กรวดน้ำคว่ำขัน

ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


kruadnam01

สำนวนไทย “กรวดน้ำคว่ำขัน” เป็นสำนวนเก่า อย่างน้อยก็มีมาตั้งแต่สมัยต้นกรุงเทพฯ อย่างที่ “สุนทรภู่” เขียนไว้ใน “นิราศเมืองแกลง” ว่า

“จะกรวดน้ำคว่ำขันจนวันตาย แม้เจ้านายท่านไม่ใช้แล้วไม่มา”

อ่านแค่นี้ก็คงพอเดาได้ว่า “กรวดน้ำคว่ำขัน” ในที่นี้ หมายถึงการตัดขาด เข็ดแล้ว ไม่ขอยุ่งเกี่ยวด้วยอีกต่อไป

ในหนังสือ “สำนวนไทย” ของกาญจนาคพันธุ์ (ขุนวิจิตรมาตรา สง่า กาญจนาคพันธุ์) บันทึกไว้ด้วยว่า ยังมีสำนวนข้างเคียงที่เป็นสำนวนเก่าอีกได้แก่ “กรวดน้ำคว่ำกะลา” และ “กรวดน้ำคว่ำคะนน”

กะลานั้น ไม่มีปัญหา ก็หมายถึงกะลามะพร้าวแน่ ส่วน “คะนน” นั้น เป็นคำเก่า ท่านอธิบายว่าหมายถึงหม้อ เป็น “ภาษาปาก” ของ “ทะนน” คือหม้อดินเผาใบใหญ่ที่ใช้ใส่น้ำ ผิวด้านนอกทำเป็นลายขูดขีด

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็น “ขัน” หรือ “กะลา” หรือ “คะนน” ก็ล้วนแต่เป็นภาชนะบรรจุน้ำที่ “กรวด” เสร็จแล้ว เพื่อนำไป “คว่ำ” คือเททิ้งไปให้หมดเหมือนกันทั้งสิ้น

kruadnam02

แล้วทำไมต้อง “กรวดน้ำ” ?

การ “กรวดน้ำ” หรือเทน้ำราดรดลงไปคงเป็นประเพณีเก่าแก่ของอินเดีย แล้วคนอุษาคเนย์รับเข้ามาพร้อมกับพุทธศาสนา มีความหมายเป็นการตัด “อะไรบางอย่าง” ให้ขาดออกจากกัน

เช่นบุญกุศลอันเราได้กระทำแล้วนี้ ขออุทิศให้แก่ท่านผู้นั้นผู้นี้ อย่างที่ชาวพุทธ “กรวดน้ำ” หลังจากทำบุญ ระหว่างที่พระท่านเริ่มสวดบทอนุโมทนาที่คุ้นหู

“ยถา วาริวหา ปูรา ปริปูเรนฺติ สาครํ…”

ซึ่งแปลได้ว่า

“ห้วงน้ำที่เต็มย่อมยังสมุทรสาครให้บริบูรณ์ได้ฉันใด ทานที่ท่านอุทิศให้แล้วแต่โลกนี้ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่ผู้ที่ละโลกนี้ไปแล้ว ฉันนั้น…”

นี่ย่อมหมายถึงการ “ตัด” ส่วนบุญกุศล อุทิศให้แก่บรรดาท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว

เช่นเดียวกับใน “มหาชาติ” มหาเวสสันดรชาดก ที่พระเวสสันดรชาดกทรงหลั่งน้ำ ยกช้างคู่บ้านคู่เมืองให้พราหมณ์ต่างเมือง ยกราชรถให้แก่ผู้มาขอ จนถึงพระราชทานกัณหาชาลีให้เป็นทาสของชูชก และยกพระนางมัทรีให้แก่พราหมณ์ที่เป็นพระอินทร์แปลงมา นั่นก็หมายถึงการมอบให้เป็นสิทธิขาด แบบ “ให้แล้วให้เลย”

หรือในพงศาวดาร เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเห็นว่ากษัตริย์หงสาวดี “คิดไม่ซื่อ” พระองค์จึงทรงหลั่งทักษิโณทก แล้วประกาศตัดขาดแผ่นดินของกรุงศรีอยุธยาของพระองค์ มิให้เป็น “สุวรรณปฐพี” เดียวกันกับแผ่นดินของพระเจ้ากรุงหงสาวดีอีกต่อไป

ดังนั้น “กรวดน้ำคว่ำขัน” หรือ “กรวดน้ำคว่ำกะลา” จึงมามีความหมายถึงการประกาศ “ตัดขาด” ไม่ขอยุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ หรือคนผู้นี้อีกแล้ว จึงมีการใช้ในความหมายว่าให้ “กรวดน้ำ” แก่เจ้ากรรมนายเวร คือตัดขาดจากกัน อย่าได้จองเวรจองกรรมกันอีกต่อไปเลย


srun

ศรัณย์ ทองปาน

เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์ นิตยสาร สารคดี