ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่อง

แยกกัญชง sativa จากกัญชา ก่อนกลับไปเป็นยาเสพติด
เปรียบเทียบใบ ลำต้น และลักษณะการแตกกิ่งก้านของกัญชง-sativa กับกัญชา-indica (ภาพ : https://ministryofhemp.com/hemp/not-marijuana/)

เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๖๖ สมาคมม้ง และภาคีเครือข่าย ได้ร่วมกันจัดงานเสวนาหัวข้อ พืชกัญชง พืชแห่งจิตวิญญาณและวัฒนธรรมของชนเผ่าม้ง ณ โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้คุณค่าความสำคัญของกัญชงที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง รวมทั้งผลักดันให้เกิดการยกร่างพระราชบัญญัติกัญชง แยกต่างหากจากพระราชบัญญัติกัญชา เพื่อคุ้มครองต้นไม้ที่มีความสำคัญต่อวิถีวัฒนธรรมชาวม้ง โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์ด้านเส้นใย

โดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึงกัญชา มักใช้คำว่า “Cannabis” ซึ่งหมายถึงทั้งกัญชาและกัญชงรวมกัน

ในทางพฤกษศาสตร์กัญชาและกัญชงอยู่ในวงศ์ Cannabaceae และสกุล Cannabis เหมือนกัน จัดเป็นพืชชนิดเดียวกัน แต่แบ่งออกเป็นสองชนิดย่อย

กัญชามีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cannabis sativa L. subsp. indica ส่วนกัญชงมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cannabis sativa L. subsp. sativa เมื่อระบุจำเพาะเจาะจงลงไปว่า กัญชา จึงหมายถึงชนิดย่อย indica ชื่อสามัญทั่วไปคือ marijuana หรือ มาลีฮวนน่า ส่วน กัญชง หมายถึงชนิดย่อย sativa ชื่อสามัญคือ hemp หรือ เฮมพ์

ลักษณะภายนอกของกัญชงมีความคล้ายคลึงกับกัญชา ทั้งสองต่างก็เป็นพืชล้มลุกอายุประมาณ ๑ ปี มีดอกแยกเพศอยู่ต่างต้น ใบเรียวยาวและมีขอบใบจักแบบฟันเลื่อย เป็นใบประกอบรูปมือ ลำต้นตั้งตรง แต่กัญชงมักจะมีลำต้นสูงใหญ่กว่ากัญชา โดยทั่วไปต้นกัญชงจะมีความสูงมากกว่า ๒ เมตร ส่วนกัญชามักสูงไม่เกิน ๒ เมตร

นิตยสารสารคดี ฉบับที่ ๔๐๔ เดือนตุลาคม ๒๕๖๑ หน้าปกกัญชารักษาโรค สกู๊ป A Cannabis Renaissance สู่ยุคฟื้นฟู “กัญชา” วิทยา อธิบายว่าลักษณะภายนอกของกัญชงกับกัญชาแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ผลจากการคัดเลือกพันธุ์เพื่อใช้ประโยชน์จากพืชตามที่คนต้องการ ทำให้กัญชงกับกัญชาค่อยๆ มีความแตกต่างกันมากขึ้น ตามที่สังเกตได้ว่ากัญชงจะมีใบเรียวแคบกว่าใบกัญชา ใบมีสีเขียวอ่อนกว่า ลำต้นสูงกว่าและแตกกิ่งก้านน้อยกว่า ช่อดอกของกัญชงยังมียางน้อยกว่ากัญชา

นอกจากลักษณะภายนอก การจำแนกกัญชงกับกัญชายังคำนึงถึงปริมาณสารออกฤทธิ์ที่มีผลต่อจิตประสาท

