ฝึกซ้ำๆ ทำให้ดีขึ้นได้

วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


morepractice01

ภาพโดย วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

ช่วงนี้ค่ายสารคดีระดับประชาชน “เขียนสารคดีกับมืออาชีพ” รุ่นที่ ๓ ดำเนินมาถึงชิ้นงานที่ ๒ จากทั้งหมด ๓ ชิ้น เป็นผลงานจากการฝึกลงลงพื้นที่เกาะเกร็ดเมื่อสองสัปดาห์ก่อน นอกจากชิ้นงานเขียน ในห้องเรียนยังมีการแลกเปลี่ยนแบ่งปันเบื้อหงลังการทำงานของแต่ละคน รวมทั้งการปรึกษาอุปสรรคปัญหาในระหว่างฝึกการเขียนด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นความไม่มั่นใจไม่แน่ใจว่าจะถูกไหมดีไหม แล้วก็ได้คำตอบด้วยตัวเองในระหว่างที่ได้พุดออกมาและฟังการปัญหาของเพื่อนร่วมชั้นนั่นเอง บทเรียนเหล่านี้จะนำไปสู่การพัฒนาต่อในการทำงานชิ้นต่อๆ ไป

สมาชิกค่ายสารคดีระดับประชาชนส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่วัยทำงานแล้ว มีความเชี่ยวชาญชัดเจนสายงานของตน เมื่อมาเรียนการเขียนถือเป็นเรื่องหัดใหม่ หลายคนรู้สึกถ่อมตนว่าแสนอ่อนด้อยไม่มั่นใจ แต่เมื่อดูจากชิ้นงานก็จะเห็นพัฒนาการว่าไม่ผิดพลาดซ้ำเรื่องเดิมทั้งยังก้าวหน้าต่อในจุดที่ได้รับการชี้นำให้เห็นจากแบบอย่าง นี่เป็นสิ่งสะท้อนที่ยืนยันว่างานวรรณศิลป์เรียนรู้และเริ่มต้นกันได้ไม่จำกัดวัย

ลองนำบางตัวอย่างมาแบ่งปันกันอ่าน

เรื่อง “มอญ(ไม่)ซ่อนศิลป์” ของ พลอยชมพู พรศิริวิวัฒน์ เล่าศิลปะการรำมอญได้อย่างเข้าใจ เห็นภาพ และได้ยินเสียง

บรื้น บรื้น บรื้นนนนนนนน…..

เสียงเรือหางยาวเร่งเครื่องดังคล้ายเสียงมอเตอร์ไซด์ แล่นขวักไขว่บน คุ้งน้้าเจ้าพระยา ทันทีที่เรือข้ามฝากเทียบท่า ก็ได้ยินเสียงแม่ค้าต่างตะโกนเรียกลูกค้า “ทอดมันหน่อกะลาจ้า ไม่กินถือว่ามาไม่ถึงเกาะเกร็ดนะจ๊ะ”

แต่ของดีบนเกาะเกร็ดไม่ได้มีเพียงหน่อกะลา ที่นี่ยังอุดมไปด้วยศิลปะวัฒนธรรมอันรุ่มรวยของชาว มอญอพยพที่หลีกลี้สงครามมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารบนแผ่นดินไทยตั้งแต่ครั้นสมัยอยุธยาจนถึงต้นกรุง รัตนโกสินทร์ ซึ่งชาวมอญส่วนใหญ่ที่อพยพมาเป็นชนชั้นสูงจึงได้หอบหิ้วรากวัฒนธรรมอันเข้มแข็งติดมาด้วย ทั้งงานช่างหลวงอย่าง เครื่องปั้นดินเผา งานจักสาน และการแสดงอย่าง นาฏศิลป์มอญ

“เพราะชาวมอญไม่มีประเทศ แต่เราภูมิใจที่เรายังมีค าพูดมอญ ภาษามอญ และวัฒนธรรมมอญ”

น้้าเสียงแหบพร่า แต่ทว่ามั่นคง เล่าถึงปณิธานอันแรงกล้าในการสืบศิลปะมอญให้ยาวนาน

“หญิงชาวมอญทุกคนล้วนรำได้” เธอพูดถึงสตรีชาวมอญในอดีต เช่นเดียวกับเธอที่ตลอดทั้งชีวิตเป็น นางรำมอญที่อ่อนช้อยและเลื่องชื่อ จนได้รับการว่าจ้างให้ไปแสดงร้าตามงานใหญ่ ๆ ทั้งในท้องที่บ้านเกาะ เกร็ดและย่านใจกลางเมืองหลวง

ในขณะที่เรากำลังฟังเรื่องราวของชาวมอญจากค้าบอกเล่าของหญิงชรา เด็กสาววัยรุ่นสองคนเดินเข้า เป็นสัญญาณว่าการแสดงจะเริ่มต้นในอีกไม่ช้า

