More Media

เก็บตกสาระ แนะนำสื่อภาพยนตร์ และสื่อแขนงอื่นๆ จากที่เห็นและเป็นไป ในและนอกกระแส


Albatross บันทึกภาพธรรมชาติวันที่ถูกวัตถุกลืนกลาย

ย้อนกลับไปในปี ค.ศ.2008 คริส จอร์แดน ช่างภาพและศิลปินชาวอเมริกา ได้เดินทางไปยังเกาะมิดเวย์อะทอลล์เพื่อถ่ายภาพผลกระทบจากขยะพลาสติก เกาะทางมหาสมุทรแปซิฟิคตอนเหนือแห่งนี้ห่างไกลจากเขตอาศัยของผู้คนนับพันไมล์ ในอดีตมันเคยเป็นฐานที่มั่นของสหรัฐฯ ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ปัจจุบันไม่มีผู้คนอาศัยอยู่บนเกาะแห่งนี้แล้ว จนอาจเรียกว่าเป็นหนึ่งในสถานที่ซึ่งห่างไกลจากมนุษย์ที่สุดแห่งหนึ่ง

ที่นี่ยังเป็นที่อยู่ของนกอัลบาทรอสนับหมื่นตัว นกที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นนกบินได้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดชนิดหนึ่ง และได้รับการบันทึกเรื่องราวมาตั้งแต่ในอดีต

เขาและ มานูเอล มาคีด้า เพื่อนช่างภาพ ได้พบภาพอันน่าสะเทือนใจคือซากนกนับพันตัวที่เมื่อผ่าร่างออกมาจะพบเศษพลาสติกนับสิบชิ้นในท้อง และน่าจะเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของพวกมัน ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นผลงานภาพถ่ายชุด Midway: Message from the Gyre

และเพราะคงเป็นภาพที่ฝังใจอย่างยิ่ง เขาจึงได้ระดมทุนและทีมงานเพื่อถ่ายทำหนังสารคดีซึ่งใช้เวลาเดินทางไปยังเกาะนี้อีกรวม 8 ครั้งเป็นระยะเวลา 4 ปี ซึ่งแม้ในปัจจุบันการเดินทางไปเกาะนี้ก็นับว่าลำบากไม่น้อย โดยเดิมทีหนังใช้ชื่อว่า Midway ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น Albatross ในที่สุด

มิหนำซ้ำเมื่อตัดต่อเสร็จ จอร์แดนตระหนักว่าการฉายหนังเรื่องนี้แบบปกติที่มีการหารายได้จะทำให้มันเข้าสู่วงจรการบริโภคอันเป็นสาเหตุสร้างขยะ อันเป็นประเด็นที่ปรากฎในหนัง เขาจึงเลือกเผยแพร่ให้กับสาธารณะให้สามารถนำหนังเรื่องนี้ไปฉายได้ฟรีอีกด้วย

เทคนิคบางส่วนของสารคดีเรื่องนี้มีความคล้ายคลึงกับสารคดีนกเรื่องดังที่ผู้เขียนเคยดูอย่าง Winged Migration (ปี ค.ศ.2001 ผลงานของ ฌาคส์ แพร์ริน และ ฌาคส์ คลูโซด์) ที่ถ่ายทอดนกหลากชนิดที่บินอพยพย้ายถิ่น และ March of the Penguins (ปี ค.ศ.2005 ผลงานของ ลุค ฌาค์เกต์) ที่ถ่ายทอดฤดูการหาคู่ของเพนกวินจักรพรรดิ์ เพราะถึงแม้จะมีเจตนาในการถ่ายทอดปัญหาสิ่งแวดล้อมจากขยะพลาสติก แต่ในการถ่ายทอดการเคลื่อนไหวต่างๆ ของนกที่บันทึกได้อย่างแช่มช้า นุ่มนวล หลายต่อหลายครั้งการขับเน้นงานด้านภาพ พร้อมเสียงดนตรีประกอบให้ทั้งอารมณ์โรแมนติค และชวนพิศวงไปพร้อมๆ กันถึงธรรมชาติที่รังสรรค์สิ่งมีชีวิตชนิดนี้

ก็คงเพราะด้วยความที่พวกเขาติดตามมันอย่างใกล้ชิด และหลงเสน่ห์ความสวยงามจริงๆ จากนกเหล่านี้นี่เอง จนอยากจะถ่ายทอดมันอย่างใกล้ชิด และเลือกโกหกเวลา และภาพเหตุการณ์จริง จับช่วงโมงยามที่แสงตกกระทบชีวิตของมันอย่างนุ่มนวล ปรับความเร็วของท่วงท่าการบินให้ลดลงอีกสักนิด เพื่อให้เราได้เห็นอิริยาบถของมันได้อย่างละเอียดลออเช่นที่พวกเขาได้เห็น

