ผลงานจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 14
งานเขียนดีเด่น
เรื่อง : อิทธิกร ศรีกุลวงศ์
ภาพ : ณัฐพนธ์ ปานอุดมลักษณ์

สายใยเสื้อผ้ามือสอง

คุณเคยเป็นไหม อยากใส่เสื้อผ้าดีๆ แต่งบประมาณมีจำกัด… เสื้อผ้ามือสองคือทางออกของพวกเรา

ในเชียงใหม่ คนที่ชอบเดินเข้าร้านเสื้อผ้ามือสองหลักๆ มีอยู่สองประเภท ประเภทแรกคือลูกค้ากระเป๋าเบาทั่วไปที่อยากจะเดินกลับบ้านพร้อมเสื้อผ้าสภาพดี แต่ราคาประหยัด (ผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่เป็นลูกค้าประเภทนี้) ในขณะที่ลูกค้าอีกประเภทมักจะมีสายตาเฉียบคมกว่า รู้ข้อมูลเชิงลึกเรื่องเสื้อผ้ามากกว่า กระเป๋าหนักกว่า คนทั่วไปเรียกลูกค้าประเภทที่ 2 นี้ว่า “นักสะสม” พวกเขามาเพื่อตามหาเสื้อผ้ามียี่ห้อ สินค้าที่ปรกติจะหาไม่ได้ง่ายๆ ยกเว้นที่ตลาดสันป่าข่อย

saiyai01

“กาดสันป่าข่อย” ตลาดชุมชนใกล้สถานีรถไฟเชียงใหม่ แหล่งซื้อหาเสื้อผ้ามือสองขนาดใหญ่ของคนเชียงใหม่

สันป่าข่อย ขุมทรัพย์ของนักสะสม

ตลาดสันป่าข่อย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นตลาดขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ รู้จักกันในฐานะตลาดชุมชน อยู่ใกล้ค่ายทหาร และอาหารอร่อย แต่สำหรับคนบางกลุ่มจะรู้จักตลาดแห่งนี้ในฐานะแหล่งเสื้อผ้ามือสองแหล่งใหญ่ของเชียงใหม่ที่บริหารจัดการกันเป็นครอบครัวใหญ่

“ร้านถัดไปเป็นของพี่สาว ตรงกลางตลาดมีน้องสาวดูแล ตึกฝั่งตรงข้ามเป็นร้านของสามี ตรงทางเข้าตลาดมีร้านของหลานอีกร้านหนึ่ง รวมร้านนี้ก็เป็นห้าร้านพอดี”

สมญา อิมนาทอง หรือที่คนในตลาดรู้จักกันในชื่อป้าน้อย อธิบายถึงร้านเสื้อผ้ามือสองในตลาดแห่งนี้จากด้านหลังของเคาน์เตอร์คิดเงิน แรกเริ่มเดิมทีเธอเป็นแม่ค้าขายอาหารธรรมดาๆ อยู่ที่อีกฝั่งของตลาด ส่วนสามีเปิดร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าเงินผ่อนบริเวณที่เป็นร้านเสื้อผ้ากลางตลาดของน้องสาวในปัจจุบัน อยู่มาวันหนึ่งก็มีคนในตลาดเหมาเสื้อผ้ามือสองมาเทกระจาดขายแล้วเธอเห็นว่าเขาขายดี เธอกับสามีเลยลองหาเสื้อผ้ามือสองมาขายตามบ้าง

“สมัยนั้นนะ ตี 5 ต้องไปเอาผ้าที่ลำพูน ก็จะนั่งซ้อนรถเครื่องไปกัน เต็มตะกร้าก็ลงทุนประมาณ 800 บาท พอขายไปขายมา มันขายดีกว่าขายกับข้าวเยอะเลย ก็เลยเลิกขายกับข้าวมาขายผ้าอย่างเดียว”