โดยทั่วไปแล้ว Cannabis หรือ พืชกัญชา ไม่ว่าจะเป็นกัญชาหรือกัญชงต่างก็มีสารประกอบที่เรียกว่า แคนนาบินอยด์ (cannabinoid) จำนวนไม่น้อยกว่า ๖๐ ชนิด หนึ่งในสารประกอบที่รู้จักกันดี คือ THC (delta-9-Tetrahydrocannabinol) ที่เป็นตัวออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ที่อาจเรียก “สารความเมา” ส่วนต่างๆ ไม่ว่ายอด ช่อดอก เมล็ด กิ่งก้าน ลำต้น ใบ ราก จะมีสาร THC ประกอบอยู่แตกต่างกัน ทั้งนี้ทั้งนั้น กัญชงจะสร้างสาร THC น้อยกว่ากัญชา

ยกตัวอย่างประเทศแคนาดากำหนดว่าต้นใดมีสาร THC น้อยกว่า ๐.๓ เปอร์เซ็นต์ต่อน้ำหนักแห้งจะถือเป็นกัญชง แต่ถ้ามีค่ามากกว่านั้นให้ถือเป็นกัญชา ทางยุโรปกำหนดค่าไว้ที่ ๐.๒ เปอร์เซ็นต์ ออสเตรเลีย ๐.๕-๑ เปอร์เซ็นต์ต่อน้ำหนักแห้ง

kunchong02
กัญชงเป็นพืชสารพัดประโยชน์ นิยมใช้ในงานสิ่งทอ เสื้อ กระดาษ ล่าสุดถูกนำไปต่อยอดในอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องสำอาง และอื่นๆ อีกมากมาย (ภาพ : www.freepik.com)
kunchong03
กัญชงกับกัญชาเป็นพืชชนิดเดียวกัน ยากที่จะชี้ชัดเมื่อดูจากลักษณะภายนอก แต่โดยทั่วไปแล้วกัญชงจะมีใบเรียวกว่า เรียงตัวห่างกว่า และมีจำนวนแฉกประมาณ ๗-๑๑ แฉก มากกว่าแฉกของใบกัญชา ที่มีลักษณะใบหนากว้างและเรียงชิด (ภาพ : 123rf)
kunchong04
กัญชงลำต้นสูงเรียว ให้เส้นใยคุณภาพสูงและมีปริมาณเส้นใยมากกว่ากัญชา ถือเป็นพืชคู่วิถีชีวิตชาวม้งที่นำมาใช้ประโยชน์ตั้งแต่ลืมตาดูโลกจนเสียชีวิต (ภาพ : 123rf)

การนำพืชกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ต้องสกัดสาร THC และแคนนาบินอยด์ตัวอื่นๆ ออกมา การที่กัญชงมีสาร THC น้อยกว่ากัญชา ทำให้กัญชงได้รับการยอมรับและพัฒนาสายพันธุ์ในฐานะพืชเส้นใยมากกว่า กลายเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีความหลากหลายกว่า

ด้วยเปลือกเหนียว ลอกง่าย ให้เส้นใยยาว มีคุณภาพสูง เส้นใยจากกัญชงจึงถูกนำมาผลิตเยื่อกระดาษ รวมทั้งเสื้อผ้า ผู้ที่สวมใส่จะสัมผัสได้ว่าผ้าที่ทอขึ้นจากเยื่อกัญชงมีลักษณะโปร่ง เบาสบาย แต่ให้ความอบอุ่นกว่าผ้าลินิน แข็งแรงกว่าผ้าฝ้าย ดูดซับความชื้นดีกว่าผ้าไนลอน

วารสารวัฒนธรรมของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ฉบับที่ ๑ ปี ๒๕๖๒ เรื่อง ใยกัญชง มหัศจรรย์เส้นใย

