เรื่อง : วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
นักเขียนหญิงวัย ๔๘ กะรัตคนนี้ ฝันอยากเป็นนักประพันธ์มาแต่อายุ ๙ ขวบ
ครั้งซิสเตอร์ (ครู) ให้เขียนเรียงความเรื่องอนาคตของข้าพเจ้า ตอนเรียนชั้นประถม ๓ โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ จันทบุรี เด็กหญิงเขียนความในใจวัยเยาว์ไว้ว่า อยากเป็นนักประพันธ์
นาน–ร่วม ๒๐ ปีให้หลัง ความฝันของเธอจึงปรากฏเป็นจริง
ตอนนั้น อรสม สุทธิสาคร ทำงานประจำอยู่กับนิตยสาร ถนนหนังสือ ในตำแหน่งบรรณาธิการผู้ช่วย
“เรืองเดช จันทรคีรี บรรณาธิการ ถนนหนังสือ คงเห็นแววในตัวเรา เขาบอกให้เขียนสารคดี ก็เขียนงานชิ้นแรกคือ ประวัติหม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์ ตีพิมพ์เป็นเรื่องปก ถนนหนังสือ ฉบับพฤศจิกายน ๒๕๒๘ ต่อมาก็ขยายข้อมูลเพิ่มเติมทำเป็นเล่มในปี ๒๕๓๐ ภูมิใจมาก เป็นก้าวแรก งานเล่มแรก เป็นการเขียนถึงนักเขียนในดวงใจ มีความหมายกับเรามาก”
ต่อจากนั้นอรสมก็เขียนงานประวัติบุคคลอีกราวเกือบ ๑๐ เล่ม ก่อนจะมาสู่ยุคสารคดีแนวสะท้อนสังคมที่เริ่มต้นด้วย สนิมดอกไม้ (พิมพ์ซ้ำ ๑๐ ครั้ง) คุก (พิมพ์ซ้ำ ๑๐ ครั้ง) ฯลฯ รวมทั้ง เด็กพันธุ์ใหม่วัยเอ็กซ์ และ มือปืน ที่ฮือฮาจนส่งให้ชื่อของเธอขึ้นไปอยู่แถวหน้าของนักเขียนสารคดีเมืองไทย และเป็นเบสต์เซลเลอร์ของสำนักพิมพ์สารคดี
พบแนวทางของตัวเองแล้ว คือข้อสรุปของเธอ
งานในแนวของอรสมเป็นเรื่องในมุมมืดที่หาอ่านยาก อยู่ในซอกหลืบของสังคม ไม่ใช่เรื่องที่รู้เห็นกันทั่วไป ทำให้ผู้อ่านของเธอจำนวนหนึ่งมักมีคำถามถึงที่มาของแรงขับดัน…ฟังเธอตอบ
“เป็นความขาดบางอย่างในวัยเด็ก ซึ่งต้องอยู่ในโลกแคบมาก อยู่ในโรงเรียนกินนอนตั้งแต่ ๓ ขวบจนโตเป็นสาว ทำให้เราฝันถึงการก้าวไปสู่สิ่งแปลกมหัศจรรย์ที่ไม่เคยพบเห็น มันเป็นแรงขับดัน อยากท่องไปในโลกกว้าง พบเห็นชีวิตที่หลากหลาย”
“เรารู้สึกว่าชีวิตเป็นสิ่งมหัศจรรย์ มีเรื่องให้เรียนรู้ไม่รู้จบสิ้น เธอให้ทัศนะต่อชีวิต และว่า งานสารคดีทำให้เราเติบโตขึ้น รู้จักตัวเองและผู้อื่น มันมีเสน่ห์ ทั้งยังให้ทุกสิ่งทุกอย่างกับชีวิตเรา ให้เรามีรายได้หล่อเลี้ยงชีวิต ให้การมองโลกที่สดใสในท่ามกลางความทุกข์”
คนรุ่นใหม่-ที่่อยากก้าวตามคนที่เดินก่อน นักเขียนหญิงรุ่นพี่มีข้อแนะนำว่า อย่างแรกต้องมีใจรักงานนี้ ถ้าใจไม่รักไม่ทุ่มเท ทำงานนี้ไม่ได้ เพราะต้องใช้พลังในตัวเองเยอะ ต้องมุ่งมั่น ต้องอุทิศ เอาจริง กัดไม่ปล่อย รักความท้าทาย รักการผจญภัย มีความเที่ยงธรรม รักผู้คน และไม่ตัดสินคน ต้องรู้จักวางแผนและมีวินัย ต้องอดทน และต้องทนอดบ้าง
“คนเขียนหนังสือต้องมีวิญญาณศิลปิน รักการผจญภัย เรามีความสุขกับความสันโดษ สันดานมันเป็นอย่างนี้ งานศิลปะต้องออกมาจากตรงนี้มันถึงจะมีเสน่ห์ “
แล้วอย่างไรจึงเรียกว่างานสารคดี ?
