เครื่องรางคนค้าขาย ๕ – พระสีวลี

ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


krabung

ครูมนตรี ตราโมท ครูผู้ใหญ่ฝ่ายดนตรีไทยแห่งยุครัชกาลที่ ๙ เคยเขียนเล่าไว้ว่า ครั้งหนึ่งท่านได้รับเชิญไปเป็นประธานในพิธีไหว้ครูที่บ้านคุณเวช สุนทรจามร เมื่อปี ๒๔๙๕ ก่อนเสร็จพิธี ครูมนตรีก็เป็นผู้ประพรมน้ำมนต์และเจิมเครื่องดนตรีตามขั้นตอน แต่แล้วท่านพบว่า

“ยังมีปากกาหมึกซึมอีกด้ามหนึ่ง ข้าพเจ้าสงสัย จึงถามว่าปากกานี้เกี่ยวข้องอะไรด้วย ก็ได้ความว่าเป็นปากกาของคุณแก้ว อัจฉริยกุล ผู้มีหน้าที่แต่งบทร้องให้แก่วงดนตรีของกรมประชาสัมพันธ์และสุนทราภรณ์ ซึ่งนับได้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่อยู่ในวงการดนตรีโดยแท้ ข้าพเจ้าได้เจิมปากกาด้ามนั้นด้วยความตั้งใจ และแล้วก็ได้สนทนาวิสาสะ ทำให้ได้รู้จักกันสนิทสนมแต่นั้นมา…”

ครูมนตรี เขียนเล่าเรื่องนี้ไว้เป็นการเท้าความหลังถึงเหตุที่ได้มาสนิทสนมคุ้นเคยกับ “แก้วฟ้า” หรือครูแก้ว อัจฉริยกุล อยู่ในหนังสือ “แก้วฟ้า ๖๐” อันเป็นของชำร่วยที่ระลึกเนื่องในโอกาสวันเกิดครูแก้วอายุห้ารอบ เมื่อปี ๒๕๑๘

ในหมู่นักดนตรีและนักการนาฏศิลป์ของไทย การยึดถือเอาเครื่องดนตรี และ “ศีรษะครู” เป็นของศักดิ์สิทธิ์ อย่างหนึ่งก็คงเพราะเป็นเสมือนตัวแทนของวิชาความรู้ อันมีต้นกำเนิดมาจากครูบาอาจารย์ ทั้งที่เป็นเทพยดา เป็นฤาษี หรือเป็นครูของครูของครู สืบทอดกันมาหลายชั่วคน

แต่อีกด้านหนึ่ง การที่ครูแก้วเอาปากกาหมึกซึมของท่านเข้าพิธีไหว้ครู เคียงข้างกับเครื่องดนตรีไทยย่อมถือเป็นส่วนหนึ่งของโลกทัศน์แบบไทยๆ ที่นับเนื่องเอาเครื่องมือทำมาหากินเป็น “ผู้มีพระคุณ” ช่วยให้ทำมาหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง

นอกจากในแวดวงดนตรี ในหมู่ช่างก็เคยได้ยินว่า เครื่องมือช่างหลายอย่างก็ถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ไม่ให้เอามาเล่น หรือใช้งานผิดประเภท ซึ่งถ้าจะพิจารณาจากแง่มุมเชิงการใช้สอย ย่อมเห็นได้ว่าเหตุผลพื้นฐานคือเดี๋ยวเครื่องมือจะชำรุดหักพัง

อันนี้ก็ว่าตามคติอย่างเก่าๆ แต่เดี๋ยวนี้ก็เห็นช่างยุคใหม่เอาสิ่วไปงัดเปิดฝากระป๋องสี หรือเอามาแคะเล็บเล่นเสียแล้ว

แม้แต่ของที่ไม่ได้ใช้แล้ว ในหลายที่หลายแห่งก็ยังถือเป็นของสำคัญ อย่างที่บ้านบาตร ชุมชนที่มีประวัติศาสตร์งานช่างทำบาตรพระมาตั้งแต่สมัยต้นกรุงเทพฯ ก็ยังมีหลายบ้านที่รักษาปล่องเตาสูบของโบราณเอาไว้ ทั้งที่ไม่ได้ใช้แล้ว ก็ไม่ได้รื้อทิ้งไป บางบ้านเอาศาลไปตั้งไว้ข้างๆ เป็นที่จัดพิธีไหว้ครูประจำปี ซึ่งทุกบ้านในชุมชนจะทำพร้อมกันช่วงสงกรานต์

ในหมู่คนค้าขาย เราก็เห็นตัวอย่างทำนองนี้มากมาย เช่นเรื่องเล่าที่ว่า ครอบครัวจีนหลายบ้านยังคงเก็บรักษา “ไม้คาน” หรือ “ถังตวงข้าวสาร” ที่บรรพชนเคยใช้สร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาจากกุลี ทั้งเพื่อเป็นอนุสรณ์ของชีวิต และกราบไหว้ด้วยความกตัญญูรู้คุณ

ร้านก๋วยเตี๋ยวเจ้าดังแถวออฟฟิศของผู้เขียน ก็ยังคงมีกระบุงขึ้นหิ้งไว้ที่มุมหนึ่งในร้าน ตั้งเรียงเคียงกับหิ้งไว้รูปพระเกจิอาจารย์ ฯลฯ ในกระบุงนั้น นอกจากเครื่องรางทางค้าขาย เช่นไซ แล้ว ยังมีกระชอนลวกก๋วยเตี๋ยวเก่าๆ ปักไว้อีกสองสามด้วย รวมถึงเคยเห็นร้านข้าวหมูแดงหมูกรอบเก่าแก่ย่านเสาชิงช้าที่เอาเขียงเก่าๆ ซึ่งผ่านคมมีดของเฮียจนสึกหรอไปเหลือแค่ชิ้นบางๆ รูปร่างเป็นไข่ดาว คือนูนตรงกลาง บางรอบขอบ ติดเรียงรายไว้ข้างฝาร้าน อันเป็นวิธีแสดงกตัญญุตาคารวะต่อผู้มีบุญคุณ ช่วยทำมาหากิน ซึ่งมิได้จำกัดเฉพาะที่เป็นตัวบุคคลเท่านั้น แต่ยังกินความถึงข้าวของเครื่องใช้ด้วย

krabung


srun

ศรัณย์ ทองปาน

เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์นิตยสาร สารคดี