ใบหน้าสวยงามาน่ารักสมวัยของเด็กสาว มุ่นมวยผมไว้ด้านบน นุ่งเสื้อแขนกุดสีแดง ทับด้วยเสื้อโปร่งสี ทองแขนยาวลายดอกไม้ พาดสไบสีทองที่ไหล่ซ้าย นุ่งผ้านุ่งสีแดงลายดอกพิกุลสวยงาม เดินเข้ามานั่งด้านข้าง หญิงชรา พร้อมรับพานสีทองจากมือครูทูนไว้เหนือศีรษะ ภายในพานมีดอกไม้ ธูป เทียน เพื่อท้าการไหว้ครูรำมอญก่อนการขึ้นแสดงทุกครั้ง

เมื่อเสร็จพิธีไหว้ครู เด็กสาวทั้งสองก็เริ่มประจำที่ นั่งพับเพียบที่พื้นพร้อมก้มลงกราบอันเป็นสัญลักษณ์ ของการรำมอญ ที่ผู้รำจะก้มลงกราบทุกครั้งทั้งก่อนและหลังแสดงจบ เพื่อการแสดงถึงความเคารพ

จากนั้นทั้งสองก็ลุกขึ้นร่ายรำตามจังหวะเพลงปี่พาทย์มอญ เสียง ปี่ ระนาด ฆ้อง กลองตะโพน สอดรับกันเป็นบทเพลง เราทุกคนเงียบงันจ้องมองภาพตรงหน้า

รำมอญต่างจากรำไทยคือ เมื่อทุกครั้งที่เคลื่อนไหวจะใช้การเขยิบเท้าช้า ๆ แทนการยก ย่าง ย่อ แบบรำไทย ทำให้การเคลื่อนไหวดูอ่อนช้อย สะโพกที่ทิ้งไปตามจังหวะการยักย้ายสวยงาม คล้ายสตรีเดินส่ายสะโพกไปมาน่าดูชม ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมคนสมัยก่อนถึงชอบดูการรำมอญกันนัก

morepractice02

โรงเครื่องอัดดิน ภาพโดย ชมพจน์พงศ์ ฤทธิ์รณศักดิ์

morepractice03

หน้าเตาเผา ภาพโดย ชมพจน์พงศ์ ฤทธิ์รณศักดิ์

อีกชิ้นเรื่อง “ปั้นมอญ มรดกที่เลื่อนรางไปกับสายน้ำ” ซึ่งใช้การเก็บข้อมูลเชิงลึกที่มากกว่าแค่สังเกตการณ์อยู่ข้างนอก แต่เขายังลงลึกแบบ “เข้ามีส่วนร่วม” กับแหล่งข้อมูลด้วย ดังที่สะท้อนอยู่ในงานเขียน ทำให้ง่ายที่จะ “ได้ใจ”คนอ่าน-จากการเห็นความทุ่มเทของคนเขียน

ระหว่างอธิบายไปลุงอู๊ดให้ผมได้ลองปั้นดินเหนียวบนแป้นหมุนด้วยตัวเอง ความตื่นเต้นตอนสองมือสัมผัสดินเหนียวครั้งแรก เป็นความรู้สึกตื่นตาตื่นใจมาก เนื่องจากไม่เคยปั้นดินเหนียวบนแป้นหมุนมาก่อน

ครั้นถอยออกมาเป็นผู้สะท้อนภาพ เขาก็ให้ภาพตัวละคร (แหล่งข้อมูล) ได้แจ่มชัด แล้วเล่าเรื่องราวได้อย่างเป็น “เส้นเรื่อง” กระชับ มีสีสันและความเคลื่อนไหว ชวนติดตาม

ลุงอู๊ดกล่าวพร้อมกับสองมือที่ขยำนวดดินอย่างทะมัดทะแมง ไม่นานแป้นหมุนก็เริ่มทำงาน ก้อนดินเหนียวที่ผ่านการนวดถูกวางไว้ตรงกลาง เสียงดัง วี้ดๆ เริ่มดังขึ้นพร้อมกับความเร็วที่เพิ่มขึ้น การออกแรงใช้ข้อมือในการดันให้ดินเหนียวก่อตัวเป็นรูปร่างตามที่ตั้งใจ

ตอนลุงทำดูเหมือนจะง่าย แต่พอทำเองจึงรู้ทันที เป็นอะไรที่ยากสองมือออกแรงแต่กลับไม่สามารถสู้แรงแป้นหมุนและก้อนดินได้เลย ลุงอู๊ดเห็นท่าว่าความสามารถผมคงไม่ถึงขั้น จึงเข้ามาช่วยจนดินเริ่มก่อตัวขึ้นเป็นรูปหม้อน้ำใบเล็ก

