เรื่องจริงกับความสมจริง

วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


true realistic01
ICT ห้อง JR3 ปี 2560 / เครดิตภาพ : Banyong Suwanpong

จุลนิพนธ์นิเทศศาสตร์ ของนักศึกษาชั้นปีที่ ๔ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ICT มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีการศึกษา ๒๕๖๐ เสร็จสิ้นลงในช่วงที่ละครบุพเพสันนิวาสกำลังฮอตฮิตกระหึ่มเมือง

เป็นสองเรื่องที่ดูไม่เกี่ยวข้องกัน บุพเพฯ เป็นนิยาย เป็นเรื่องแต่ง (fiction) จุลนิพนธ์ของนักศึกษาไอซีทีถ่ายทอดเรื่องจริง (non fiction) เป็นสารคดี

แต่ทั้งสองเรื่องนี้ก็มีจุดที่เกี่ยวกระหวัดกันอยู่

รายวิชาจุลนิพนธ์ (นิเทศศาสตร์) กำหนดให้ผลิตงานเขียน ๑ ชิ้น โดยมีมืออาชีพเป็นที่ปรึกษา ดูแลแนะนำตั้งแต่เริ่มต้นจนสำเร็จเป็นชิ้นงาน ห้อง JR3 เกือบทั้งห้อง เลือกทำสารคดี

น้องสองคนที่อยู่ในความดูแลของผม ทำสารคดีชีวิตผู้ตกเป็นแพะในคดีอาญา กับอีกคนทำสารคดีชีวิตนักเขียนนิยายแฟนตาซีขวัญใจผู้อ่าน

ใช้เวลา ๖ เดือน ตั้งแต่กำหนดประเด็นหลัก-รอง วางโครงเรื่อง วางแผนการเก็บข้อมูล ลงพื้นที่ สัมภาษณ์และถอดเทปสัมภาษณ์ ย่อยข้อมูลเป็นงานเขียน ขัดเกลาปรับแก้ จนออกมาเป็นหนังสือเล่มที่สมบูรณ์ตามศักยภาพในระดับมือใหม่ หลายเล่มมีคุณภาพในระดับพิมพ์เผยแพร่สู่สาธารณชนได้ ทั้งโดยประเด็นและฝีมือการนำเสนอ

true realistic02

ปัญหาใหญ่ข้อหนึ่งที่พบเห็นมากในหมู่นักเขียนใหม่คือ “ความสมจริง” หรือความมีเหตุมีผลอันน่าเชื่อถือว่าจริง

ซึ่งความสมจริงนั้น แม้แต่ในเรื่องแต่งก็จำเป็น

ในกรณีของ fiction แม้จะรู้กันแต่ต้นว่าเป็นเรื่องแต่ง แต่ผู้เขียนก็ต้องปูเรื่องให้คนอ่านเห็นคล้อยตาม-อย่างไม่รู้สึกติดขัดหรือโต้แย้งต่อการดำเนินไปของเรื่องราว

อย่างสมมติให้ตัวละครนั่งรถไฟไปปราจีนบุรี นี่เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ เพราะเรามีรถไฟสายตะวันออกไปอรัญประเทศ แต่ถ้าให้ตัวละครนั่งรถไฟไปจันทบุรี คนอ่านจะเริ่มดักคอว่าคนเขียนไม่รู้จริงนี่นา

หรือแม้กระทั่งเรื่องแนวแฟนตาซีเหนือจริง ที่ตัวละครอาจเหาะเหินเดินอากาศได้ ผู้เขียนก็ต้องปูพื้นให้เห็นที่มาที่ไปว่าทำไมเขาจึงทำเช่นนั้นได้ อาจด้วยมีมนต์วิเศษ หรือมีอะไรพิเศษเหนือสามัญมนุษย์ ผู้อ่านจึงจะยอมติดตามเรื่องไปต่อ

ตัวอย่างนวนิยายแนวซ้อนยุคที่มีการเชื่อมเหตุการณ์ต่างยุคสมัยไว้ด้วยกัน ที่นักอ่านยุคนี้ยังรู้จักดีก็อย่าง “ทวิภพ” ที่ผู้เขียนวางเงื่อนไขให้คนต่างยุคเจอกันได้ผ่านกระจกเงา หรือเรื่อง “หุบเขากินคน” ของ มาลา คำจันทร์ ที่ใช้เครือเถาวัลย์เป็นเส้นแบ่งภพ ตัวละครที่ก้าวข้ามไปจะเข้าสู่โลกอีกยุคหนึ่ง ซึ่งดำเนินอยู่คู่ขนานไปพร้อมกับโลกปัจจุบันของเรา เพียงแต่มีบางอย่างคั่นแบ่งมิติเอาไว้

