More Media

เก็บตกสาระ แนะนำสื่อภาพยนตร์ และสื่อแขนงอื่นๆ จากที่เห็นและเป็นไป ในและนอกกระแส


Intouchables  : หนังพิการบันดาลใจ

หากกล่าวถึงหนังที่มีเนื้อหาสะท้อนถึงกลุ่มคนพิการนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใดในวงการภาพยนตร์ ในอดีตมีหนังคนพิการที่สร้างชื่อบนเวทีประกวดรางวัลทางภาพยนตร์มากมาย ไม่ว่าจะเป็น My Left Foot(ค.ศ.๑๙๘๙) ที่สร้างจากชีวประวัติ คริสตี้ บราวน์ จิตรกรพิการทางสมอง มีปัญหาการเคลื่อนไหวต้องนั่งอยู่บนรถเข็น แต่สามารถสร้างสรรค์ผลงานด้วยเท้าซ้ายจนทำให้ แดเนียล เดย์-ลูอิส คว้ารางวัลนักแสดงนำชายมาได้เป็นครั้งแรก, Children Lesser God(ค.ศ.๑๙๘๖) เรื่องรักของครูหนุ่มในโรงเรียนสอนคนหูหนวกกับภารโรงสาวผู้สูญเสียการได้ยิน ที่ทำให้ มาร์ลี มาร์ติน เป็นนักแสดงหูหนวกคนแรกสามารถคว้ารางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำหญิงได้เป็นคนแรก, The Miracle Workers(ค.ศ.๑๘๖๒) เรื่องราวความสัมพันธ์ของ เฮเลน เคลเลอร์ ผู้หญิงตาบอดผู้โด่งดังในการสร้างแรงบันดาลใจกับครูของเธอ ซึ่ง แพตตี้ ดุค สามารถคว้ารางวัลนักแสดงสมทบหญิงได้จากบท เฮเลน เคลเลอร์ หรือในภาพยนตร์ไทยเองก็เคยมีหนังเรื่อง ผู้ชายชื่อต้น ผู้หญิงชื่อนุช ที่ให้คนตาบอดและคนหูหนวกจริงๆ มาแสดงเป็นพระ-นาง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๕

ในการมอบรางวัลด้านภาพยนตร์ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าบทคนพิการเป็นบทที่ท้าทายนักแสดงหลายคนในการแสดงทักษะฝึกฝนตนเองให้สมบทบาทที่ได้รับ ดังเช่นในปี ค.ศ.๑๙๘๙ ที่เป็นการชิงชัยของตัวเก็งนักแสดงนำชายระหว่าง แดเนียล เดย์ลูอิส และทอม ครูซ ใน Born on The Fourth of July(ค.ศ.๑๙๘๙) ที่รับบททหารเวียดนามที่กลับมาในสภาพขาพิการต้องนั่งเข็นบนเวทีออสการ์นั้น ไม่วายที่จะถูกเหน็บแนมจากสื่อในตอนนั้นว่าเป็นปีที่ออสการ์แข่งขันกันด้วยรถเข็น

อย่างไรก็ตามหากจะกล่าวถึงหนังกลุ่มคนพิการที่ประสบความสำเร็จวงกว้างในยุคหลัง คงไม่อาจละเลยหนังเรื่อง Intouchables ไปได้

Intouchables เป็นหนังฝรั่งเศสซึ่งออกฉายในปี ค.ศ.๒๐๑๑ ผลงานกำกับของ อีริค โตเลนาโด และ โอลิวิเย่ร์ นากาช ที่ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องจริงของ ฟิลิป พอซโซ ดิ บอสโก เศรษฐีชาวฝรั่งเศสวัย ๖๐ ปี อดีตผู้บริหารบริษัทผลิตแชมเปญ เขาประสบอุบัติเหตุขณะเล่นกีฬาร่มร่อนพาราไกลดิ้งจนเป็นอัมพาตตั้งแต่คอลงไป กับ อับเดล เซลลู ชาวอัลจีเรียผู้คอยทำหน้าที่ดูแลเขาไม่ต่างจากเพื่อน เรื่องราวของทั้งคู่เคยถูกสร้างเป็นสารคดีทางโทรทัศน์เมื่อปี ค.ศ.๒๐๐๓ ในชื่อ A la vie, à la mort โดยฉบับภาพยนตร์ได้มีการดัดแปลงเปลี่ยนเป็นเรื่องราวของ เศรษฐีชาวฝรั่งเศส กับดริส ชายผิวดำที่เพิ่งพ้นโทษจากคุก

