อังคาร-เก็บตกจากลงพื้นที่
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี…จากการลงพื้นที่ภาคสนาม


dawai00

๒๙ พฤศจิกายน – ๕ ธันวาคม ๒๕๖๐ ได้รับเชิญจากมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) และเสมสิกขาลัย มูลนิธิเสถียรโกเศศ-นาคะประทีป ออกเดินทางสู่ทวาย เมืองเล็กๆ ตอนใต้พม่า ร่วมโครงการ “ท่องทวายกับอาสาอาเซียน”

ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ทวายถูกพูดถึงในหมู่นักลงทุนในฐานะที่ตั้งโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย โครงการตัดถนนเชื่อมทวายกับท่าเรือแหลมฉบัง บ้างอ้างว่าพื้นที่แถบนี้จะกลายเป็นนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด “เวอร์ชั่นพม่า”

หลังออกท่องทวายร่วมสัปดาห์ ผมพบว่าเมืองเล็กๆ ในอ้อมกอดเขาตะนาวศรียังมีอีกหลายสิ่งน่าสนใจ

dawai01

“ทวาย” หรือ “ทะเว”

ชื่อ “ทวาย” เป็นคำที่คนไทยใช้เรียกกัน ความจริงแล้วนั้นคนทวายออกเสียงเรียกตัวเองว่า “ทะเว” (Dawei)

ทวาย หรือ ทะเว เป็นเมืองเอกแห่งแคว้นตะนาวศรี ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของพม่า ดินแดนส่วนนี้มีลักษณะเป็นแหลมยื่นออกจากส่วนหลักของประเทศคล้ายภาคใต้ของไทย มีแม่น้ำทวายไหลผ่าน ขนาบเทือกเขาตะนาวศรีและอ่าวเมาะตะมะ ทวายจึงมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ทั้งป่าเขาและทะเล

นอกจากทวายแล้วแคว้นตะนาวศรียังมีเมืองสำคัญอื่นๆ อีกที่คนไทยคุ้นชื่อ คือ มะริด และเกาะสอง

เกาะสองตั้งอยู่ตรงข้ามจังหวัดระนอง มะริดอยู่ตรงข้ามประจวบคีรีขันธ์ ทวายอยู่ตรงข้ามกาญจนบุรี

dawai02

ฝ่าด่าน “เคเอ็นยู”

หากไม่ขึ้นเครื่องจากกรุงเทพฯ ไปลงสนามบินย่างกุ้ง แล้วต่อรถหรือสายการบินในประเทศมาลงสนามบินทวาย

การเดินทางมาด้วยทวายรถยนต์ต้องขับรถผ่านเทือกเขาตะนาวศรี บางช่วงเลาะเลียบแม่น้ำตะนาวศรี

ที่ชายแดนไทย ฝั่งตรงข้ามจุดผ่านแดนถาวรบ้านพุน้ำร้อน จังหวัดกาญจนบุรี คือด่านทิคี่ ชายแดนพม่า การยื่นหนังสือผ่านเข้าประเทศอยู่ในควารับผิดชอบของรัฐบาลพม่า แต่หลังจากนั้นเรายังต้องผ่านจุดตรวจย่อยของกองกำลังสหภาพชนชาติกระเหรี่ยง หรือ เคเอ็นยู อีก ๔-๕ ด่าน ทุกด่านติดป้ายห้ามถ่ายรูป

หลังเจรจาหยุดยิงเพื่อสันติภาพ พื้นที่ตามแนวชายแดนยังถือเป็นเขตอิทธิพลของกระเหรี่ยงเคเอ็นยู

ระยะทาง ๑๓๒ กิโมเมตร ใช้เวลาประมาณ ๗ ชั่วโมงถึงตัวเมืองทวาย

dawai03

พืชเศรษฐกิจชื่อ “มะม่วงหิมพานต์”

ของกินเล่นขึ้นชื่อทางภาคใต้ของไทยก็มีวางจำหน่ายอยู่ทั่วไปในภาคใต้ของพม่า

ส่วน “ติ่ง” ของผลพืชที่ชื่อขึ้นต้นว่า “มะม่วง” แต่รสชาติคล้าย “ถั่ว” เป็นพืชเศรษฐกิจของคนทวาย อดีตเคยเป็นสินค้าส่งออกไทย ปัจจุบันนิยมส่งไปจีน
ในเมืองทวายมีโรงงานทำมะม่วงหิมพานต์มากกว่า ๓๐ แห่ง โรงงานที่ใหญ่ที่สุดตั้งอยู่ในห้องแถว เจ้าของยังคงใช้เตาถ่านและเตาอบแบบโบราณ คนงานต้องคอยพลิกกลับเม็ดมะม่วงหิมพานต์ สลับถาดชั้นบนกับชั้นถาดล่างทุก ๔๕ นาที

