เก็บตกจากลงพื้นที่
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี จากการลงพื้นที่ภาคสนาม


เบื้องหลังไร่ข้าวโพด เบื้องลึกเขาหัวโล้นและไฟป่า

หุบเขาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หรือ “ดงข้าวโพด” แห่งหนึ่งในจังหวัดน่าน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีคุณสมบัติทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศ ปลูกได้ทุกฤดูกาล และมั่นใจได้ว่าจะมีผู้รับซื้อ (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชเศรษฐกิจที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเสมอมา เช่นเดียวกับข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน อ้อย ยางพารา

อย่างน้อยๆ ภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาตั้งแต่ปี ๒๕๒๕ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๕ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทย โดยมีมาตรการส่งเสริมมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ช่วงปี ๒๕๔๙ มีมติสนับสนุนการทำ “เกษตรพันธสัญญา” (Contract farming) ส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศเพื่อนบ้านตามแนวชายแดนพม่า ลาว กัมพูชา ภายใต้กรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (The Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy หรือ ACMECS) ส่งผลให้พื้นที่นับล้านไร่เช่นในรัฐฉานของพม่า ทางตอนเหนือของประเทศไทย กลายเป็นแหล่งปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีบริษัทเอกชนสัญญาว่าจะรับซื้อผลผลิต

หรือช่วงหลังปี ๒๕๕๗ รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในช่วงหน้าแล้งหลังฤดูทำนา เดินหน้าเพิ่มพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายใต้ชื่อโครงการสานพลังประชารัฐ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๑ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระบุว่ามีเกษตรกรสนใจร่วมโครงการถึง ๑๑๔,๗๗๕ ราย บนพื้นที่ประมาณ ๑,๐๐๐,๑๑๑ ไร่ อำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) มาทำสัญญาสินเชื่อถึงจุดรับสมัคร มีตัวแทนจากสมาคมผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์มาอบรมให้ความรู้อย่างใกล้ชิด รวมทั้งตั้งจุดรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทุกเมล็ด

ในฐานะพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อป้อนอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในแต่ละปี รายงาน “ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ปี ๒๕๗๕” หรือในอีกสิบกว่าปีข้างหน้า ซึ่งสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย (Thai Feed Mill Association : TFMA) มอบหมายให้คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ศึกษาสถานการณ์ปัญหาของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรม เพื่อเสริมสร้างวางเป้าผลิตอาหารสัตว์ที่มีคุณภาพ ปริมาณเพียงพอ นำเสนอเมื่อปี ๒๕๕๗ ระบุว่าความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตลอดช่วงปี ๒๕๕๕-๒๕๗๕ ดังนี้
ช่วงปี ๒๕๕๕-๒๕๖๐, ๒๕๖๑-๒๕๖๕, ๒๕๖๖-๒๕๗๐ และ ๒๕๗๑-๒๕๗๕ จะมีความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เฉลี่ย ๕.๓๙, ๖.๖๗, ๗.๓๘ และ ๗.๗๒ ล้านตันต่อปีตามลำดับ

โดยทั่วไปวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์มีหลายชนิด เช่น ปลาป่น ปลายข้าว กากถั่วเหลือง แต่วัตถุดิบหลักที่ให้คาร์โบไฮเดรตคือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

ที่ผ่านมาในช่วงที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีราคาสูง ผู้ผลิตอาหารสัตว์เคยหันมาใช้มันสำปะหลังและข้าวสาลีเป็นวัตถุดิบให้คาร์โบไฮเดรตทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่งผลให้ดีมานต์หรือความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในตลาดลดลง

อย่างไรก็ตามพืชทดแทนเหล่านั้นไม่สามารถทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ทั้งหมด เนื่องจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีสารอาหารที่จำเป็นบางชนิดซึ่งวัตถุดิบอื่นไม่มี ผู้ผลิตจึงจำเป็นจะต้องใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นส่วนผสมแม้ว่าราคาจะแพงกว่าของวัตถุดิบทดแทนก็ตาม