แห่งสายวัฒนธรรมชาวเขาเผ่าม้ง ระบุว่าทุกวันนี้ผ้าใยกัญชงกลายเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าแบรนด์ดังระดับโลก มีการใช้เครื่องมือที่พัฒนาขึ้นเป็นพิเศษดึงลิกนินที่เป็นสารใยความแข็งแกร่งออกมาจากกัญชง กลายเป็นเส้นใยอ่อนนุ่มเท่ากับเส้นใยของผ้าฝ้ายและผ้าขนสัตว์ ในทางตรงกันข้ามทำก็สามารถนำไปพัฒนาแปรรูปเป็นเสื้อเกราะกันกระสุนชั้นดี ที่มีน้ำหนักเบา คาดว่าในอนาคต เส้นใยกัญชงจะเข้ามาทดแทนเส้นใยเคมีเพื่อลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาพบว่าเมล็ดกัญชงมีกรดไขมันโอเมก้าสามที่มีประโยชน์ และมีโปรตีนสูงกว่าโปรตีนถั่วเหลือง

แตกต่างจากกัญชาที่มีเปลือกลอกยาก ไม่เหนียว ให้เส้นใยคุณภาพต่ำ ภาพลักษณ์ของกัญชาจึงเป็นพืชเสพติดที่สร้างความมึนเมา ถึงแม้ว่าสารสกัดจากกัญชาจะมีคุณค่าในทางการแพทย์

เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล หนึ่งในวิทยากรงานเสวนา พืชกัญชง พืชแห่งจิตวิญญาณและวัฒนธรรมของชนเผ่าม้ง ชี้แจงว่า “กัญชง” หรือ “ม่าง” เป็นพืชที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อวิถีชีวิตชาวม้งนับตั้งแต่เกิดจนตาย ชาวม้งนำเส้นใยจากต้นไม้ชนิดนี้มาทำเป็นเส้นด้าย ทักทอเป็นผืนผ้าเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน ม่างมีความสำคัญต่อชาวม้งทั้งมิติเครื่องนุ่งห่ม อาหาร ตลอดจนการประกอบพิธีกรรมตามวัฒนธรรมประเพณี ยกตัวอย่างการลอกเส้นใยจากเปลือกกัญชงนำมาทำเป็นสายสิญจน์ผูกข้อมือให้กับเด็กที่เกิดใหม่ หรือในพิธีกรรมส่งวิญญาณ ชาวม้งจะถักรองเท้าจากเส้นใยกัญชงเพื่อสื่อสารกับคนที่เสียชีวิตไปแล้ว

ถึงแม้ในทางพฤกษศาสตร์ กัญชงกับกัญชาจะถือเป็นพืชตระกูลเดียวกัน เคยถูกตีตราว่าเป็นพืชเสพติดเหมือนกันในทางกฎหมาย แต่สำหรับชาวม้งแล้วยืนยันได้ว่ากัญชงไม่ได้เป็นพืชเสพติด ไม่ได้ใช้เสพเพื่อความบันเทิงในลักษณะของยาเสพติดแต่อย่างใด

ย้อนเวลากลับไปวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๕ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ ๕ พ.ศ.๒๕๖๕ เริ่มมีผลบังคับใช้เป็นวันแรก กำหนดให้ “ทุกส่วนของกัญชา” ไม่ถือว่าเป็นยาเสพติด และสารสกัดกัญชาที่มีสาร THC หรือ CBD ไม่เกิน ๐.๒ เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนัก ไม่ถือเป็นยาเสพติด ส่งผลให้ประชาชนสามารถปลูก เสพ จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมี กัญชา กัญชง ไว้ในครอบครองได้โดยไม่มีความผิดตามกฎหมาย ผู้ที่ต้องการปลูกเพียงแค่จดแจ้งผ่านทางเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน “ปลูกกัญ” ของสำนักงานอาหารและยา (อย.) ด้วยเหตุผลส่วนหนึ่งว่า เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากกัญชาในทางเศรษฐกิจ เพิ่มโอกาสสร้างรายได้จากสมุนไพรไทย

อย่างไรก็ตาม กรณีที่นำไปผลิตเป็นสินค้าผลิตภัณฑ์ เช่น อาหาร ยา เครื่องสำอาง ยังคงต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมายของผลิตภัณฑ์นั้นๆ