ตามตัวบทใน “บุพเพสันนิวาส” มีเงื่อนไขอะไรหรือไม่ ที่ชักนำให้ดวงวิญญาณของหญิงสาวนักโบราณคดียุคนี้ ข้ามภพไปเข้าร่างสาวแก่นแก้วจอมเกเรในรัชสมัยพระนารายณ์มหาราชได้?

true realistic03

ในงานสารคดี ซึ่งเป็นเรื่องจริง (fiction) เงื่อนไขแวดล้อมเป็นเรื่องที่ไม่ต้องสร้าง เพียงแต่ผู้เขียนต้องใส่ใจ ไม่หลงลืมที่จะนำมาแสดงไว้อย่างไม่ให้ตกหล่น

โดยให้มีข้อคำนึงถึงหลักอย่างน้อย ๒ ข้อ

๑.ความสมเหตุสมผล

เป็นที่รู้กันทั่วไปว่า “ชีวิตจริงยิ่งกว่านิยาย” นั้นมีอยู่จริง แต่เรื่องในข่ายนี้มักฟังดูเหลือเชื่อ และเมื่อนำมาเล่าในงานสารคดี จึงกลายเป็นเรื่องจริงที่คนอ่านเชื่อได้ยาก–แม้ว่าผู้เขียนจะมิได้แต่งเติมหรือบิดเบือนเนื้อหาเลย

เล่าเรื่องจริงแต่คนอ่านไม่เชื่อว่าจริง

นั่นเพราะผู้เขียนไม่ได้แสดงที่มาที่ไปให้คนอ่านเห็นคล้อยตามอย่างสมเหตุสมผล

ถ้าจู่ๆ ผู้เขียนจะบอกคนอ่านว่า มหาเศรษฐีผู้นี้เคยเป็นคนเก็บขยะขายมาก่อน คนอ่านจำนวนไม่น้อยคงยากจะเชื่อ แต่ผู้เขียนสามารถแก้ปัญหานี้ได้ง่ายๆ ด้วยการไม่ลืมเสนอให้เห็นความเป็นมา ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านประจักษ์แจ้ง เห็นและเชื่อเองโดยผู้เขียนไม่ต้องชี้นำ

true realistic04

๒.เลือกใช้น้ำเสียงผู้เล่าให้เหมาะกับข้อมูล

ในการสัมภาษณ์แหล่งข้อมูลอาจพูดอย่างไรก็ได้ อาจคุยโม้โอ้อวด พูดออกไปเพื่อจุดมุ่งหมายบางอย่างหรือซ่อนเร้นบางอย่าง ซึ่งหลายกรณีอาจดูเว่อร์แบบฟังดูไม่น่าจริงหรือแม้กระทั่งขัดกับข้อเท็จจริง

อย่างเด็กหนุ่มอายุ ๒๐ ต้นๆ บอกว่าเขาถึงจุดหมายในชีวิตหมดทุกด้านแล้ว

ถ้าผู้เขียนจับความนี้มาเขียนเล่าแบบ “อ้างอ้อม” ผ่านน้ำเสียงผู้เขียนเอง ผู้อ่านคงต้องร้องยี้ว่าผู้เขียนอวยแหล่งข้อมูลอย่างตื้นเขิน

แต่การณ์จะกลับกลาย หากเพียงแต่ผู้เขียนพลิกผันน้ำเสียงเป็นการ “อ้างตรง” ให้แหล่งข้อมูลเป็นคนพูดถึงตัวเอง ด้วยน้ำเสียงของเขาเอง คนอ่านก็จะเข้าใจและเห็นเป็นเรื่องธรรมดาที่คนเราอาจคุยโม้แบบโอ้อวดตัวเอง หรือไม่เขาก็มีมุมพิเศษบางอย่างถึงกล้าพูดถึงตัวเองแบบนั้น

ความสมจริงแบบมีเหตุมีผล เป็นสิ่งจำเป็นทั้งในเรื่องจริงและเรื่องแต่ง

เป็นเคล็ดสำคัญอีกมุม ที่จะเป็นปัจจัยชุมนุมไปสู่ผลงานที่สมบูรณ์แบบ