วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


bestwerasak01

ภาพโดย วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

ใครจะว่ากาลเวลาหรือรอบปีเป็นเรื่องสมมติ แต่ในแง่หนึ่งมันก็เป็นหลักหมายให้เราได้ทบทวนทางที่ผ่านมาเมื่อขวบปี-ในแต่ละด้าน

ในรอบปี ๒๕๖๐ ผมมีโอกาสได้ไปร่วมห้องเรียนและค่ายการเขียนสารคดีรวมราว ๒๑ งาน ทั้งแบบครั้งเดียววันเดียว ครั้งเดียวหลายวัน รวมทั้งที่เป็นค่ายต่อเนื่องเป็นหลายเดือนเป็นเทอม

ไปร่วมในฐานะคนสอนการเขียน (สารคดี) แต่ก็มีหลายแง่มุมที่เราเป็นฝ่ายได้เรียนรู้ โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นชีพจรของยุคสมัย คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ย่อมรู้ดีคลุกคลีอยู่มากกว่าคนที่ผ่านวัยไปแล้ว

bestwerasak02

ภาพโดย วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

โดยภาพรวม มุมหนึ่งที่ได้เห็นคือ แม้ในระยะหลังมานี้เป็นช่วงขาลงของวงการสื่อสิ่งพิมพ์ กระทั่งพูดกันไปถึงว่าอาจถึงคราต้องปิดคณะสาขาวิชาสายวารสารศาสตร์กันแล้วกระมัง

แต่ภาพจริงในรั้วมหาวิทยาลัย ยังคงมีคนสนใจศาสตร์วิชานี้กันอยู่ไม่น้อย ห้องเรียนและค่ายฝึกการเขียนยังคึกคักและได้รับความสนใจไม่ลดน้อยกว่าที่เคยเป็นมา

วงการสิ่งพิมพ์ซบเซา แต่คนใฝ่ฝันจะเป็นนักเขียนยังมีอยู่ไม่น้อย

แต่ในขณะเดียวกันการขยายตัวของโลกออนไลน์ ก็ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อความจดจ่อและให้ใจกับบทเรียน โดยเฉพาะห้องเรียนในมหาวิทยาลัยในส่วนกลาง ในช่วงหลังโดยเฉพาะในรอบปีที่ผ่านมานี้ จอ (มือถือ) มีส่วนมากต่อการทำลายบรรยากาศระหว่างการเรียนรู้วิชาเขียนอย่างสร้างสรรค์

bestwerasak03

ภาพโดย วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

คงเพราะอยากให้สนุกและมีสีสันกับเรื่องที่เป็นสาระและไม่เป็นสาระ ใครหลายเจ้าจึงมักจัดอันดับเรื่องถูกใจไม่ถูกใจ เรื่องที่เป็นที่สุดในรอบปีที่ผันผ่าน

นึกครึ้มใจขึ้นมา ผมจึงลองหยิบวิธีการนี้มาใช้ย้อนมองค่ายการเขียนที่ได้ผ่านพบร่วมคลุกคลีตลอดปีที่ผ่านมาบ้าง

bestwerasak04

ภาพโดย วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

เสียดายที่สุด : “ค่ายวรรณรรมสัญจร” มมส.

เป็นค่ายการเขียนที่จัดต่อเนื่องยาวนานที่สุดในเมืองไทยถึง ๒๕ ปี โดยการริเริ่มของ ผศ.ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ หรือ ไพรฑูรย์ ธัญญา แห่งมหาวิทยาลัยมหาสารคาม สร้างนักเขียนนักอ่านและแรงบันดาลใจให้คนหนุ่มสาวรั้วมหาลัยในถิ่นภูธรมานับร้อยนับพัน แต่แล้วต้องมาถึงกาลอวสานปิดตัวเป็นตำนานไปตามการเกษียณอายุราชการของผู้ก่อตั้ง หลังจบค่ายครั้งล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๐

bestwerasak05

แฟ๊บ รักษ์เขาชะเมา

เตรียมการยาวนานที่สุด : “ค่ายเด็กสร้างเรื่อง”

