ถอด หรือไม่ถอด (๓)

ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


shoes 03

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

การถอดรองเท้าก่อนเข้าวัดกลายเป็นปัญหาทางการเมืองในพม่ายุคอาณานิคม ซึ่งก็คือช่วงเดียวกับที่ชนชั้นนำของสยามตัดสินใจให้ใส่รองเท้าเข้าวัดได้ ประเด็นนี้ถูกกลุ่มชาตินิยมพม่าที่ต่อต้านอังกฤษหยิบยกขึ้นมาโจมตีเจ้าอาณานิคม โดยผูกโยงเข้ากับความเชื่อและศรัทธาในพุทธศาสนา เพราะเจ้าอาณานิคมซึ่งเป็น “ฝรั่ง” ต่างศาสนาและถือตัวว่าสูงส่ง มักไม่ยอมถอดรองเท้าเข้าวัดพุทธ สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้แก่คนพม่าที่เคร่งครัดในเรื่องนี้ จนลุกลามกลายเป็นความขัดแย้งไปทั่ว

น่าสนใจว่ารัฐบาลอาณานิคมในพม่า (ซึ่งขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งใน “อินเดียของอังกฤษ”) ถึงกับมีหนังสือมาหารือรัฐบาลสยาม-ในฐานะรัฐสมัยใหม่ที่นับถือพุทธศาสนาเช่นเดียวกับพม่า-ว่าในสยามมีแนวทางปฏิบัติเช่นไร

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าเรื่องนี้ไว้ในพระนิพนธ์ “เรื่องเที่ยวเมืองพม่า” เมื่อปี ๒๔๗๘ ว่าเวลานั้น (น่าจะเป็นช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ ๕)

“ได้ทราบว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้ส่งคำถามไปยังสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ถวายวินิจฉัยว่าบุคคลเข้าไปในเจดียสถานจะเป็นเจดียสถานในศาสนาของตนเองก็ตามหรือศาสนาอื่นก็ตาม ควรเข้าไปด้วยความเคารพ ถ้าไม่อยากจะเคารพก็ไม่ควรเข้าไปทีเดียว ก็ความเคารพนั้นถ้าว่าฉะเพาะด้วยเครื่องแต่งตัว คนชาติใดหรือจำพวกใดถือประเพณีว่าแต่งตัวอย่างไรเป็นการเคารพ ก็ควรแต่งตัวอย่างนั้น ไม่ได้เป็นใหญ่อยู่ที่เกือก…”

โดยสรุปก็คือพระวินิจฉัยของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส รับรองและเน้นย้ำสิ่งที่ชนชั้นนำสยามประพฤติปฏิบัติอยู่แล้ว คือมิได้ให้ความสำคัญแก่เรื่องที่ว่าต้องถอดรองเท้าหรือไม่ เท่ากับว่าเป็นไปด้วยเจตนาเช่นไร

เมื่อปี ๒๔๗๘ ขณะที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จไป “เที่ยวเมืองพม่า” นั้น ข้อเรียกร้องของฝ่ายชาตินิยมพม่าบรรลุผลมาหลายปีแล้ว ฝรั่งนักท่องเที่ยวต่างยินยอมพร้อมใจกันถอดรองเท้าเข้าวัดในพม่าหมดแล้ว แต่เรื่องกลับกลายเป็นประเด็นปัญหาใหม่สำหรับสมเด็จฯ ซึ่งเดินทางไปด้วยการทรงฉลองพระองค์แบบตะวันตก ดังที่ทรงเล่าว่า

“ครั้นจะยอมถอดเกือกขึ้นไปด้วยแต่งตัวอย่างฝรั่งเหมือนเช่นพวกฝรั่งที่ท่องเที่ยวทำกันก็ขัดข้อง ด้วยฉันถือพระพุทธศาสนา ถ้าแต่งตัวเช่นนั้นตามธรรมเนียมไทยถือว่าปราศจากความเคารพ…ฉันจึงคิดไว้ว่าเมื่อขึ้นไปที่พระเกศธาตุ หรือไปดูเจดียสถานแห่งอื่นที่ฉันอยากเห็น จะแต่งตัวอย่างอุบาสกไทยตามแบบเก่า คือนุ่งผ้าใส่เสื้อ ไม่ใส่เกือกถุงตีน”

แนวทางเช่นที่สมเด็จฯ ทรงตัดสินพระทัยเลือกใช้นี้ คงได้รับการสืบทอดต่อมาในพระบรมราชวงศ์ ดังเมื่อคราวในหลวงรัชกาลที่ ๙ เสด็จฯ เยือนสหภาพพม่าเมื่อปี ๒๕๐๓ วันที่เสด็จไปทรงสักการะพระมหาธาตุชเวดากอง (หรือที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเรียกด้วยคำไทยอย่างเก่าว่า “พระเกศธาตุ” ) ณ นครย่างกุ้ง ทรงเลือกฉลองพระองค์อย่างไทยโบราณ คือเสื้อราชปะแตนขาว และทรงพระภูษา (โจงกระเบน) สีแดง โดยปราศจากฉลองพระบาท (รองเท้า)

ยังความปลื้มปีติเป็นล้นพ้นทั้งแก่พสกนิกรชาวไทยและราษฎรพม่าที่ได้พบเห็น ว่าพระมหากษัตริย์ของประเทศไทยทรงให้ความเคารพแก่ขนบธรรมเนียมของเขา เฉกเช่นที่พุทธศาสนิกชนควรประพฤติปฏิบัติทุกประการ

shoes 03


srun

ศรัณย์ ทองปาน

เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์นิตยสาร สารคดี