ทุกครั้งที่ลุงพูดและเล่าเรื่องราวต่าง ๆ แววตาสีหน้าลุงสะท้อนอารมณ์ความปลาบปลื้มออกมาอย่างเด่นชัด

ผู้เขียนเล่าขั้นตอนขั้นตอนการทำก้อนดินให้กลายเป็นงานปั้นได้อย่างชัดเจนเห็นภาพ และได้รสวรรณศิลป์

“จะทำหม้อใบหนึ่ง ต้องใช้เวลานะ ใบหนึ่งตกประมาณ ๑๕ วัน เฉพาะแกะก็ห้าหกวันแล้วถ้าสมัยก่อนนี้เป็นเดือน เสน่ห์เครื่องปั้นเราอยู่ลวดลาย เพราะที่อื่นไม่มีแบบนี้ ของเราแกะกดลงเนื้อดินเลย มันมีน้ำหนัก มีความชัดเจน ลายเส้นขีดลาย เป็นตัวบอกเอกลักษณ์ชาวมอญเลย”

ลุงเล่าพร้อมกับมือที่สัมผัสน้ำสลับกับมาจับก้อนดินที่ตอนนี้ได้เปลี่ยนเป็นหม้อใบเล็ก ลุงให้ผมได้ลองทำขีดลายตอนกำลังปั้น โดยใช้นิ้วลาดเรียดปาดรอยบนหม้ออย่างนุ่มบางเบา แต่บางเบาสำหรับผมผู้ไม่เคยสัมผัสงานประณีตมาก่อน คงเป็นแรงสัมผัสที่ดูจะเกินเลย ทำให้หม้อเกิดอาการเอียงไม่เท่ากัน กลายเป็นหม้อฐานไม่มั่นคงไปเสียแล้ว ลุงช่วยปรับแก้ให้กลับมาเป็นหม้อดังเดิมแล้วทำการขีดลายให้ดู มือที่ก่อนหน้าต้องออกแรงขึ้นรูปทรงจนเส้นเอ็นหลังมือปูดโปน แต่ตอนนี้ดูนิ่งราวกับไม่ใช่นิ้วมือเดียวกัน สายตาจ้องเขม็งมาดนิ่ง หากถามว่าอะไรในโลกนี้เคลื่อนไหวน้อยที่สุดในตอนนั้นก็คงเป็นสายตาลุงอู๊ดคนนี้ และแล้วหมอใบนี้ก็มีรูปทรงที่ชัดเจน มีลายขีดอันเป็นเอกลักษณ์มอญเป็นที่เรียบร้อย ถึงเวลานำออกมาตั้งตากแดด

ครูสอนปั้นใจดีผู้นี้อธิบายถึงข้อจำกัดในการแกะว่า เวลาปั้นเสร็จยังไม่สามารถแกะได้ทันทีต้องทิ้งไว้ระยะเวลาหนึ่งให้ดินแข็งตัวเสียก่อนจึงจะแกะได้ ซึ่งตอนแกะก็ห้ามใช้เวลาแกะนานถ้าเกิน ๕-๖ วัน ดินจะจับตัวแข็งเกินไปไม่สามารถแกะลงลายได้ ในขณะที่แกะจึงมีเวลาจำกัดในการทำงาน สมัยก่อนเมื่อแกะแล้วยังไม่เสร็จจะนำใบตองมาคลุมหม้อไว้เพื่อแกะต่อในครั้งต่อไป ลุงใจดียังแนะว่าการลงลวดลายให้เขียนบัวก่อนเป็นอันดับแรก ต่อมาให้ฝึกเขียนเส้นให้ขนาน สุดท้ายลงกนก ปาดหัว ม้วนหัวและก็ตักดิน ถ้าไม่ตักดินออก กนกจะไม่ลอยดูไม่สวย ลุงให้เอาไปใช้ได้เลยไม่หวง ยินดีเผยแพร่ให้กับคนที่สนใจ

ขั้นตอนสุดท้ายคือการเผา ขั้นตอนนี้ต้องใช้เตาซึ่งสมัยก่อนตัวเตามีขนาดใหญ่มาก ที่ได้เห็นเหมือนเป็นสภาพเตาที่ทิ้งร้างการใช้งานมานาน แต่ความใหญ่ของเตาพอคาดเดาด้วยสายตาประมาณโบสถ์ขนาดย่อม ทำให้ภายในสามารถบรรจุโอ่งขนาดใหญ่ได้ราว ๑๕๐-๒๐๐ ใบ ของชิ้นเล็กอีกราวหมื่นใบ

ในวันเอาเข้าเตาจึงต้องใช้คนไม่ต่ำกว่า ๒๐ คน นับว่าเป็นกึ่งเทศกาลขนาดย่อม มีงานกินเลี้ยงสังสรรค์ เป็นที่ชื่นชอบของเด็กๆ นอกจากนี้ยังเป็นการให้เด็กๆ ได้เรียนรู้วิถีวัฒนธรรมและการขั้นตอนการทำไปด้วย เป็นกุศโลบายการส่งไม้ต่อให้คนรุ่นถัดไปได้อย่างดี

