wemissmag01

ประกาศผลกิจกรรม #คิดถึงแมกกาซีน Online Exhibition

หลังจากเพจ Sarakadee Magazine จัดกิจกรรม #คิดถึงแมกกาซีน Online Exhibition ให้ร่วมสนุกกับ สารคดี ฉบับ #คิดถึงแมกกาซีน มีนาคม 2561 โดยให้โพสต์ภาพนิตยสารและเสน่ห์ของสิ่งพิมพที่คุณคิดถึง บัดนี้เราได้คัดเลือกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ขอขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่ได้เข้ามาร่วมกิจกรรมบนเพจ Sarakadee Magazine กันอย่างล้นหลามจนทำให้การตัดสินยากมาก แต่ในที่สุดเราก็ตัดใจเลือกโพสต์ที่น่าประทับใจเพื่อรับรางวัลพิเศษจาก สารคดี สำเร็จ แต่ก็เสียใจแทนหลายโพสต์ที่ผิดกติกาเรื่องการถ่ายภาพตัวเองกับปกนิตยสารไปอย่างน่าเสียดาย

จากจำนวนผู้เข้าร่วมสนุกที่แสดงความคิดถึงแมกกาซีนกันมาหลากหลายและมีจำนวนไม่น้อยที่ได้ส่งกำลังใจอุ่นๆ มาถึงนิตยสาร สารคดี โดยเฉพาะ เราจึงตัดสินใจเลือกผู้ได้รับรางวัลจำนวน 10 โพสต์ที่มิใช่ปกสารคดี และเพิ่มรางวัลอีก 1 รางวัลพิเศษสำหรับโพสต์ปก สารคดี รวมทั้่งหมดเป็น 11 รางวัล จากเดิมที่ตั้งไว้ 10 รางวัล ดังนี้

1.คุณ Pawin Yunyongniwet
2.คุณ Somchai Thasako
3.คุณ Prim Filmsick
4.คุณ Kobz Kanokshoti
5.คุณ Runch Trithumvutikul
6.คุณ Chartravee Mahithithammathorn
7.คุณ Chinnapat Kerratiwibul
8.คุณ Wantanee Lek
9.คุณ Karn Kudeesri
10.คุณ Jeep Camp
11.คุณ ศศิ ศรีสัตตบุตร

ขอขอบคุณผู้อ่านทุกๆ คนที่ได้ร่วมบอกเล่าความรู้สึกดีๆ ถึงนิตยสารทุกฉบับ และหวังว่านี่จะเป็นกำลังใจให้นิตยสารที่ยังเหลืออยู่บนแผงทุกเล่นนะครับ

#สมัครสมาชิกช่วยต่ออายุนิตยสารไปยาวๆ

11 ภาพและเรื่องที่ประทับใจกองบรรณาธิการนิตยสาร สารคดี นี้จะได้รับนิตยสาร สารคดี ฉบับคิดถึงแมกกาซีน เดือนมีนาคม 2561 พร้อมกระเป๋าผ้าสารคดี ขนาด XXL รางวัลละ 1 ชุดครับ

wemissmag02

คุณ Pawin Yunyongniwet กับนิตยสาร พลอยแกมเพชร

พูดถึงความประทับใจ ในนิตยสารพลอยแกมเพชรเป็นการพบกันโดยบังเอิญมาก ตอนที่ไปรอตรวจที่คลินิกเจอก็เลยลองอ่านดู เห็นพี่ชาลีตอบจดหมายคนเดียวสามหน้าเต็มๆ รู้เลยว่าต้องรักผู้อ่านแน่ๆ แล้วได้อ่านงานเขียนของศศิวิมล เจอรูปประกอบที่สวยมากๆ และท่วงทำนองในการเขียนเรื่องที่ตรึงใจ เลยตัดสินใจไปซื้อมาอ่านเล่มแรกเดือนมิถุนายนปี 2011

พอได้ลองตั้งใจอ่านจริงๆสรุปได้ว่าเป็นงานศิลปะที่อ่านได้ ด้วยโชคช่วยทำให้ค้นพบและเป็นเจ้าของตั้งแต่ฉบับปฐมฤกษ์จนถึงฉบับสุดท้าย ทุกๆครั้งที่พลิกอ่านจะมีความสุขมาก

แต่งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกร

เรารู้สึกเหมือนเสียเพื่อนที่เรารักไปจริงๆ แต่สิ่งดีๆที่เพื่อนสร้างทิ้งไว้จะอยู่ในความทรงจำของเราตลอดไป

wemissmag03

คุณ Somchai Thasako กับความรู้สึกต่อ นิตยสาร ฅ.คน

จำได้ว่าเคยสมัครเป็นสมาชิกนิตยสาร ฅ.คน อยู่ 2 ปี ในฉบับที่ 6 ได้ส่งเรื่องราวสั้น ๆ ไปร่วมสนุกด้วยและได้ตีพิมพ์ในคอลัมน์เล็ก ๆ ที่ชื่อว่า ‘เวทีทางบ้าน’ ผ่านไปหลายปี เงียบหายเพราะปิดตัวไป แต่แฟนหนังสือยังคงเฝ้าติดตามและคิดถึงอยู่เสมอ นิตยสารที่รวบรวมเรื่องราวของผู้คนมากมาย ทำให้เกิดสิ่งหนึ่งขึ้นภายในใจของผู้อ่านดั่งที่ว่า ‘จุดไฟชีวิต จุดความคิดผู้คน’ นั่นแหละครับ

wemissmag04

คุณ Prim Filmsick กับนิตยสาร ไบโอสโคป

“ไบโอสโคป” เป็นนิตยสารที่เน้นนำเสนอภาพยนตร์ทางเลือก ให้บทวิจารณ์ที่แตกต่าง อธิบายเบื้องหลังการทำหนังแบบกึ่งวิชาการ อัพเดทข่าวสารวงการภาพยนตร์ จัดฉายหนังทั้งนอกและในกระแส ให้คนที่เคยดูหนังอย่างผิวเผิน ตกหลุมรักโลกของภาพยนตร์ไปอย่างไม่รู้ตัว ตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา เราได้เห็นไบโอสโคปเติบโตจากนิตยสารทำมือราย 2 เดือน เล่มเล็กแค่ครึ่ง A4 หนา 40 กว่าหน้า กลายเป็นนิตยสารรายเดือน เล่มใหญ่ หนาและหนักขึ้นเรื่อยๆ เคยปรับทั้งโลโก้ แท็กไลน์หัวหนังสือ การจัดเลย์เอาท์ปก สีสัน รวมไปถึงวิธีเย็บเล่มที่ลองผิดลองถูกมาหลายแบบ จนถึงปัจจุบันที่นิตยสารหัวอื่นๆ ทยอยลาจากแผงหนังสือไป ไบโอสโคปได้ปรับตัวเองเป็นนิตยสารราย 2 เดือนอีกครั้ง มีให้ผู้อ่านเลือกทั้งแบบนิตยสารกระดาษและแบบ E-magazine ให้เข้ากับยุคสมัย ซึ่งสุดท้าย ไม่ว่าจะเปลี่ยนไปรูปแบบใด ตราบใดที่ยังคงรักษาคุณภาพและใจความสำคัญที่ต้องการสื่อสารกับผู้อ่าน ไบโอสโคปก็ยังเป็นนิตยสารที่ทำให้เราคิดถึงได้เสมอ

wemissmag05

ภาพและความรู้สึกจากคุณ Kobz Kanokshoti ผู้ร่วมกิจกรรม #คิดถึงแมกกาซีน กับนิตยสาร รู้รอบตัว

นิตยสารเล็ก ๆ เล่มนี้จุดไฟให้เด็กนักเรียนคนนึง กลายเป็นโปรดิวเซอร์เพลงระดับประเทศ ..

ได้ยินเพียงแค่นี้มันคงฟังดูเหลือเชื่อและมหัศจรรย์เกินกว่าที่จะเป็นไปได้ง่าย ๆ ครับ ถูกต้องแล้วครับ มันไม่ง่ายหรอก ..

