ณ ดอย
เรื่องเล่าคัดสรรโดยเหล่าคนภูเขาตัวเล็ก-ฝันใหญ่ที่จะมาทำให้ใครๆ ตกหลุมรักบ้านนอก


เรื่อง : ป้าเขียว
ภาพ : ชลธิรา ลีทัศนียากูล / อภิสรา กมลปราณี

ข้าวโพดบาร์บี้สีชมพู

เช้านี้ฉันตื่นด้วยเสียงนุ่มนวลของหญิงวัย ๗๐ ปี แทนที่จะเป็นเสียงนาฬิกาปลุกอย่างทุกวัน

แม้จะเช้าในความรู้สึกแต่ถือว่าสายมากสำหรับวิถีชาวดอยในละแวกที่เกือบทุกครอบครัวมีอาชีพเกษตรกร ต้องตื่นมาหุงหาอาหารแต่เช้ามืดและออกไปไร่นาก่อนฟ้าสาง

หลังมื้อเช้า ฉันตามแม่ไปไร่ซึ่งห่างจากบ้านเรา ๒ กิโลเมตร ไม่ลืมเลือกเสื้อผ้าแขน-ขายาว สวมหมวกปีกกว้าง ใส่รองเท้าบูทพลาสติกที่มีความสูงเกือบถึงเข่าแบบชาวไร่ ที่สำคัญไม่ลืมทาครีมแป้งทานาคาของดีที่หนุ่มสาวชาวพม่านิยมใช้บำรุงผิวและป้องกันแดด พวกเราซึ่งอยู่อาศัยแถบตะวันตกของจังหวัดตากที่เป็นบริเวณชายแดนติดกับประเทศเมียนมาร์ก็พลอยรับวัฒนธรรมนั้น

นับแต่เรียนจบมหาวิทยาลัยและปักหลักทำงานในเมืองหลวง ซึมซับความเป็นอยู่แบบคนเมือง เวลามีโอกาสกลับบ้านฉันก็แทบไม่ได้เข้าไปที่ไร่ของครอบครัวอีก ทั้งที่ครั้งหนึ่งเคยผูกพัน

ในวัย ๑๒ ขวบ ถือว่าโตพอช่วยงานครอบครัว แต่งานไร่ก็หนักหนาสำหรับเด็กหญิงอยู่ดี

ไม่ว่าจะถูกแดดแผดเผา เหน็บหนาว หรือแฉะชื้นจากฝนอย่างไร เกษตรกรภูเขาอย่างเราก็ไม่มีสิทธิ์โอดครวญ ต่อรองธรรมชาติ หรือเลี่ยงที่จะไม่ทำงาน ฉันจึงสัญญากับตัวเองว่าจะตั้งใจเรียน และหางานสุจริตทำทุกทางเพื่อจะไม่หวนกลับมามีอาชีพชาวไร่อย่างพ่อแม่

จะว่าไป แม้งานไร่เหน็ดเหนื่อย แต่ในไร่ก็มีสิ่งที่ทำให้ฉันอยากไป

ซึ่งความสุขหนึ่งในช่วงวัยเยาว์ของฉันก็ขลุกอยู่ที่นั่น…ไร่ข้าวโพด

pinkbarbie01

pinkbarbie02

pinkbarbie03

pinkbarbie04

pinkbarbie05

pinkbarbie06

pinkbarbie07

pinkbarbie08

๒๐ นาทีผ่านไป ฉันกับแม่เดินจากบ้านมาถึงไร่ของเรา บนพื้นที่ขนาด ๑๕ ไร่ แม่แบ่งปลูกข้าวโพดแซมด้วยพริกขี้หนูและพืชผักสวนครัว เพื่อจะได้หมุนเวียนเก็บเกี่ยวผลผลิตในรอบปี

ขณะที่แม่เดินตรวจตราพืชพรรณ ฉันปลีกตัวออกไปเดินเล่นจนถึงกระท่อมหลังเล็กตั้งอยู่หัวไร่จึงอาศัยนั่งพัก เหม่อมองต้นข้าวโพดในไร่ ในหมู่ชาวม้งเรียกพืชเกษตรชนิดนี้ว่า “ป๊อกือ” (pob kws)

สายพันธุ์ที่พวกเราปลูกมีทั้งข้าวโพดแป้งพันธุ์พื้นบ้านสำหรับเลี้ยงสัตว์ซึ่งมีเมล็ดสีขาว ข้าวโพดข้าวเหนียวพันธุ์พื้นบ้านที่มีรสชาติหวาน และข้าวโพดแป้งพันธุ์พลอยแดงปลูกไว้สำหรับขาย

