ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


จาก พระพิมพ์ สู่ พระเครื่อง ตอนที่ 1

ในบทความเรื่อง “ตำนานพระพิมพ์” ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ นักปราชญ์ฝ่ายวิชาโบราณคดีชาวฝรั่งเศสผู้ลือนาม เสนอไว้ว่า ธรรมเนียมการสร้างพระพิมพ์ คือพระพุทธรูปเล็กๆ ตีพิมพ์ด้วยดิน เริ่มต้นจากการเป็น “ของที่ระลึก” ที่พุทธศาสนิกชนนำติดตัวกลับบ้าน หลังจากไปสักการะสังเวชนียสถานสี่ตำบลในอินเดียโบราณ ก่อนที่จะคลี่คลายกลายเป็นการสร้างขึ้นเพื่อหวังผลบุญกุศล พร้อมกับจารึกบาทคาถาที่เป็น “หัวใจ” ของพระพุทธศาสนา คือคาถา เย ธมฺมา ไว้ด้วย โดยอาจมีจุดมุ่งหมายดังที่ท่านเซเดส์พรรณนาไว้ว่า

“บุคคลผู้ได้ทำรูปพระพิมพ์แล้วและบรรจุไว้ในถ้ำและสถูปต่างๆ เป็นจำนวนตั้งหลายพันองค์นั้นจะต้องคิดถึงการประกาศศาสนาในอนาคตอันไกลเป็นแท้ และหวังว่าจะเป็นเครื่องช่วยประกาศศาสนาให้แพร่หลายไปได้อีกหลายพันปี ดูเหมือนพวกพุทธมามกบุคคลจะได้มีความรู้สึกว่าเมื่อครบอายุพระพุทธศาสนาๆ จะเสื่อมลง การได้พบเห็นรูปพระศาสดาจารย์เจ้าและคาถาย่อ อันเป็นคำสั่งสอนของพระองค์ อาจเป็นเครื่องเตือนใจให้ผู้พบกลับเกิดความเลื่อมใสและเชื่อถือขึ้นอีก”

หรืออีกนัยหนึ่ง ตามข้อเสนอของนักวิชาการท่านนี้ คนโบราณคิดทำพระพิมพ์ให้เป็นเหมือน “ไทม์แคปซูล” บรรจุข้อมูลของศาสนาพุทธแบบสรุปย่อ พร้อมรูปภาพประกอบไว้ เพื่อรอวันเวลาแห่งอนาคตเมื่อถึงสมัยที่คนไม่รู้จักพระพุทธศาสนาอีกต่อไป ว่าหากพวกเขาและเธอเหล่านั้นบังเอิญได้มาพบเห็นพระพิมพ์เหล่านี้เข้า ก็อาจสนใจใฝ่รู้ ค้นคว้าศึกษาจนแจ้งใจ แล้วรื้อฟื้นพระพุทธศาสนาขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ดังนั้น สำหรับคนโบราณ พระพิมพ์เหล่านี้จึงมิได้มีฐานะเป็นเครื่องรางของขลังด้วยซ้ำ แต่เป็นการสั่งสมบุญกุศลไว้เพื่อกาลข้างหน้า

prakruang02

คนไทยสมัยก่อนอาจจะโพกผ้าประเจียด แขวนตะกรุด หรือสวมเสื้อยันต์ (ตลอดจนสักยันต์ลงไปบนผิวหนัง) เป็นเครื่องรางของขลังสำหรับตัว แต่ไม่ใช่พระพุทธรูป

ส่วนหนึ่งก็คงเพราะเห็นว่าเป็น “ของสูง” คือเป็นรูปพระพุทธเจ้า อันพึงเคารพสักการะ ตั้งไว้ในสถานที่อันเหมาะอันควร ไม่อาจจะนำมาติดตัว หรือไว้กับร่างกายสังขารของมนุษย์ผู้ต่ำตม ให้พระท่านต้องแปดเปื้อน

และสาเหตุอีกประการหนึ่งก็อาจจะมาจากว่า ไม่รู้จะนำพระพิมพ์เหล่านั้น มาพกไว้กับตัวได้อย่างไร

ในภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยเก่าๆ เราจึงอาจเคยพบรูปคนโพกผ้าประเจียด สักยันต์ ซึ่งถ้าไม่ใช่โจรก็ต้องเป็นพวกทหาร แต่จะไม่เคยพบรูปวาดที่แสดงภาพคนห้อยแขวนพระเครื่องไว้ที่คอเลย