ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


ยุคพระศรีอาริย์

ในราวปลายสมัยรัชกาลที่ 5 มีการสั่งพิมพ์ภาพพิมพ์สอดสีจากเมืองนอกเข้ามาขาย ทำเป็นรูปพุทธประวัติบ้าง พุทธรูปสำคัญบ้าง รวมถึงภาพ “พระเจ้าห้าพระองค์” ซึ่งก็ยังพบว่ามีใส่กรอบกระจกติดไว้ตามวัดเก่าๆ หลายแห่ง

“พระเจ้าห้าพระองค์” หมายถึงพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ที่อุบัติมาตรัสรู้ในภัทรกัป คือยุคปัจจุบัน ได้แก่พระกกุสันธะ พระโกนาคมน์ พระกัสสปะ พระศากยโคดม และพระศรีอาริยเมตไตรย์ โดยในที่นี้ เราอาจระบุพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ได้ว่าเป็นองค์ใด ด้วยภาพสัตว์ห้าชนิดตามเรื่องราวใน ตำนานพระเจ้าห้าพระองค์ ได้แก่พระกกุสันธะ (ไก่) พระกัสสปะ (เต่า) พระโกนาคม (นาค) พระศากยโคคม (โค) และพระศรีอาริยเมตไตรย์ (ราชสีห์/สิงห์)

ในบรรดารูปพระเจ้าห้าพระองค์นี้ จะสังเกตเห็นว่า มีองค์หนึ่งที่มิได้อยู่ในเพศนักบวช คือไม่ได้ครองจีวร แต่ทรงเครื่องเหมือนเทวดา นั่นคือพระพุทธเจ้าที่จะมาตรัสรู้ในภายภาคหน้า มีนามว่า พระศรีอาริยเมตไตรย์ หรือคนไทยแต่โบราณมักเรียกกันว่า “พระศรีอาริย์” (ออกเสียงว่า พระ-สี-อาน)

phrasriarn02 phrasriarn03

ตามคัมภีร์อธิบายว่า ณ ปัจจุบัน พระศรีอาริยเมตไตรย์ ยังมีเพศเป็นเทวบุตร สถิตอยู่ ณ สวรรค์ชั้นดุสิต รอเวลาที่ศาสนาของพระสมณโคดม คือพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันจะจบสิ้นลงในปีพุทธศักราช 5000 จากนั้นก็จะถึง “ศาสนาพระศรีอาริย์”

ในสมัยโบราณ ความเชื่อถือศรัทธาในพระอนาคตพุทธเจ้าคือพระศรีอาริย์ฯ มีแพร่หลายอย่างกว้างขวางมาก เพราะสำหรับชาวบ้านทั่วไป กาลเวลายุคสมัยของพระพุทธเจ้าสมณโคดมนั้นผ่านมาและกำลังจะจบลงในอนาคต คนจำนวนมากจึงมุ่งหวังที่จะได้ไปเกิดทันในยุคพระศรีอาริย์ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเวลา “ขาขึ้น” เพราะทุกสิ่งทุกอย่างจะวิเศษสมบูรณ์พร้อม

คำอธิษฐานที่หลงเหลืออยู่ตามถาวรวัตถุและศิลาจารึกมากมายที่พบตั้งแต่เมื่อเกือบพันปีมาแล้ว เต็มไปด้วยการตั้งความปรารถนาจะได้ไปเกิดในยุคของพระศรีอาริย์ ลงมาจนถึงคัมภีร์ (ฉบับพิมพ์ลงบนกระดาษแต่ทำให้หน้าตาเหมือนสมุดข่อยสมุดไทย) ของห้าง ส. ธรรมภักดี รุ่นราวปี 2500 ก็ยังนำเสนอโลกของพระศรีอาริย์ฯ ในลักษณะเมืองแห่งอนาคต ถนนกว้างใหญ่ เต็มไปด้วยตึกสูงตระหง่านสองฟาก (ดูๆ ไปก็นึกถึงถนนสีลม หรือรัชดาภิเษก)

นอกจากนั้น ยังมีการสร้างรูปประติมากรรมของพระศรีอาริย์ฯ ขึ้นกราบไหว้บูชา โดยจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับพุทธรูป แต่จะไม่มีเกตุมาลา (ส่วนกะโหลกศีรษะที่โป่งนูนขึ้นกลางเศียร) และไม่มีรัศมีเหนือศีรษะ พบทั่วไปในเขตภาคกลาง และองค์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี ได้แก่พระศรีอาริย์ ที่วัดไลย์ จังหวัดลพบุรี

หน้าบันซุ้มประตูทางเข้าวิหารพระศรีอาริย์ ซึ่งเป็นงานสร้างใหม่เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ยังเก็บรักษาคติดั้งเดิมที่ผูกพระศรีอาริย์ เข้าไว้กับราชสีห์/สิงห์ ตามนามในท้องเรื่อง “พระเจ้าห้าพระองค์”