หลังจากนั้นกิจการร้านขายเสื้อผ้าของเธอก็เติบโตกลายเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว จนสามีต้องเลิกขายเครื่องใช้ไฟฟ้าแล้วเอาห้องมาเป็นร้านเสื้อผ้า แต่ก็ยังรองรับลูกค้าไม่ไหวอยู่ดี เธอจึงชวนพี่น้องมาช่วยกันขาย เช่าที่ในตลาดเพิ่ม เปิดเป็นร้านที่ 2 ร้านที่ 3 ไม่นานร้านขายเสื้อผ้ามือสองของสมญาก็กลายเป็นแหล่งรวมตัวของนักสะสมเสื้อผ้ามือสองชาวเชียงใหม่ในที่สุด

saiyai02

ผู้คนต่างมาหาเสื้อผ้าคู่กายในราคาย่อมเยา

saiyai03

“ป้าน้อย” สมญา อิมนาทอง เจ้าของร้านเสื้อมือสองที่หลายคนตั้งชื่อให้ว่า “ร้านพระเจ้า” ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มขายเสื้อผ้ามือสองที่ตลาดแห่งนี้เมื่อ 34 ปีที่แล้ว จนเสื้อผ้ามือสองกลายเป็นธุรกิจครอบครัวที่มีเครือญาติเปิดขายอยู่ถึง 14 ร้านทั่วเชียงใหม่

พระเจ้าวงการเสื้อผ้ามือสองเมืองเชียงใหม่

การเติบโตของร้านเสื้อผ้ามือสองแห่งตลาดสันป่าข่อยดูจะเป็นไปอย่างราบรื่นและรวดเร็ว ประหนึ่งฉากในหนังที่ตัวละครกำลังตั้งใจทำงาน ฝึกฝนตัวเอง มีเพลงประกอบลุ้นระทึกคลอได้บรรยากาศ แล้วปิดท้ายด้วยฉากในปัจจุบันที่มีตัวอักษรด้านล่างว่า 34 ปีผ่านไป แต่ในความเป็นจริงมันไม่ง่ายอย่างนั้นครับ ความสำเร็จของสมญาไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เป็นเพราะความรัก ความใส่ใจในงานที่เธอทำ

เมื่อร้านใหญ่ขึ้นแทนที่จะแบกตะกร้าขึ้นรถมอเตอร์ไซค์ไปซื้อเสื้อผ้า เธอก็หันมาซื้อเสื้อผ้าเป็นกระสอบ ในวงการนี้จะเรียกกันว่า “ลูกกิ๊บ” มีลักษณะเป็นกระสอบใหญ่ๆ รัดด้วยห่วง มีขายอยู่สองขนาด กิ๊บเล็ก 45 กิโลกรัม และกิ๊บใหญ่ 100 กิโลกรัม เสื้อผ้าพวกนี้ถูกส่งมาจากต่างประเทศ อเมริกาบ้าง ญี่ปุ่นบ้าง หลายตัวสภาพไม่สมบูรณ์ สิ่งที่สมญาทำคือซ่อมและซักเสื้อผ้าเหล่านั้นให้อยู่ในสภาพที่ดี

“ถึงจะเป็นการเพิ่มต้นทุน แต่พอลูกค้าเห็นว่าผ้าร้านเราสภาพดีกว่าร้านอื่น เขาก็จะเลือกเรา”

ปัจจุบันสมญามีอายุได้ 59 ปีแล้ว แต่ร่างกายเธอยังแข็งแรง เวลาว่างเล่นโยคะ วันอาทิตย์เข้าโบสถ์ และขายเสื้อผ้าด้วยหน้าตายิ้มแย้มอยู่เสมอ เธอบอกเราว่านี่เป็นงานที่เธอรักมาก เธอชอบเวลาได้เห็นเสื้อผ้าสวยๆ งามๆ ได้ใส่เองด้วย ได้ขายด้วย เธออยากขายไปจนกว่าตาจะมองไม่ชัด หรือร่างกายจะขยับไม่ไหว

“ร้านป้าไม่มีชื่อนะ ในตลาดถ้าจะติดป้ายต้องจ่ายภาษีเพิ่ม แต่ลูกค้าเขาเห็นร้านป้าชอบเปิดเพลงคริสต์ เขาเลยตั้งชื่อเล่นให้ร้านป้าว่าร้านพระเจ้า”

saiyai04

ผ้ามือสองจากต่างประเทศที่ซื้อเหมากระสอบ บางครั้งอยู่ในสภาพที่ไม่สมบูรณ์ ต้องผ่านการซ่อมแซมทำความสะอาดให้มีสภาพที่ขายได้

saiyai05

โดยปรกติในร้านเสื้อผ้ามือสองจะใช้ตัวอักษรและตัวเลขเพื่อแยกประเภทและบอกราคาของชิ้นนั้น

