ที่สูงที่ต่ำ (๑)

ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


hi n lo 01

ในสำนวนภาษาไทย มีวลีที่มักใช้ในนัยความเป็นการตำหนิ ว่า (ไม่รู้จัก) “ที่ต่ำที่สูง”

กลุ่มคำนี้ใช้ในความหมายของ “การมีทักษะทางสังคม” เพราะสังคมไทยตั้งแต่โบราณ เป็นสังคมที่มี “ชนชั้น” คือมีคนที่อยู่ “เหนือ” กว่าคนที่อยู่ “ต่ำ” กว่า แต่ละคนจึงต้องรู้ “ที่ทาง” ของตน ว่าอยู่เหนือใคร และอยู่ต่ำกว่าผู้ใด

เหมือนจับเอาคนมายืนเรียงซ้อนๆ กันขึ้นไปตามลำดับ แต่ละชั้นที่สูงขึ้น ก็ยืนอยู่บนหัวของคนชั้นต่ำกว่า คล้ายกับภาพปั้นภาพสลักเทวดานางฟ้าแขก ตามโคปุรัม (ซุ้มประตูทางเข้า) วัดแขกฮินดูแบบอินเดียใต้ ที่รูปประติมาต่างๆ ล้วนยืนอยู่ในแนวชั้นของตัว เรียงซ้อนกันขึ้นไปเป็นปิระมิด ที่ยิ่งสูง ก็ยิ่งเหลือจำนวนน้อยลง

ด้วยลักษณาการนี้ ส่วนหัวของผู้ที่อยู่ในชั้นล่างกว่า ก็แทบจะสัมผัสกับฝ่าเท้าของผู้ที่อยู่เหนือขึ้นไป

ในธรรมเนียมไทยแต่ไหนแต่ไรมา ผู้ที่อยู่ “ต่ำ” กว่า จึงต้อง “แทนตัว” ด้วยการเอาส่วนที่สูงที่สุดของตน คือศีรษะ ไปสัมผัสกับส่วนที่ต่ำที่สุดของคนที่อยู่ “เหนือ” หรือสูงขึ้นไป การติดต่อสื่อสารระหว่างกัน จึงดำเนินในอาการดังนี้

อย่างที่อาจเคยเห็นในหนังสือสมัยเก่า เวลาที่มนุษย์ผู้ชายธรรมดาจะพูดกับเจ้าใหญ่นายโต จึงต้องแทนตัวเองว่า “เกล้ากระผม” และแทนตัวอีกฝ่ายหนึ่งว่า “ใต้เท้า”

ซึ่งก็คือการเอา “ผม” บนหัว ไปใช้ในความหมายถึงตัวเอง แล้วพูดกับส่วน “ใต้ (ฝ่า) เท้า” ของท่าน

สรรพนามนี้ตกทอดมาในภาษาไทย กลายเป็นคำเรียกแทนตัวอย่าง “สุภาพ” ผู้ชายจึงพึงเรียกแทนตัวว่า “กระผม” หรือ “ผม”
ส่วนคำ “ดิฉัน” ที่บัดนี้ใช้แทนตัวของฝ่ายสุภาพสตรีก็มีที่มาอันไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันเท่าใดนัก

คำนี้ สมัยโบราณอย่างใน “ขุนช้างขุนแผน” พบตัวอย่างว่า ใช้แทนตัวเมื่อเวลาฆราวาสพูดกับพระสงฆ์ เช่นในตอนพลายแก้วบวชเณร นางทองประศรีผู้เป็นแม่ ไปกราบท่านขรัวมี วัดป่าเลไลยก์

“จึงแวะเข้าวัดป่าเลไลย
ตรงไปยังกุฎีขรัวมีนั่น
ทองประศรีกราบกรานสมภารพลัน
ดีฉันมิได้มาหาคุณเลย”

ว่ากันว่าต้นทางของคำนี้ มาจากคำว่า “เดรัจฉาน” (หรือ ดิรัจฉาน หรือ เดียรัจฉาน) ด้วยหมายจะยกย่องพระสงฆ์ว่าท่านเป็นผู้สละละแล้วซึ่งกิเลศ มุ่งหน้าสู่พระนฤพาน ส่วนฆราวาสนั้นเป็นคนหีนชาติหยาบช้า จึงแทนตัวว่าเป็นเพียงสัตว์ (ที่ไม่ใช้มนุษย์) ไปพูดกับท่าน

ใน “ขุนช้างขุนแผน” บางแห่งสะกดว่า “ดีฉาน” ก็มี ซึ่งก็ยิ่งส่อแสดงให้เห็น “ต้นทาง” ที่ว่ามาจากคำ “เดรัจฉาน” และพบว่าใช้เป็นคำแทนตัวของ “ผู้น้อย” เมื่อต้องพูดกับ “ผู้ใหญ่” เช่น มะถ่อธะบม ชายแจวเรือข้ามฟาก พูดกับขุนแผนที่ดูท่าทางเป็นขุนน้ำขุนนาง ว่าให้รีบลงเรือข้ามไปเสีย

“เร็วเร็วรีบมาช้าจะรุ่ง       ข้ามทุ่งรีบไปให้พ้นบ้าน
ผู้คนตื่นคลํ่าจะรำคาญ          จะพาตัวดีฉานนี้พลอยตาย ฯ”

สรุปได้ว่า จาก “เดรัจฉาน” หรือสัตว์ชั้นต่ำ ต่อมาก็กร่อนไปเหลือเพียง “ดีฉัน” และ “ดิฉัน” จนเหลือแค่ “ฉัน” อย่างที่เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๑ ในภาษาไทย ที่ยังใช้กันทั่วไปในบัดนี้

hi n lo 01


srun

ศรัณย์ ทองปาน

เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์นิตยสาร สารคดี