โดยสถาบันลูกโลกสีเขียว และกลุ่ม เด็กรักษ์เขาชะเมา ระยอง เราคุยเตรียมการจะจัดค่ายอบรมการเขียนให้กับนักในพื้นที่ภาคตะวันออก วางแผนจะจัดกันช่วงปิดเทอมแรก เดือนตุลาปี ๒๕๕๙ แต่ติดขัดเงื่อนไขต่างๆ เพิ่งได้มาจัดรุ่นแรกกันจริงๆ เมื่อปิดภาคการศึกษาแรกปีนี้ ช่วงกลางเดือนตุลาคม ๒๕๖๐

bestwerasak06

เงียบๆ เรียบง่าย แต่งดงาม : “ค่ายการเขียนสารคดีท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม” ม.บูรพา

ค่ายที่ก่อตัวอย่างง่ายๆ โดยคณาจารย์ไม่กี่คนในภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลับบูรพา เชิญชวนผมไปร่วมติวเข้มให้กับนักเรียนนักศึกษาหลายจังหวัดในปริมณฑลรายรอบมหาวิทยาลัยบูรพา รุ่นละ ๕๐-๖๐ คน ในปี ๒๕๖๐ เป็นรุ่นที่ ๖ แล้ว ทำมาแบบเงียบๆ ไม่แถลงข่าว ไม่ทำประชาสัมพันธ์ออกสื่อ แต่สร้างผลสะเทือนเชิงคุณภาพได้จริงจัง ช่วยให้เด็ก ม.ปลาย ไม่น้อยได้พบเส้นทางและ “ไปต่อ” ได้ ยืนยันตัวได้ เป็นตัวชี้วัดเชิงรูปธรรมที่ชัดเจนที่สุด

bestwerasak07

ภาพโดย ภาณุรุจ พงษ์วะสา

ครบเครื่องที่สุด : ค่ายสารคดี นิตยสารสารคดี

เป็นค่ายเดียวในเมืองไทยที่อบรมกันแบบครบครันในเรื่องสารคดี ทั้งการเขียนและถ่ายภาพ ทั้งทฤษฎีและภาคปฏิบัติหลากหลายด่าน รวมทั้งฝึกทำงานจริงตอนท้ายค่าย เป็นค่ายต่อเนื่องรุ่นละ ๔ เดือน จบแล้วเขียนได้ถ่ายรูปเป็นแน่นอน เก่งไม่เก่งไปว่าต่อกันเอง

bestwerasak08

ภาพโดย วัชรวร วงศ์กัณหา

สดที่สุด : ค่ายวรรณศิลป์สัญจร ม.กาฬสินธุ์

ค่ายตามความรับรู้ความเข้าใจของคนทั่วไปคือการมาใช้ชีวิตรวมหมู่อยู่ด้วยกันเพื่อฝึกอบรมเรื่องใดเรื่องหนึ่งตลอดช่วงเวลาในค่าย โดยมักเน้นเรียบง่าย ลุยๆ แบบนอนกลางดินกินกลางทราย แต่ในช่วงหลังค่ายส่วนใหญ่ขยับปรับตัวไปอยู่ตามโรงแรมรีสอร์ท ตามปัจจัยเงื่อนไขอันเอื้ออำนวย แต่ค่ายวรรณศิลป์สัญจร มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ยังยึดถือหัวใจความเป็นค่ายแบบเดิมๆ ไว้ได้ครบถ้วน ในรุ่นที่ ๕ ปี ๒๕๖๐ ไปจัดกันกลางป่า (ภูเขียว) นอนเต็นท์ กินข้าวหม้อแกงหม้อด้วยกัน มีช่วงเวลาให้เดินป่าศึกษาและซึมซับธรรมชาติ กลางคืนล้อมวงรอบกองไฟคุยเรื่องการเขียนการอ่าน แน่นอนว่าผู้ผ่านค่ายไม่ได้โตไปเป็นนักเขียนกันทุกคน แต่ทุกคนต่างได้ห้วงเวลาที่น่าจดจำติดตัวไปตลอดกาล