ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


เมื่อสิบกว่าปีมาแล้วเคยมีโอกาสติดสอยห้อยตามไปเมืองจีนในทริปสื่อมวลชน จำได้ว่าวันหนึ่งบนรถทัวร์ คุณไกด์จีนก็พรรณนาเรื่อง “ผีเชียะ” หรือ “ปี่เซียะ” (Pixui) ให้ฟัง ว่าเป็นสัตว์ประหลาดในจินตนาการของคนจีน นับถือกันว่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์มาแต่โบราณ ลักษณะเป็นสัตว์ผสม มีตำนานว่าเป็นลูกตัวที่ ๙ ของมังกร มีหัวเป็นมังกร มีเขา ลำตัวเป็นสิงโต แต่มีปีก ที่สำคัญคือกินอย่างเดียวโดยไม่ขับถ่าย เพราะไม่มีรูทวาร จึงกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งโชคลาภและความมั่งคั่ง เพราะเหมือนมีแต่รับ ไม่มีจ่าย

จากนั้นพอเข้าไปใน “กู้กง” หรือพระราชวังโบราณ กรุงปักกิ่ง ไกด์ก็ชี้ให้ดูอีกว่าเห็นไหม ? บนลาดสันหลังคากระเบื้องสีเหลืองตามพระที่นั่งต่างๆ ก็ตั้งรูปเจ้าตัว “ผีเชียะ” หรือ “ปี่เซียะ” ทำด้วยกระเบื้อง นั่งอ้าปากเรียงเข้าแถวกันกับสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ในคติจีน อย่างมังกร และนกฟีนิกซ์ ด้วย

ฟังแล้วเกิดรู้สึกศรัทธาไกด์ขึ้นมาทันทีว่าเขาคงเห็นว่าทริปนี้เป็นพวกสื่อด้านศิลปวัฒนธรรมเนอะ เลย “อัด” ความรู้เรื่องทำนองนี้ให้เป็นพิเศษ

ที่ไหนได้! กว่าจะเข้าใจว่าแท้จริงแล้วคุณไกด์เล่าย้ำเล่าซ้ำทำไม ก็เมื่อทัวร์พาไปลงร้านขายหยก ตามธรรมเนียมทัวร์เมืองจีนที่คอยลากลูกทัวร์เข้าร้านหยก แวะร้านชา หาหมอแมะ ฯลฯ สรุปก็คือทั้งหมดทั้งมวลที่บรรยายมาตลอดทางก็เพื่อให้นักท่องเที่ยวไทยได้เข้าใจ “สตอรี่” แล้วจะได้ซื้อหาเจ้าตัวที่ว่านี้ติดตัวกลับบ้านไปเป็นเครื่องรางด้วย…นั่นเอง

ตลาดการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวไทยจึงผูกพันกับการหาเครื่องรางแปลกๆ ใหม่ๆ อยู่เสมอ อย่างที่คงเห็นว่าจนถึงทุกวันนี้ก็ยังมีทัวร์ฮ่องกงที่พาตระเวน “ไหว้พระ” ตามวัดที่มีเครื่องรางศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงสถานที่ที่มีชื่อเสียงในทาง “หาคู่” และ “หาผู้”

เครื่องราง “นำเข้า” อีกกลุ่มหนึ่ง ที่มีประวัติศาสตร์ผูกพันใกล้ชิดกับการท่องเที่ยวก็ได้แก่ “เทพทันใจ” จากพม่า

อย่างที่เคยเขียนเล่าในคอลัมน์นี้ไปแล้วว่าที่จริง “เทพทันใจ” คือ “ผีนัต” ตนหนึ่งในจักรวาลแห่งผีพม่า กิริยาอาการที่รูปปั้นชี้มือคือท่านกำลังบอกตำแหน่งที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ไม่ได้ตั้งใจมาเจิมหน้าผากให้ใคร แต่ไม่รู้อีท่าไหน ไกด์ที่พาคนไทยไปเที่ยววัดแห่งหนึ่งในกรุงย่างกุ้ง ดันไป “ให้ความรู้” ว่าศาลผีนัตตนนั้นคือ “เทพทันใจ” ที่สามารถอธิษฐานขออะไรได้ต่างๆ สารพัด จนถึงผลิตสร้างวิธีสักการะ “ที่ถูกต้อง” ว่าต้องเอาธนบัตรไปม้วนเสียบในมือ แล้วเอาหน้าผากไปให้ท่านเจิม อะไรทำนองนั้น

เลยมานิยมสร้างกันตามวัดในเมืองไทย จนถึงสร้างเป็นเครื่องรางเล็กๆ ห้อยคอ หรือเก็บไว้ในกล่องเก็บเงินของพ่อค้าแม่ค้า

กลับมาที่ “ผีเชียะ/ปี่เซียะ” อีกครั้งหนึ่ง คตินี้ต่อมาก็เดินทางมานิยมกันถึงเมืองไทย เคยเห็นทั้งอย่างที่ทำเป็นตัวเล็กๆ วางไว้บนหิ้งในร้าน แต่ที่พบบ่อยคือพวกที่ตัวโตๆ ขนาดเป็นศอก วางตั้งหน้าร้านให้เห็นกันจะๆ กันไปเลย

ตำนานจีนบางสำนวนเล่าว่า ผีเซียะเป็นสัตว์วิเศษอาศัยอยู่บนสวรรค์ วันหนึ่งเกิดถ่ายเรี่ยราด เง็กเซียนฮ่องเต้ผู้เป็นใหญ่จึงทำโทษด้วยการฟาด “ป้าบ!” เข้าให้ที่ก้น แต่ด้วยพลังแห่ง “หัตถ์เทวะ” จึงทำให้รูทวารของมันถึงแก่ตีบตันไปเลย

จึงเป็นที่มาของการกินอย่างเดียว ไม่ถ่ายออก คล้ายกับคติเครื่องรางเรียกทรัพย์อย่างไทยๆ จำพวก “ไซดักทรัพย์” ที่ให้เงินเข้าได้แต่ออกไม่ได้

ไม่รู้เหมือนกันว่าตัวพรรค์อย่างนี้ในคติฝ่ายจีน เขาต้องตั้งของกินให้ด้วยหรือไม่ เพราะตามตำนานบอกว่า เมื่อไม่มีรูทวารแล้ว เง็กเซียนฮ่องเต้จึงมีบัญชาว่านับแต่นี้ ขอให้เจ้าจงกินเฉพาะแต่เงินทองเพชรพลอยเท่านั้น ส่วนที่เมืองไทย มีคนบอกให้บูชาด้วยส้ม ขนมจันอับ หรือน้ำเปล่า-คงกลัวมันจะหิว

ดูน่าสงสารว่าถ้ากินเข้าไปแล้ว แถมถ่ายไม่ออกด้วย คงอึดอัดแย่เลย…


srun

ศรัณย์ ทองปาน

เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์นิตยสาร สารคดี