เฉลว-สัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ของคนตระกูลไต

ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


01 primer

“เฉลว [ฉะเหฺลว] เครื่องจักสานชนิดหนึ่ง ทําด้วยตอกหักขัดกันเป็นมุม ๆ ตั้งแต่ ๕ มุมขึ้นไป สําหรับปักหม้อยา ปักเป็นเครื่องหมายที่สิ่งของซึ่งจะขาย ปักบอกเขต หรือปักบอกเขตด่านเสียค่าขนอน ฉลิว หรือ ตาเหลว ก็เรียก”

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔

ในโลกทัศน์ของกลุ่มคนไทย-ไต เครื่องหมายที่เกิดจาก “ตอก” คือเส้นไม้ไผ่ที่จักให้บางเป็นเส้นแล้วสานหักขัดไขว้กัน ถือเป็นสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ มีอิทธิฤทธิ์ป้องกันอำนาจชั่วร้ายและขับไล่ภูตผีปีศาจได้ จึงปักไว้ที่ปากหม้อต้มยาไทย เพื่อรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของตัวยา ไม่ให้สิ่งไม่ดีต่างๆ เช่นภูตผีหรือคุณไสย มาแผ้วพานให้ยาเสื่อมสรรพคุณ ซึ่งก็สอดรับกับบทนิยามคำว่า “เฉลว” จาก “อักขราภิธานศรัพท์” พจนานุกรมยุคต้นรัชกาลที่ ๕ ของหมอบรัดเลย์ ที่ว่า “เปนเครื่องสำรับกันวิชาอาคมต่างๆ, สานด้วยไม้เปนตาตราง, เหมือนที่เขาปักไว้ที่ด่านเปนต้น”

เคยเห็นตอกขัดสานไขว้กันคล้ายๆ เฉลว (หรือยันต์) แขวนไว้เหนือประตูวัดประจำหมู่บ้านคนไตลื้อในเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ก็คงมุ่งหมายในทางนี้เช่นกัน

02 baan mowaan

03 12panna

ยิ่งไปกว่านั้น คำอธิบายของหมอบรัดเลย์ยังตอกย้ำความรู้แก่เราว่ากาลครั้งหนึ่ง (อย่างน้อยก็จนถึงยุคที่พิมพ์ “อักขราภิธานศรัพท์”) เคยมีเฉลวปักไว้ตาม “ด่าน” ของทางการที่ตั้งไว้เพื่อเก็บภาษีและตรวจจับสิ่งของต้องห้ามตามเส้นทางคมนาคม เหมือนที่มีกล่าวถึงอยู่ใน “นิราศวัดเจ้าฟ้า” ของสุนทรภู่ มหากวีท่านนั้นบันทึกถึง “เฉลว” ที่ด่านบางไทร ริมแม่น้ำเจ้าพระยา (รวมถึงการรีดไถของเจ้าหน้าที่ประจำด่าน) ไว้ว่า

                                                “ถึงด่านทางบางไทรไขว่เฉลว               เห็นไพร่เลวหลายคนอยู่บนด่าน
ตุ้งก่าตั้งนั่งชักควักน้ำตาล                       คอยว่าขานขู่คนลงค้นเรือ
ไม่เห็นของต้องห้ามก็ลามขอ                  มะละกอกุ้งแห้งแตงมะเขือ
ขอส้มสูกจุกจิกทั้งพริกเกลือ                    จนชาวเรือเหลือระอาด่าในใจ”

เฉลวที่ด่านดังกล่าวคงเป็นสัญลักษณ์ทำนองว่า Attention! Achtung! หรือ ระวัง! จงดู! อะไรทำนองนั้น และการใช้เฉลวในความหมาย “จงดู!” เช่นนี้มีปรากฏให้เห็นอีกหลายแห่งใน “กฎหมายตราสามดวง” โดยเฉพาะในการลงโทษผู้กระทำผิดด้วยการเอาเฉลวแปะหน้า แล้วนำตัวออกแห่ประจานรอบเมือง

ปัจจุบัน ด่านแบบโบราณก็ไม่มีแล้ว หรือยาหม้อที่จะต้องปักเฉลวที่ปากหม้อก็คงไม่ใช่ของที่หาดูกันได้ทั่วไป เว้นแต่ที่ป้าย “ร้านหมอหวาน” แพทย์แผนไทยที่สืบสายสกุลกันมาหลายชั่วอายุคน ย่านเสาชิงช้าในกรุงเทพฯ ซึ่งยังทำเป็นรูปเฉลวหม้อยาไว้ให้ดูกัน

แต่ทุกวันนี้ “เฉลว” กลับมาให้ได้พบเห็นกันด้วยสถานะใหม่ คือในฐานะสัญลักษณ์วิชาชีพเภสัชกรรมในเมืองไทย ตลอดจนกลายเป็น “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ในคณะวิชาด้านเภสัชกรรม ดังที่ต้องมีการจัดพิธี “มอบเฉลว” หรือ “รับเฉลว” ที่มาในรูปจี้ห้อยสายสร้อย ตุ้งติ้ง หรือเข็มกลัดเน็คไท สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ ๑ รุ่นใหม่ที่เข้ามาเรียน เป็นต้น


srun

ศรัณย์ ทองปาน

เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์นิตยสาร สารคดี