คนที่สำคัญที่สุดในวันเข้าเตา เรียกว่า อาจาเลี่ยง ในภาษามอญหมายถึง อาจารย์ใหญ่เป็นหัวหน้าในการจัดเรียงเตา ยังมีเลี่ยงจาง หรือคนเรียงฐานโอ่ง และคนใน ที่คอยทำหน้าที่รับส่งโอ่งในเตา เรียกได้ทุกครั้งที่เผาจัดว่าเป็นเทศกาลขนาดย่อมๆ ในหมู่บ้าน ใช้เวลาทั้งหมด ๑๕ วัน ๑๕ คืนในการเผา ฝืนที่ใช้ก็เป็นฝืนจากต้นโกงกาง ไม้ตาตุ่ม ตามป่าชายเลนซึ่งให้ความร้อนได้ดีและต้องใช้ในปริมาณมาก

“ยังมีความเสี่ยงอีก ๔๐ เปอร์เซ็นต์นะ ตอนเผาถ้าเอามาแล้วแตกก็ต้องเริ่มกันใหม่ทั้งหมด แล้วช่วง ๑๕ วัน ถ้าเร่งไฟตั้งแต่แรกรับรองได้แตกหมด ต้องค่อยๆ จนวันที่ ๖-๗ นี่ห้ามหลับเลย ไฟต้องแรงทั่วเตา ไฟต้องพุ่งออกทั้งคืน”

“เมื่อก่อนนี้ยังไม่มีไฟฟ้า คุณพ่อก็ปั้นให้เราเป็นคนหมุนแป้น แกก็เล่านิทานอะไรของแกไปเรื่อย เราอยากฟังนิทานก็ไปช่วย เลยได้เห็นกระบวนการทำทั้งหมดเราก็เรียนรู้และได้ซึมซับมา แต่เดี่ยวนี้คงไม่มีแล้ว” พิศาล บุญผูก อธิบายให้ฟัง

การถ่ายทอดความรู้จากรุ่นสู่รุ่น จึงลดน้อยลงไปอย่างมาก ประกอบกับตลาดการขายเครื่องปั้นดินเผาก็ลดลง ปัจจุบันคนใช้เครื่องปั้นดินเผาชิ้นใหญ่ อย่างโอ่ง อ่าง ลดน้อยลงไปใช้พลาสติกซึ่งมีราคาถูกกว่า และปัญหาหลักค่าใช้จ่ายสูงมากในการทำเครื่องปั้นดินเผาขนาดใหญ่

เป็นเงื่อนไขของสภาพการณ์จริง ที่คลี่คลายไปสู่ส่วนปิดท้ายเรื่อง ตามประเด็นที่ผู้เขียนต้องการสื่อซึ่งเปรยกับผู้อ่านไว้ในชื่อเรื่องแล้ว

“มนุษย์เกิดมาก็ต้องตาย อะไรมันไม่มีจีรังแน่นอนหรอกก็เหมือนสิ่งของวัฒนธรรม สักวันหนึ่งมันก็คงพังก็คงหายไป มันเป็นธรรมดา ถึงแม้วันหนึ่งผมจะตายไปแต่เครื่องปั้นที่ผมปั้นยังอยู่ ให้คนอื่นได้ดูได้ศึกษา เป็นมรดกให้สังคมต่อไป”

ลุงอู๊ดได้ฝากถ้อยคำไว้ให้เรา

ถึงแม้ว่าการอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผาบนเกาะเกร็ดยังคงมีอยู่ แต่หากนานวันเข้าไม่มีคนสืบทอดดูแลต่อ ไม่มีคนสนใจมรดกล้ำค่าความวิจิตรสวยงามของเครื่องปั้นดินเผาศิลปะมอญอาจจะถูกลืมเลือนจากสังคม ตำนานและวัฒนธรรมคงเหลืออยู่แต่เพียงบันทึกเก่า ๆ ที่รอวันจบลงและพร่าเลื่อนไปพร้อมกับสายน้ำเจ้าพระยา

ทั้งสองชิ้นเป็นแบบฝึกหัดที่ ๒ ของผู้เขียน ซึ่งเห็นพัฒนาการขึ้นกว่าชิ้นแรกอย่างชัดเจน และรอการพัฒนาต่อในชิ้น ๓ อันเป็นชิ้นใหญ่ปิดท้ายค่าย หลังติวเข้มกันมาตลอดเดือน

อีก ๒ สัปดาห์ มาดูกันต่อว่าแต่ละคนจะก้าวหน้ากันไปเท่าใด


veeวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา