เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : จิตรทิวัส พรประเสริฐ และ ณัฐวรีย์ ฐิตวัฒนะสกุล

วาระที่ “มัทนะพาธา” ดำเนินมาถึงขวบปีที่ ๑๐๐

สำนักงานมูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี จึงผุดไอเดียเผยแพร่งานพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖ ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้รับยกย่องจากวรรณคดีสโมสรเป็น “ยอดบทละครพูดคำฉันท์” นำเสนอโดยคัดบางตอนมาเรียบเรียงขับกล่อมในรูปของการ “อ่านทำนองเสนาะ” ผ่านวิธีตีความอย่างละเอียดอ่อนจากกลุ่มคนรักภาษาไทย

มากกว่าการแสดงคือเป็นละครที่เคร่งครัดให้นักแสดงทำความเข้าใจทุกอักษรมากกว่าจดจำเนื้อหา ด้วยเสน่ห์ของละครชุดนี้คือ “ถือบทร่วมฉาก” เพื่อสะกดให้ผู้ชมเข้าถึงรสวรรณกรรมผ่านลีลาน้ำเสียง

กำกับโดย ครูเล็กภัทราวดี มีชูธน ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ณ สวนมัทนะพาธา พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี เมื่อปลายปี ๒๕๖๖

เป็นการเล่ามัทนะพาธาที่พิเศษนักสำหรับคนรักภาษาไทย

mattanapata01 2

:: วัจนภาษาลีลาดนตรี ::

“เราไม่ได้ทำละครเพื่อความยิ่งใหญ่ของละคร”

ครูเล็ก-ภัทราวดีให้เหตุผลที่มัทนะพาธาชุดนี้ไม่เน้นฉากแสงสีและลีลาแสดง

mattanapata02

“เราเห็นคนทำมัทนะพาธามาเยอะทั้งละคร บัลเลต์ ครั้งนี้จึงนำเสนอในรูปของ ‘poetry reading’ ให้คนฟังซึ่งยังไม่เคยมี โดยให้ความสำคัญกับน้ำเสียงในการอ่านบทกวีที่ไม่ใช่แค่อ่านไปตามบทประพันธ์โดยไม่มีอะไรในน้ำเสียงเลย ยิ่งบทประพันธ์เขียนด้วยภาษาที่ยาก นักแสดงยิ่งต้องเข้าใจความหมายของภาษาในทุกตัวอักษรจึงสามารถเล่าเรื่องด้วยลีลาในน้ำเสียงให้ผู้ชมเข้าถึง”

เพราะต้องไม่ลืมว่าวัตถุประสงค์ในการอ่านก็เพื่อให้คนอื่นฟังแล้วเกิดภาพพจน์

“ทำนอง” จะ “เสนาะ” จึงต้องไพเราะตามลีลา รวมถึงออกเสียงสูง-ต่ำจังหวะสั้น-ยาวให้ถูก รู้จักใส่อารมณ์ให้สอดคล้องตามรสรัก โศก ตื่นเต้น ขบขัน โกรธ ฯลฯ เพราะเสียงที่ต่างส่งผลต่อจินตนาการผู้ฟัง

เช่นฉากเทพบุตร “สุเทษณ์” (อัษฎาวุธ เหลืองสุนทร) ดำรัสสั่งให้วิทยาธรผู้เชี่ยวชาญด้านเวทร่ายมนตร์สะกด “มัทนา” (ผศ.ดร.สุกัญญา สมไพบูลย์) เทพธิดาที่ทรงปรารถนาให้ตกอยู่ในภวังค์เพื่อมาเข้าเฝ้าพระองค์ แม้ก้ำกึ่งรู้สึกตัวนางก็เล่นลิ้นคมคายผ่านน้ำเสียงทระนงอย่างสตรีผู้ไม่ยินดีให้ใครฝืนหัวใจ

สุเทษณ์ : รักจริงมิจริงฤก็ไฉนอรไทยบ่แจ้งการ
มัทนา : รักจริงมิจริงก็สุระชาญชยะโปรดสถานใด?
สุเทษณ์ : พี่รักและหวังวธุจะรักและบทอดบทิ้งไป
มัทนา : พระรักสมัคณพระหทัยฤจะทอดจะทิ้งเสีย?
สุเทษณ์ : ความรักละเหี่ยอุระระทดเพราะมิอาจจะคลอเคลีย
มัทนา : ความรักระทดอุระละเหี่ยฤจะหายเพราะเคลียคลอ?