การ “ปลดล็อคกัญชา” ทำให้เกิดคำถามตามมาว่ากลุ่มเปราะบาง อาทิ เด็ก เยาวชน สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร จะได้รับผลกระทบจากภาวะ “กัญชาเสรี” หรือไม่

จึงมีความพยายามร่างกฎหมายฉบับใหม่ขึ้นมากำกับดูแล ก่อนหน้าประกาศกระทรวงสาธารณสุขจะมีผลบังคับใช้หนึ่งวัน คือวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๕ สภาผู้แทนราษฎรจึงมีมติรับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.กัญชง กัญชา พ.ศ. … ที่ถ้าหากผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาก็น่าจะทำให้การปลูกพืชกัญชามีหลักเกณฑ์ในการค้า รวมทั้งมีกลไกป้องกันบุคคลที่น่าจะเป็นกลุ่มเสี่ยง

สังคมยังมีข้อถกเถียงและต่อมามีพรรคการเมืองรณรงค์หาเสียงว่าจะนำกัญชากลับมาเป็นพืชเสพติดอีกครั้ง ซึ่งน่าจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชาวม้งหากไม่จำแนกกัญชงออกจากกัญชาเสียก่อน

kunchong05
ผ้าทอจากใยกัญชงได้รับการยอมรับว่ามีคุณภาพสูง จนกลายเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าแบรนด์ดังระดับโลกหลายรายการ (ภาพ : 123rf)
kunchong06
เชือกที่ทอขึ้นจากเส้นใยของต้นกัญชงมีคุณสมบัติเหนียวและทนทาน ถึงแม้จะเป็นเส้นใยจากธรรมชาติ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ (ภาพ : สมาคมม้ง Hmong Association Koom haum hmoob)
kunchong07
เชือก ผ้าทอ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ชาใบกัญชง (ซอง) และ สบู่ผงถ่านกัญชง (กล่อง) ที่ชาวม้งนำมาแปรรูปเป็นสินค้า (ภาพ : สมาคมม้ง Hmong Association Koom haum hmoob)

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ ๒๕ ครั้งที่ ๒๙ เมื่อวันพุธที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชง กัญชา พ.ศ. … มานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ยืนยันว่าการเอากัญชงกับกัญชามาผสมกันในพระราชบัญญัติเป็นสิ่งที่สร้างปัญหา ร่างกฎหมายของกัญชงกับกัญชาควรจะแยกขาดออกจากกัน

“ผมคิดว่ากัญชงควรเป็นพืชเศรษฐกิจทั่วไป เหมือนอ้อย มันสำปะหลัง กะหล่ำ ข้าวโพด โดยไม่ต้องมีการจดแจ้ง ถ้ากลัวว่าสาร THC จะเกิน หรือจะนำไปสกัดสาร ก็ระบุว่ายกเว้นการปลูกช่อและปลูกเมล็ด”

ส.ส.มานพ อภิปรายว่าตนสนับสนุนการพัฒนาต่อยอดความหลากหลายของฐานชีวภาพภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นพืชวัฒนธรรม พืชที่ขึ้นอยู่ตามป่า พืชสมุนไพร พืชท้องถิ่น ยินดีและสนับสนุนให้ต่อยอดกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจ

ด้วยเหตุนี้ จึงตั้งคำถามว่าทำไมการนำราก ต้น ใย ใบ ของกัญชงมาใช้โดยไม่เกี่ยวข้องกับสาร THC จึงต้องมีการจดแจ้ง

“การเขียนเช่นนี้น่าจะเกิดจากมีผู้มีอำนาจเข้ามาควบคุม การเขียนให้ต้องมีการจดแจ้งเป็นการเขียนเพื่อไม่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ต้องมีเงื่อนไขว่าที่ดินของท่านอยู่ในเขตป่าสงวน อุทยานฯ หรือไม่ มีโฉนดหรือไม่ มีเอกสารสิทธิ์หรือไม่ ทั้งที่วันนี้รัฐบาลยังไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องที่ดินได้ การเขียนแบบนี้จึงเป็นการเขียนแบบกีดกันไม่ให้ประชาชนได้เติบโต”

