ชื่อจริงและชื่อเล่น (๙)

ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


rang ruangnam dance

ชื่อเล่นชุดหนึ่งที่คนไทยสมัยก่อนชอบตั้งให้ลูก แต่เดี๋ยวนี้ค่อยๆ หายไปแล้ว คือ “แหม่ม” และ “หรั่ง”

“แหม่ม” เป็นคำที่คนไทยเคยใช้เรียกนำหน้าชื่อผู้หญิงฝรั่ง อย่างที่เรียกนางแอนนา เลียวโนเวนส์ (Anna Harriette Emma Leonowens) ซึ่งเข้ามาเป็นครูภาษาอังกฤษในวังหลวงสมัยรัชกาลที่ ๔ ว่า “แหม่มแอนนา” หรือเรียกนางสาวเอ็ดนา ซาราห์ โคล (Edna Sarah Cole) อดีตอาจารย์ใหญ่ยุคแรกของโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยว่า “แหม่มโคล”

คำนี้เอง เดาเอาว่าคนไทยอาจเรียกตามแขก ซึ่งเรียกผู้หญิงตะวันตก ด้วยคำครึ่งฝรั่งครึ่งแขกว่า “แหม่มซาฮิป” (Memsahib – นายหญิง) โดยคำว่า “แหม่ม” (Ma’am) เป็นคำย่อของ “มาดาม” (Madame) อีกทีหนึ่ง

สมัยก่อน เด็กผู้หญิงไทยที่เกิดมาแล้วผมแดงๆ ดูคล้ายฝรั่ง มักได้รับชื่อเล่นว่า “แหม่ม” แต่เดี๋ยวนี้ “แหม่ม” ดูเหมือนจะเหลือแต่เฉพาะคำเรียกตัวไพ่แบบ “แหม่มโพดำ” เสียแล้ว

แต่ถ้าเป็นเด็กผู้ชายผมแดง ก็ย่อมไม่ใช่ “แหม่ม” แต่อาจเป็น “หรั่ง” ซึ่งย่อมาจากคำว่า “ฝรั่ง”

ในบรรดาชายไทยที่ชื่อ “หรั่ง” ที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งย่อมได้แก่ “นายหรั่ง เรืองนาม” (บุญศรี ชุ่มสอนเสียง ๒๔๓๓-๒๕๑๒) เจ้าของคณะระบำหญิง “มหาเสน่ห์” แห่งยุคทศวรรษ ๒๔๗๐-๒๔๙๐

จากภาพถ่ายเก่าและคำบอกเล่า สาวๆ ในคณะ “ระบำตาหรั่ง” ที่สมัยก่อนลือกันว่าแต่งตัว “โป๊” สุดๆ แล้วในยุคนั้น ดูเหมือนจะแต่งตัวพอๆ กับชุดที่สมัยนี้สาวๆ ใส่ไปเดินห้าง คือประมาณเสื้อเกาะอกกับกางเกงขาสั้น-แค่นั้นเอง

ในหนังสืองานศพของนายหรั่ง เล่าถึงความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งของเจ้าตัวไว้ว่าระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ “…กองทหารญี่ปุ่นทั้งนายทหาร และพลทหารทุกคน มีแผนที่จังหวัดพระนคร แสดงที่ตั้งของตึก ๙ ชั้น ซึ่งเป็นสถานที่แสดงของคณะละครมหาเสน่ห์ พร้อมด้วยคำอธิบายเป็นภาษาญี่ปุ่น เด่นอยู่ในแผนที่ทหารอย่างชัดเจน…”

หนังสืออนุสรณ์งานฌาปนกิจศพนายหรั่งยังมีข้อความที่เล่าถึงที่มาของชื่อ “หรั่ง” ซึ่งเป็นชื่อเล่นที่ถูกเรียกขานจนกลายเป็นชื่อจริงว่า สมัยยังเป็นเด็กชายบุญศรี เรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดกลางปากน้ำ อำเภอเมือง สมุทรปราการ ครั้งหนึ่งครูเคยเกณฑ์ให้ไปตั้งแถวรับเสด็จในหลวงรัชกาลที่ ๕ ขณะเสด็จประพาสสถานีทหารเรือปากน้ำ

“ได้ทอดพระเนตรเห็น เด็กชายบุญศรี สอนชุ่มเสียง ซึ่งไว้ผมจุก และมีผมบนศีรษะเป็นสีแดงโดยธรรมชาติทั้งหมด ผิดกว่าเด็กอื่นๆ ที่อยู่ในแถวซึ่งมีผมเป็นสีดำทุกคน จึงหยุดทอดพระเนตร และรับสั่งถามเด็กชายบุญศรีว่า ‘เจ้าชื่ออะไร ?’ ครูผู้ควบคุมแถวนักเรียน ได้รีบกราบถวายบังคมทูลให้ทรงทราบว่า ‘ชื่อบุญศรี และเป็นบุตรของนายชุ่มนางมั่น’ ทรงรับสั่งว่า ‘แปลกดี เจ้านี่ผมแดงเหมือนฝรั่ง เจ้าชื่ออ้ายฝรั่งดีกว่า’ แล้วเอาพระหัตถ์ตบศีรษะเบาๆ รับสั่งว่า ‘ให้เอ็งเรียนหนังสือเก่งๆ ต่อไปเอ็งจะดี’ เด็กชายบุญศรี พร้อมด้วยครู ได้พร้อมกันก้มลงกราบรับพระพรด้วยความปีติยินดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นเกล้า…ผู้เป็นบิดามารดา ญาติพี่น้อง และครูโรงเรียน เห็นว่าเป็นศิริมงคลแก่เด็กชายบุญศรีอย่างยิ่ง จึงพากันเรียกชื่อเด็กชายบุญศรีเสียใหม่ว่า ‘เจ้าฝรั่ง’ และได้เพี้ยนผันแปรไปเรียกติดปากกันสั้นๆ ว่า ‘หรั่ง’…และได้ใช้ชื่ออันเป็นมงคลนามอันประเสริฐนี้ เป็นชื่อตัวตลอดมาจนกระทั่งถึงวันสุดท้ายแห่งชีวิต…”

rang ruangnam dance


srun

ศรัณย์ ทองปาน

เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์นิตยสาร สารคดี