ถ้าวันนั้นเมื่อ 30 ปีก่อน ผมไม่ได้บังเอิญไปเห็นนิตยสารฉบับนี้ ที่จั่วหัวไว้อย่างน่าสนใจว่า “ บุก Grammy เจาะกระบวนการทำเพลงใส่ตลับ “ และควักตังค่าขนม 25 บาทซื้อมาอ่าน ซึ่งมีบทความนึงเป็นการสัมภาษณ์ผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่สุดที่เปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมผลิตเพลงไทยในยุคนั้นให้เข้าสู่ยุคที่เป็นธุรกิจดนตรีอย่างเต็มรูปแบบที่ชื่อ “เรวัตร พุทธินันทน์” หรืออาเต๋อนั่นเอง

จากวันที่นิตยสารธรรมดา ๆ บนแผงเล่มนี้ ได้จุดประกายไฟเล็ก ๆ ในสมองบื่อ ๆ ของเด็กนักเรียนอย่างผมให้ได้รู้ว่า บนโลกนี้ ยังมีอาชีพแปลก ๆ อีกอาชีพนึง นอกเหนือจากการเป็นหมอ เป็นครู เป็นวิศวกรอะไรพวกนั้น นั่นคือ อาชีพโปรดิวเซอร์ คนทำเพลง จึงเริ่มศึกษาต่อยอดหาวิธีที่จะไปอยู่ที่จุดนั้นให้ได้ ด้วยใจมุ่งมั่นว่า วันนึง..เราจะไปเป็นคนทำเพลงให้คนทั้งประเทศได้ฟังและมีความสุขเหมือนที่อาเต๋อทำให้จงได้

จากนั้นผมทั้งดิ้นรนศึกษาค้นคว้าจนสามารถทำเพลง และเอางานเพลงไปเสนอตามค่ายต่าง ๆ ในชุดนักเรียนมัธยมแบบนั้นเลย ทั้งโดนไล่ ทั้งโดนปฎิเสธ นั่งร้องไห้หน้าค่ายเพลงแทบครบทุกค่ายมาแล้ว จนในที่สุดก็มีค่ายเพลงแห่งนึงให้โอกาสผมได้ทำงานและผลิตเพลงให้ศิลปินในค่ายแห่งนี้มากมายหลายอัลบัมอยู่หลายปี จนค่ายเพลงแห่งนี้ต้องปิดตัวลงเพราะเข้าสู่ยุคเทปผีซีดีเถื่อน จนวันนึง ค่ายเพลงอันดับ 1 ของเมืองไทย (ค่ายซึ่งเมื่อตอนเป็นนักเรียนผมเคยเอางานไปเสนอ แต่ได้รับคำตอบว่าให้กลับบ้านไปก่อน โตแล้วค่อยมาใหม่) ได้ชักชวนให้ผมไปร่วมงานด้วย ซึ่งคือค่ายที่อาเต๋อเป็นผู้ร่วมก่อตั้งนั่นเอง

วันที่ผมไปเหยียบที่ค่ายเพลงแห่งนั้นอีกครั้ง ภาพความทรงจำที่ผมเคยโดนปฎิเสธ ทั้งคำพูด ทั้งกิริยาตั้งแต่ยามหน้าประตูจนไปถึงฝ่ายประชาสัมพันธ์ที่ไม่ให้ผมเข้าพบอาเต๋อมันผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด พร้อมในใจที่บอกกับตัวเองว่า “วันนี้กุกลับมาแล้ว” และกลับมาอย่างสมศักดิ์ศรี มีผู้บริหารสูงสุดของค่ายเพลงนี้ในสมัยนั้นเป็นคนเชิญมาด้วย วันที่ผมรอคอยมาเป็น 10 ปีก็มาถึง แต่แอบเสียใจนิดนึงที่วันที่ผมกลับมา อาเต๋อได้ล่วงหน้าจากโลกนี้ไปแล้ว ..