ส.ส.มานพ ยืนยันว่าต้องแยกระหว่างกัญชงกับกัญชา “ต้องดูเจตนาว่าปลูกเพื่ออะไร ถ้าปลูกเพื่อสกัดสาร CBD หรือสาร THC คือ เอาช่อกับดอก มันต้องผ่านกระบวนการขั้นตอน ต้องมีหน่วยงานมีเรื่องอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่หากเป็นการปลูกเอาต้น ใย ใบ ใช้ส่วนต่างๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวกับสารในกัญชง ผมคิดว่าต้องมีการเปิดกว้าง

“พืชหลายตัวทำหน้าที่พัฒนาเศรษฐกิจที่มาจากฐานราก กัญชงก็เช่นกัน เราจะมีพืชอีกหนึ่งตัวเข้ามาเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้กับประชาชน เพราะฉะนั้นโดยหลักการ สมัยหน้าเราแยกออกมาเลยว่า พ.ร.บ.กัญชง ก็คือกัญชง พ.ร.บ.กัญชา ก็คือกัญชา”

kunchong08
สมาคมม้งและภาคีผู้จัดงานเสวนา พืชกัญชง พืชแห่งจิตวิญญาณและวัฒนธรรมของชนเผ่าม้ง เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้คุณค่าความสำคัญของกัญชง สานต่อเจตนารมณ์ให้ยกร่าง พ.ร.บ. กัญชง แยกจากร่าง พ.ร.บ.กัญชา
(ภาพ : สมาคมม้ง Hmong Association Koom haum hmoob)

ช่วงท้ายของงานเสวนา สมาคมม้ง และภาคีเครือข่ายร่วมกันแถลงเจตจำนง เรียกร้องให้เกิดการคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมชาติพันธุ์ม้งผ่านการเพาะปลูกและใช้ประโยชน์จากกัญชง ดังนี้

  1. ยืนยันให้มีการใช้คำว่า “ม่าง” (Hemp) แทนคำว่า “กัญชง” ในภาษาไทย
  2. ยืนยันว่าชาวม้งใช้ประโยชน์จากเส้นใยกัญชงตามประเพณีและวิถีชีวิต มิได้ถือว่าเป็นพืชเสพติดแต่ประการใด
  3. ขอให้แยกพืชกัญชงออกจากพืชกัญชา ก่อนที่จะแก้กฏกระทรวงให้กัญชากลับไปเป็นพืชเสพติดให้โทษประเภท ๕ เนื่องจากพืชทั้งสองประเภทไม่ได้มีการใช้ประโยชน์แบบเดียวกัน โดยให้มีการออกกฏหมายเฉพาะในการคุ้มครองพืชกัญชง
  4. ขอเรียกร้องให้องค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนการอนุรักษ์ คุ้มครองเมล็ดพันธุ์ดั้งเดิม ฟื้นฟูองค์ความรู้ และพัฒนานวัตกรรมในการผลิตเส้นใยกัญชง นำไปสู่การมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน

สมาคมม้ง และภาคีเครือข่ายเชื่อว่าหากประเทศไทยมีกฎหมายและนโยบายคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรม มีมาตรการส่งเสริมองค์ความรู้และพัฒนานวัตกรรมของชนเผ่าพื้นเมืองอย่างมีรูปธรรม จะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและก่อให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นมิตรในสังคมพหุวัฒนธรรม

ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการผลักดันให้มีการยกร่างพระราชบัญญัติกัญชงขึ้นเป็นการเฉพาะ

เอกสารประกอบการเขียน

ขอขอบคุณ

  • คุณพนม ทะโน
  • สมาคมม้ง Hmong Association Koom haum hmoob