วิธีการอันพิถีพิถันและใส่ใจนี้ เริ่มตั้งแต่รับมะม่วงหิมพานต์จากเกษตรกรมาตากแดด ๔ วัน ต้ม ๓๐ นาทีงแล้วกะเทาะเปลือกแข็ง อบต่ออีก ๒ วัน ขูดเปลือกอ่อนแล้วคัดแยกตามขนาด

คนงานร้อยกว่าคนเกือบทั้งหมดเป็นผู้หญิง มีรายได้เฉลี่ย ๕,๐๐๐ – ๑๑,๐๐๐ จ๊าด หรือ ๑๒๕-๒๗๕ บาทไทยต่อวัน ขึ้นอยู่กับน้ำหนักและการแตกหักของเม็ดมะม่วง

มะม่วงหิมพานต์เกรดเอราคาใกล้เคียงกับไทย คือกิโลกรัมละ ๑๖,๐๐๐ จ๊าด หรือ ๔๐๐ บาท

dawai04

“ถนนต้นตาล” และ “น้ำตาลเมา”

ถนนหลายสายในเมืองทวายมีต้นตาลสูงใหญ่ขึ้นเรียงรายสองฝั่ง บางเส้นเป็นแนวยาวไปจนสุดสายตา ขนาบด้วยท้องทุ่งนา บรรยากาศคล้ายจังหวัดเพชรบุรีเมื่อหลายปีก่อน

ไม่มีใครให้ข้อมูลชัดเจนได้ว่าต้นตาลเหล่านี้ถูกปลูกขึ้นเมื่อไร และเพราะอะไรถึงเลือกใช้ต้นตาลเป็นไม้ริมถนน

ถนนต้นตาลสายหนึ่งเป็นถนนสุขภาพ เพราะนอกจากจะมีรถยนต์และมอเตอร์ไซด์แล่นผ่าน คนทวายยังชอบออกมาวิ่งออกกำลังกายกัน

ริมถนนสายเดียวกันยังมีเพิงเล็กๆ ที่ชาวบ้านปลูกขึ้นเพื่อขาย “น้ำตาลเมา” หมักจากน้ำตาลสดที่ชาวบ้านปีนขึ้นไปปาดงวงตาล เวลาเสิร์ฟใส่กระบอกไม้ไผ่ คู่กับแกล้มทำจากปลาแห้ง หอยเสียบ ยำถั่วคลุกหัวหอม

ภาพชาวบ้านกลุ่มหนึ่งวิ่งออกกำลังกาย กับอีกกลุ่มซดน้ำตาลเมาจนได้ที่ บางคนคอพับ ริมท้องทุ่งคล้ายเพชรบุรี เป็นภาพแปลกตาริมถนนต้นตาลแห่งทวาย

dawai05

ณ หลักกิโลเมตรที่ศูนย์

หลักกิโลเมตรที่ศูนย์ เป็นจุดเริ่มต้นของถนนออกจากเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และเป็นจุดสร้างท่าเรือน้ำลึกรับส่งสินค้ายื่นออกไปในทะเล

เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายเป็นมหากาพย์ร่วมระหว่างไทยกับพม่า ลงนาม MOU พัฒนาเส้นทางเชื่อมทวาย-แหลมฉบังตั้งแต่ปี ๒๕๕๑

ร่วมสิบปีไปผ่านไป ที่ดินริมชายหาดมยินจีถูกปรับสภาพให้ราบเรียบ มีการย้ายหมู่บ้านชาวประมงออกจากหน้าหาด สร้างโรงไฟฟ้า ท่าเรือขนาดเล็ก หมู่บ้านรองรับผู้อพยพ แต่โดยรวมโครงการมีความคืบหน้าช้ามาก

เพราะถูกคัดค้านจากชาวบ้าน และไม่ค่อยมีนักลงทุนจากต่างชาติกล้าเสี่ยงเข้ามาตั้งโครงการนำร่อง

ถึงตอนนี้ยังไม่แน่ชัด ว่าโครงการทวายที่รัฐบาลพม่าและนักลงทุนต่างชาติหวังจะพัฒนาทวายไปในทิศทางอุตสาหกรรม จะสิ้นสุดลงตรงไหน

dawai06

ปลาสดๆ บนหาด “ตาบอเส็ก”

ณ ชายหาดหมู่บ้านตาบอเส็ก ไม่ห่างจากเรือประมงที่เพิ่งเข้าเทียบท่า แม่บ้านชาวประมงนำปลาออกมาวางขายเต็มชายหาด
ปลาสดๆ ที่สามีของพวกเธอจับได้มีหลายชนิด เช่น ปลากดทะเล ปลาดาบลาว ปลาสละ อินทรี ใบขนุน มง ฉลาม ปักเป้า กุเลา กระบอก ช่อนทะเล เก๋า สีกุล ดุกทะเล สาก ฯลฯ

