วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี

 


wannakamcamp01

ภาพโดย เมืองแคน อิสระธรรม

จุดเด่นของค่ายวรรณศิลป์สัญจร มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ซึ่งจัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ ๕ คือเป็นค่ายวรรณกรรมที่มีฐานการเรียนรู้ผู้ร่วมค่ายได้สัมผัสเรียนรู้มากถึง ๑๐ ฐาน

ประกอบด้วย นิยาย เรื่องสั้น บทกวี สารคดี เป็น ๔ ฐานหลักเช่นในค่ายวรรณกรรมโดยทั่วไป

นอกจากนั้นยังมีฐาน เพลง บทละคร ภาพเขียน ภาพถ่าย หนังสั้น และการสื่อสารมวลชน

สมาชิกค่ายเป็นนักศึกษาเอกภาษาไทย คณะครุศาสตร์ ม.กาฬสินธุ์ ชั้นปีที่ ๑-๓ นั่นหมายความว่า ก่อนสำเร็จเป็นบัณฑิต นักศึกษาเอกไทยของมหาลัยนี้จะมีโอกาสได้เรียนรู้ ฝึกปฏิบัติจริงในหลักสูตรนอกห้องเรียนได้ถึง ๓ ครั้ง

นี้เป็นสิ่งที่หาได้ยากในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศไทย แม้แต่ในมหาวิทยาลัยชั้นนำในเมืองหลวง

wannakamcamp02

ภาพโดย พินิจ นิลรัตน์

ค่ายนักเขียน หรือค่ายวรรณกรรม ถือเป็นเรื่องใหม่ในเมืองไทย นักเขียนที่มีอายุงานเกิน ๒๐ ปี ส่วนใหญ่ไม่มีใครเคยผ่านค่ายฝึกเขียนมาก่อน เพราะกิจกรรมในลักษณะค่ายอบรมการเขียน (ที่ทำแบบต่อเนื่อง ไม่ใช่เฉพาะกิจแบบครั้งคราวหรือครั้งเดียวผ่าน) น่าจะเพิ่งมีมาไม่เกิน ๒๕ ปี ตามอายุค่ายวรรณกรรมสัญจร มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ถือเป็นค่ายนักเขียนที่มีอายุมากที่ของในเมืองไทยเวลานี้

ส่วน “ค่ายวรรณศิลป์สัญจร” (ม.กาฬสินธุ์) จะนับว่าเป็นความต่อเนื่องมาจาก “ค่ายวรรณกรรมสัญจร” (ม.สารคาม) ก็คงว่าได้ เพราะอาจารย์วัชรวร วงศ์กัณหา และ อาจารย์อนุชา พิมศักดิ์ ที่เป็นกำลังหลักผลักดันให้เกิดค่ายวรรณศิลป์สัญจร ก็เป็นศิษย์ค่ายวรรณกรรมสัญจร เช่นเดียววิทยากรส่วนใหญ่ที่ผ่านค่ายไปเติบโตในวรรณศิลป์แขนงต่างๆ แล้วกลับมาช่วยเพื่อน-ส่งต่อความรู้สู่คนรุ่นหลังที่สนใจในสายงานศิลป์เดียวกับตน

ถึงที่สุดแล้ว ค่ายนักเขียนจึงไม่ได้เพียงสร้างผลิตผลฝึกคนให้เป็นคนเขียนหนังสือเท่านั้น แต่ยังสร้างนักสร้างค่ายต่อเนื่องไปด้วย

wannakamcamp03

ภาพโดย พินิจ นิลรัตน์

กระบวนการในค่ายไม่ได้มีอะไรมาก แค่มาใช้ชีวิตรวมหมู่อยู่ด้วยกันกลางธรรมชาติ ซึ่งในค่ายครั้งที่ ๕ เมื่อวันที่ ๖-๘ ธันวาคม ๒๕๖๐ จัดกันที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว หน่วยศาลาพรม จังหวัดชัยภูมิ กลางป่าที่ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ เดินป่าศึกษาธรรมชาติด้วยกัน ต่อไฟเติมฝันสรรหาแรงบันดาลใจมาสร้างสรรค์งานในสาขาที่สมัครลงกลุ่มไว้ แล้วมาล้อมวงคุยกัน นำเสนองาน วิจารณ์ติชม รับคำเสนอแนะจากคณะวิทยากร