ทุกวันนี้ผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์นิยมใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นวัตถุดิบประมาณร้อยละ ๕๐ ของวัตถุดิบทั้งหมด

โดยทั่วไปขั้นตอนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เริ่มต้นจาก “เตรียมพื้นที่” ส่วนใหญ่เกษตรกรจะตัดหญ้าช่วงเดือนมีนาคม เผาหญ้าช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน จากนั้นฉีดยาฆ่าหญ้า นิยมใช้ไกลโฟเสตชนิดดูดซึม เมื่อฝนตกช่วงต้นเดือนพฤษภาคมจะเริ่มหยอดเมล็ดพันธุ์ หลังจากนั้นพ่นยาฆ่าหญ้าอีกครั้ง นิยมใช้พาราควอทชนิดเผาไหม้

หลังปลูกเสร็จประมาณ ๒๕-๔๕ วัน จะผสมปุ๋ยตามสูตรที่ต้องการ ขึ้นกับประเภทดิน ใส่ปุ๋ยบริเวณโคนต้นข้าวโพดที่สูงประมาณหัวเข่า เสร็จแล้วพ่นยาฆ่าหญ้าตามชนิดหญ้าที่ขึ้น อาจใช้พาราควอทหรือยาอาทราซีนกำจัดวัชพืช หญ้าตายแต่ข้าวโพดไม่ตาย

ช่วง ๑๐๐-๑๒๐ วันหลังใส่ปุ๋ยเป็นช่วงรอเก็บเกี่ยว เกษตรกรจะเดินทางมาตรวจแปลงปลูกเป็นระยะ ถ้าพบว่ามีหญ้าขึ้นจะดายหรือถอนด้วยมือ ถ้าหญ้ารกมากจะพ่นยาฆ่าหญ้าซ้ำ ถ้าประสบภัยพิบัติ เช่น ฝนแล้ง น้ำท่วม ลมพายุ เกษตรกรที่กู้เงินมาเพาะปลูกจะรีบถ่ายรูปเก็บเป็นหลักฐานเพื่อยื่นเรื่องขอความช่วยเหลือหรือผัดผ่อนการชำระหนี้

ถึงช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตเกษตรกรจะหักฝักข้าวโพดใส่ถุง ใช้เวลา ๑๕ วัน ถึง ๒ เดือนตามขนาดพื้นที่ เกษตรกรบางคนอาจจ้างแรงงานมาช่วย หลังเก็บเกี่ยวถ้ายังไม่ถึงกำหนดชำระหนี้จะนำข้าวโพดมาตากแดดเพื่อลดความชื้น ให้ขายได้ราคาสูงขึ้น

ถึงวันขายข้าวโพดเกษตรกรจะติดต่อ “พ่อค้าหัวสี” ซึ่งมีเครื่องกะเทาะเมล็ดข้าวโพดหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “หัวสี” มาสีข้าวโพดจากฝักเป็นเมล็ดแล้วขายให้พ่อค้าหัวสีเลย หรือไม่ก็ใช้วิธีขนข้าวโพดขึ้นรถบรรทุกไปขายให้เจ้าของ “ไซโล” หรือพ่อค้าผู้รวบรวมเมล็ดข้าวโพดระดับจังหวัดหรือภูมิภาค

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชทนแล้ง มีคุณสมบัติทนทานต่อดินฟ้าอากาศ สามารถปลูกได้ทุกฤดูกาล ไม่ว่าต้นฝน ปลายฝน หรือฤดูแล้ง ทั้งบนพื้นที่ราบและพื้นที่ลาดชันตามไหล่เขา

ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี บรรษัทด้านการเกษตรไทยที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ซึ่งรับซื้อเมล็ดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จำนวนมาก ให้สัมภาษณ์ในงานเสวนา “คน เขา เรา ข้าวโพด” ณ รูทการ์เด้น ทองหล่อ ซอย ๓ เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๙ ว่า “ข้าวโพดเป็นพืชที่ทนแล้งที่สุดประเภทหนึ่ง เป็นพืชชนิดเดียวที่ทนทานและใช้ฝนเดียวก็โต ข้าวโพดไม่ใช่พืชที่ไม่ดี แต่ควรปลูกในพื้นที่ที่ถูกต้อง และพื้นที่ราบ ไม่ควรเปิดในพื้นที่ป่าหรือพื้นที่เขา ในพื้นที่ที่ถูกต้อง ข้าวโพดก็เป็นทางเลือกที่ดีอันหนึ่งของเกษตรกร”

อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์โดยขาดการควบคุมพื้นที่เพาะปลูกของภาครัฐได้ทำให้เกิดการรุกพื้นที่ป่า เกิดการแผ้วถางต้นไม้ในป่าเพื่อขยายพื้นที่ทางการเกษตรตามมา

ถึงแม้ว่าโดยทั่วไปแล้วพื้นที่ลาดชันจะมีความเหมาะสมในการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์น้อยกว่าพื้นที่ราบ ให้ผลผลิตแค่ประมาณ ๑ ใน ๓ เนื่องจากอยู่ห่างจากแหล่งน้ำ อยู่ห่างแหล่งรับซื้อผลผลิต การเดินทางลำบาก การเตรียมพื้นที่เพาะปลูกบนพื้นที่ลาดชัน เช่น ตัดหญ้า ไถกลบ ยังทำยากกว่า เกษตรกรในพื้นที่ลาดชันจึงมีอำนาจต่อรองน้อยกว่าเกษตรกรในพื้นที่ราบ แต่เกษตรกรก็ไม่มีทางเลือกมากนัก เพราะไม่ได้รับการส่งเสริมให้ปลูกพืชชนิดอื่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นเพียงไม่กี่ทางเลือกที่เหลืออยู่

behindcornfield02

ภาพมุมกว้างของไร่ข้าวโพด และภูเขาหัวโล้นสุดลูกหูลูกตา การทำไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นสาเหตุสำคัญของการบุกรุกป่าต้นน้ำและปัญหาไฟป่าที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

behindcornfield03

การปลูกข้าวโพดเลี้ยวสัตว์ในพื้นที่ลาดชันให้ผลผลิตน้อยกว่าพื้นที่ราบ แต่เกษตรกรไม่มีทางเลือกมากนัก เนื่องจากไม่ได้รับการส่งเสริมให้ปลูกพืชชนิดอื่น (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

รายงานฉบับสมบูรณ์ “การวิเคราะห์การจัดการห่วงโซ่อุปทานของข้าวโพดอาหารสัตว์ เพื่อส่งเสริมการจัดการลุ่มน้ำอย่างยั่งยืนในจังหวัดน่าน” โดยความร่วมมือระหว่างสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และสำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) โครงการวิจัยโดย บริษัท ป่าสาละ จำกัด ให้รายละเอียดถึงสาเหตุที่เกษตรกรนิยมเผาพื้นที่ทำไร่ข้าวโพดทั้งก่อนและหลังเก็บเกี่ยวว่า

“สาเหตุที่เกษตรกรนิยมการเผาเนื่องจากจะช่วยเคลียร์พื้นที่ให้โล่งเตียน ช่วยกำจัดหนูและแมลงที่จะมากัดกินต้นข้าวโพด และที่สำคัญคือทำให้สะดวกต่อการหยอดเมล็ด พื้นที่ซึ่งไม่ได้เผาจะหยอดเมล็ดพันธุ์ยาก เนื่องจากจะมีเศษซากหญ้าปกคลุม เกษตรกรจะมองไม่เห็นแนวแถวหยอดข้าวโพด ต้องค่อยๆ เขี่ยหญ้าแหวกให้ถึงพื้นดินเพื่อหยอดเมล็ด ทำให้ต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นมากและทำให้หาคนรับจ้างหยอดเมล็ดยาก คนรับจ้างจะขอต่อรองเพิ่มราคาเป็นพิเศษ ดังนั้นปกติแล้วถ้าพื้นที่ไม่ติดสวนยาง หรือเจ้าของไม่ได้ระบุเป็นพิเศษว่าห้ามเผา คนที่มารับจ้างหยอดเมล็ดพอเห็นว่าพื้นที่รกก็จะจุดไฟเผาให้กับเจ้าของที่เลย เพราะจะทำให้ทำงานง่ายขึ้น เร็วขึ้น และบางครั้งไฟก็จะลามข้ามมาจากแปลงรอบๆ ทำให้เกษตรกรส่วนหนึ่งไม่ได้เผาด้วยตนเอง”

