เรื่องและภาพ สุเจน กรรพฤทธิ์

ฉากสุดท้ายของ Thai Town ในสาธารณรัฐสิงคโปร์

เมื่อเราเดินทางไปยังต่างประเทศ สิ่งหนึ่งที่มักพบเจอจนเป็นปรกติคือ“ชุมชน” คนชาติต่างๆ ที่เข้าไปตั้งรกรากทำมาหากิน

China Town มีทั่วโลกฉันใด Thai Town ก็มีไม่ต่างกัน (แม้จะมีขนาดเล็กกว่าก็ตาม)

ในสาธารณรัฐสิงคโปร์ เป็นที่รู้กันว่า Golden Mile Complex (Who Hub Complex) คือ “Thai Town” ด้วยศูนย์การค้าแห่งนี้เต็มไปด้วยร้านรวงที่ขายสินค้าจากเมืองไทยตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ

สำหรับแรงงานไทยหรือกระทั่งคนไทยที่คิดถึงบ้าน อาหารไทย น้ำจิ้ม แจ่ว ยาหม่อง และ ฯลฯ โกลเด้นไมล์คือโอเอซิสอันอุดมสมบูรณ์ท่ามกลางทะเลทราย

Golden Mile เป็น “ไทยทาวน์” มานานหลายปี ก่อตัวขึ้นโดยธรรมชาติ คล้ายยกเมืองไทยในพื้นที่เล็กๆ ไปไว้ในสิงคโปร์พอให้คนไทยขี้เหงาไกลบ้านหายคิดถึงแผ่นดินแม่

แต่ข่าวใหม่ที่เราได้รับในช่วงปลายปี 2565 คือ สถานที่แห่งนี้กำลังจะปิดตัวลง

หลังโควิดซา สารคดี เดินทางไปบันทึก “ห้วงสุดท้าย” ของ Thai town สถานที่ที่เต็มไปด้วยความฝัน ความทรงจำมากมายของ “แรงงานไทย” บนเกาะสิงคโปร์

ที่กำลังจะกลายเป็นอดีต


——

thaitownsg02
ภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์

1973
กำเนิด “โกลเด้นไมล์” (Golden Mile)

Golden Mile Complex เป็นโครงการแรกๆ ที่ Housing and Development Board ของสิงคโปร์ (มีหน้าที่พัฒนาที่ดิน) ริเริ่มขึ้นในปี ค.ศ.1967 บนที่ดินระหว่างทางหลวงนิโคล (Nicoll Highway) กับถนนบีช (Beach Road) ใกล้กับอ่างเก็บน้ำกัลลัง (Kallang) เป็นตึกสูง 16 ชั้น สร้างเสร็จในปี ค.ศ.1973

ในยุคนั้น Golden Mile เป็นโครงการแรกๆ ที่ใช้ตึกเป็นทั้งย่านการค้าและที่พักอาศัย สร้างเป็นอาคารสูง 16 ชั้น ภายในมีพื้นที่สำหรับร้านค้า 411 ร้าน ที่จอดรถยนต์ 500 คัน ชั้นล่าง (1-3) เป็นห้างสรรพสินค้า ชั้นบนเป็นที่อยู่อาศัย จากที่มีการบันทึกเอาไว้ ตึกนี้ได้รับการปรับปรุงสองครั้ง ครั้งแรกในปี 1983 และอีกครั้งในปี 1986

thaitownsg03
ภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์

1980
กำเนิด “โกลเด้นเมา”

การก่อตัวของชุมชนไทยในอาคาร Golden Mile สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1970 อันเป็นช่วงที่สิงคโปร์เริ่มเป็น “เสือเศรษฐกิจ” ของภูมิภาค การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเติบโตอย่างก้าวกระโดดจนดึงดูด “แรงงานต่างชาติ” จำนวนมากเข้ามาทำงาน ด้วยขณะนั้น สิงคโปร์มีประชากรไม่เกิน ๒ ล้านคน รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนพัฒนาให้แรงงานของตนเองเป็นแรงงานทักษะสูง งานหนักจำพวกก่อสร้าง งานอันตรายที่ไม่ต้องใช้ทักษะมาก จึงตกเป็นโอกาสที่ชาวต่างชาติที่มุ่งมาหารายได้ที่มากกว่าเข้ามาทำ

สิงคโปร์เองก็เป็นจุดหมายของแรงงานไทยยุคนั้น (ไม่ต่างจากซาอุดิอาระเบีย) เท่าที่มีการบันทึก แรงงานไทยเริ่มมาทำงานในสิงคโปร์ตั้งแต่ ค.ศ.1978 ปีแรกมีจำนวนราว 400 คน โดยมีจำนวนสูงสุดในปี ค.ศ.1994 ด้วยจำนวนราว 5 หมื่นคน ก่อนจะค่อยๆ ลดลงหลังผ่านช่วงสหัสวรรษ (ค.ศ.2000)

