เครื่องรางคนค้าขาย (๒) – รากเหง้าจากยุคโบราณ
ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต
ตั้งแต่ช่วงสองพันปีที่แล้วเป็นต้นมา การติดต่อค้าขายระหว่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับดินแดนอินเดีย มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ภูมิภาคนี้ก้าวเข้าสู่ “สมัยประวัติศาสตร์” คือเริ่มมีหลักฐานที่เป็นตัวหนังสือ เช่น ศิลาจารึกต่างๆ โดยดัดแปลงตัวอักษรอินเดียมาปรับใช้เขียนภาษาท้องถิ่น ยิ่งไปกว่านั้น การไปมาหาสู่ระหว่างกันยังเป็นรากฐานให้มีการเผยแผ่อารยธรรมอินเดีย เช่น ศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ เข้ามาผสมผสานกับวัฒนธรรมพื้นเมืองดั้งเดิม นำไปสู่การเกิดขึ้นของระบบกษัตริย์ที่อ้างอิงอำนาจจากเทพเจ้าแบบฮินดู หรือพระโพธิสัตว์ของพุทธ
ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้จึงเริ่มปรากฏหลักฐานเครื่องรางของขลังของพ่อค้าจากอินเดียในดินแดนประเทศไทยด้วย
พระพุทธรูปรุ่นแรกๆ ที่ค้นพบกันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มักเป็นพระพุทธรูปยืน องค์เล็กๆ ทำด้วยโลหะสำริด (คือทองแดงผสมดีบุก) เข้าใจกันว่าเป็นเครื่องรางที่พ่อค้าชาวพุทธจากอินเดียนำติดตัวข้ามน้ำข้ามทะเลเข้ามาด้วย มีความหมายว่าเป็นพระพุทธเจ้าทีปังกร พระอดีตพุทธเจ้าซึ่งนับถือกันในฐานะ “พระห้ามสมุทร” ผู้ปกป้องคุ้มครองภยันตรายให้แก่คนเดินเรือทะเล
ส่วนในศาสนาฮินดู หรือที่คนไทยมักเรียกกันว่าศาสนาพราหมณ์ ก็มีเทพเจ้าอีกหลายองค์ที่นับถือกันว่า สามารถประทานความมั่งคั่งร่ำรวยให้แก่ผู้เคารพเลื่อมใสได้ จึงมีการนำไปสร้างเป็นเครื่องรางสำหรับการค้าการขายด้วย
องค์หนึ่งคือท้าวกุเวร หรือ ชัมภล (ชัม-พะ-ละ) ยักษ์ผู้พิทักษ์ขุมทรัพย์ มักทำเป็นชายร่างอ้วน ประทับนั่งชันเข่า พิงไหใส่เงิน หรือบางทีก็มีถุงเงินวางกองอยู่ที่ใต้บัลลังก์
อีกองค์หนึ่งคือพระลักษมี ชายาของพระนารายณ์ และเทพีแห่งโชคลาภ ที่พบมากคือปางที่เรียกว่า “คช-ลักษมี” คือมีพระลักษมีประทับนั่งอยู่ตรงกลาง ถือดอกบัวในพระหัตถ์ สองข้างเป็นช้าง (คช/คชา) ชูงวงยกหม้อน้ำขึ้นหลั่งลงมาสรงสนานพระนาง
ในภาคกลางของประเทศไทยยุคที่เรียกกันว่า “ทวารวดี” เมื่อราว ๑,๕๐๐ – ๑,๐๐๐ ปีก่อน ยังรับคติจากพ่อค้าแขก มาสร้างเครื่องรางเพื่อความมั่งคั่งร่ำรวยขึ้นบ้าง โดยการผนวกรวมเอาทั้งท้าวกุเวรกับพระลักษมีเข้าด้วยกันในอันเดียว โดยทำเป็นตราดินเผาแผ่นกลม ด้านหนึ่งเป็นรูปท้าวกุเวร อีกด้านเป็นคช-ลักษมี หรือบางครั้งก็พบรูปคช-ลักษมี รวมกับสัญลักษณ์มงคลต่างๆ ก็มี
ในเมืองไทยปัจจุบัน ความรับรู้เรื่องท้าวกุเวรกับคช-ลักษมี ในฐานะเครื่องรางเพื่อเสริมสร้างโภคทรัพย์ คงเสื่อมสูญไปจนไม่มีใครรู้จักหรือคิดสร้างเป็นของขลังกันแล้ว แต่ในอินเดีย จนถึงเดี๋ยวนี้ พ่อค้ายังคงนับถือรูปคช-ลักษมี ว่าเป็นสัญลักษณ์มงคลเพื่อความอุดมสมบูรณ์ ดังเราจะพบรูปคช-ลักษมี (บางทีก็มีพระสุรัสวดี ชายาของพระพรหม กับพระคเณศ ประทับเคียงข้าง) อยู่ในกล่องเก็บเงินตามร้านค้าทั่วไป
ศรัณย์ ทองปาน
เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์นิตยสาร สารคดี