ทั้งนี้ มีรายงานว่าถ้าหากเป็นพื้นที่ลาดชันบนภูเขา เกษตรกรยิ่งมีความจำเป็นต้องเผาไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากไม่สามารถใช้รถไถกลบได้เหมือนการปลูกบนที่ราบ ระหว่างเผาถ้าไม่เฝ้าระวังหรือปล่อยให้พื้นที่จุดไฟเผามีอาณาเขตกว้างขวางก็ทำให้ไฟลุกลามเข้าไปในป่า กลายเป็นเพลิงเผาผลาญ การทำไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นอกจากทำให้เกิดปัญหาเขาหัวโล้นแล้วยังทำให้เกิดปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันตามมา

หนึ่งในจังหวัดที่สูญเสียพื้นที่ป่าไม้ให้กับการทำไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์คือจังหวัดน่าน

รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการวิจัย “การวิเคราะห์การจัดการห่วงโซ่อุปทานของข้าวโพดอาหารสัตว์ เพื่อส่งเสริมการจัดการลุ่มน้ำอย่างยั่งยืนในจังหวัดน่าน” โครงการวิจัยโดยบริษัท ป่าสาละ จำกัด หัวข้อ “การวิเคราะห์หาการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่ปลูกข้าวโพด ของลุ่มน้ำสาขา ยาว-อวน-มวบ โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ” ซึ่งศึกษาพื้นที่ ๔ ตำบล คือ ตำบลพงษ์ ตำบลดู่พงษ์ ตำบลป่าแลวหลวง อำเภอสันติสุข และตำบลอวน อำเภอปัว จังหวัดน่าน ระบุว่านับตั้งแต่ปี ๒๕๔๕ เป็นต้นมาถึงปี ๒๕๕๖ มีพื้นที่ป่าถูกเปลี่ยนเป็นไร่ข้าวโพดประมาณ ๓๕,๔๔๐ ไร่ หรือคิดเป็นพื้นที่ร้อยละ ๒๓ ของเขตอุทยานแห่งชาติ ร้อยละ ๑๑ ของเขตป่าสงวน และร้อยละ ๑๔ ของพื้นที่ลุ่มน้าชั้น 1A และ 2 ตามลำดับ ทั้งหมดล้วนแต่เป็นพื้นที่สงวนที่ไม่อนุญาตให้ทำการเกษตรตามกฎหมาย

นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ปลูกข้าวโพดที่เพิ่มขึ้นตึ้งแต่ปี ๒๕๔๕ ถึงปี ๒๕๕๖ ในพื้นที่วิจัย ๔ ตำบล พบว่า พื้นที่กว่าร้อยละ ๖๐.๙ เป็นพื้นที่บุกรุกป่า โดยตำบลอวนมีสัดส่วนสูงสุดถึงร้อยละ ๘๘.๒ ตำบลพงษ์ร้อยละ ๗๑.๒ ตำบลป่าแลวหลวงร้อยละ ๕๒.๓ และตำบลดู่พงษ์ร้อยละ ๒๙.๒

เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๙ งานเสวนา “คน เขา เรา ข้าวโพด” ณ รูทการ์เด้น ทองหล่อ ซอย ๓ ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี ให้สัมภาษณ์ว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ปลูกอยู่ตามพื้นที่ลาดชันในเขตภูเขาทางภาคเหนือมีประมาณร้อยละ ๑๕ ผลผลิตที่เหลือมาจากพื้นที่ราบ