งานของ ผศ.ดร.พัฒนา กิติอาษา มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์​ (NUS) เรื่อง “The Bare Life of Thai Migrant Workmen in Singapore” ระบุว่าแรงงานไทยในสิงคโปร์กลุ่มใหญ่ที่สุดมาจากภาคอีสานทำงานในธุรกิจก่อสร้างและอู่ต่อเรือ เป็นงาน 3D คือ ยาก (difficult) สกปรก (dirty) และอันตราย (dangerous)

ในช่วงวันหยุด หลังผ่านงานหนัก พวกเขาย่อมต้องหาที่หย่อนใจ (เมาในความหมายคนจน จิบไวน์ในความหมายคนรวย) สถานที่นัดหมายคือตึก Golden Mile ที่เริ่มมีร้านอาหารไทย ร้านขายสินค้าไทย ร้านรับบริการส่งเงินข้ามประเทศเข้าไปรวมกันเพื่อตอบสนองความต้องการของแรงงานไทย อีกทั้งยังเป็นต้นทางของรถทัวร์ที่เดินรถรถหว่างสิงคโปร์-หาดใหญ่ เมื่อที่นี่กลายเป็นคล้ายกับจุดนัดพบแรงงานไทยไกลบ้านในฐานะคำเรียกขานติดตลกว่า “โกลเด้นเมา”

thaitownsg04
ภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์

Little Thailand
ย้าย “ล้านนา” และ “อีสาน” มาไว้สิงคโปร์

งานของอาจารย์พัฒนายังให้ข้อมูลว่า ปรกติทุกสุดสัปดาห์ในช่วงที่มีแรงงานไทยมาทำงานมากที่สุด จะมีแรงงานมาที่นี่ถึงห้าพันคน และเมื่อคนหมู่มากมารวมกัน แน่นอนว่าย่อมมีหลายอย่างตามมา ไม่ว่าจะเป็นกรณีการทะเลาะเบาะแว้ง เมาหัวทิ่ม ทิ้งขยะ ซึ่งทุกอย่างผิดกฎหมายอันเข้มงวดของสิงคโปร์ แต่อีกนัยหนึ่งก็คือการประท้วงความเครียดและกดดันที่พวกเขาแบกรับมาตลอดสัปดาห์ทำงาน

แปลกแต่จริงคือ กฎหมายเรื่องความสะอาดดูจะปิดตาไปข้างหนึ่งในโกลเด้นไมล์ แรงงานไทยคนหนึ่งบันทึกว่าคนที่มาที่นี่มีทั้งดีและไม่ดี “มีทั้งเข้าเมืองผิดกฎหมาย หางานทำ หลบหนีทางการ บางคนไปตั้งแคมป์นอนในป่าข้างอาคาร…คือดินแดนแห่งบาป เหล้า ยา ผู้หญิง หลายคนฆ่ากันเพราะอาการมึนเมา” จนตำรวจสิงคโปร์ต้องเข้ามาตรวจตราบ่อยครั้ง

ในปี ค.ศ.2006 ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. สิงคโปร์ท่านหนึ่งคือ อีวาน ปึ้ง (Ivan Png) ระบุว่าที่นี่คือ “สลัมแนวดิ่ง” เป็น “ทัศอุจาด” และ “ความอับอายระดับชาติ” ของสิงคโปร์ เพราะนอกจากคนไทย คนสิงคโปร์ที่อาศัยในตึกนึกจะทำอะไรก็ทำ จะต่อเติมก็ทำตามใจชอบโดยไม่สนใจสภาพแวดล้อมจนเกิดทัศนะอุจาด

ในปี 2016 ที่เราไปสำรวจอาคารนี้ครั้งแรก เราพบว่าหน้าตึกมีศาลพระพรหมที่มีธูปเทียนปักอย่างหนาแน่น มีแรงงานไทยมาบูชาอยู่ไม่ขาดสาย

ที่ชั้นแรก เดินเข้าไปก็คล้ายกับวาร์ปกลับไทย ภายในเต็มไปด้วยร้านแลกเปลี่ยนเงินตราและโอนเงินกลับไทย ร้านขายยาไทย ร้านขายผักสด ของแห้ง อาหารอีสาน อาหารเหนือ มีกระทั่งร้านหมูกระทะ

ชั้นสอง มีมินิมาร์ทคล้ายกับยกมาจากเมืองไทย เพราะมีสินค้าไทยครบแบบไม้จิ้มฟันยันเรือรบราวกับเดินอยู่ในกรุงเทพฯ แผงขายหนังสือพิมพ์ นิตยสารรายเดือน ฯลฯ

ชั้นสาม เป็นร้านนวดแผนไทย ร้านขายซิมโทรศัพท์ ขายอุปกรณ์ไฟฟ้า ร้านเช่าพระเครื่อง ชมรมสามัคคีไทยไกลบ้าน (สิงคโปร์)