คริส จอร์แดน เล่าว่าเขาถ่ายทำนกอัลบาทรอสที่ยังมีชีวิตบนเกาะแห่งนี้หลายต่อหลายตัวในระยะประชิดอย่างไม่ได้ยากอะไรนัก นกเหล่านี้ไม่ได้ตกใจหรือดุร้ายต่อเขาและทีมงาน เราจึงได้เห็นภาพตั้งแต่เริ่มกำเนิดลูกนก ถูกฟูมฟักเลี้ยงดูบนยอดไม้ เติบโตแสดงความรักต่อนกด้วยกันผ่านท่าทางอันงดงาม ก่อนพ่อนกจะบินเป็นระยะทางไกลเพื่อออกหาอาหาารมาป้อนลูกนก ซึ่งครึ่งหลังกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่แตกต่างอย่างชัดเจนจากหนังที่ขับเน้นความสวยงามของธรรมชาติในสารคดีนกสองเรื่องที่ผู้เขียนเคยได้ดูมาเมื่อเราเริ่มพบเห็นปัญหาของนกอัลบาทรอสภายหลังกินขยะพลาสติกจากท้องทะเลไปโดยไม่รู้ตัว และส่งพลาสติกเหล่านั้นไปยังลูกๆ ของมัน

albatross03 albatross02

ภาพสวยงามที่ถ่ายทอดมาก่อนหน้าผ่านชีวิตนกเหล่านี้ เมื่อแปรเปลี่ยนเป็นขั้วตรงข้ามให้เห็นซากนกอัลบาทรอสตายอย่างชวนขนลุกอีกครั้งดังในฉากเปิดเรื่อง จึงส่งต่อความรุ้สึกได้อย่างทรงพลัง ก่อนที่ภายหลังหนังจะยังตามติดลูกนกอีกหลายต่อหลายตัวที่ยังต้องเผชิญเคราะห์กรรมต่อเนื่องไปจนจบชีวิต

อีกสองเทคนิคสำคัญของสารคดีชิ้นนี้ที่ทำให้มันแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดคือการถ่ายทอดเรื่องราวผ่านสายตาของพระเจ้า

หากพระเจ้าที่ปรากฎในหนังไม่ใช่ภาพบุคคล หากเป็นฉากนกตัวหนึ่งที่เฝ้าสังเกตการณ์ชีวิตของนักอัลบาทรอสตั้งแต่เกิด ไปจนจบชีวิต ซึ่งเมื่อดูสารคดีเรื่องนี้จบ มนุษย์ผู้สร้างปัญหาอย่างเราย่อมไม่ควรจะหลงลำพองในอำนาจ และคิดว่าตนเป็นเสมือนพระเจ้าได้อีกต่อไป

ต่อมาการใช้เทคนิคจางซ้อนภาพระหว่างภาพ 2-3 ภาพ ได้แก่ภาพซากนกอัลบาทรอส ลวดลายแบบศิลปะ และขยะพลาสติกจำนวนมหาศาลในทะเล มารวมเข้าด้วยกัน

ไม่ว่าจะด้วยเจตนาหรือไม่ เทคนิคดังกล่าวสะท้อนให้เห็นความจริงที่น่าสะพรึงของภัยจากพลาสติกเหล่านี้ ที่แปรเปลี่ยนสิ่งมีชีวิตอันสวยงาม ให้มีสภาพไม่ต่างจากซากขยะ หรือวัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้นอย่างพลาสติก ประดิษฐกรรมที่ให้คุณอนันต์แต่สร้างโทษมหาศาล กลายเป็นภาพที่สื่อสารกับเราถึงอำนาจของพลาสติกได้ชัดเจนที่สุดว่ามีพลังเพียงใด ซึ่งแน่นอนว่าสุดท้ายก็จะส่งผลกระทบต่อมนุษย์ในที่สุด

ซากนกเหล่านั้นยิ่งแห้งกรังก็ค่อยๆ ถูกกลืนหายร่วมกับขยะที่เคยอยู่ในท้องของมัน

ผิดจากพลาสติกเหล่านั้นที่จะยังคงอยู่ไปอีกตราบนานหลายร้อยปี.