ชื่อจริงและชื่อเล่น (๑๖)

ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


sadet tia

ตั้งแต่สมัยอยุธยา เมื่อเจ้านายทรงเจริญพระชนมายุ เติบใหญ่พอสมควรที่ปกครองผู้คนในบังคับบัญชาได้ ก็จะได้รับพระราชทานอิสริยยศให้ “ทรงกรม” ปกครอง “กรม” คือไพร่พลในสังกัด

ในการนี้ จะมีการแต่งตั้งตำแหน่งขุนนางผู้ที่จะมาทำหน้าที่ควบคุมจริงๆ ด้วย ดังนั้น แต่เดิม เจ้านายจึง “ทรงกรม” ตามนามของข้าราชการผู้ปกครอง “กรม” คือกลุ่มคนเหล่านั้น เช่นในพระราชพงศาวดารสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ออกพระนามกรมหลวงโยธาทิพ และกรมหลวงโยธาเทพ เป็นเจ้านายฝ่ายใน (หรือเจ้านายสตรี) สองพระองค์ที่ทรงกรม

ถ้าดูเฉพาะพระนามที่ทรงกรม จะสังเกตว่าล้วนแต่เป็นชื่ออันว่าด้วยการควบคุม “โยธา” คือทหาร ไม่ได้เป็นชื่อที่ฟังดูเป็น “ผู้หญิงๆ” อย่างที่ควรเป็นพระนามของเจ้านายฝ่ายในเลย นั่นก็เพราะทรงได้รับแต่งตั้งให้มีอำนาจปกครองเหนือไพร่ “ในสังกัด” ของหลวงโยธาทิพ และหลวงโยธาเทพ

นัยอีกประการหนึ่งของการแต่งตั้งเจ้านายให้ “ทรงกรม” ลักษณะนี้ ก็คงเพื่อไม่ต้องการให้ “ออกพระนาม” จริงๆ ของเจ้านาย ซึ่งตามธรรมเนียม “สูง-ต่ำ” อย่างไทยๆ ถือว่าไม่บังควร โดยเปลี่ยนให้ไปเรียกนามตามนามขุนนางผู้ทำหน้าที่ “เจ้ากรม” ใต้บังคับบัญชาแทน

ตำแหน่งของเจ้ากรมที่ผูกพันกับการ “ทรงกรม” ทำนองนี้ยังปฏิบัติสืบเนื่องมาจนในสมัยรัตนโกสินทร์ด้วย อย่างพระนามพระบรมวงศ์รุ่นรัชกาลที่ ๕ ลงมา ที่เราคุ้นหูกัน อย่างสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ หรือสมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ แต่ละพระองค์ล้วนต้องมี “เจ้ากรม” ที่มีบรรดาศักดิ์เป็น “พระยา” คือพระยาดำรงราชานุภาพ และพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เพียงแต่เราอาจไม่คุ้นกับนามเหล่านั้นกันนัก

ธรรมเนียมใหม่อีกอย่างหนึ่งที่ริเริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยอนุโลมตามแบบอย่างราชสกุลวงศ์ยุโรป คือการตั้งกรมให้เจ้านาย (คือพระราชโอรสพระราชธิดา) ที่ทรงเจริญพระชนมายุ ได้ทรงกรมเป็นเสมือน “เจ้าผู้ปกครอง” หัวเมืองต่างๆ อย่างที่อังกฤษเขามีเจ้าชายแห่งเวลส์ (Prince of Wales) หรือ ดยุคแห่งยอร์ค (Duke of York)

ในรัชกาลนั้นจึงเป็นสมัยที่มีการเฉลิมพระนามทรงกรมเจ้านายไทยให้เป็น “เจ้าชาย” หรือ “เจ้าหญิง” แห่งเมืองต่างๆ ในพระราชอาณาจักรสยาม ตามลำดับความสำคัญของหัวเมือง พระนามที่เราคุ้นหูกันก็มีเช่น กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ซึ่งในภาคภาษาอังกฤษ ออกพระนามว่า HRH Prince of Chumphon หรือ “เจ้าชายแห่งชุมพร”

ตามธรรมเนียมดังกล่าวมาแล้ว เจ้านายที่ “ทรงกรม” ย่อมต้องมี “เจ้ากรม” ซึ่งมีบรรดาศักดิ์และราชทินนามดุจเดียวกันนั้นด้วย เจ้ากรมของกรมหลวงชุมพรฯ จึงได้แก่ “หลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์”

แต่ที่น่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ นอกจากเจ้ากรมแล้ว ยังต้องมีการแต่งตั้งปลัดกรมและสมุห์บัญชี ประจำกรมนั้นๆ อีกด้วย และ เมื่อเจ้ากรมมีราชทินนามเป็นชื่อเมือง ปลัดกรมและสมุห์บัญชีจึงต้องมีราชทินนามคล้องจองกัน เป็นชื่อหัวเมืองใกล้เคียงที่สังกัดกับเมืองใหญ่นั้นๆ อีกทอดหนึ่ง ดังนั้น ปลัดกรมและสมุห์บัญชีของ “หลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์” จึงได้แก่ “ขุนระนองนัครานุกิจ” กับ “หมื่นกาญจนดิฐผดุงผล”

แต่แม้จะตั้งให้เจ้านาย “ทรงกรม” แล้ว แต่บางทีคนทั่วไปก็คงยังเห็นเป็นเรื่อง “สูง-ต่ำ” อยู่ดี สุดท้าย คนทั่วไปจึงนิยมออกพระนามเจ้านายที่ทรงกรมแล้วในคำพูดจาที่รับรู้กันว่าหมายถึงท่านพระองค์ไหน แต่เพียงว่า “เสด็จในกรม” ในลักษณาการเดียวกันกับเรียกพระมหากษัตริย์ว่า “ในหลวง” นั่นเอง

sadet tia


srun

ศรัณย์ ทองปาน

เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์นิตยสาร สารคดี