เรื่องและภาพ : สุชาดา ลิมป์

ชุ่มอ๊ก ม่วนใจ๋ สงกรานต์ปี๋ใหม่ รดน้ำดำหัวดอยหลวงเชียงดาว

เมษายน ๒๕๖๒ กลายเป็นเดือนแห่งการส่ง “น้ำใจ” ร่วมดับร้อน

เวลานี้ที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวมีจิตอาสาจากเครือข่าย “เรารักดอยหลวงเชียงดาว” ขมีขมันเปิดกล่องพัสดุนำสิ่งอุปโภคบริโภคที่ได้รับบริจาคจากทั่วสารทิศออกมาคัดแยกตามประเภท

เหตุจาก “ดอยหลวงเชียงดาว” เกิดไฟลุกไหม้ป่าต่อเนื่องเกือบสัปดาห์โดยไม่สามารถดับได้เพราะการเข้าถึงพื้นที่ภูเขาชันที่มีความสูงเป็นอันดับ ๓ ของประเทศไทยเป็นไปด้วยความยากลำบาก และความช่วยเหลือจากภาครัฐก็ดูไร้วี่แววการมาถึง ภาคประชาชนจึงออกโรง

“เห็นเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวมีเครื่องมือเพียงสิ่งพื้นฐานอย่างไม้ตบไฟ ถังดับไฟแบบสเปรย์ ผมจึงนึกถึงที่เคยเห็นจากวัดถ้ำผาปล่องเมื่อครั้งพาเยาวชนในพื้นที่ไปทำแนวกันไฟรอบวัด ทางวัดเขาใช้ ‘เครื่องเป่าลม’ ช่วยทุ่นแรง เป็นการดัดแปลงจากเครื่องมือที่ชาวบ้านใช้พ่นเมล็ดพันธุ์หรือพ่นปุ๋ยตามพื้นที่เกษตร เครื่องจะเป่าใบไม้ให้กระเจิงเพื่อเปิดช่องว่างแนวยาวในป่าซึ่งมีความกว้างมากพอที่จะป้องกันไฟป่าลุกลามต่อเนื่องได้ ช่วยลดแรงงานมนุษย์และทำงานได้เร็ว ประกอบกับรู้จักน้องคนหนึ่งเป็นตัวแทนขายเครื่องพ่นคุณภาพดีนำเข้าจากญี่ปุ่นจึงได้รับความช่วยเหลือให้ซื้อได้ในราคาพิเศษที่ลดจากราคาขายปรกติถึง ๔๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วทันทีที่เราเปิดรับบริจาคก็มีผู้ช่วยเหลือเยอะมาก”

สุรศักดิ์ เก่งกล้า สมาชิกกลุ่มม่วนใจ๋ (กลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีธรรมชาติเชียงดาว) เล่าจุดเริ่มที่ชาวบ้านต้องลงมือสร้างเครือข่าย “เรารักดอยหลวงเชียงดาว” เพื่อระดมทุนช่วยเหลือปัญหาไฟป่ากันเอง

“เครื่องเป่าลมชุดแรกเดินทางมาถึงเชียงดาวในช่วงบ่ายของวันที่ ๓๑ มีนาคม เป็นเครื่องขนาดเล็ก ๓ เครื่อง ขนาดใหญ่ ๙ เครื่อง ทดลองสั่งมาเปรียบเทียบว่าแบบไหนตอบโจทย์การใช้งานในพื้นที่มากกว่า ตอนนั้นไฟป่ามาระลอกสองแล้วตรงบริเวณหน้าถ้ำ ควันหนามาก ทั้งทหาร เจ้าหน้าที่ป่าไม้ อาสาสมัคร และหลายๆ หน่วยงานต่างมาลงพื้นที่ช่วยเหลือ เราจึงนำเครื่องเป่าลมไปช่วยทำแนวกันไฟ ต้องเดินขึ้นเขาไปชั่วโมงหนึ่งกว่าจะได้ทำ สรุปคือเครื่องใหญ่เหมาะแก่การใช้งานมากกว่า กำลังลมแรง และยิ่งใช้น้ำหนักยิ่งเบาเพราะมีแรงดันช่วยในการขับเคลื่อน จึงสั่งซื้อเครื่องใหญ่เพิ่มจนสินค้าที่มีพร้อมส่งหมดเกลี้ยงแล้ว”