เวลานี้ข้าวโพดกำลังออกฝักอ่อนสีเขียว ปลายฝักมีไหมข้าวโพดสีชมพูยาวเป็นเส้นฝอย ลักษณะโค้งงอนจากปลายข้าวโพดทิ้งตัวลงล่างชวนให้จินตนาการเป็นปอยผมหยักศกหนานุ่มของหญิงสาว

สำหรับฉันนี่คือ “ตุ๊กตาบาร์บี้สีชมพู” ของเล่นที่น่ารักที่สุดในโลก

ช่วงชีวิตที่ยังเล็กเกินกว่าจะช่วยหยิบจับทำงานไร่ได้ แต่จำเป็นต้องตามแม่มาไร่เสมอเพราะพี่ชายและพี่สาวเข้าโรงเรียนประจำกันหมดจึงไม่มีใครคอยดูแล เมื่อถึงไร่แม่จะหาทำเลเหมาะปูผ้าถุงบนพื้นดินแล้วหาตุ๊กตาให้ฉันนั่งเล่นใต้ต้นข้าวโพดที่สูงท่วมหัว จะได้ไม่งอแงรบกวนขณะที่แม่ทำงานอยู่ใกล้ๆ

ฉันทะนุถนอมไหมข้าวโพดทุกฝัก ติ๊ต่างว่าคือตุ๊กตาบาร์บี้ผมสีชมพูหลายตัว

บรรจงทำทรงผมต่างๆ บ้างถักเปียหางเดียว เปียคู่ บ้างมัดรวบเป็นหางม้า แล้วฉีกใบข้าวโพดนั่นละมามัดให้เป็นทรงเรียบร้อย พร้อมตั้งชื่อเรียกบาร์บี้ทุกตัว ตามชื่อตัวละครในนิทานพื้นบ้านที่พ่อกับแม่เคยเล่า เช่น เก้าจั๊ว (nkauj ntsuab) เก้าฮลี (nkauj hli) เก้านุ (nkauj hnub) เก้าเจ่อ (nkauj ntxawm) ฯลฯ

เมื่อแต่งตัวตุ๊กตาจนเสร็จสวยงามที่สุด ก็ถึงเวลาเล่นพากษ์เสียงสูงต่ำสลับไปมาตามบุคลิกต่างๆ ของตัวละครในนิทาน เวลานั้นเองที่ไหมข้าวโพดได้ขยับฐานะจากตุ๊กตาบาร์บี้เป็นสิ่งมีชีวิตอย่างหนึ่ง

เสียงพวกเขาพูดคุยกันเจื้อยแจ้วอยู่ใต้ต้นข้าวโพดตลอดทั้งวัน ขณะที่แม่เพียรถอนวัชพืชไม่หยุดมือ และคอยหันมายิ้มให้ลูกน้อยผู้ตกอยู่ในภวังค์สีชมพูเป็นระยะ
ทั้งหมดเป็นความทรงจำที่ฉันเกือบลืมแล้วหากไม่ได้กลับบ้านและตามแม่ออกมาเยี่ยมไร่ของเรา

แม้เวลาจะผ่านไปร่วม ๒๐ ปี แต่ทุกวันนี้ลูกหลานเกษตรกรตัวน้อยในชุมชนก็ยังคงตกทอดการเล่นไม่ต่างกัน เช่นเดียวกับที่แม่ก็ยังทำงานไร่ตามปรกติ กระทั่งฝูงนกทยอยกลับรังเมื่อตะวันใกล้ลับขอบฟ้า

ถึงเวลาที่เราต้องกลับบ้านเช่นกัน มือข้างซ้ายฉันกุมมือแม่ ส่วนมือขวากุมบาร์บี้สีชมพู

pinkbarbie09

pinkbarbie11

pinkbarbie12


pakeawป้าเขียว
คือชื่อที่เพื่อนเรียกมากกว่าชื่อไทย รัตนา ด้วยดี หรือชื่อม้ง Nplaim Thoj (บล่าย ท่อ) อาจเพราะเป็นหนอนหนังสือตัวเล็กๆ ที่หลงรัก “สีเขียว” เป็นชีวิตจิตใจ แม้จะเกิดในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร แต่เชื่อว่า “บ้าน” คือที่ไหนก็ได้ที่มีความรักและความสบายใจ

…….

nadoi02สุชาดา ลิมป์
นักเขียนกองบรรณาธิการนิตยสาร สารคดี ผู้เสพติดการเดินทางพอกับหลงใหลธรรมชาติ-วิถีชาติพันธุ์ ทดลองขยับเป็นบรรณาธิการปรุงฝันให้ทุกอาชีพในชนบทได้แปลงประสบการณ์หลากรสออกมาเป็นงานเขียน