“การจะอ่านกวีให้ผู้ฟังเห็นภาพมันไม่ง่าย นักแสดงต้องรู้ว่าควรใช้น้ำเสียงอย่างไรในบท ถ่ายทอดความไพเราะของภาษาไทยด้วยความสนุก กระตุ้นให้ผู้ฟังเห็นคุณค่า หลงรัก อยากใช้ภาษาไทย”

ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดงย้ำความสำคัญของละครเพื่อภาษา

mattanapata03

“ภาษาที่อยู่ในมัทนะพาธามีความไพเราะจากใจ สมัยก่อนอาจใช้วิธีอ่านบทร้อยกรองแบบท่องอย่างเดียว สมัยนี้เราใช้วิธีอ่านผ่านการร้องเพลงด้วย”

คือเทคนิคที่ครูเล็ก-ภัทราวดี ผู้สอนพิเศษและบรรยายวิชาศิลปะการแสดงใช้สอนเพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนโรงเรียนภัทราวดีมัธยมศึกษา หัวหิน ในพื้นที่ร่วมอวดฝีมือ บางช่วงบางตอนของการแสดงอ่านกวีนิพนธ์จึงมีการขับร้องประสานเสียงแทรกไว้เพิ่มความเพลิดเพลิน

นับเป็นความละเอียดอ่อนของผู้สร้างที่ไม่ได้ให้ความสำคัญเฉพาะฉาก-ตัวละคร

ถึงคราววงประสานเสียงบรรเลงกึกก้องก็ไม่มีสิ่งใดเกรียงไกรเทียมเสียงผสานนั้น

…ความรักเหมือนโรคา บันดาลตาให้มืดมล
ไม่ยินและไม่ยล อุปะสัคคะใดใด…

mattanapata04

โดยมี อานันท์ นาคคง ศิลปินศิลปาธร สาขาดนตรีประจำปี ๒๕๖๒ รับไม้เป็นวาทยกรคุมบรรเลงวงดนตรี-ร้องประสานเสียงให้ทุกจังหวะของผืน ราง และไม้ตีมีเอกภาพ ดังคมชัดคล้ายมีเรื่องราวอยู่ในเสียงสูงต่ำ แสดงพลังภาษาทางดนตรีให้แม้แต่ “คนที่ไม่เข้าใจดนตรี” ยังสัมผัสได้ถึงความเท่จากการเดินทำนอง

รองศาสตราจารย์ ดร. อาทิตย์ ชีรวณิชย์กุล อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมให้ความเห็นในฐานะผู้ร่วมแสดงอ่านบทพระราชนิพนธ์

“สิ่งที่ผมเรียนรู้จากครูเล็กในทุกครั้งที่มาซ้อมมัทนะพาธาคือเทคนิคการอ่านจากอินเนอร์ อย่างบทพรรณนาธรรมชาติในวรรณคดีซึ่งมีความสำคัญต่อการสร้างจินตภาพ เวลาครูเล็กอ่านคนฟังจะเห็นภาพว่าเป็นดอกไม้หนึ่งดอก สองดอก สามดอก มีลม มีกลิ่นหอม นี่คือพลังของการอ่านออกมาแบบเข้าใจครับ”

mattanapata06

“และเนื่องจากมัทนะพาธาเป็นบทละครพูดคำฉันท์ ผู้อ่านจึงต้องเคารพข้อบังคับของฉันท์ที่ให้ความสำคัญกับ ‘คำครุ-ลหุ’ อันเป็นลักษณะของภาษาบาลี-สันสกฤตด้วย”

เข้าใจอย่างง่าย ครุ คือ คำสระเสียงยาวและมีตัวสะกด ลหุคือคำสระเสียงสั้นและไม่มีตัวสะกด