“ข้าวโพดส่วนใหญ่ผู้ผลิตปลูกจากพื้นที่ราบ พื้นที่มีเอกสารสิทธิที่ชัดเจน ปัญหาของข้าวโพดที่ปลูกในพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิเป็นปัญหาระดับประเทศที่จะต้องมีการแก้ไขและทำความชัดเจนในเรื่องที่ดินที่ทำกิน แต่เป็นที่ดินทำกินชนิดพิเศษคือเป็นชนิดที่ให้เพื่อทำกิน เพื่อการดูแลป่า เป็นสิ่งที่นำเสนอต่อทางภาครัฐอยู่ แล้วเป็นสิ่งที่ชาวบ้านต้องการมากที่สุด คือความมั่นคงในชีวิต

“การส่งเสริมให้ปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกเป็นไม้ยืนต้นก็ดี เป็นพืชผลก็ดี เป็นพืชเชิงที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แล้วก็รวมไปถึงปศุสัตว์ การส่งเสริมทางเลือกเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะว่ามีสิทธิที่ทำกินที่ชัดเจน แล้วก็ไม่มีการกระทำผิดกฎหมาย ผมเชื่อว่าการขับเคลื่อนของภาคเอกชน ภาครัฐ หรือภาคชุมชน จะสามารถปรับเปลี่ยนตรงนี้ได้เร็วถ้าเรามีการแก้ข้อนี้”

และยอมรับว่าปัญหาหมอกควันทางภาคเหนือส่วนหนึ่งเกิดจากการเผาไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

“ปัญหาหลักสำคัญที่เกิดขึ้นในเรื่องของหมอกควัน จริงๆ แล้วมีหลายประเด็น การเผาป่าก็ดี ไฟไหม้โดยธรรมชาติก็ดี หรือแม้กระทั่งการเผาพืชไร่ และส่วนหนึ่งก็เป็นการเผาพืชไร่เช่นข้าวโพด อย่างในกรณีของเชียงใหม่ เราก็มีการร่วมมือกับทางภาครัฐ ทางจังหวัด ในการส่งเสริมและให้ความรู้กับเกษตรกร และให้อินเซนทีฟ (แรงจูงใจ) ในการใช้ทางเลือกที่จะไม่เผา ซึ่งที่ผ่านมาเท่าที่ทราบจากทางท่านผู้ว่าฯ ท่านบอกว่าในพื้นที่เช่นแม่แจ่มซึ่งเป็นหลักและมีดอยอื่นๆ อีกสองดอยที่เป็นหลักในการทำให้เกิดควัน ก็มีการลดลงได้ถึง ๗๐-๘๐ เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

“ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องของการตระหนักรู้ เป็นเรื่องของการให้อินเซนทีฟ การชี้นำ และให้ความมั่นใจว่าวิธีการเผาไม่ได้เป็นวิธีที่ดีที่สุดเสมอไปในการที่จะทำให้พืชไร่ในฤดูกาลใหม่งอกงาม วิธีการที่ไม่เผาก็สามารถทำให้พืชไร่งอกงามสมบูรณ์ได้เช่นเดียวกันหรืออาจจะดีกว่าด้วยซ้ำไป เพราะว่าเกิดการเน่าเปื่อยของซังต่างๆ แนวทางเหล่านี้เป็นแนวทางที่เราต้องให้ความรู้”

behindcornfield05

ที่เห็นเป็นเหมือนผืนผ้ากำมะหยี่ คือจุดที่มีการแผ้วถางป่าเพื่อทำไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

behindcornfield04

วิธีง่ายที่สุดในการเตรียมแปลงปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บนที่ลาดชันคือจุดไฟเผา ขณะเดียวกันเกษตรกรบนพื้นที่ราบก็นิยมจุดไฟเผาเช่นกันเพราะใช้งบประมาณน้อย (ภาพ 123rf)

นอกจากพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทย หลายปีแล้วที่บรรษัทเอกชนของไทยได้ขยายพื้นที่เพาะปลูกเข้าไปในประเทศเพื่อนบ้าน

ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๙ งานเสวนา “คน เขา เรา ข้าวโพด” ณ รูทการ์เด้น ทองหล่อ ซอย ๓ ว่า

“หมอกควันบางส่วน เรียนตรงๆ นะครับว่าก็มาจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย เช่น พอเข้าแล้งทุกปี พอไฟไหม้ป่า หรือหมอกควันที่เกิดขึ้นจากไฟไหม้ป่า ทะลักเข้ามาในเมืองไทยก็มี”

ช่วงปี ๒๕๕๙ สังคมไทยเริ่มพูดถึงการทำอุตสาหกรรมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างยั่งยืน ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติ หนึ่งในเสียงสะท้อนที่ดังขึ้นคือการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลผลิตน่าจะต้องมาจากพื้นที่ถูกกฎหมาย ไร่ข้าวโพดไม่ควรอยู่ในป่าและพื้นที่ลาดชันบนภูเขา นอกจากนี้ยังมีการตั้งคำถามถึงการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากต่างประเทศ ศุภชัย เจียรวนนท์ ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการตรวจสอบเมล็ดข้าวโพดจากต่างประเทศว่า

“ตามหลักก็ต้องทำ ส่วนใหญ่แล้วเราต้องดูว่าประเทศนั้น การบังคับใช้กฎหมาย หรือ rules of raw เขาทำได้ดีมั๊ย เขาป้องกันเรื่องการบุกรุกพื้นทีป่ามั๊ย ตรงนี้เป็นสิ่งที่เราจะต้องดูในแต่ละประเทศที่เราจะนำเข้า แต่ส่วนใหญ่แล้วที่ผ่านมา การนำเข้าข้าวโพดจะนำเข้ามาจากอเมริกากับอเมริกาใต้เยอะ ช่วงหลังก็เริ่มมาจากประเทศเพื่อนบ้าน สาเหตุที่ข้าวโพดถูกนำเข้ามาในโซนบ้านเรามากขึ้นจากอเมริกาและอเมริกาใต้ เพราะว่าในประเทศเหล่านั้น เขาทำ Contract farming และ Mega farming ให้ผลผลิตต่อไร่สูงมหาศาล เขาใช้ในประเทศเกินพอก็ส่งเข้ามา ฉะนั้นเราเองก็ควรจะต้องพัฒนาศักยภาพในประเทศเรา และสามารถทำให้มันมีความยั่งยืน แทนที่จะไปรับจากที่อื่น ถ้าเกิดเราเอามาจากอเมริกาหรืออเมริกาใต้ เรื่องเกี่ยวข้องกับความยั่งยืนในส่วนของอเมริกาก็อาจจะเยอะหน่อย แต่มันก็มาทำให้เกษตรกรไทยเสียประโยชน์ เราก็ต้องดูสิ่งเหล่านี้”

behindcornfield06

หลายปีที่ผ่านมา มีการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศเพื่อนบ้านทั้งพม่า ลาว กัมพูชา ภายใต้กรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ส่งผลให้พื้นที่นับล้านไร่ เช่นในรัฐฉานของพม่า หรือทางตอนเหนือของลาวกลายเป็นแหล่งปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (ภาพ: 123rf )

behindcornfield07

เมล็ดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตอาหารสัตว์คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ ๕๐ ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าหัวเขาโล้น ไฟป่า ฝุ่นควัน ทุกคนที่บริโภคเนื้อสัตว์จึงน่าจะต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบ (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

๑๐

ต้นปี ๒๕๖๒ ต่อเนื่องมาตลอดไตรมาสแรกของปี ปัญหาฝุ่นควันครอบคลุมหลายพื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศไทย สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากไฟป่า การเผาไร่ซาก การเผาทำลายวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร อาทิ ซังข้าวโพด ต้นข้าวโพด

