ชื่อจริงและชื่อเล่น (๑๐)

ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


ช่างถ่ายรูปชาวสยามยุคแรกผู้มีชื่อเสียงที่สุด คือขุนสุนทรสาทิสลักษณ์ หรือที่เรียกกันว่า “ฟรานซิส จิตร” ด้วยเหตุที่ท่านนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก จึงมีทั้งชื่อตัวคือนายจิตร และชื่อรองที่เป็นนามนักบุญ คือฟรานซิส ธรรมเนียมนี้ยังคงถือปฏิบัติกันมาในหมู่คริสตศาสนิกชนจนบัดนี้ ทว่าในหมู่คนไทยที่แม้มิได้เป็นคาทอลิกก็เริ่มมี “ชื่อฝรั่ง” กันมาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์แล้วเช่นกัน

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ (๒๓๘๑-๒๔๒๘) “วังหน้า” สมัยรัชกาลที่ ๕ ผู้ทรงดำรงพระอิสริยยศกรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระองค์สุดท้ายในประวัติศาสตร์ ได้รับพระราชทานนามพระนามจากพระบิดา คือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว “วังหน้า” สมัยรัชกาลที่ ๔ ว่า “ยอร์ชวอชิงตัน” ตามนาม George Washington ปฐมประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา มาภายหลังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานพระนามให้ใหม่เป็น “พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ” (คงเพื่อให้ฟังเป็น “ไทย” มากขึ้น) โดยอิงตามเสียง “ยอร์ช” แต่แปลงใหม่มาเป็น “ยอด”

ถัดมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ เริ่มมีการตั้งพระนามเจ้านายในกรุงสยามตามพระนามเจ้านาย “ฝรั่ง” เพื่อเฉลิมพระเกียรติยศแห่งเจ้าของนามนั้น เช่นพระราชธิดาพระองค์หนึ่งในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติเมื่อปี ๒๔๑๙ ได้รับพระราชทานพระนามว่า พระองค์เจ้าหญิงบีเอตริศภัทรายุวดี ตามพระนามพระธิดาพระองค์สุดท้องในสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรีย คือ เจ้าฟ้าหญิงเบียทริซแห่งสหราชอาณาจักร (Princess Beatrice of the United Kingdom 1857 – 1944)

ช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ในฝ่ายราชสกุลจักรพันธุ์ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงษ์ ก็มีการตั้งพระนามพระโอรสและพระนัดดาตามพระนามเจ้านายราชวงศ์สวีเดน ได้แก่ พระองค์เจ้าออศคาร์นุทิศ ภายหลังทรงกรมเป็น กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ (๒๔๒๖-๒๔๗๘) มีพระนามตามเจ้าชายออสการ์แบร์นาด็อต (Prince Oscar Bernadotte) พระราชโอรสในสมเด็จพระราชาธิบดีออสการ์ที่ ๒ แห่งสวีเดนและนอร์เวย์ (ขณะนั้นยังรวมเป็นราชอาณาจักรเดียวกัน) ซึ่งเสด็จฯ มาเยือนสยามระหว่างเสด็จประพาสรอบโลกในปี ๒๔๒๗

ธรรมเนียมนี้ดำเนินสืบมาจนถึงชั้นพระนัดดา ได้แก่หม่อมเจ้าคัสตาวัส (Gustavus) และหม่อมเจ้าหญิงลุอิสาณ์ (Louise)

และตั้งแต่ในยุครัชกาลที่ ๕ นั้นเอง ความนิยมตั้งชื่อเด็กเป็นสำเนียง “ฝรั่ง” ให้ฟังดูสมัยใหม่ ก็มีแพร่หลายในหมู่ราษฎรสามัญด้วย โดยเฉพาะที่พบตัวอย่างจากเมืองจันทบุรี เขตยึดครองของฝรั่งเศสระหว่างปี ๒๔๓๖-๒๔๔๖

พลเรือตรี แชน ปัจจุสานนท์ (๒๔๔๗-๒๕๒๕) ชาวจันทบุรี บุตรนายปัดและนางเชย บันทึกไว้ในอัตชีวประวัติ ซึ่งต่อมาพิมพ์เป็นหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพของผู้เขียนเมื่อปี ๒๕๒๕ เล่าว่า

“ข้าฯ เคยถามพ่อและแม่ว่า ทำไมจึงให้ชื่อแก่ข้าฯ ว่า ‘แชน’ ก็ได้รับคำตอบว่า ชื่อของข้าฯ นี้มาจากคำว่า ‘อรแชน’ ซึ่งหมายถึงดวงตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ซึ่งฝรั่งเรียกว่า ‘เดคอเรชั่น’ (Decoration) คนไทยสมัยก่อนเรียกคำฝรั่งเพี้ยนๆ ไป จึงเรียกตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ว่า ‘ตราอรแชน’ โดยที่คำๆ นี้ออกจะยาว จึงให้ชื่อข้าฯ อย่างสั้นๆ ว่า ‘แชน’ มีอักษร ช. ช้าง อย่างชื่อแม่ อนึ่งในสมัยที่ข้าฯ ยังเป็นเด็กๆ นั้น คนทางจันทบุรีชอบให้ชื่อลูกของตนให้มีสำเนียงอย่างฝรั่ง ดูจะเป็นการโก้เก๋ดี เช่นชื่อ เซียม เฟีย แยม เสกล เฟ ฯลฯ เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งเป็นที่นิยมกันในเวลานั้น…”

(อัตชีวประวัติของ พล.ร.ต. แชน ปัจจุสานนท์ ต่อมาทางสำนักพิมพ์พิมพ์คำ จัดพิมพ์ซ้ำใหม่อีกครั้งในปี ๒๕๕๗ ใช้ชื่อที่ปกว่า “ชีวิตลูกประดู่ บันทึกความทรงจำของ พลเรือตรี แชน ปัจจุสานนท์”)


srun

ศรัณย์ ทองปาน

เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์นิตยสาร สารคดี