ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


tor ngen tor thong

เมื่อหลายปีมาแล้วเคยนั่งรถตระเวนอีสาน ผ่านไปตามถนนสายรองระหว่างอำเภอ จะเป็นจังหวัดไหนก็จำไม่ได้แล้ว เห็นมีเพิงตั้งเรียงกันข้างถนน แขวนขายลูกมะพร้าวแห้งขนาดเล็กใหญ่ที่เอามาต่อกันเป็นตัวแมลง ก็ยังนึกแปลกใจ เพราะปกติเห็นของขายริมทางส่วนใหญ่มักเป็นของกิน แล้วนี่ขายตุ๊กตาแมลง ใครจะเอาไปทำอะไรกันนักกันหนาหรือ ?

จนเวลาผ่านมาอีกหลายปีจึงเพิ่งถึง “บางอ้อ” เมื่อได้รู้ว่าที่เห็นนั้นคือ “ต่อเงิน ต่อทอง” เครื่องรางเรียกทรัพย์อีกอย่างหนึ่ง

อาจเพราะชื่อ “ต่อ” ที่ความหมายหนึ่งแปลว่าทำให้นานขึ้น เช่น ต่อเวลา หรือทำให้ยาวขึ้น อย่างต่อเชือก จึงฟังดูมีความหมายทางบวกทางเพิ่มพูนอยู่แล้ว เมื่อมาผนวกรวมกับคำว่า “เงิน” คำว่า “ทอง” ก็เลยยิ่งดีเข้าไปใหญ่

แต่การจะจับเอาตัวต่อเป็นๆ มาเลี้ยงไว้ แบบเดียวกับเอาข้าวตอกใส่ขวดโหลเลี้ยงตัว “กระดิ่งเงิน-กระดิ่งทอง” คงทำไม่ได้ เพราะตัวต่อเป็นสัตว์สังคม อาศัยอยู่เป็นรังใหญ่ แค่โดนต่อต่อยสักตัวสองตัวก็แย่แล้ว บางทีถึงกับจับไข้ทีเดียว การจะเอามาเลี้ยงเล่นทั้งรังยิ่งไม่ต้องคิด

ดังนั้น การจะมี “ต่อเงิน-ต่อทอง” ไว้ในครอบครอง โดยเลี่ยงไปใช้ “ตัวแทน” คือลูกมะพร้าวแห้งต่อกัน ระบายสีเงินสีทอง แขวนไว้หน้าบ้านหน้าร้าน จึงย่อมสะดวกกว่าด้วยประการทั้งปวง

แต่ก็เคยเห็นแม่ค้าบางรายเหมือนกัน ที่เธอมี “ต่อเงินต่อทอง” ใส่ไว้ในกล่องเก็บเงิน โดยเป็นตัวต่อจริงๆ สองตัว (ตายแล้ว) อัดกรอบพลาสติกแบบอัดกรอบพระเครื่อง

นอกจากนั้นก็เคยเห็นร้านอาหารบางแห่ง เอารังต่ออันเบ้อเริ่ม (แน่นอน! ต้องเป็นรังเก่าอย่างที่ไม่มีตัวต่ออาศัยอยู่แล้ว) มาแขวนไว้เหนือทางเข้าหน้าร้าน รวมกับ “ไซ” ใบเขื่องผูกผ้าสีๆ ถ้าให้เดาก็คาดว่าก็คงมีความหมายในทางเรียกทรัพย์อย่างเดียวกันนั่นเอง

นอกจากตัวต่อแล้ว เคยเห็นเครื่องราง “แมลงภู่” ในคอลเลกชั่นของครูบาอาจารย์ด้านคติชนวิทยาทางเชียงใหม่ ท่านว่าทางเหนือนิยมกัน ทำเป็นไม้สลักตัวเล็กๆ ประจุอาคม เก็บไว้ในตลับใบเล็ก เป็นเครื่องรางมงคลสารพัดประโยชน์ รวมถึงเรื่องค้าขาย

คตินี้อาจเป็นความนิยมที่มาจากทางฝ่ายพม่า-มอญ เพราะดูเหมือนทางนั้นจะนับถือว่า “แมลงภู่” หรือ “ภมร” เป็นสัตว์มงคล ถึงขนาดในพระบรมมหาราชวังยุคโบราณอย่างที่สร้างใหม่ให้นักท่องเที่ยวไทยไปเดินดูในกรุงหงสาวดี จะมีท้องพระโรงสำหรับประดิษฐานบัลลังก์องค์สำคัญที่ใช้ในการพระราชพิธีต่างๆ อันมีนามและรูปลักษณ์ตามสัตว์และสัญลักษณ์มงคล เช่น ราชสีห์ ช้าง หงส์ นกยูง ดอกบัว ฯลฯ

หนึ่งในนั้นคือ “ภมราอาสนะบัลลังก์” หรือบัลลังก์แมลงภู่

tor ngen tor thong


srun

ศรัณย์ ทองปาน

เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์นิตยสาร สารคดี