“สมัยโบราณกวีที่นำฉันท์มาแต่งเป็นภาษาไทย จะนิยมให้ครุ-ลหุเป็นเรื่องของการลงน้ำหนักเสียงมากกว่าจะเคร่งครัดที่รูปคำ ซึ่งมันอ่านยากเหมือนกันโดยเฉพาะคำที่มีสระอะเมื่ออยู่ในตำแหน่งที่เป็นลหุจึงไม่ควรลงน้ำหนัก เพราะลหุแปลว่าเบา เร็วฉับไว ในหลวงรัชกาลที่ ๖ ทรงแต่งฉันท์ที่เน้นรูปคำมากขึ้น ปรากฏคำลหุจำนวนไม่น้อยในงานพระราชนิพนธ์ที่ทรงใส่ประวิสรรชนีย์เพื่อช่วยให้ผู้อ่านสะกดคำง่าย”

อย่างในบทที่อาจารย์อาทิตย์แสดงเป็น “มายาวิน” วิทยาธรผู้ร่ายมนตร์สะกดนางมัทนา ในอินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑ ก็ปรากฏคำครุ-ลหุที่ประวิสรรชนีย์ เช่น ผกา ประวิสรรชนีย์เป็น ผะกา, กุพชกะ (อ่านว่า กุบ-ชะ -กะ) ประวิสรรชนีย์เป็น กุพชะกะ เป็นต้น

สำหรับผู้ฟัง-ผู้ชมอย่างเรา แค่อ่านออกเสียงอย่างคล่องแคล่วให้ดังพอได้ยินทั่วถึงโดยไม่ตะโกน หรือออกเสียง ร ล และคำควบกล้ำให้ชัดเจนก็เรื่องใหญ่แล้ว แต่ผู้อ่าน-ผู้แสดงไม่เพียงเข้าใจลักษณะของครุ-ลหุ รู้จักแบ่งคำแบ่งวรรคให้ถูกตามหลักคำประพันธ์ ระวังในเรื่องความหมายเพราะบางคำไม่อาจอ่านแบบแยกคำ ยังท้าทายผู้แสดงที่ต้องสื่อสารให้ผู้ฟังจำแนกได้ด้วยว่าตนกำลังอ่านทำนองเสนาะให้ฟังเป็นคำฉันท์ หรือกำลังอ่านฉันท์ให้รู้ว่าเป็นคำพูด เพื่อให้ผู้ฟังเอิบอาบถึงรสวรรณศิลป์

มายาวิน : ไม้เรียกผะกากุพ- ชะกะสีอรุณแสง
ปานแก้มแฉล้มแดงดรุณีณยามอาย

ที่เหลือปล่อยให้พลังของศิลปะภาษาเป็นเครื่องชั่งสติปัญญาผู้ฟัง

ให้ทำนองเสนาะนำพาจินตนาการสู่เรื่องราวของกุหลาบดอกหนึ่ง

mattanapata07

:: กุหลาบมอญในสวนมัทนะพาธา ::

“กุหลาบในมัทนะพาธาสีอะไร”

รศ.ดร.อาทิตย์ ย้อนเล่าถึงวันที่ครูเล็ก-ภัทราวดีส่งคำถามในกรุ๊ปไลน์ เพื่อจะนำไปเป็นโจทย์สำหรับออกแบบชุดแสดงของนางมัทนา เขาจึงศึกษาจากในพระราชนิพนธ์ที่เรียกดอกกุหลาบว่า “กุพชกะ” ซึ่งพระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป) สืบค้นจากปทานุกรมสันสกฤต-อังกฤษของเซอร์ โมเนียร์ วิลเลียมส์ แล้วอธิบายว่า กุพชกะ คือ “Rosa moschata” (กุหลาบมัสค์) เป็นสายพันธุ์ที่มีมาช้านานและไม่ชัดเจนที่มาในต้นกำเนิดตามธรรมชาติ แต่คาดกันว่าน่าจะอยู่ในเทือกเขาหิมาลัยตะวันตก