ทั้งหมดที่เล่ามา เพียงแค่จะบอกว่า ถ้าวันนั้นไม่มีนิตยสารในมือผมเล่มนี้ เป็นดั่งไม้ขีดเล็ก ๆ จุดประกายไฟนำทางให้ผมได้เปิดโลกทรรศ นำทางให้ผมได้ค้นหาตัวตน และเดินตามฝัน ป่านนี้ผมคงเป็นนายทหารวัย 50 แก่ ๆ คนนึงเหมือนพ่อผม ที่ไม่มีเรื่องราวอะไรสนุก ๆ และน่าประทับใจ ซึ่งน้อยคนนักที่จะได้มีช่วงชีวิตที่แสนมหัศจรรย์ในยุคที่วงการเพลงไทยรุ่งเรืองที่สุดเหมือนผม มาเล่าให้ทุกท่านได้ฟังเหมือนวันนี้ก็เป็นได้ครับ .

wemissmag06

คุณ Runch Trithumvutikul กับนิตยสาร สกุลไทย

เสน่ห์ของ “สกุลไทย” คือรูปเล่มที่ม้วนโค้งได้ ต่างจากนิตยสารส่วนใหญ่ ความรู้สึกส่วนตัว คือ หยิบจับอ่านง่ายไปตามมือ เล่มไม่หนัก แต่แน่นด้วยสาระ และ ราคายุติธรรมตลอดมา นิตยสารสกุลไทย เป็นความสุขหนึ่งของแม่ ตั้งแต่รู้ความก็เห็นนิตยสารเล่มนี้ในบ้านแล้ว เพราะอายุของสกุลไทยยาวนานกว่า 60 ปี ครั้นปิดตัวลง แม่ก็ขาดรายละเอียดในชีวิตไป ดูเหงาไปมาก สกุลไทยปิดไปได้ปีกว่าแล้ว หลังจากนั้นนิตยสารอีกหลายเล่มก็ทยอยกันกลายเป็นอดีตเกือบหมด อดคิดไม่ได้ว่า บางครั้งสิ่งดีๆ ก็จำต้องหลีกทางให้สิ่งใหม่ๆ อย่างนั้นรึเปล่านะ? หวังอย่างยิ่งว่า “สารคดี” นิตยสารที่มีคุณค่าอีกเล่มจะอยู่กับผู้อ่านไปอีกนานแสนนาน

wemissmag07

คุณ Chartravee Mahithithammathorn กับนิตยสาร ขวัญเรือน

สำหรับคนที่ใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักเขียน คงไม่มีอะไรสำคัญเท่ากับการได้รับโอกาส…

ฉันได้ตีพิมพ์เรื่องสั้นเป็นครั้งแรกในนิตยสารขวัญเรือนเล่มนี้ ชื่อเรื่องว่า ‘คฤหาสน์ร้างรัก’ ตอนนั้นฉันดีใจสุดๆ เลยค่ะที่จะได้มีผลงานเขียนตีพิมพ์ลงในนิตยสารชื่อดังของเมืองไทย อยากจะขอบคุณนิตยสารขวัญเรือนที่ให้โอกาสกับนักเขียนหน้าใหม่อย่างฉัน ได้จุดประกายไฟแห่งความฝันค่ะ

สิ่งหนึ่งที่ฉันประทับใจในนิตยสารขวัญเรือนคือความละเอียดรอบคอบของทางบ.ก. ค่ะ อันแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจในคุณภาพและมาตรฐานของงานค่ะ โดยในตอนนั้นฉันส่งเรื่องสั้น ‘คฤหาสน์ร้างรัก’ ไปยังคอลัมน์เรื่องสั้นของนิตยสารขวัญเรือน เพื่อการพิจารณาตีพิมพ์

แต่ด้วยความที่เรื่องสั้นเรื่องนี้มี setting เกิดขึ้นที่เมืองฝรั่ง

ทางบ.ก. ก็เลยโทรศัพท์มาสอบถามฉันเพื่อความแน่ใจว่าเรื่องสั้นนี้เป็นเรื่องสั้นที่แต่งเอง ไม่ใช่เรื่องสั้นที่แปลมาใช่ไหม

เพราะถ้าเป็นเรื่องสั้นแต่งเอง ทางบ.ก. จะตีพิมพ์ให้ในคอลัมน์เรื่องสั้น

แต่ถ้าเป็นเรื่องสั้นแปลมา จะได้เอาไปตีพิมพ์ให้ในคอลัมน์เรื่องสั้นแปลค่ะ

และแม้ว่าวันนี้จะไม่มีนิตยสารขวัญเรือนวางอยู่บนแผงหนังสืออีกต่อไปแล้ว แต่ไฟแห่งความฝันของฉันที่ถูกจุดขึ้นในวันนั้น จะไม่มีวันมอดลงไปค่ะ มันจะเป็นพลังสำคัญที่ทำให้ฉันมุ่งมั่นที่อยากจะสร้างสรรค์ผลงานเขียนดีๆ ตลอดไปค่ะ

สุดท้ายอยากจะบอกว่ารู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งของนิตยสารในตำนานหัวนี้นะคะ

 

wemissmag08

ความรู้สึกของคุณ Chinnapat Keeratiwibul ที่บอกเล่าถึงนิตยสาร “เล่มโปรด”

#คิดถึงแมกกาซีน
นิตยสารที่ประทับใจ จนอยากขอเข้าร่วมเล่นกิจกรรมนี้ด้วยคือ นิตยสาร “เล่มโปรด”

รู้จักนิตยสารนี้ตั้งแต่สมัยม.ต้น เริ่มมาติดตามจริงๆ ตอนที่เข้าสู่ปีที่สอง ถ้าหากใครที่ติดตามหัวนี้เหมือนกันจะรู้ว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ว้าวมาก คือเป็นทรงสูง เหมือนพับกระดาษเอสี่ครึ่งตามยาว แล้วเป็นทรงที่แปลกใหม่เตะตามาก ตั้งแต่นั้นมาก็บอกรับเป็นสมาชิกมาโดยตลอด ส่วนปีแรก กลับมาซื้อย้อนหลังที่งานหนังสือ จนเก็บได้ครบแล้วตอนนี้

นิตยสารเล่มนี้มีคอลัมน์ที่ติดตามมาโดยตลอดคือ “ชานชาลาที่ 9 3/4” เพราะตัวเองชอบแฮร์รี่ พอตเตอร์มากเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
และในยุคนั้นที่ยังไม่มีโซเชียลมีเดียอย่างแพร่หลาย (สมัยนั้นยังออนเอ็มกันอยู่เลย ?) ข่าวคราวอัปเดตใหม่ๆ อย่างเรื่องหนังสือ ภาพยนตร์ นักแสดง จะต้องติดตามจากคอลัมน์นี้ได้อย่างเดียว
(จริงๆ อ่านจากเว็บไซต์บ้างก็ได้ แต่ส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ ต้องแปลจับใจความเอาเองอีกที โชคดีที่บางข่าวมีแปลไทยลงเว็บ “มักเกิ้ลไทย” ด้วย ดังมากเลยนะสมัยนั้น ?)

ความว้าวอย่างนึงของนิตยสารหัวนี้คือ เปลี่ยนขนาดมาแล้วหลายครั้ง เริ่มปีแรกเป็นขนาดประมาณเอห้า ปีสองมาสูงขึ้นอย่างที่บอกไปตอนแรก ต่อมาขยายใหญ่เป็นจตุรัส แล้วเปลี่ยนมาใช้เป็นกระดาษอาร์ต แล้วก็วกกลับมาเป็นขนาดเอห้าอีกที และถ้าจำไม่ผิด จะใช้ขนาดใหญ่อีกครั้งนึง จนถึงฉบับสุดท้ายที่เลิกพิมพ์

“เล่มโปรด” ชูประเด็นตัวเองจากการเป็นนิตยสารสำหรับเด็กและวัยรุ่น ที่กำลังเริ่มอ่านหนังสือหลากหลายแนว ให้รู้จักนิยายต่างๆ หลายรูปแบบ ได้ความรู้ใหม่จากเนื้อหาในคอลัมน์ต่างๆ และเปิดโอกาสให้ผู้อ่านได้ลองเขียนเองด้วย ซึ่งในสมัยนั้นเป็นอะไรที่ว้าวมาก เพราะไม่ค่อยมีนิตยสารสำหรับเด็กโดยตรงเท่าไหร่ (คือมีน้อยถ้าเทียบกับตลาดนิตยสารไทยทั้งหมด) อาจจะมี “โกจีเนียส” ที่เป็นตัวแทนสายวิทย์ แล้วมี “เล่มโปรด” เป็นตัวแทนสายศิลป์ อารมณ์นั้น

และอย่างที่บอกว่า ผมเองเป็นคนชอบแฮร์รี่ ที่เป็นวรรณกรรมเยาวชนระดับโลก แต่มีความหมายกับผมในระดับชีวิต การงาน และอนาคตโตมากับคอลัมน์ชานชาลาฯ จนครั้งหนึ่งในชีวิต ได้มีโอกาสเขียนคอลัมน์นี้ด้วยตัวเอง เป็นประสบการณ์วัยมหาวิทยาลัยในตอนนั้นที่ยังจำได้ถึงทุกวันนี้เลย ว่าความสนุกตื่นเต้น การคิดงาน มันน่าสนใจและได้เรียนรู้เยอะแยะเลย
ถึงแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร และเป็นของสะสมชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งในชีวิตเลยล่ะ

wemissmag09

คุณ Wantanee Lek กับนิตยสาร ชัยพฤกษ์การ์ตูน

หนังสือที่ให้ความสุขในวัยเด็กที่อยู่ในความทรงจำมาตลอด คือหนังสือเล่มนี้ “ชัยพฤกษ์การ์ตูน” ของไทยวัฒนาพานิช เล่มละ 3 บาท ในวัยวันที่ได้ค่าขนมอาทิตย์ละ 20 บาท

เป็นความสุข ความตื่นเต้นที่ต้องไปคอยเกาะขอบหน้าร้านหนังสือในวันที่หนังสือออก ภาพปกที่ทันยุคทันเหตุการณ์พร้อมกับลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์ของพี่รงค์
เรื่องราวต่างๆในเล่มที่มีพี่รงค์วาดและดูแลคอลัมภ์ต่างๆ

พี่ดาว คอยตอบคำถามที่เป็นความรู้ ได้หัดวาดรูปก็จากหนังสือเล่มนี้ ได้ความรู้ต่างๆจากทั่วโลกก็จากหนังสือเล่มนี้มีทั้งเกร็ดประวัติศาสตร์ ,ความรู้เรื่องสุขภาพ,ต่อเติมเสริมภาพและเนื้อเพลงให้หัดร้อง การ์ตูนที่ขาดไม่ได้คือพี่ทาร์ซานและเจ้าจุ่นอันเป็นเอกลักษณ์ มีสโมสรชัยพฤกษ์ รูปเพื่อนๆให้เราหัดหามิตร เขียนจดหมายถึงเพื่อนๆทางจดหมาย ภาพล้อโฆษณาที่ทำให้เรารู้จักอาชีพโฆษณาในอีกแง่มุมหนึ่ง

ต้องยอมรับเลยว่าเป็นนิตยสารที่มีอิทธิพลต่ออาชีพในปัจจุบันเป็นอย่างมาก ย้ายบ้านมาห้าครั้ง ก็หอบกันมาจนเหลือเพียงเท่านี้ล่ะค่ะ

wemissmag10

คุณ Karn Kudeesri กับนิตยสารหลายเล่ม

หลายฉบับ.ปิดไป.ใจจะขาด
ต้องมาพลาด.พ่ายแพ้.แก่มือถือ
ที่เหลืออยู่.สู้ต่อ.ขอปรบมือ
คงช่วยซื้อ.ตามกำลัง.อย่างตั้งใจ

wemissmag11

คุณ Jeep Camp กับนิตยสาร Birds Magazine 

นิตยสารเกี่ยวกับธรรมชาติในบ้านเราทุกวันนี้แทบจะนับเล่มได้ แต่หากจะหาอ่านหรือหาความรู้ก็หาใช่จะไม่พบเจอแต่จะแทรกตัวไปเป็นคอลัมน์หรือบทความความเล็กๆสอดแทรกในหนังสือต่างๆให้พอได้รับรู้อยู่บ้า

นิตยสาร Birds Magazine เป็นหนังสือเกี่ยวกับธรรมชาติและคนรักนก( ดูนก)เป็นหลัก สำหรับผู้ที่รักษ์ธรรมชาติและชอบดูนกแล้วมักจะไม่พลาดที่จะหยิบจับมาอ่านและครอบครองอย่างเลี่ยงไม่ได้
Birds Magazine นับเป็นมิติใหม่ของการทำหนังสือเกี่ยวกับนก,การอนุรักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม แต่อย่างว่าหากเปรียบความเป็นไปของนิตรสารหลายๆเล่มดังคำที่ว่า “งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกลา ” Birds Magazine ยืนยงและวางตามแผงหนังสือได้ไม่นานนักก็หายไปจากแผงหนังสืออย่างไร้คำกล่าวลาทิ้งไว้เพียงหลักฐานเป็นหนังสือที่ยังคงบ่งบอกได้ว่าเคยมีหนังสือแบบนี้เคยโลดแล่นบนแท่นพิมพ์และวางแผงในท้องตลาด

ระหว่างที่ Birds Magazine โลดแล่นอยู่บนแผงหนังสือได้สื่อสารเรื่องราวเกี่ยวกับธรรมชาติ การดูแลรักษาโดยเฉพาะนกได้อย่างตรงไปตรงมาและเข้าใจง่าย ถือเป็นพลังเล็กๆที่สร้างสิ่งใหญ่โตให้อยู่รอดได้อย่างไม่น่าเชื่อ

แม้วันนี้ Birds Magazine จะลาแผงและโรงพิมพ์ไปนานแสนนานแล้ว แต่ทุกครั้งที่หยิบนิตยสารเล่มนี้ออกมาจากตู้หนังสือมันทำให้เราได้รับความรู้มากมายเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะนก

หากจะให้พูดถึงความประใจสำหรับ Birds Magazine คงพูดได้เพียงว่าขอบคุณมากๆสำหรับผู้ร่วมสร้างและผลิตนิตรสารดีๆเล่มนี้ออกมาให้ตัวอักษรได้บอกเล่าเรื่องราวต่างๆที่เกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดโดยเฉพาะนก ให้เราๆได้รับรู้อย่างแท้จริงและเข้าใจ

Birds Magazine นิตยสารสำหรับคนรักนกและธรรมชาติ
ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 มิถุนายน 2541

wemissmag12

ภาพและความรู้สึกจากคุณ ศศิ ศรีสัตตบุตร ผู้ร่วมกิจกรรม #คิดถึงแมกกาซีน กับนิตยสารสารคดีหลายฉบับ

พ.ศ.๒๕๓๘ ฉันเป็นวัยรุ่น เข้า กทม. มาเรียนต่อ
ได้รู้จัก สารคดี เล่มที่ ๑๒๒ ปกบัวผุด ที่แผงข้างหอพัก
อ่านตั้งแต่หน้าแรกถึงหน้าสุดท้าย ฉันตกหลุมรักทันที

หลังจากนั้น แทบทุกเสาร์ อาทิตย์ ฉันจะไปสวนจัตุจักร
ตามล่าสารคดีเล่มเก่าๆ ซื้อเก็บสะสมไว้อ่านเองในวันว่าง
และให้ลูก หลานได้อ่านในวันข้างหน้า
ใช้เวลาเกือบๆ ๒๐ ปี กว่าฉันจะมีสารคดีครบทุกเล่ม

ทุกๆ สิ้นเดือน ฉันอุดหนุนสารคดีเล่มใหม่ที่แผงเสมอ
มีความสุขทุกครั้งที่ได้เปิดอ่าน
“เนื้อหาที่น่าติดตาม และความสวยงามของภาพประกอบ”
คือเสน่ห์ของสารคดี

ฉันเลือก เล่มที่ ๖๗ “ตามรอยเสือห้วยขาแข้ง” เป็นเล่มที่ประทับใจ
เพราะเป็นเล่มแรกที่ฉันออกตามล่า นอกจากจะมีเรื่องเสือแล้ว
ยังมีเรื่องนครราชสีมา บ้านเกิดของฉันอีกด้วย

สารคดีเล่มนี้ แสดงให้เห็นว่า สารคดีทุกเล่มไม่เคยล้าสมัย
สิ่งที่นำเสนอเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ยังคงต้องกล่าวถึงอีกครั้งในวันนี้
ขอให้ สารคดี อยู่คู่บรรณพิภพตลอดไปนะครับ
#คิดถึงแมกกาซีน — กับ ศศิ ศรีสัตตบุตร

ศศิ ศรีสัตตบุตร