แต่ถึงแม้ด้านหนึ่งจะภาพลักษณ์แย่ แต่อีกด้านหนึ่ง คนสิงคโปร์ก็รู้กันว่า หากอยากกินอาหารไทยแท้ๆ อาทิ ผัดไทย ก๋วยเตี๋ยวเรือ หมูกระทะ หากไม่ต้องการบินไปถึงกรุงเทพฯ ก็มาที่โกลเด้นไมล์ ย่อมไม่ผิดหวัง เพราะมีให้เลือกนับสิบร้าน

thaitownsg05
ภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์

2022
เฮือกสุดท้ายของโกลเด้นไมล์

เมื่อเวลาผ่านไป สถานการณ์ก็เปลี่ยนแปลง แรงงานไทยในสิงคโปร์ลดลง จากการที่รัฐบาลสิงคโปร์ออกนโยบายว่าหากแรงงานต่างชาติทำงานครบ ๑๐ ปี ในการต่อใบอนุญาตทำงานต้องสอบทักษะวิชาชีพเพิ่มอีกหนึ่งทักษะ ทำข้อสอบเป็นภาษาอังกฤษเพื่อที่จะอยู่ทำงานต่อไป ผลคือแรงงานไทยระดับล่างจำนวนมากสอบตก ต้องกลับบ้านทั้งที่แรงงานไทยส่วนมากนายจ้างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าขยันขันแข็ง ปรับตัวเก่ง แต่ก็มาติดตรงที่ทักษะภาษาอังกฤษ

แรงงานไทยที่ลดลงส่งผลกับโกลเด้นไมล์ทางอ้อม ผลจากปัญหาที่หมักหมมเดิมยังทำให้อาคารที่มีอายุการปล่อยเช่า 99 ปี (นับตั้งแต่ปี 1969) ถูกวางแผนขายทอดตลาด ผลปรากฎว่าอยู่อาศัยโซนชั้นบนร้อยละ 80 ตกลงใจที่จะขาย จน 22 ตุลาคม 2021 เดสมอน ลี (Desmond Lee) รมว.กระทรวงพัฒนาชาติ ประกาศว่าอาคารแห่งนี้ได้รับการอนุรักษ์ตามกฎหมาย โดยจะไม่ทำลายแต่จะต้องรักษาสภาพเอาไว้ในฐานะอาคารประวัติศาสตร์

ต่อมา หน่วยงานที่รับผิดชอบจัดการที่ดินสิงคโปร์คือ The Urban Redevelopment Authority ประกาศหาผู้ซื้ออาคารเก่าแห่งนี้ โดยมีเงื่อนไขจูงใจคืออนุญาตให้สร้างอาคารใหม่ติดกับอาคารเก่าที่เป็นภาคบังคับเรื่องการอนุรักษ์ ก่อนที่เอกชนรายหนึ่งจะซื้อในราคา 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (เกือบ 18 ล้านบาท) ส่งผลให้ผู้เช่าทั้งหมดต้องย้ายออกจากอาคารภายในเดือนพฤษภาคม 2023

thaitownsg06
ภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์

ปิดตำนานไทยทาวน์

รุ่งนภา กิตติอาษา อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาต่างประเทศ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ซึ่งคลุกคลีอยู่กับแรงงานไทยในโกลเด้นไมล์ นอกจากส่งข่าวการสิ้นสุดการใช้งานตึก ยังเล่าว่าขณะนี้ธุรกิจต่างๆ ในอาคารโกลเด้นไมล์กำลังทยอยกันเก็บข้าวของย้ายออกไปหาที่อยู่ใหม่

ชมรมสามัคคีไทยไกลบ้าน (สิงคโปร์) ย้ายไปอยู่ตึกข้างๆ ไม่ห่างมากนัก ในขณะที่ร้านค้าต่างๆ ก็กระจัดกระจายกันไป พ่อค้าแม่ค้าส่วนหนึ่งเล่าว่า พวกเขาหาที่ใหม่ไปตามย่านต่างๆ ที่มีแรงงานไทยทำงาน เมื่อขึ้นปีใหม่ 2023 ก็อาจเรียกได้ว่าเป็นการนับถอยหลัง 6 เดือนสุดท้ายของไทยทาวน์ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานในสิงคโปร์

แม่ค้าท่านหนึ่งบอกว่า อนาคตไม่จำเป็นต้องมีไทยทาวน์อีกแล้ว เพราะช่วงโควิดระบาดในสิงคโปร์ การดิลิเวอรีส่งสินค้าถึงบ้านได้กลายมาเป็นทางเลือกใหม่ของแรงงานไทย ด้วยสะดวกและประหยัดมากกว่าในบางกรณี น่าเสียดายก็เพียง “ไทยทาวน์” ในแง่ของ “สถานที่” (Space) ที่เป็นประวัติศาสตร์สังคมของชาวไทยไกลบ้านแห่งนี้

คงจะเหลือเพียงเรื่องเล่าและความทรงจำที่ยังแจ่มชัดในบรรดาแรงงานไทยรุ่นเก่าเท่านั้น

  • อ่านเพิ่มเติมใน สำรวจชีวิต “แรงงานไทย” ในสิงคโปร์ จาก นิตยสาร สารคดี ฉบับที่ 395 มกราคม 2561