วินเทจ เสื้อผ้าเก่าในมือคนรุ่นใหม่

เสื้อผ้ามือสองเหมือนกลายเป็นธุรกิจของครอบครัว ลูกหลานของสมญาหลายคนเลือกที่จะสานต่อกิจการขายเสื้อผ้า หนึ่งในนั้นคือต้อง พงศธร สว่างภักดี ผู้มีความสัมพันธ์เป็นน้าหลานกับสมญา

พงศธรเล่าว่าเมื่อ 5 ปีก่อน เขาตัดสินใจเข้าทำงานเป็นลูกมือที่ร้าน Toro Clothing ร้านเสื้อผ้ามือสองร้านใหญ่ในอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีลูกชายคนโตของสมญาเป็นเถ้าแก่คอยดูแลร้าน ที่นั่นพงศธรได้ฝึกฝนวิชามากมาย เริ่มตั้งแต่ขั้นพื้นฐานที่สุด ไม่ว่าจะเป็นคนส่งของ เป็นกรรมกร เป็นคนล้างห้องน้ำ เขาก็ทำมาหมดแล้ว (มันเกี่ยวกับการขายเสื้อผ้ายังไงเนี่ย!!!) ปัจจุบันพงศธรย้ายมาดูแลร้านเสื้อผ้าในตลาดสันป่าข่อย ข้างๆ กับร้านของสมญา ซึ่งแต่เดิมมีแม่ของเขาเป็นคนดูแล

“ลูกหลานป้าน้อยหลายคนก็มาช่วยขายผ้าในตลาด บางคนก็ออกไปเป็นเถ้าแก่ มีร้านผ้าเป็นของตัวเอง นับรวมๆ ทั้งครอบครัวตอนนี้ก็มีกัน 14 ร้าน กระจายอยู่ทั่วเชียงใหม่ ทุกคนเป็นญาติกันหมด”

ร้านเสื้อผ้าของพงศธรนั้นมีบรรยากาศต่างจากร้านของสมญาอย่างชัดเจน พื้นที่ครึ่งหนึ่งของร้านเต็มไปด้วยกางเกงยีนวินเทจ โดยเขาเล่าว่าการขายเสื้อผ้าวินเทจนั้นเป็นเรื่องยากมาก ปรกติแล้วเสื้อผ้ามือสองจะตั้งราคาจากความสมบูรณ์และชนิดของเนื้อผ้า แต่การขายเสื้อผ้าวินเทจจะมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย เช่น ผลิตในประเทศอะไร เป็นรุ่นจำนวนจำกัดหรือเปล่า ตอนนี้ดาราชอบใส่ยี่ห้อไหน

“ผ้าวินเทจที่ดีๆ อย่างแรกคือดูว่าผลิตที่ไหน ของแท้คือ USA รุ่นยิ่งเก่าเนื้อผ้ายิ่งดี บางตัวหลายพัน แต่คนรุ่นเก่าเขาไม่รู้เทรนด์ มันเลยยากสำหรับคนรุ่นพ่อแม่เรา”

พงศธรได้สอนเคล็ดลับที่สำคัญที่สุดในการเลือกเสื้อผ้ามือสองว่า “ต้องลอง” เท่านั้น ผ้าแต่ละชิ้นไม่เหมือนกัน ผ้ามีการยืด การหด การเข้ารูปตามคนใส่ ทำให้ผ้าทุกชิ้นมีลักษณะเฉพาะของตัวเอง สิ่งที่คนซื้อต้องทำคือการตามหาผ้าชิ้นที่เหมาะสมกับเรา

saiyai06

กางเกงยีนนั้นจะมีตั้งแต่ราคา 50 บาท 100 บาท หรืออาจมีราคาถึงหลายพันบาท หากเป็นกางเกงยีนรุ่นหายากที่นักสะสมใฝ่หากัน

saiyai07

“พี่ต้อง” ผู้มีความสัมพันธ์เป็นหลานแท้ๆ ของป้าน้อย เถ้าแก่มือใหม่ที่เพิ่งจะรับช่วงดูแลกิจการต่อจากแม่มาไม่กี่เดือน

กิจการสานฝัน

ถึงตอนนี้พงศธรจะกลายเป็นเถ้าแก่คนใหม่ของร้าน แต่เขากลับบอกว่าจริงๆ แล้วเขาไม่ใช่คนชอบเสื้อผ้าหรือชอบแต่งตัวแต่อย่างใด แม้แต่กางเกง Dickies ที่ใส่อยู่นี่แม่ก็เป็นคนเอาให้ใส่ หลังเรียนจบเขาได้ลองทำงานหลายแบบ แต่สุดท้ายพอมีครอบครัวก็ต้องการความมั่นคงในชีวิต ก็ต้องกลับมาสู่กิจการเสื้อผ้ามือสองของครอบครัวอยู่ดี พงศธรเล่าพร้อมกับชี้ไปที่เตียงเด็กเล็กทำเองที่วางอยู่ข้างๆ เคาน์เตอร์คิดเงิน