“หัวใจสำคัญอย่างหนึ่งคือ สารคดีต้องลงพื้นที่ ต้องมีข้อมูลใหม่ ๆ งานที่เขียนขึ้นมาจากการเก็บข้อมูลเฉพาะจากเอกสารนั้นถือเป็นงานเรียบเรียง สารคดีต้องมีน้ำเนื้อแห่งชีวิต ได้มาจากหยาดเหงื่อของการลงแรง การต่อสู้เคี่ยวกรำ มีกลิ่นอายความทุกข์สุข ไม่ดิบด้าน “
“สารคดีเป็นงานที่่คนพร้อมจะอ่าน เพราะช่วยเปิดโลกให้เขาเห็นสิ่งใหม่ ๆ ที่เขาไม่เคยรู้” เธอต่อประเด็นแล้วพูดถึงสถานการณ์ “มีคนอ่านสารคดีมากขึ้นเรื่อย ๆ อาจเป็นเรื่องของความอยากรู้อยากเห็น ระดับชาวบ้านก็อ่าน ระดับนักวิชาการก็อ่าน ที่สำคัญคือ อ่านแล้วเขาได้อะไร ? นอกจากสนองความอยากรู้อยากเห็น เขายังได้รู้เท่าทันชีวิต เห็นต้นธารของปัญหา สิ่งที่เห็นตามหนังสือพิมพ์เป็นปลายเหตุ แต่สารคดีทำให้เห็นที่มาที่ไป เห็นถึงเบื้องลึกของปรากฏการณ์ เป็นงานที่เผยให้เห็นสัจธรรมความเป็นจริง ซึ่งชีวิตจริงนี่ถือว่าสุดยอดแล้ว อ่านแล้วได้อุทาหรณ์แก่ชีวิต และเป็นกระจกสะท้อนให้เราได้เรียนรู้จักตนเอง “
” ทำให้คนอยู่ด้วยความไม่ประมาท มีความเข้าใจ หูตากว้าง ปัญญากว้าง มองรอบด้านมากขึ้น มองเพื่อนมนุษย์อย่างเข้าใจ เห็นความทุกข์ของผู้อื่นและเมตตา เราต้องเชื่อมชีวิตของผู้ยากลำบากอยู่ในความมืดมิดสู่ผู้คน เหมือนเป็นสะพาน นี่เป็นหน้าที่ของนักเขียนสารคดี “
แต่ท่ามกลางสภาพการณ์ที่งานเขียนสารคดีได้รับการยอมรับมากขึ้น
” คนเขียนไม่ได้เพิ่มจำนวนขึ้น และงานสารคดียังเป็นเหมือนลูกเมียเก็บ คือไม่ได้รับการเหลียวแล คนเขียนสารคดีหลายคนรู้สึกถึงตรงนี้ เช่นซีไรต์ก็ไม่ยอมให้มีการประกวดประเภทสารคดี เขาให้เหตุผลว่า กรรมการไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า ข้อมูลเชื่อถือได้หรือไม่ เขาจึงตัดไปเลย มันน่าเศร้ามาก และตลก ! เหตุผลแค่นี้หรือที่คุณตัดสิทธิ์งานสารคดี ? “
“ตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ ก็ได้ยินว่าเขาไม่พิจารณานักเขียนสารคดีี เพราะเขามองว่าไม่ใช่งานสร้างสรรค์ ไม่ใช่งานที่สร้างขึ้นเอง คือไปรวบรวมข้อมูลแล้วนำมาเขียน”
แต่ในความเห็นของอรสม
” สารคดีเป็นงานสร้างสรรค์แน่นอน แม้่งานสารคดีจะมาจากข้อมูลจริง แต่ก็ต้องผ่านการสร้างสรรค์ในการนำเสนอ และเหนืออื่นใด เป็นงานที่ให้ประโยชน์ทางปัญญา งานสารคดีเป็นงานที่เหนื่อยยาก เราไม่ใช่แค่นักฝัน แต่ต้องลงมือปฏิบัติ ต้องลงพื้นที่ ใช้ทุน ปฏิภาณไหวพริบ การผจญภัย ต้องใช้หลายอย่างกว่าจะได้มา และถ้าถือว่าอรรถรสเป็นคุณสมบัติของงานวรรณกรรม สารคดีก็เป็นวรรณกรรมแขนงหนึ่ง เพราะอ่านเอารสชาติก็ได้ และได้อรรถประโยชน์ด้วย เราเห็นว่ามันมีประโยชน์ไม่น้อยกว่าวรรณกรรมจินตนาการ ใช้ข้อมูลจริงแต่ต้องอาศัยการสร้างสรรค์ในทางศิลปะ รางวัลศิลปินแห่งชาติ รัฐมอบให้แก่คนทำงานศิลปะ มันมีความหมาย หวังว่าสิ่งเหล่านี้จะได้รับการแก้ไข “
“ที่พูดตรงนี้ไม่ใช่เพราะอยากได้รางวัล เราไม่เคยได้รางวัล และคิดว่าการได้ทำงานที่รักเป็นรางวัลสูงสุดของชีวิตแล้ว แต่เราอยากต่อสู้เพื่องานสารคดีซึ่งเป็นงานที่เรารัก สารคดีต้องมีศักดิ์ศรี มีคุณค่าไม่ด้อยกว่าวรรณกรรมประเภทอื่น ไม่ใช่เรียกร้องเพื่อตัวเอง เรามันก็แค่นี้แหละ คงไม่ได้ดีหรือดับไปกว่านี้ จะอีกสักกี่ปีเดี๋ยวก็ตายกลายเป็นปุ๋ยแล้ว แต่คนเขียนสารคดีรุ่นหลังต้องอยู่ และอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี”
สู้อย่างไรบ้าง ?