บางชนิดเคยมีในอ่าวไทย
สุ่มถามราคาขาย แม่บ้านบอกปลาอินทรีน้ำหนัก ๑ วิสส์ (viss) ราคา ๑๐,๐๐๐ จ๊าด คิดเป็นเงินไทยประมาณ ๒๕๐ บาท
วิดเป็นหน่วยวัดน้ำหนัก ๑ วิสส์ เท่ากับ ๑.๖๓ กิโลกรัม

แทบทุกวัน ปลาสดจากท้องทะเลจะถูกนำมาวางเรียงเต็มหาด พอดวงตะวันพ้นจากขอบฟ้าตลาดปลาก็เริ่มวาย มีพ่อค้าเข้ามาต่อรองราคาปลาไปขายต่อ

ชาวประมงตาบอเส็กไม่ได้ออกเรือทุกวัน แต่ละเดือนจะมีอย่างน้อย ๑-๒ วัน ที่พวกเขาหยุดออกหาปลา คือวันพระจันทร์เต็มดวงขึ้น ๑๕ ค่ำ

แรม ๒-๔ ค่ำ ถึงจะออกทะเลอีก

dawai07

หมู่บ้าน “กาโลนท่า” และผ้าป่าสามัคคี

หมู่บ้านกาโลนท่าตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองทวายประมาณ ๒๐ กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณชั่วโมงครึ่ง ก่อนถึงตัวหมู่บ้าน แสงแรกของวันสะท้อนเกาะแก่งกลางแม่น้ำตาไลน์ยาร์เป็นประกายระยิบระยับ ชาวบ้านเล่าว่าบางช่วงที่น้ำมาก จะมีคนออกมาร่อนแร่

บ้านเรือนในหมู่บ้านกาโลนท่าเป็นบ้านไม้ ล้อมรอบด้วยสวนสมรมและต้นหมากสูงใหญ่ที่ปลูกส่งออกไปขายทั่วประเทศพม่า อย่างไรก็ตาม ไม่นานมานี้รัฐบาลพม่าได้แจ้งว่าพื้นที่ทั้งหมดของหมู่บ้าน รวมถึงผืนป่า ๗ ล้านตารางกิโลเมตร จะจมอยู่ใต้น้ำเมื่อมีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำตาไลน์ยาร์

หลวงพ่ออู ปิญญา วันตะ เจ้าอาวาสวัดธรรมเลกิต และลูกบ้าน เล่าว่าพวกตนไม่ต้องการอพยพไปไหน และอยากผลักดันพื้นที่หลายๆ แห่งรอบหมู่บ้านโดยเฉพาะบ่อน้ำพุร้อน และน้ำตกเป็นแหล่งท่องเที่ยว

๑ ธันวาคม ๒๕๖๐ คนไทยกลุ่มเล็กๆ จึงเป็นเจ้าภาพทอดผ้าป่าจากเมืองไทย รวบรวมเงินทำบุญเงินได้ ๕๑ ล้านจ๊าด หรือประมาณ ๑๒๕,๐๐๐ บาท เจ้าอาวาสบอกว่าจะนำมาใช้พัฒนาวัด และหมู่บ้านต่อไป

dawai08

มองมะกัน “บางแสน” เวอร์ชั่นทวาย

หาดมองมะกันเป็นสถานที่พักผ่อนยอดนิยมของคนทวาย ให้ความรู้สึกคล้ายชายหาดบางแสนบ้านเรา แต่เงียบสงบกว่า
เมื่อดวงอาทิตย์คล้อยไปทางตะวันตก ถึงเวลาน้ำลด ชายหาดทรายจะแผ่ออกกว้างใหญ่ คนที่มาเล่นน้ำต้องเดินลงไปเกือบครึ่งกิโลเมตร
หาดมองมะกันน้ำใสสะอาด เม็ดทรายละเอียด แทบไม่มีเศษขยะ แต่ลึกลงไปใต้น้ำ บางช่วงเป็นหาดโคลน ทำให้น้ำมีสีขุ่นจากตะกอนโคลนอยู่บ้าง
เกือบทุกวันเมื่อแดดร่มลมตก นอกจากมีคนเล่นน้ำแล้วยังมีภาพชาวทวายออกมาเดินหาหอยในชายหาดเป็นอาหารและเป็นรายได้เลี้ยงชีวิต

dawai09

ความหวังของหมู่บ้านประมง “ซานลาน”

