passport02Passport  


เรื่องและภาพ : สุชาดา ลิมป์

mizen00

อย่างกับเทพสตรีมีชีวิตลุกขึ้นมาร่ายรำอวดเรือนร่าง

เมื่อเริ่ม “ระบำอัปสราจาม” ประกอบทำนองคล้ายบทสวดในพิธีกรรมศาสนา

เป็นนาฏยลักษณ์ที่ลูกหลานชาติพันธุ์จาม (Chăm) แห่งรัฐจามปาโบราณ (Chăm Pa) ต้อนรับผู้มาเยือน “ปราสาทหมีเซิน” (Mỹ Sơn) ในอำเภอฮอยอัน จังหวัดกว๋างนาม ภาคกลางของเวียดนาม

ทั้งเสื้อผ้าหน้าผมและท่วงท่าที่ลอกเลียนจากศิลาจำหลักฐานโยนีและประติมากรรมจามโบราณตามกลุ่มปราสาทหมีเซิน-ศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์นั้น พลิ้ว-กระชับกลืนไปกับทุกสัดส่วนและจังหวะช้า-เร็ว

น่ามองตั้งแต่ศีรษะ ใบหน้า สายตา ลำคอ ไหล่ แขน มือ เอว สะโพก ขา จดปลายเท้า

หมู่อัปสรานี้เป็นเทพชั้นล่าง เกิดจากการกวนเกษียรสมุทรตามคัมภีร์วิษณุปุราณะมีนาม รูปทรงองค์เอวงดงามมาก ชายใดพบล้วนคลั่งไคล้ แต่กลับไม่มีเทวดาหรืออสูรใดรับเป็นคู่ครอง พวกนางจึงต้องมีหน้าที่บรรเลงเพลงขับกล่อมบำเรอกามสร้างความรื่นรมย์แก่เทวดา

ร่างกายและจิตวิญญาณของหญิงจามที่ร่ายรำบนเวที สื่อถึงพิธีกรรมบูชาบุรุษเทพ ให้ความรู้สึกแตกต่างจากนางฟ้าในวรรณคดีหรืออัปสราอย่างขอม ไม่ได้อรชรอ้อนแอ้น กลับเซ็กซี่และแข็งแกร่งในตัว

จังหวะงอเข่าย่อตัว ยกขาสูง บิดเอว ฯลฯ ของหมู่นาง ผู้หญิงด้วยกันเห็นยังตรึงตา ประสาอะไรกับหนุ่มน้อยใหญ่ที่ทำทียืนบันทึกภาพหน้าเวที แต่ใจกำลังระทึก-อุปโลกน์ตนเป็นเทวดาผู้รับการประโลม

อันที่จริงมีการแสดงด้านศิลปวัฒนธรรมของชาวจามอีกหลายชุด แต่ดูเหมือนระบำอัปสราที่คืนชีพหลังหลับใหลไปหลายพันปีจะตื่นตานักท่องเที่ยวที่สุด คล้ายมนต์สะกดไม่ให้ผู้คนหลงลืมอาณาจักรจามปา

จบการแสดงจึงเที่ยวชมเทวสถานหมีเซินอายุกว่า ๑,๖๐๐ ปี ได้อรรถรสขึ้น

กลุ่มวิหารบนเนื้อที่ ๒ ตารางกิโลเมตร เคยมีปราสาทรายล้อม ๗๓ หลัง แต่ในสงครามเวียดนามใช้เป็นกองบัญชาการจึงถูกระเบิดฝ่ายอเมริกันทำลายเหลือ ๒๒ หลัง เท่าที่เหลือหากจะชมให้ทั่วก็ต้องใช้เวลา
เล่าขานว่า ภูมิศาสตร์ของดินแดนศักดิ์สิทธิ์นี้ผ่านวิธีวิเคราะห์อย่างเซ็กซี่!

บรรพชนชาวจามที่นับถือศาสนาพราหมณ์ฮินดูเลือกสร้างปราสาทบนที่ราบต่ำกลางหุบเขากว้างที่เปรียบดั่งโยนี (สัญลักษณ์เพศหญิง) รองรับความเข้มแข็งของเพศชายซึ่งปรากฏในรูปของภูเขารายล้อมที่มีลักษณะคล้ายลึงค์ (สัญลักษณ์เพศชาย) ใจกลางหุบเขามีลำธารไหลผ่านเปรียบดั่งน้ำที่ไหลจากลึงค์ผ่านโยนี ภูมิประเทศของที่นี่จึงคล้ายแท่นบูชาทางศาสนา อันเป็นคตินิยมดั้งเดิม

