ที่สูงที่ต่ำ (๒)

ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


hi n lo 02

ถ้าใครเคยสังเกต “หิ้งพระ” ตามร้านค้า อย่างในร้านอาหาร หรือห้างร้านอะไรต่างๆ ทั่วไปในเมืองไทย คงเห็นว่ามี “วัตถุมงคล” ที่ตั้งไว้กราบไหว้บูชา เสริมโชคเสริมลาภกันแทบทั้งนั้น มากบ้างน้อยบ้าง

บางร้านที่มีเยอะมากๆ ย่อมมีทั้งพระพุทธรูป รูปหล่อหรือภาพพระเกจิอาจารย์ผู้มีชื่อเสียง รูปพระบุรพกษัตริย์ รูปพ่อแม่ เทวรูป จนถึงกุมารทองนางกวักอะไรทำนองนั้น

ธรรมเนียมปฏิบัติที่เห็นคือ เมื่อมีหลายองค์จากหลายคติความเชื่อ ก็จะต้องมีการจัดลำดับศักดิ์ ว่าใคร หรืออะไร จะต้องอยู่สูงกว่าใคร หรืออะไรอย่างอื่น
ที่เห็นทั่วไป คือมักต้องตั้งพระพุทธรูปหรือรูปพระพุทธเจ้าประดิษฐานบนหิ้งที่อยู่สูงสุด ส่วนรูปเคารพอื่นๆ ก็ตั้งวางลดหลั่นกันลงมา นี่คือการมองจากมุมมองแบบ “คนพุทธ”

ความสูง-ต่ำ ในทางกายภาพ คือตั้งวางไว้บนหรือล่างกว่ากันนี้ ในโลกทัศน์แบบพุทธไทยสะท้อนถึงความเหนือกว่า-ด้อยกว่า ในบุญญาธิการบารมีด้วย ทำนองเดียวกับคติจักรวาลแบบพุทธ ที่สวรรค์จะอยู่ซ้อนกันขึ้นไปเป็นลำดับ ยิ่งสูงมากเท่าใดก็ยิ่งหมายความว่าเป็นที่สถิตของเทพเจ้าที่สั่งสมบุญกุศลในอดีตชาติมามากยิ่งๆ ขึ้นไปเท่านั้น

ส่วนนรกในจักรวาลแบบพุทธ ก็คือสถานอันต่ำเตี้ยลงไปข้างใต้เรื่อยๆ เป็นลำดับขั้นลงไปดุจเดียวกัน

hi n lo 03 hi n lo 04

สรุปง่ายๆ ว่า ยิ่งสูงเท่าใดแปลว่ายิ่งดีเท่านั้น ยิ่งมีบุญมากเท่านั้น และยิ่งต่ำตมลึกลงไปเท่าใด ก็ยิ่งเลว ยิ่งห่างไกลจากคุณงามความดีทุกสิ่งทุกประการ
กลับมาที่หิ้งพระตามร้านค้าอีกครั้งหนึ่ง (หรือจะหมายรวมถึงตามบ้านคนด้วยก็ยังได้)

ถ้าหากเป็นคติเดียวกันก็ไม่มีปัญหาอยู่แล้ว เช่นถ้าพระพุทธเจ้าอยู่สูงสุด คือสูงกว่าอย่างอื่น สิ่งที่จะอยู่ในอันดับถัดๆ มาคือพวกวัตถุมงคลที่เป็นรูปพระสงฆ์สาวก จำพวกพระสังกัจจายน์ พระสีวลี ต่อด้วยรูปหล่อรูปเหมือนของพระเกจิอาจารย์ร่วมสมัย แล้วจึงถึงอดีตกษัตริย์พระองค์ต่างๆ

ส่วนกลุ่มที่ค่อนไปทาง “ผี” เช่น กุมารทอง เทพเจ้าทันใจ หรือนางกวัก ย่อมต้องอยู่ในชั้นล่างๆ

หรือกลุ่มที่นับถือเทวดาแขก ก็คงไม่มีปัญหาอะไร หากจะตั้งรูปพระมหาเทพคือพระศิวะ กับชายาคือพระอุมา ไว้สูงกว่าพระคเณศ ซึ่งเป็นโอรส และเป็นเทพชั้นรอง

แต่ปัญหาจะเกิดขึ้นทันทีที่รูปเคารพจากคนละ “จักรวาล” ต้องมาอยู่ร่วมกัน ดังเช่นตามโลกทัศน์แบบพุทธ ย่อมถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งเคารพสักการะสูงสุด ปวงเทพเจ้า เช่นจตุคามรามเทพ ยังต้องถือว่ามีศักดิ์ต่ำกว่า ขณะที่ผู้สมาทานเคร่งครัดในโลกทัศน์แบบฮินดูย่อม “รับไม่ได้” กับการที่จะตั้งรูปเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ของเขา เช่น พระคเณศ หรือพระศิวะ ให้ต่ำกว่าพระพุทธรูป

วิธีแก้ปัญหาแบบไทยๆ ที่ซึ่งทุกคนนับถือไปหมดทุกอย่าง ก็ไม่ยากอะไร แค่ตั้งไว้คนละหิ้ง แยกๆ กันไปเสีย ไม่ให้เห็นได้ชัดๆ ว่าใครสูงกว่าต่ำกว่ากัน ก็จบ เช่นที่เคยเห็นบางร้านมีหิ้งแยกกันคนละฝาคนละด้าน ระหว่างพระคเณศ นางกวัก พญาครุฑ กับพระพุทธรูป

คือปัญหาน่ะยังมีอยู่ ไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่ว่า ถ้าไม่เห็นชัดๆ ต่อหน้าต่อตา ก็พอจะทำเป็นลืมๆ หรือมองข้ามๆ ไปได้เสมอ


srun

ศรัณย์ ทองปาน

เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์นิตยสาร สารคดี