ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


orderpower01

สัปดาห์ก่อนไปงานสวดพระอภิธรรมศพคุณแม่ของเพื่อนรุ่นน้องที่วัดเล็กๆ แห่งหนึ่งทางฝั่งธนบุรี

เนื่องจากไปถึงก่อนเวลามาก จึงเดินเล่นดูอะไรต่ออะไรแถวนั้นไปพลาง แล้วจึงได้พบว่าในวัดเล็กๆ นั้น ตั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์สารพัดอย่างไว้ให้ผู้มีจิตศรัทธาได้สักการะบูชากัน (พร้อมตู้บริจาค) ตั้งแต่จตุคามรามเทพ นางกวัก เทพทันใจและเทพกระซิบของพม่า พระราหู พระสังกัจจายน์ พระสีวลี ไปจนถึงเจ้าแม่กวนอิม

แน่นอนว่าแบบนี้ไม่ได้มีแค่ที่นี่ แต่มีให้พบเห็นได้ตามวัดต่างๆ ทั่วไป ในอารามพุทธเถรวาททั่วเมืองไทยเดี๋ยวนี้ จึงสามารถตั้ง “รูปเคารพ” ให้กราบไหว้กันได้ ตั้งแต่เจ้าแม่กวนอิม พระคเณศ พระศิวะ พระอุมา พระราหู พ่อปู่ชูชก ฮกลกซิ่ว ฯลฯ โดยมิพักจะต้องตั้งคำถามว่าเป็นใคร ของศาสนาใด ลัทธิไหน

เลยนึกต่อไปถึงโบราณสถานต่างๆ ที่นักโบราณคดีมักจะชอบสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นตามลัทธิศาสนาอะไร โดยดูจากหลักฐาน “รูปเคารพ” ที่ค้นพบ เช่นถ้าค้นพบเทวรูปพระนารายณ์ พระศิวะ ก็จะอธิบายว่าเป็นเทวสถานฮินดู เจอรูปพระโพธิสัตว์ทางมหายาน ก็บอกว่าเป็นวัดพุทธศาสนาลัทธิมหายาน อะไรทำนองนั้น

แล้วถ้าต่อไปในอนาคต มาขุดแล้วเจอรูปทั้งหมดอย่างในวัดสมัยนี้ คงสันนิษฐานได้ยากหน่อยว่าจะเป็นศาสนสถานของศาสนาไหน ?

orderpower02

ใน “จักรวาล” เครื่องรางของขลัง “ไทยๆ” ดูเหมือนจะถือกันว่า อะไรว่าดีก็ไหว้ได้หมด ไม่เกี่ยงทั้งนั้น เหมือนกับคำอวยพรแบบ “ครอบจักรวาล” ที่ว่า “ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากลโลก โปรดดลบันดาลให้…” คือไม่ว่าจะเป็นอะไร ถ้าศักดิ์สิทธิ์จริง ดลบันดาลอะไรต่างๆ ได้จริง จะของใครที่ไหน อย่างไร ก็มาดิครับ-ได้ทั้งนั้น!

เมื่อเป็นดังนั้น แนวโน้มที่มักพบก็คือการระดมสรรพกำลังจากความศักดิ์สิทธิ์สารพัดชนิดมารวมไว้ด้วยกัน ในทำนอง “รับประกันความเสี่ยง” คือสมมติว่าอย่างใดอย่างหนึ่งเกิด “ไม่เวิร์ค” ก็ยังมีองค์อื่นๆ และอย่างอื่นๆ ที่พร้อม “ทำงาน” อยู่ตลอดเวลา

ดังเคยเห็นในร้านอาหารบางแห่งตั้ง “หิ้งพระ” ทั้งนางกวัก พระคเณศ พญาครุฑ พระพุทธรูป แต่ต่างคนต่างอยู่แยกๆ กัน โดยมีพิกัดสูงต่ำตามลำดับศักดิ์

แต่โดยทั่วไปแล้ว ที่พบมากคือสารพัดสิ่งอัน ทับถมจมรวมอยู่ด้วยกันตรงนั้นนั่นแหละ ทั้งไทย จีน พระ เจ้า

นอกจากนั้น ยังมีการผสานพลัง รวบรวมหลายๆ ความเชื่อเข้ามาไว้ในของชิ้นเดียวกัน

ไม่นานมานี้เพิ่งได้เห็นรูปพระสังกัจจายน์ ที่มือหนึ่งถือถุงเงิน มืออีกข้างมีรูปนก ซึ่งคงหมายถึงนกคุ้ม

หรือนางกวัก ที่เคยยกมือกวักข้างเดียว เดี๋ยวนี้ก็ยกมือกวักสองข้าง แถมต้องทำให้รูปร่างอ้วนเป็นพระสังกัจจายน์

แต่ที่เห็นได้ชัดเจนมากที่สุดคือผ้ายันต์ ซึ่งต้นทุนการผลิตต่ำ จึงสามารถระดมพลังจากจักรวาลเครื่องรางของขลังไทย เอาทุกอย่างที่ว่า “เฮงๆ” มาพิมพ์รวมกันไว้

นางกวัก นกคุ้ม ปลัดขิก พระสังกัจจายน์ ต่อเงินต่อทอง นางเงือก จระเข้ ฯลฯ จึงมารวมตัวผนึกกำลังกัน

กลายเป็นภาคี “ซูเปอร์ฮีโร่” ด้านเมตตามหานิยม “เรียกทรัพย์”!


srun

ศรัณย์ ทองปาน

เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์นิตยสาร สารคดี