ก่อนฉายไม่มีใครคาดคิดว่าหนังเรื่องนี้จะทำเงิน แต่กลายเป็นว่าในประเทศมีคนซื้อตั๋วเข้าชมภายในสัปดาห์เดียวกว่า ๒ ล้านใบ ก่อนจะไปไกลกว่านั้นด้วยการกลายเป็นหนังทำเงินสูงสุดตลอดกาลของฝรั่งเศสอันดับ ๒ (เฉพาะรายได้ในประเทศฝรั่งเศสอันดับ ๑ คือ Welcome to Sticks) ความแตกต่างคือมันเป็นหนังที่ประสบความสำเร็จในหลายประเทศ ทั้ง เยอรมัน, เนเธอร์แลนด์, เกาหลีใต้, อิตาลี และญี่ปุ่น (โดยเฉพาะเยอรมัน Intoucables นับเป็นหนังฝรั่งเศสที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในรอบ ๔๐ ปี) จนเมื่อรวมรายได้ทั่วโลกหนังทำเงินไปกว่า ๔๑๒ ล้านเหรียญฯ กลายเป็นหนังฝรั่งเศสที่ประสบความสำเร็จสูงสุดตลอดกาล (หนังเข้าฉายที่ประเทศไทยในชื่อว่า ‘ด้วยใจแห่งมิตร พิชิตทุกสิ่ง’)

ซึ่งความสำเร็จของมันยังส่งผลให้เกิดการนำไปสร้างใหม่ในหลายประเทศ ทั้งอินเดียภาษาเตลูกูและทมิฬในชื่อ Oopiri (ปี ค.ศ.๒๐๑๖ ), อาร์เจนติน่า ในชื่อ Inseparables(ปี ค.ศ.๒๐๑๖) และล่าสุดกับฉบับของสหรัฐอเมริกาในชื่อ The Upside โดยมีดาราชื่อดังอย่าง เควิน ฮาร์ท และ ไบรอัน แครนสตัน รับบทนำ อนาคตยังมีแผนจะสร้างเป็นหนังอินเดียวภาษาฮินดู นอกจากนี้ เอริค โตเลนาโด หนึ่งในผู้กำกับยังเคยอ้างว่าเขาได้รับจดหมายขอบคุณจากผู้พิการนั่งรถเข็นกว่า ๓,๐๐๐ ฉบับเลยทีเดียว

intouchables03

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามันเป็นหนังตลกมองโลกในแง่ดีที่มีความสูตรสำเร็จของหนังคู่หูไม่น้อย แต่ก็มาด้วยองค์ประกอบที่ถึงพร้อมทั้งการแสดงหลักที่ยอดเยี่ยมของ โอมาร์ ซี กับ ฟรองซัวส์ ครูเซ่ต์ โดยเฉพาะมุขตลกของหนังเป็นมุขตลกสากลที่คนดูนอกประเทศฝรั่งเศสสามารถเข้าใจได้ไม่ยาก ต่างจากหนังตลกจากฝรั่งเศสส่วนใหญ่

ความสำเร็จในประเทศของหนังถูกวิเคราะห์ว่าสองตัวเอกก็เป็นเสมือนภาพเปรียบของขั้วตรงข้ามในสังคมฝรั่งเศส คือ ชนชั้นกลางมีฐานะชาวฝรั่งเศสที่อยู่มาตั้งแต่ดั้งเดิม กับคนผิวสีที่เป็นคนต่างด้าวอาศัยอยู่เขตชานเมือง นับตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ ๗๐ เป็นต้นมาการพัฒนาย่านที่อยู่อาศัยแถบชานเมืองของปารีสเริ่มต้น คนพลัดถิ่นได้ถูกแยกออกทั้งพื้นที่ ฐานะ การศึกษา ชีวิตความเป็นอยู่ และวัฒนธรรมที่ต่างกันกับคนฝรั่งเศสโดยสิ้นเชิง พวกเขาถูกมองว่าเป็นผู้ก่ออาชญากรรม ลักเล็กขโมยน้อย และมักถูกนโยบายจากรัฐบาลเอารัดเอาเปรียบ จนก่อให้เกิดการประท้วงต่อต้านอย่างรุนแรง ส่งผลให้มีหนังจำนวนมากที่เล่าถึงความขัดแย้งในสังคมจากกรณีนี้หลายเรื่อง หาก Intouchables กลับเป็นหนังที่มองคนสองกลุ่มนี้อย่างมีความหวัง และเปี่ยมอุดมคติ

อย่างไรก็ดีสิ่งที่น่าจะเกาะกุมใจผู้ชมวงกว้างของหนังจริงๆ คือมุขตลกคาบลูกคาบดอก และพล็อตว่าด้วยการแสวงหาความรัก