หมู่บ้านประมงซานลานมีคนอาศัยอยู่ประมาณ ๕๐๐ หลังคาเรือน ได้รับคัดเลือกทางรัฐบาลท้องถิ่นให้เป็นหมู่บ้านนำร่องเรื่องการท่องเที่ยว ประชาคมทวายแนะนำให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันกลุ่มละ ๗ คนทำงานเป็นทีม หาทางพัฒนาการท่องเที่ยวในหมู่บ้าน
อู จามิ ผู้แทนกลุ่มบ้านอายุ ๖๐ ปี เล่าว่าตัวเองออกหาปลามาตั้งแต่อายุยี่สิบ เพิ่งจะเลิกลงทะเลมาเป็นคนรับซื้อปลา และกำลังหาทางพัฒนาหมู่บ้านให้ชาวบ้านมีรายได้จากการท่องเที่ยว

นอกจากดูวิถีชาวประมง ชมลานตากปลาเต็มหาดยามน้ำลด อู จามิ แนะนำว่านักท่องเที่ยวสามารถนั่งเรือไปเล่นน้ำบนเกาะนอกชายฝั่ง มีเกาะลองโลง เกาะมองมะกัน เกาะสวยๆ เหล่านี้อยู่ไม่ห่างจากฝั่ง และมีชายหาดให้เล่นน้ำ

dawai10

มหกรรม “หลงรักทวาย”

งานหลงรักทวายจัดขึ้นครั้งแรกที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อต้นปี นิทรรศการภาพถ่าย รำพื้นเมืองแบบทวาย ศิลปะแสดงสด และวงเสวนา สร้างความประทับใจให้กับคนทวายที่ที่เดินทางมาร่วมงาน ถึงขนาดปรารภว่า “น่าจะจัดกิจกรรมแบบเดียวกันที่ทวายบ้าง”

ก่อนสิ้นปี ๒๕๖๐ จึงมีการจัดงาน “We love Dawei” ขึ้นบนแผ่นดินมาตุภูมิของคนทวายเอง บริเวณทางเข้าร้าน Bamboo garden มีผู้ร่วมงานนับพันคนตลอดทั้งวัน

บนเวทีเสวนา ช่วงหนึ่ง อู มายิน หม่อง รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรและการท่องเที่ยว แคว้นตะนาวศรี ยอมรับว่า ทวายมีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจมากมาย ไม่ว่าทะเล ชายหาด วัด ป่าเขาลำเนาไพร ถึงแม้จะไม่ดีเท่าสมัยก่อน แต่ก็ยังไม่ถูกทำลายนัก สิ่งเหล่านี้เป็นต้นทุนพื้นฐานที่คนทวายจะหาทางพัฒนาด้านการท่องเที่ยว

ตัวแทนภาครัฐผู้นี้ยังเปรียบเทียบว่า ถ้าเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ อย่างเช่นการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม เราต้องใช้เงินมหาศาล ต่างกับการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ไม่ต้องพึ่งทุนสูงนัก อยากให้รัฐเข้ามาสานต่อ

“ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าทวายสงบ น่ารัก น่าอยู่ คนทวายยังรักษาประเพณี แต่หลังจากมีชื่อเสียงเราจะรักษาอย่างไร และจะทำอย่างไรให้ทวายมีชื่อมากขึ้น” อู มายิน หม่อง กล่าว

ทางด้านตัวแทนศิลปินชาวไทย จิตติมา ผลเสวก ให้ความเห็นว่า “การท่องเที่ยวเป็นต้นทุนที่ไม่ต้องลงทุนของคนทวาย และยังสามารถรักษาสิ่งแวดล้อมเอาไว้ได้ ดิฉันเข้าใจว่าโลกต้องพัฒนา แต่ขอให้ดูบทเรียนการท่องเที่ยวของไทยที่เราได้มาแพงเหลือเกิน ทั้งขยะ สิ่งแวดล้อม การรุกล้ำวัฒนธรรมท้องถิ่นของคนต่างชาติ การท่องเที่ยวที่เคารพวิถีชีวิต วัฒนธรรม ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม น่าสร้างสรรค์ให้ทวายกลายเป็นบ้านเมืองตัวอย่างของการท่องเที่ยว”

….

๗ วันในทวาย แม้ยังมีหลายสิ่งน่าค้นหา แต่เท่านี้ก็พอบอกได้แล้วว่า ทวายยังมีอะไรมากกว่าโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษและนิคมอุตสาหกรรม

เก็บตกจากลงพื้นที่ : ทวาย ๒๙ พฤศจิกายน – ๕ ธันวาคม ๒๕๖๐
ขอขอบคุณ : มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และเสมสิกขาลัย มูลนิธิเสถียรโกเศศ-นาคะประทีป