ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


samprang kraba

ตามธรรมเนียมไทย เวลาเอาของไปเซ่นผี ต้องเอาใส่ “กระบะ”

“กระบะ” นี้ โบราณเขาทำด้วยกาบกล้วย (ว่าที่จริงก็ถือเป็นภาชนะ “ย่อยสลายได้” แบบ “รักโลก” อยู่เหมือนกัน) ที่ใช้อย่างนี้คงเพราะเป็นของใช้ชั่วครั้งชั่วคราว จึงไม่พึงใช้ถ้วยชามจริงๆ ให้สิ้นเปลือง วิธีคือลอกกาบกล้วยมาเป็นแผ่นๆ ตัดท่อนๆ วางเป็นพื้นและหักพับตั้งยกเป็นขอบ แล้วเอาไม้กลัดกลัดกาบกล้วยเป็นปาก ให้คงรูปร่างเป็นกระบะสี่เหลี่ยม ข้างในใส่อาหารหวานคาว หมากพลู บุหรี่

เวลาเอาไปกระบะตั้งเซ่นผีก็ต้องเอาไปวางที่ตรง “ทางสามแพร่ง” แล้วจุดธูปบอกกล่าว

จนเดี๋ยวนี้ก็ยังเห็นกระบะเซ่นไหว้ผีอยู่เสมอๆ ตามทางแยกต่างๆ ทั้งถนนใหญ่หรือตามในซอย เพียงแต่เปลี่ยนรูปไปตามสมัย คือแทนที่จะเป็นกาบกล้วยอย่างแต่ก่อน สมัยนี้ก็กลายร่างเป็นถาดโฟมกล่องโฟมไปแทน (เคยเห็นเอาไก่ทอดยี่ห้อดังยกกล่องมาเปิดตั้งพร้อมน้ำอัดลมให้ผีเลยก็มี)

“ทางสามแพร่ง” คือทางแยกสามทาง เป็นจุดที่มีทางสัญจรสามสายมาชนกัน หรือใช้ตำแหน่งที่มีทางตรงมาแล้วมีแยกออกไปทั้งซ้ายขวาก็ได้ คนไทยเชื่อกันว่าตรงทางสามแพร่งนี้เป็น “จุดหัวเลี้ยวหัวต่อ” หรือเป็น “พื้นที่อ่อนไหว” ยิ่งยวด

บางคนก็ว่าเป็น “ทางผีผ่าน” เหมือนประตูสู่ภพภูมิที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ของเซ่นไหว้จึงต้องมาวางรอผีไว้ตรงนี้

ความเชื่อเรื่องทางสามแพร่งยังต่อเนื่องไปถึงเรื่องอื่นๆ นอกจากของไหว้ผีด้วย เช่นมีน้องชายคนหนึ่งอธิบายให้ฟังว่าสาเหตุที่ “ว่ากันว่า” บ้านเขามีผี สืบเนื่องจาก “บ้านอยู่ทางสามแพร่งพอดีเป๊ะ!”

samprang poyguay

น่าสนใจว่าคติเรื่องทางสามแพร่งนี้ มิได้มีเฉพาะแต่ข้างฝ่ายไทย ทางฝ่ายจีนก็มีความเชื่อเรื่องนี้ ในแง่ที่ว่า บ้านหรือร้านค้าที่มีถนนพุ่งเข้าใส่ คือตั้งอยู่บนทางแยก ก็เป็นที่ “แรง” ต้องมีการแก้ไข “ฮวงจุ้ย” ขจัดปัดเป่าพลังด้านลบ หรือสิ่งไม่ดีไม่งามต่างๆ ด้วยสัญลักษณ์จำพวก “โป๊ยก่วย” คือยันต์แปดทิศ หรือรูปสิงห์คาบกั้นหยั่น (สิงโตจีนคาบดาบสองคม) ดังที่เห็นได้ทั่วไป มีตั้งแต่ทำเป็นรูปขนาดเล็กๆ แปะติดไว้หน้าบ้านหน้าร้าน ไปจนถึงบ้านที่ทำไว้แผ่เต็มรั้วบ้านประตูบ้าน ก็มี

อย่างย่าน “สำเพ็ง” Chinatown ดั้งเดิมของกรุงเทพฯ ก่อนยุคที่ห้วยขวางจะกลายเป็น Chinatown ริมเส้นทางรถไฟใต้ดินอย่างในปัจจุบัน ที่ผ่านมาเคยมีนักคิดนักค้นสืบหาที่มาชื่อนี้กันมาช้านาน แต่ละคนก็เชื่อกันไปต่างๆ เช่นบางท่านก็ว่าเป็นคำเขมร หมายถึงหญิงโสเภณี บ้างก็ว่าเป็นชื่อเดิมวัดสามปลื้ม ฯลฯ

แต่ก็มีบางคนเชื่อว่าคำนี้เองคือคำว่า “สามแพร่ง” ในภาษาไทยนั่นแหละ แต่เมื่อถูกเรียกซ้ำเลียนเสียงโดยคนจีน เลยเพี้ยนไปเป็น “สำเพ็ง” แล้วคนไทยก็กลับไปเรียกตามคนจีนอีกต่อหนึ่ง

เหมือนกับที่มีผู้ยกตัวอย่างคำว่า “ล้ง” ซึ่งว่ากันว่ามาจากคำว่า “โรง” ในภาษาไทย แต่คนจีนเรียกทับศัพท์ไปเป็นสำเนียงจีน แล้วเลยกลับมาในภาษาไทยในรูปคำใหม่จนทุกวันนี้ อย่างที่ใช้เรียก “ล้ง” เช่น ล้งมังคุด ล้งทุเรียน ที่รับซื้อผลไม้ทางภาคตะวันออก หรือล้งมะพร้าวแถบอัมพวา เป็นต้น


srun

ศรัณย์ ทองปาน

เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์ นิตยสาร สารคดี