กลุ่มปราสาท-ศาสนสถานในหุบเขาหมีเซินวันนี้ อาจไม่ยิ่งใหญ่เท่าวันที่เคยใช้ประกอบพิธีบูชาเทพและแสดงบารมีของตน แต่ที่เหลืออยู่อย่างฐานศิลาทรายขนาดใหญ่ (เดิมคืออาคารไม้บูชาศิวลึงค์) สร้างมาตั้งแต่กษัตริย์จามองค์แรก หรือปราสาทก่ออิฐหลังน้อยที่กษัตริย์องค์อื่นสร้างต่อมาก็ยังปรากฏความสง่า

เราไม่ค่อยพบระเบียงยาวล้อมรอบปราสาท ที่น่าสนใจอีกอย่างคือปราสาทของชาวจามมีขนาดเล็กและไม่ได้มีฐานสูงแบบปราสาทเขมร เป็นเสน่ห์ที่ทำให้เราจำแนก-จดจำปราสาทจามได้ง่ายขึ้น

 

อันที่จริงเวลานี้นอกจากชาวจามที่อาศัยทางตอนกลางของเวียดนาม ยังมีอีกมากอยู่ทิศใต้ พวกเขานับถือศาสนาต่างกัน เพราะแต่แรกบรรพชนผู้ตั้งเมืองจามปารับศาสนาพราหมณ์ฮินดูจากฟูนาน (รัฐเพื่อนบ้านที่เกิดก่อน) กระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ ๑๐ ชาวจามได้ใช้อาณาเขตเมืองติดทะเล (อ่าวดานัง) สร้างฐานะโดยเดินเรือไปค้าขายตามหมู่เกาะไกลถึงแถบตะวันออกกลางจนถึงจีน ความสัมพันธ์การค้านำมาสู่การนับถือพุทธศาสนานิกายมหายาน และศาสนาอิสลาม แต่ก็ยังมีผู้นับถือพราหมณ์ฮินดูอยู่ จนศตวรรษที่ ๑๗ เกิดสงครามถูกอาณาจักรขอมโบราณยึดเมืองหลวง สังหารกษัตริย์จามปาแล้วรวมเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรขอมโบราณ ดินแดนส่วนที่เหลือยังถูกอาณาจักรไดเวียดยกทัพตี-ยึดเป็นส่วนหนึ่งของเวียดนาม เมื่อสิ้นแผ่นดินชาวจามจึงอพยพลงทิศใต้ กลายเป็นชนกลุ่มน้อย

จะท่องโลกหมีเซิน มรดกของชาติพันธุ์จาม-อาณาจักรจามปาให้อิ่ม จึงไม่น่าพลาด “พิพิธภัณฑ์ประติมากรรมจามแห่งดานัง” อยู่ตรงวงเวียนใหญ่ ริมฝั่งแม่น้ำซองหาน (ที่ตั้งของสะพานมังกรทอง)

แม้มีขนาดเล็กแต่ห้องหับโปร่ง แสดงวัตถุของชาวจามยุคอาณาจักรจามปารุ่งโรจน์ไว้หลายร้อยชิ้น หลากรูปแบบศิลปะทั้งที่เรียก “ศิลปะหมีเซิน” “ศิลปะเคืองหมี” “ศิลปะจ่าเกี่ยว” “ศิลปะดงเซือง” ฯลฯ

เด่นที่การแกะสลักจากหินทราย สร้างขึ้นตามศรัทธาที่มีต่อศาสนาฮินดู พระศิวะ พระวิษณุ และลึงค์-โยนี ลวดลายสะท้อนอิทธิพลศิลปะแต่ละยุคสมัยเมื่อชาวจามหันไปนับถือศาสนาต่างๆ

 

ต่อให้คนที่ไม่ได้หลงใหลประวัติศาสตร์มาเที่ยวก็ยังสนุกได้กับรอยพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ที่เคยเกิดขึ้นจริง แม้หลายสิ่งสาบสูญแต่ส่วนที่ยังอยู่ก็เป็นหลักฐานย้ำความล้ำค่าของอารยธรรมได้ดี

และหลายท่วงท่าของ “ระบำอัปสราจาม” ที่ติดตาจากบนเวทีเมื่อพบที่นี่ก็ชวนสยิว

คล้ายเทพสตรีผู้เคยมีชีวิตถูกมนต์สะกดขณะร่ายรำอวดเรือนร่างไว้จนกลายเป็นหิน