ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


fivebuddha

ในจักรวาลทางพุทธศาสนา “พระพุทธเจ้า” เป็นนามแห่งภาวะการตรัสรู้ มิได้เป็นชื่อเฉพาะตัว จึงมีอยู่มากมายเหลือคณานับ ทั้งพระพุทธเจ้าบรรดาที่ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองแต่มิได้สั่งสอนผู้ใด ที่เรียกกันว่า “พระปัจเจกพุทธเจ้า” หรือ “พระปัจเจกโพธิ์” กับพระพุทธเจ้าที่สั่งสอนประกาศหลักธรรมที่พระองค์ค้นพบแก่ผู้ศรัทธา แบบเดียวกับ “พระพุทธเจ้า” องค์ที่เรากราบไหว้กันอยู่ ซึ่งมีชื่อเฉพาะตัวว่า “พระศากยมุนี” หรือ “พระศากยโคดม”

นับเพียงใน “กัป” หรือช่วงเวลา “ยุคปัจจุบัน” ตามคัมภีร์ระบุว่ามีพระพุทธเจ้าจำนวนถึงห้าพระองค์ที่มาตรัสรู้ อย่างที่ในคำไทยเก่าๆ เรียกกันว่า “พระเจ้าห้าพระองค์”

ในจำนวนนี้ ที่ตรัสรู้ไปแล้วมีสี่องค์ ได้แก่ พระพุทธเจ้ากกุสันธะ (หรือกกุสันโธ) พระพุทธเจ้าโกนาคมน์ (หรือโกนาคมโน) พระพุทธเจ้ากัสสปะ ซึ่งทั้งสามองค์ถือเป็นพระอดีตพุทธเจ้า พระศากยโคดม พุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน กับอีกองค์ที่จะมาตรัสรู้ในภายภาคหน้า คือพระศรีอาริยเมตไตรย์ “พระอนาคตพระพุทธเจ้า”

เรื่องราวพระพุทธเจ้าห้าพระองค์นี้มีเล่าไว้ในตำนานพื้นบ้านที่แพร่หลายทั่วประเทศไทยมาแต่โบราณ ว่ากาลครั้งหนึ่ง มีแม่กาเผือกออกไข่มาห้าใบ วันหนึ่งเกิดพายุพัดรังกาแตกกระจัดกระจายไป แม่กาบินกลับมาไม่พบรัง จึงตรอมใจตาย แล้วไปเกิดเป็นท้าวพกาพรหม ส่วนไข่ห้าใบนั้นหล่นลงน้ำ แล้วมีแม่สัตว์ห้าชนิด คือ ไก่ นาค เต่า โค และสิงห์ นำไปฟูมฟักดูแลจนออกมาเป็นทารกห้าคน ผู้จะได้มาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าทั้งห้าพระองค์ในภัทรกัปนี้ พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์จึงมีนามเนื่องด้วยแม่สัตว์ชนิดนั้นๆ คือพระกกุสันธะ (กุกกุฏ-ไก่) พระกัสสปะ (กัจฉปะ-เต่า) พระโกนาคม (นาค) พระศากยโคคม (โค) และพระศรีอาริยเมตไตรย์ (สีห์/สิงห์)

ตำนานเรื่องนี้คงเป็นนิทานชาวบ้านที่พยายามผูกโยงชื่อพระพุทธเจ้าองค์ต่างๆ ให้มีที่มา และ “ฟังรู้เรื่อง” เข้าใจได้ง่าย พระเกจิอาจารย์หลายรูปก็สร้างวัตถุมงคล “พระเจ้าห้าพระองค์” เป็นพุทธรูปประกอบกับรูปสัตว์ต่างๆ ดังกล่าวมานี้ หรือราวปลายสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อมีการสั่งพิมพ์ภาพพิมพ์สีจากเมืองนอกเข้ามาขาย ทำเป็นรูปพุทธประวัติบ้าง พุทธรูปสำคัญบ้าง ก็มีผู้วาดภาพ “พระเจ้าห้าพระองค์” ส่งไปทำแบบให้พิมพ์เป็นโปสเตอร์เข้ามาขาย ยังมีใส่กรอบกระจกติดตามวัดเก่าๆ จนเดี๋ยวนี้

ตำนานเล่าต่อไว้ด้วยว่าเมื่อทารกทั้งห้าเติบโตขึ้น ได้ออกบวชเป็นพระฤๅษี แล้ววันหนึ่งพระฤๅษีทั้งหมดมาพบกันโดยบังเอิญ เกิดไต่ถามได้ความว่าแท้จริงล้วนเป็นพี่น้อง จึงชวนกันน้อมรำลึกถึงบุญคุณของแม่กาเผือก ท้าวพกาพรหมจึงลงมาแนะให้เอาฝ้ายไปทำเป็น “ตีนกา” ใส้ตะเกียงบูชาพระ บุญกุศลนั้นจะส่งไปถึงแม่กาเผือกได้

ชาวบ้านในหลายถิ่นที่จึงมีประเพณีฟั่นด้าย ทำเป็นกากบาท (ตีนกา) ใส่ในผางประทีป หรือถ้วยดินเผาเล็กๆ ใส่น้ำมันเพื่อจุดบูชาพระในเทศกาล

fivebuddha


srun

ศรัณย์ ทองปาน

เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์ นิตยสาร สารคดี