หรือหากแปลงร่างเป็นมนุษย์ ก็ยังจะสังเกตเหล่านาคานาคีได้จากมงกุฎที่สวมใส่ซึ่งมียอดเป็นเศียรพญานาคอยู่นั่นเอง

จากที่เล่ามานี้ ทั้งพญานาคกับแม่พระธรณีนั้นดูไม่ค่อยเกี่ยวข้องกันเท่าใดนัก ประเด็นเดียวที่อาจเชื่อมโยงทั้งคู่เข้าด้วยกันได้ คือต่างก็เป็นเจ้าแห่งแผ่นดินเหมือนกัน คือพญานาคเป็นเจ้าของแผ่นดินตามคติพื้นเมือง ขณะที่แม่พระธรณีเป็นเทพีแห่งแผ่นดินตามคติพุทธศาสนาที่รับมาจากอินเดีย

อาจด้วยเหตุนั้น เมื่อมาถึงสมัยนี้ ทั้งสองเลยกลายเป็นเทพเจ้าที่ต้องบูชาคู่กันในฐานะ “เจ้าที่เจ้าทาง” อีกชุดหนึ่ง นอกเหนือไปจาก “ตายาย” หรือ “เจ้าที่” แบบเดิม อย่างที่มักเห็นตั้งรูปปูนปั้นระบายสีแม่พระธรณีบีบมวยผมไว้คู่กับพญานาคตามหน้าร้านค้า

ทั้งหมดนี้ ประเด็นสำคัญของเรื่องอยู่ตรงที่ “เขาว่ากันว่า” บูชาแล้วทำให้ขายที่ (ดิน) ได้ราคาดีนั่นแหละ


srun

ศรัณย์ ทองปาน

เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์ นิตยสาร สารคดี