“ก้มหน้าก้มตาทำงานไปเงียบ ๆ นั่นเป็นวิธีหนึ่ง-และอีกด้านหนึ่ง มีเวทีไหนพูดได้ เราพูด ใครหมั่นไส้หรือหาว่ากระเหี้ยนกระหือรืออยากได้รางวัลก็ว่าไป แต่ต้องกรุยทางไว้ให้คนรุ่นหลัง และกิจกรรมอีกอย่างที่เราทำร่วมกับสำนักพิมพ์สารคดี คือไปบรรยายตามสถาบันการศึกษาในจังหวัดหลัก ๆ ทั่วประเทศโดยไม่มีค่าตัว เราอยากตอบแทนสังคม มีความสุขที่ได้ทำ เราทำมา ๗ ปีแล้ว”
อีกอย่างหนึ่ง มักมีคนถามว่า ” เห็นแต่ชีวิตที่เหลือทน ไม่ทุกข์หรือ ?”
เธอตอบ ” เราเห็นแต่ความหวัง เห็นสิ่งดีงาม เห็นแสงสว่างในความทุกข์ เห็นสิ่งดี ๆ ในหัวใจของผู้คน เห็นมาตลอดชีวิตการทำงาน เห็นการจัดการกับจิตใจไม่ให้ทุกข์นักเมื่อประสบวิกฤตในชีวิต เห็นความเมตตา ความอบอุ่นที่มนุษย์มีให้กัน ให้ฝ่าข้ามความยากลำบาก ให้ใช้ชีวิตอย่างปรกติสุขตามสมควร ทำให้เราศรัทธาในชีวิต ในความรัก ศรัทธาในเพื่อนมนุษย์ เราไม่เคยหมดหวังกับชีวิต ไม่เคยรู้สึกหดหู่ จิตวิญญาณของเราไม่เศร้าหมองจากการได้เห็นสิ่งดี ๆ ที่มนุษย์มีให้กัน เรารู้สึกถึงคุณค่าของชีวิต”
คนทุกข์จำนวนมากที่ไม่จมอยู่กับทุกข์ เช่น ยายคนหนึ่งที่ปากพนัง ลูกสาวเสียชีวิตจากโรคเอดส์ ยายจนมากต้องเลี้ยงหลาน ๔ คน ควรจะทุกข์เศร้ากันเหลือทน แต่ทั้งตัวยายและเด็ก ๆ มีสุขภาพจิตดีมาก เด็กผู้หญิงวัย ๒๐ ต้น ๆ ถูกข่มขืนปางตาย แต่เธอให้อภัยกับคนที่ทำ และไม่เอาสิ่งนั้นมาตอกย้ำทำร้ายตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า มีชีวิตอย่างปรกติได้ ผู้ต้องขังในคุกที่ดูแลคนอื่นที่เจ็บป่วย สละผ้าห่มให้ ปรนนิบัติเหมือนญาติ ฯลฯ
สำหรับ อรสม สุทธิสาคร คนเหล่านี้ถือเป็นผู้มีบุญคุณที่ทดแทนได้ไม่หมด
“ผลงานอาจทำให้คนเขียนได้รับคำชื่นชมบ้าง แต่มันไม่ใช่เป็นเพราะเรา ความสำเร็จของงานมาจากบุญคุณของแหล่งข้อมูล การที่เขายอมเปิดเผยชีวิตของตัวเองให้เป็นอุทาหรณ์แก่ผู้อื่น ถือเป็นบุญกุศลมหาศาล”
เธอจึงขอประกาศความเชื่อมั่นและศรัทธาดังนี้
“โดยลักษณะของคนทำงานศิลปะ จะมีอัตตาอยู่ เพราะถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ก็คงเขียนออกมาไม่ได้ แต่อัตตาของคนเขียนสารคดีต้องแนบอยู่กับความอ่อนน้อมถ่อมตน ต้องไม่อหังการ และสำนึกบุญคุณแหล่งข้อมูลอยู่ตลอดเวลา เพราะถ้าไม่มีเขาก็ย่อมไม่มีเรา”