ความพยายามดับไฟป่าให้ดอยหลวงยังคงเป็นไปต่อเนื่องแต่ดูเหมือนกำลังที่มีจะไม่พอ

๒ เมษายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เดินทางไปมณฑลทหารบกที่ ๓๓ ค่ายกาวิละ ในอำเภอเมืองเชียงใหม่ เพื่อตรวจเยี่ยม-สร้างขวัญกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่แก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า สั่งให้ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่จัดการให้ได้ใน ๗ วัน และให้ทหารกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้จัดกำลังพลเพิ่ม รวมถึงให้นอนในป่าเพื่อเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

“กำนันทั้ง ๗ ตำบลจึงจัดตั้งศูนย์ควบคุมหมอกควันและไฟป่าขึ้นเป็นการเฉพาะกิจ ให้ผู้ใหญ่บ้านทั้ง ๘๓ หมู่บ้าน ดูแลความเรียบร้อย หากหมู่บ้านใดมีการเผาเกิดขึ้นผู้ใหญ่บ้านต้องรับผิดชอบ ตอนแรกจึงจะมีนโยบายให้ต้องมีอาสาสมัครหมู่บ้านละ ๒๐ คน เป็นตัวแทนชุมชนคอยดับไฟ โดยเฉพาะชุมชนที่มีแนวเขตประชิดป่ายิ่งต้องเฝ้าระวัง ซึ่งจะมีค่าแรงตอบแทนให้ แต่หลังประกาศเพียงวันเดียวก็ต้องยกเลิกเพราะไม่มีงบประมาณ สุดท้ายจึงเป็นการตั้งศูนย์ประจำตำบลโดยมีอาสาสมัครแห่งละ ๑๐ คน”

เป็นอีกครั้งที่ภาคประชาชนต้องลุกขึ้นมาช่วยกันเอง

“กลุ่มม่วนใจ๋แบ่งเงินบริจาคที่ระดมมาไปช่วยเหลือค่าอาหารให้อาสาสมัครทั้ง ๗๐ คน มื้อละ ๕๐ บาทต่อคน เป็นเวลา ๑๕ วัน นับจากวันที่ ๔ เมษายนเป็นต้นมา ขณะเดียวกันก็เปิดรับบริจาคอุปกรณ์ยังชีพในป่า อาหาร ยา โดยถามความต้องการของเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติงานโดยตรง”

เมื่อได้ข้อมูลสิ่งที่ต้องการชัดเจนอย่างอาหารสำเร็จรูปแบบซองพร้อมฉีกกิน (งดรับอาหารกระป๋องหรืออาหารใส่บรรจุภัณฑ์ที่มีน้ำหนักมาก) ข้าวสาร (ควรเป็นข้าวขาวเพราะข้าวกล้องหุงยาก) ผงเกลือแร่แบบซองหรือเกลือหิมาลัย (งดรับสปอนเซอร์และของที่เป็นขวดแก้ว เพราะน้ำหนักเยอะ แบกยาก) เจลว่านหางจระเข้หรือเจลเย็น น้ำยาล้างตา น้ำตาเทียม หน้ากากช่วยบรรเทาฝุ่นควัน ฯลฯ กล่องพัสดุจำนวนมากที่หลายภาคีช่วยกันเปิดรับจึงหลั่งไหลมารวมกันที่สำนักงานของทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว

“ปัญหาสำคัญของการปฏิบัติหน้าที่บนดอยหลวงคือเรื่องน้ำ พวกเราเข้าป่าที ๓ คืน ๔ วัน เดินทางหลายวันยิ่งต้องเตรียมพร้อม แต่จะขนไปมากก็ไม่สะดวก เพราะระหว่างปฏิบัติหน้าที่ต้องเคลื่อนย้ายตามจุดต่างๆ อะไรที่ทดแทนได้จึงเป็นการดี อย่างอาหารจะทำอะไรกินทีก็ต้องใช้น้ำเยอะจึงจำเป็นต้องทดแทนด้วยการกินพาวเวอร์ เจล หรือเอนเนอร์จี บาร์ เห็นห่อแค่นี้ให้พลังงานดีมากเลยครับอิ่มไม่ต่างจากกินข้าวเลย ใช้เนื้อที่จัดเก็บน้อยด้วยไม่เป็นภาระระหว่างทาง ที่สำคัญคือเดินกินได้ กินแล้วไม่หนืดคอ ไม่ต้องดื่มน้ำตาม สะดวกกว่าพวกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเยอะเลยครับนั่นยังต้องเปลืองน้ำต้ม”

สงกรานต์ จักษุ เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว หยิบตัวอย่างอาหารเหลวให้พลังงานสูงที่ร่างกายสามารถดูดซึมได้อย่างรวดเร็วให้เราดู อีกเดี๋ยวก็หยิบกระดาษยับย่นที่เขาจดข้อมูลระหว่างทางไว้อย่างละเอียดให้ดู มือของเขายังดำปี๋ คงไม่ต่างจากเพื่อนๆ อีก ๖ คนที่เพิ่งกลับจากการปฏิบัติภารกิจสำรวจความเสียหายของทรัพยากรและสภาพเป็นอยู่ของสัตว์ป่าบนดอยหลวงเชียงดาว

ก่อนแยกย้ายไปพักผ่อน เตรียมรายงานข้อมูลที่บันทึกได้ให้หัวหน้าเขตทราบ และวางแผนจะกลับขึ้นดอยหลวงอีกครั้งหลังสงกรานต์ มีแก่ใจแวะทักทายจิตอาสาที่กำลังง่วนอยู่กับการคัดแยกข้าวของ

“ถึงแม้ตอนนี้สถานการณ์ไฟป่าบนดอยหลวงจะดีขึ้นมากแล้ว แต่กิจกรรมของพื้นที่ในเรื่องดับไฟป่าก็ยังคงดำเนินอยู่ทั้งการลาดตระเวนและเฝ้าระวัง ตราบใดที่ไม่มีฝนก็ยังไม่สามารถวางใจได้ว่าไฟที่สงบอยู่นั้นดับจริงแล้ว เราจึงยังเปิดรับการบริจาคของอยู่ต่อเนื่อง”

สุรศักดิ์-หนึ่งในสมาชิกกลุ่มม่วนใจ๋และภาคีเรารักดอยหลวงเชียงดาวเล่าเสริม

“เมื่อข้าวของที่รับบริจาคจากประชาชนทั่วประเทศมาถึง หน้าที่พวกเราคือคัดแยกแต่ละประเภทออกเป็น ๗ กลุ่ม แล้วติดต่อให้กำนันของทั้ง ๗ ศูนย์ในแต่ละตำบลมารับไปพร้อมเงินบริจาค เพื่อนำไปเป็นค่าอาหารของเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครชุมชนผู้ทำหน้าที่ลาดตระเวนและเฝ้าระวังไฟป่าทั้ง ๗ ตำบลในอำเภอเชียงดาวของจังหวัดเชียงใหม่ได้ใช้ประโยชน์ต่อ”

แม้ไม่ใช่ทุกคนจะได้รับโอกาสขึ้นไปรดน้ำดับร้อนให้ภูเขาหินปูนอายุนับร้อยล้านปีแห่งนี้

แต่การส่งน้ำใจดูแลคนที่เฝ้าระวังภัย ก็คือวิธีที่ได้มีส่วนช่วยให้คุณปู่ดอยหลวงเชียงดาวสบายดี

หมายเหตุ
สามารถส่งพัสดุถึง คุณธีรวัฒน์ เสื้อมา ม่วนใจ๋ (กลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีธรรมชาติเชียงดาว) ๑๘๒ หมู่ ๕ ตำบลเมืองงาย อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ๕๐๑๗๐ โทร. ๐๙๕-๔๙๖๒๕๕๖

และควรระบุชื่อสิ่งของที่ส่งมาไว้บนหน้ากล่องด้วย เพื่อสะดวกในการคัดแยก