“ซึ่งก่อนครูเล็กถาม มีอาจารย์ท่านหนึ่งไปเที่ยวลาดักห์ ประเทศอินเดีย และพบกุหลาบป่า ‘Rosa webbiana Wall ex Royle’ เติบโตอยู่บนเทือกเขาหิมาลัยที่ความสูง ๔,๔๐๐ เมตร พอท่านส่งรูปมาให้ชม ผมก็นึกถึงในบทพระราชนิพนธ์ที่บรรยายลักษณะว่า ‘ไม้เรียกผกากุพ- ชะกะสีอรุณแสง ปานแก้มแฉล้มแดง ดรุณี ณ ยามอาย’ จึงเรียนครูเล็กไปว่า ‘สีอรุณแสง’ น่าจะเป็นชมพูแดงเรื่อๆ เหมือนแก้มหญิงสาวที่แดงซ่านเวลาเขินอาย ไม่ใช่สีแดงเลือดอย่างในตำนานกุหลาบของกรีก”

mattanapata08

เมื่อได้ข้อมูลเรื่องสี ประกอบการค้นคว้าที่ว่าแม้พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงพระราชนิพนธ์มัทนะพาธาขึ้นจากจินตนาการ แต่ก็มีเค้าว่าอาจอิงโครงแบบอินเดียโบราณเพื่อให้เหมาะแก่เรื่องราวที่มีลักษณะเป็นตำนาน ฉากและตัวละครจึงมีกลิ่นอายคล้ายแขก เมื่อนำมาเชื่อมโยงกับชื่อนาง “มัทนา” ที่ถูกสาปให้เป็นกุหลาบ และในพระราชนิพนธ์ก็กล่าวถึงดอกกุหลาบด้วยคำว่า “กุพชกะ” จึงชวนให้เข้าใจได้ว่าดอกกุหลาบสีอรุณแสงน่าจะได้บันดาลใจจากเทือกเขาหิมาลัย

ครูเล็กพยายามทำความเข้าใจผสานจินตนาการที่คาดว่าในยุคสมัยของรัชกาลที่ ๖ นั้นหากจะหาเทียบดอกกุหลาบสีอรุณรุ่งให้คนไทยเห็นภาพชัดเจนด้วยก็น่าจะใกล้เคียง “กุหลาบมอญสีชมพู” ลักษณะเป็นดอกช่อ กลีบดอกสีชมพู กลิ่นหอม มีบันทึกว่าชาวมอญนำมาปลูกและใช้กลิ่นของกลีบดอกสำหรับแต่งกลิ่นขนมมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

mattanapata09

“ตอนที่ครูเล็กโทรมาหาแล้วบอก…ไก่ ฉันจะทำมัทนะพาธา แต่ไม่ใช่ภาพอินเดียที่คนเคยเห็น ฉันอยากให้มีความเป็นมัทนะพาธาที่เกิดขึ้นในพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน อยากให้มีดอกกุหลาบอยู่บนศีรษะและบนตัวของนักแสดง เธอมาจัดการเครื่องแต่งกายให้หน่อย”

แต่แรก วรายุฑ มิลินทจินดา นักแสดงและผู้จัดละคร มอบหมายให้ทีมงานประดิษฐ์เครื่องศีรษะนางมัทนาโดยใช้ไม้ไผ่น้ำหนักเบาทำโครง หักไม้แขวนเสื้อเป็นสี่เหลี่ยม-กากบาท ผูกลวดให้สวมศีรษะได้

“แม้เราจะพยายามทำให้น้ำหนักเบาที่สุดแล้วแต่เมื่อถึงมือครูเล็กท่านก็คิดถึงนักแสดงด้วยว่าเวลาถอดเข้าถอดออกอาจทำให้รู้สึกเจ็บ จึงขอให้เปลี่ยนมาใช้ ‘งอบ’ แล้วยังทำให้ได้น้ำหนักที่เบาลงอีก ซึ่งมันลงตัวมาก และทำง่ายด้วยแต่เรามองข้ามเพราะคิดใหญ่ว่าเป็นการแสดงในวังเลยต้องอลังการ”

คิดเยอะเกิน = คิดน้อยไป คือสิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากครูผู้เป็นที่รัก