หลายปีที่ผ่านมา “ความถูกต้องทางการเมือง”(Political correctnes) ซึ่งหมายถึงการหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะสร้างความรู้สึกขุ่นเคืองแก่เพศ, ผิว, วัฒนธรรม, เพศภาพ, ผู้พิการ และ คนชรา กลายเป็นสิ่งที่ถูกกล่าวถึงอย่างแพร่หลายในสังคมทั่วโลก ซึ่งทำให้หนังและสื่อบันเทิงจำนวนไม่น้อยปรับตัวกับกระแสดังกล่าว ผิดกับ Intouchables ที่มุขตลกจำนวนมากของ โอมาร์ ซี นั้นหมิ่นเหม่ต่อการเหยียดคนพิการ เช่น ดริสที่แกล้งโกนหนวดให้ฟิลิปให้มีลักษณะคล้าย อดอล์ฟ ฮิตเลอร์, การแกล้งยื่นโทรศัพท์พร้อมบอกให้เขารับเอง ทั้งที่ก็รู้ว่าฟิลิปทำไม่ได้, หรือบอกว่าเพื่อนหญิงทางจดหมายของฟิลิปอาจอ้วนน่าเกลียดก็ได้ ฯลฯ แต่เพราะความสัมพันธ์ที่ต่างช่วยประคับประคองชีวิตที่บอบช้ำของทั้งคู่ ทำให้ทั้งสองคนมีความสุขกับมุขตลกเหล่านั้นร่วมกันได้ ดังที่ เอริค โตเลนาโด ผู้กำกับร่วมและเขียนบทหนังเรื่องนี้กล่าวว่า “อารมณ์ขันเป็นสิ่งที่ช่วยพวกเขาทั้งสองคนเอาไว้”

เพื่อนของฟิลิปคนหนึ่งเคยสงสัยถามเขาว่าทำไมถึงรับคนที่ประวัติไม่ดีอย่างดริสมาทำงาน ทั้งที่มีคนมากมายมาสมัครทำงาน เขาตอบด้วยเหตุผลที่เป็นประเด็นสำคัญซึ่งเป็นชื่อหนังนั่นคือ “ไม่สามารถแตะต้องได้” เพราะภายหลังจากพิการ ฟิลิปถูกปฏิบัติต่างออกไปจากเดิมและรู้สึกว่าตนเองไม่มีค่าพอสำหรับใคร การจะรับใครมาดูแลก็ไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญ

intouchables02

หากกลับกลายเป็นว่าดริส ซึ่งเป็นคนที่ไม่มีความรู้เรื่องการดูแลผู้ป่วย นิสัยกะล่อน ขี้ขโมย พูดจาขวานผ่าซาก ชอบออกตัวทุกครั้งว่าเขาจะไม่ทำงานอะไรให้ฟิลิป กลับพาเศรษฐีวัยกลางคนไปรู้จักโลกนอกบ้านอันโอ่อ่า ที่ได้เพียงนั่ง นอนอยู่บนรถเข็นไฮเทค ทั้งการพี้กัญชา ขับรถซิ่ง คุยเรื่องเพศ ฟังดนตรีสมัยใหม่ เช่นเดียวกับที่ฟิลิปพาดริสไปรู้จักแวดวงกีฬาพาราไกลดิ้ง, ภาพวาดศิลปะ, เพลงคลาสสิค และการแสดงโอเปร่า ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าสิ่งที่เขาทำคือการปฏิบัติกับคนพิการไม่ต่างจากเพื่อนคนหนึ่งที่ล้อกันได้ แกล้งกันได้ ผิดกับอีกหลายคนที่ดูแลฟิลิปประหนึ่งคนรับใช้ หรือรอรับคำสั่งเพียงอย่างเดียว

ดังที่ ฟิลิป พอซโซ ดิ บอสโก ผู้เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างหนังเรื่องนี้เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า

“ผมอยากมีชีวิตอย่างที่ควรจะเป็น ความสงสารเป็นสิ่งสุดท้ายที่คุณต้องการได้รับ ความสงสารเป็นเรื่องสิ้นหวัง ความสงสารคือสิ่งที่คนให้คุณเพราะเขากลัวที่จะมาดูแลคุณ ผมไม่อยากได้มัน ความเห็นอกเห็นใจ(Compassion)ผมก็ไม่ต้องการเหมือนกัน มันมาจากภาษาละตินหมายถึงความทุนทุกข์ ผม่ไม่อยากได้ความทุกข์มาใส่ตัว ผมอยากได้การปลอบใจ(Consolation)ซึ่งภาษาละตินหมายถึงดูแลผมให้เหมือนกับคนทั่วไป นับถือผมอย่างที่ผมเป็น”

ดริสอาจเพียงเอาพฤติกรรมส่วนตัวมาเปิดเผยให้ฟิลิปเห็นมากกว่าจะพยายาม หากหนึ่งในนั้นคือการเปิดใจกล้าที่จะมีความรัก เขาชอบเลขานุการสาวสวยของฟิลิปทั้งที่อีกฝ่ายไม่คิดจะชายตาแล แต่ดริสก็ไม่เคยละความพยายาม เช่นเดียวกับที่เขาก็คะยั้นคะยอให้ฟิลิปได้เจอกับเพื่อนหญิงทางจดหมายที่เขาติดต่อกันมานานดูสักครั้ง

การบอกให้ชายพิการลองเปิดใจของหนังนั้นในอีกทางหนึ่ง ก็ทำให้คนปกติได้ทำความรู้จักตัวตนของฟิลิปจริงๆ เช่นกัน

และเมื่อดูหนังเรื่องนี้จบมันก็เหมือนจะบอกให้เรามองย้อนกลับไปเช่นกันว่าคุณได้เปิดใจให้กับคนพิการบ้างหรือยัง ?

ข้อมูลอ้างอิง