ขั้นตอนกระบวนการในช่วง ๓ วัน ที่ชมรมวรรณศิลป์ ม.กาฬสินธุ์ ผู้รับผิดชอบจัดค่ายออกแบบไว้ง่ายๆ เพียงเท่านั้น แต่ในรายละเอียดปลีกย่อย และแง่มุมส่วนตัวที่เกิดขึ้นในแต่ละคน เป็นเรื่องที่อยู่ในใจเฉพาะตน

ดังที่เพื่อนชาวค่ายคนหนึ่งได้โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงเพื่อนในสังคมออนไลน์ หลังวันกลับจากค่าย ด้วยน้ำเสียยงสุดเท่ ว่า

“นายไม่ไปค่าย นายจะรู้อะไร”
wannakamcamp04

ภาพโดย BlackRiver Whitewind

ถ้าไม่เจอเอง ผมก็คงไม่รู้

เป็นเรื่องบังเอิญที่ไม่จงใจ ไม่เตรียมการ ไม่ได้จะสำรวจอะไรทั้งนั้น เพียงแต่มักถามเปรยๆ กับนักศึกษาทุกคนที่ได้คุยกันบนเส้นทางวรรณกรรม

คำถามของผมคือ ทำไมจึงเรียนคณะนี้ (หากเขาหรือเธอเรียนในสายอักษรฯ หรือวารสาร) ทำไมอยากเป็นนักเขียน ทำไมอยากเป็นคนทำหนังสือ หรือ ฯลฯ ที่เกี่ยวกับว่าอะไรทำให้เขาสนใจการอ่านการเขียน

คำตอบแตกต่างหลากหลายกันไปตามความบันดาลใจและจุดพลิกเปลี่ยนชีวิตของแต่ละคน

แต่ที่สะดุดใจผมคือ ในช่วง ๓-๔ มานี้มีเด็กใต้อย่างน้อย ๓ คน บอกผมว่า เพราะเขาได้ผ่าน “ค่ายนักเขียนน้อย” ตอนอยู่ ม.ปลาย

ค่ายนี้เกิดจากการลงแรงของนักเขียนใต้ กลุ่มคลื่นใหม่ ตระเวนไปทำค่ายตามโรงเรียนมัธยมในภาคใต้หลายจังหวัดนับสิบปี ทุกวันนี้เด็กๆ ที่เคยผ่านค่ายเข้าเรียนมหาวิทยาลัยหรือเรียนจบกันไปแล้ว

บางคนเล่ารายละเอียดด้วยว่าจุดเปลี่ยนชีวิตที่ยังอยู่ในความทรงจำมาจนบัดนี้ เป็นฉากที่พี่เลี้ยงค่ายพาพวกเขานั่งเรือข้ามฝั่งสู่เกาะพิทักษ์ใต้แสงจันทร์ แล้วไปนั่งเขียนบทกวีกันที่ริมชายหาด เด็ก ม.ปลายคนหนึ่งบอกตัวเองในคืนนั้นว่า งานวรรณศิลป์นี่แหละเป็นเส้นทางที่เธอจะเลือกเดิน

ไม่ใช่แต่เด็ก ม.ปลายส่วนใหญ่ แม้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยก็มีไม่น้อย ที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองจะเป็นอะไร รักชอบอะไร ที่เรียนๆ กันอยู่อาจเป็นไปตามปัจจัยนานาหลากหลาย ที่ไม่ได้มาจากหัวใจของตัวเอง

นักเขียน เป็นสายวิชา-อาชีพ ที่มีสถานะไม่ชัดเจนในสังคมของเรา ค่ายนักเขียนจึงนับว่ามีผลมากในการเปิดโลกทัศน์ให้ยุวชนคนรุ่นใหม่ได้รู้ว่ามีอาชีพนี้อยู่ด้วยและเขาเลือกที่จะเป็นได้

แม้แน่นอนว่าคนหนุ่มสาวจำนวนเป็นร้อยที่มาร่วมในแต่ละค่าย ย่อมไม่ได้เป็นนักเขียนทั้งหมด แต่เชื่อได้ว่าอย่างน้อยที่สุดกระแสความรักการอ่านการเขียนที่ถูกเปล่งขานปลุกเร้าสู่กันตลอดช่วงเวลาในค่าย ย่อมจะติดตัวเขาไปด้วยแล้ว

สิ่งนี้จักส่งผลบวกต่อชีวิตข้างหน้าของเขาแน่นอน หากเรายังเชื่อว่า หนังสือหนังหาคือขุมปัญหาของผู้คนและสังคม

ดังที่ปรมาจารย์ด้านศิลปะของเมืองไทยเคยกล่าวไว้

“นายไม่อ่านหนังสือ นายจะรู้อะไร”