กระนั้นในความน้อยก็ยังซ่อนความใส่ใจรายละเอียดไว้มากมาย

“ชุดที่เราคิดว่าสมบูรณ์แล้ว พอให้นักแสดงสวมจริงขณะซ้อมการแสดงก็ยังพบจุดบกพร่องได้ และครูเล็กไม่รีรอที่จะสั่งแก้ไขทันที ในบทของมัทนาเมื่ออยู่บนสวรรค์ต้องเดินเร็วแต่ดูนิ่งเหมือนลอย พอถูกสาปเป็นดอกกุหลาบก็ต้องเดินเร็วลงจากบันไดอาคารเพื่อเปลี่ยนมาใช้ฉากโลกมนุษย์ เสื้อผ้าจึงต้องเอื้อต่อการเคลื่อนไหวอย่างคล่องตัว ครูเล็กสั่งให้แก้กระโปรงเลย โอ้โห! ตัด เลาะ เย็บผ้ากันใหม่เดี๋ยวนั้น เป็นคนอื่นเขาอาจไม่กล้าให้ทำนะ เพราะมันมีชุดเดียว เสียแล้วเสียเลย”

mattanapata11 2

ไม่เฉพาะนางเอกที่ได้รับความสำคัญ ตัวละครที่ใช้นักแสดงคนเดียวเล่นสองบทก็ได้รับการใส่ใจ

“เรารับบรีฟจากครูเล็กว่าตัวพระจะใช้นักแสดงคนเดียวเป็นทั้งสุเทษณ์และท้าวชัยเสน เมื่อถึงเวลาจะเปลี่ยนชุดกันด่วนๆ เครื่องแต่งกายต้องเอื้อให้นักแสดงเปลี่ยนได้เร็ว จึงออกแบบชุดเทวดาของสุเทษณ์เป็นเสื้อคลุมสีขาวใช้ผ้าน้ำหนักเบาช่วยให้เวลาเคลื่อนที่แล้วลมสามารถทำให้ชุดพลิ้วสมกับที่อยู่บนสวรรค์ แต่สีขาวอย่างเดียวก็ยังไม่พอ เพราะการแสดงชุดนี้ไม่เน้นแสงสี มีเพียงแสงเบาๆ จะประโคมอะไรให้ชุดเด่นก็คงไม่เหมาะ ขณะเดียวกันพื้นที่การแสดงเป็นที่โล่ง ถ้าไม่มีเครื่องประดับศีรษะเลยจะไม่ดึงดูดสายตาผู้ชมที่อยู่ไกล แต่ก็ต้องไม่เทอะทะเกิน สิ่งที่ยากคือความพอดี พอครูเล็กตีความจากบทว่าฉากเป็นสวรรค์อยากใช้กลุ่มเมฆเป็นสัญลักษณ์จึงให้วงมโหรีที่อยู่มุมระเบียงด้านหนึ่งแต่งกายด้วยชุดโทนสีฟ้ามองไกลๆ เหมือนหมู่เมฆ ชุดพระเอกจึงนำสำลีมาแผ่ปะบนมงกุฎแล้วพ่นสีสเปรย์ให้ดูเป็นเมฆไปด้วยเลย!

mattanapata11

แม้หลายคนบอก ดีที่สุดของการชมมัทนะพาธาเวอร์ชั่นนี้คือหลับตา

แต่นั่นล่ะ หากหลับตาตลอดการแสดงก็คงพลาดชมความสด-สนุกหน้าฉากที่ปรากฏผ่านเครื่องแต่งกายของตัวละคร และการใช้ประโยชน์จากอาคารสถานที่อย่างชาญฉลาด ซึ่งคงไม่มีสถานที่ใดเหมาะจะแสดงเรื่องนี้เท่าพระราชนิเวศน์มฤคทายวันอีก เพราะนอกจากความงามด้านสถาปัตยกรรม ความผูกพันของสถานที่ต่อเจ้าของบทประพันธ์ อาคารซึ่งรอบด้วยระเบียงสามด้านเชื่อมต่อกันนั้นยังใช้แทนฉากภาคสวรรค์ ขณะที่ด้านล่างของอาคารซึ่งเป็นสวนมัทนะพาธาก็แทนฉากภาคโลกมนุษย์ได้อย่างลงตัว

ทุกอย่างไม่ใช่เรื่องบังเอิญ อย่างที่ไว้บอกตอนต้นแล้วนั่นละ…

มันผ่านวิธีตีความอย่างละเอียดอ่อนจากกลุ่มคนรักภาษาไทย

mattanapata12