“การไปเริ่มสิ่งใหม่มันไม่ได้ง่าย ครอบครัวเรามีพื้นที่ตรงนี้ให้ มันมั่นคงกว่า พอมีเงินเก็บค่อยเอาไปลงกับสิ่งที่เราชอบ เรารักจริงๆ เหมือนเป็นกิจการสานฝัน”

เราแอบถามเขาถึงความคาดหวังในอนาคต ว่าเขาอยากให้ลูกเติบโตขึ้นมาเป็นเถ้าแก่ร้านเสื้อผ้าต่อจากเขาไหม
“ไม่หรอก พอเราเป็นพ่อคน เราก็เข้าใจแม่เรากับน้าน้อยมากขึ้น พ่อแม่คอยเป็นฐานให้ลูก ช่วยเหลือเขา เราไม่ได้อยากบังคับอะไรลูก บ้านเรากลายเป็นกิจการผ้ามือสองร้านใหญ่ แต่ไม่เคยมีใครโดนบังคับให้มาทำร้านต่อ” พงศธรตอบด้วยความภาคภูมิใจ

saiyai08

ที่ตลาดผ้ามือสองแห่งนี้คุณอาจจะเจอกับเสื้อผ้าแบรนด์ดังในราคาที่เอื้อมไหวสบายกระเป๋า

ครอบครัวเสื้อผ้ามือสอง

ตลอด 34 ปีที่สมญาขายเสื้อผ้ามือสองมา ร้านของเธอก็เติบโตขึ้นมาก ขยายร้านออกไปกว่า 14 ร้าน สินค้าคุณภาพดีและมีให้เลือกหลากหลาย ทำให้ร้านเสื้อผ้าตลาดสันป่าข่อยจึงยังคงความนิยม ทั้งในกลุ่มลูกค้ากระเป๋าเบาที่มองหาเสื้อผ้าราคาเริ่มต้นที่ 5 บาท นักสะสมกระเป๋าหนักที่แวะเวียนมาตามหาเสื้อผ้าหายาก หรือแม้กระทั่งเจ้าของร้านเสื้อผ้ามือสองร้านอื่นๆ ทั่วเชียงใหม่ ที่เดินทางมาเพื่อเหมาไปขายต่ออีกทอดหนึ่ง

ทั้งหมดเกิดขึ้นได้ด้วยพลังของครอบครัวที่คอยช่วยเหลือกันตลอดมา เริ่มจากสามีภรรยาที่ช่วยกันก่อตั้งร้าน พี่น้องที่เข้ามาช่วยเหลือเมื่อร้านกำลังขยายตัว คนรุ่นลูกที่นำสิ่งใหม่ๆ กลับมาพัฒนาร้านอยู่เสมอ

พงศธรกล่าวทิ้งท้ายว่า ที่พวกเราช่วยเหลือกันมาตลอดแบบนี้คงเพราะคำสอนของคุณยาย (แม่ของสมญา)

คุณยายสอนลูกหลานทุกคนว่า ถ้ามีใครขาดเหลือ อดอยาก ก็ให้พี่น้องคนที่มีกินคอยช่วยเหลือคนที่ลำบาก นั่นคือความหมายของการเป็นครอบครัว


photo ittikornอิทธิกร ศรีกุลวงศ์
นักเขียนติดตลกที่จริงๆแล้วไม่ใช่คนตลก นักดองหนังสือข้ามปี อดีตนักเรียนแลกเปลี่ยนประเทศญี่ปุ่นที่ตอนนี้พูดภาษาญี่ปุ่นไม่ได้แล้ว(ก็คนมันลืมอะ) มีกิจกรรมโปรดยามว่างคือการไปดูหนังและเดินไปเดินมา ความใฝ่ฝันสูงสุดในตอนนี้คือการได้เติบโตอย่างมีความสุข : )

……..

photographer17ณัฐพนธ์ ปานอุดมลักษณ์
ช่างภาพ ในผลงาน หมากรุก : ความสุขยามบ่ายใต้สะพาน