ในช่วงเดียวกัน มีการเผยแพร่ภาพจุดความร้อนหรือฮอตสปอต (Hotspot) กระจายตัวอยู่ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ทางภาคเหนือ ฮอตสปอตเป็นผ่านถ่ายดาวเทียมแสดงจุดที่มีอุณหภูมิโดยเฉลี่ยสูงกว่าพื้นที่ทั่วๆ ไป แม้ไม่สามารถยืนยันได้ว่าจุดสีแดงบนแผนที่เป็นจุดที่กำลังมีไฟป่าเกิดขึ้น หรือเป็นจุดที่มีโอกาสเกิดไฟป่า หรือเป็นจุดที่มีการจุดไฟเผาทำลายวัชพืชเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูก แต่สังเกตได้ว่าความหนาแน่นของฮอตสปอตแปรผันตามปริมาณหมอกควันหรือมลพิษทางอากาศ พื้นที่ใดมีฮอตสปอตมาก พื้นที่นั้นมักเป็นจุดที่มีมลพิษทางอากาศสูง

สิ่งที่น่าสนใจคือ ตำแหน่งของฮอตสปอตที่กระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ ทางภาคเหนือนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่ง หรืออาจเรียกว่าเป็นส่วนปลายชายขอบของฮอตสปอตที่มีศูนย์กลางหนาแน่นอยู่ในรัฐฉานของพม่า และทางตอนเหนือของลาว อันเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตามโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศเพื่อนบ้านตามแนวชายแดนพม่า ลาว กัมพูชา ตามระบบ “เกษตรพันธสัญญา” (Contract farming)
ด้วยเหตุนี้เมื่อพิจารณาสภาพภูมิศาสตร์ของหลายจังหวัดทางภาคเหนือที่มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ มีภูเขาล้อมรอบ และทิศทางลมที่พัดผ่านจากบริเวณที่มีความหนาแน่นของฮอตสปอตสูงในประเทศเพื่อนบ้านเข้าสู่ประเทศไทย ก็จะพอเข้าใจว่าทำไมหลายจังหวัดทางภาคเหนือถึงเผชิญปัญหาฝุ่นควัน

behindcornfield08

ภาพมุมสูงของภูเขาหัวโล้นทางภาคเหนือ ผืนป่าที่เว้าแหว่งกลายไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

behindcornfield09
ภาพแสดงจุดความร้อนหรือฮอตสปอต (Hotspot) กระจายตัวในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ทางภาคเหนือ รวมถึงรัฐฉานของพม่า และทางตอนเหนือของลาว ช่วงปลายเดือนมีนาคมต่อต้นเมษายน ๒๕๖๒ ซึ่งทางภาคเหนือกำลังประสบปัญหาไฟป่าและฝุ่นควัน (ภาพ : FIRMS – Fire Information for Resource Management System)

๑๑

ในฐานะพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญ คงไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะลดพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีส่วนทำให้เกิดเขาหัวโล้น ไฟป่า และฝุ่นควันลงได้อย่างฉับพลันทันที

อย่างไรก็ตาม มีความพยายามเสนอทางเลือกของการทำเกษตรกรรมยั่งยืนในพื้นที่สูง เช่น เปลี่ยนจากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เชิงเดี่ยวมาเป็นการทำเกษตรแบบผสมผสาน ยกตัวอย่างการปลูกพืชตระกูลถั่วผสมผสานข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปลูกชาหรือกาแฟใต้ไม้ยืนต้น เลี้ยงหมูหรือไก่สายพันธุ์พื้นเมืองหรือสายพันธุ์ที่เหมาะสม หรือให้เกษตรกรนำข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาผลิตเป็นอาหารสัตว์เองแทนที่จะขายเป็นวัตถุดิบราคาถูก เปลี่ยนจากการผลิตเมล็ดข้าวโพดเป็นวัตถุดิบ (grain) มาเป็นผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด (seed) จากที่เคยขายข้าวโพดในราคากิโลกรัมละ ๕-๙ บาท จะเพิ่มมูลค่านับ ๑๐ เท่ากลายเป็นกิโลกรัมละ ๕๐-๑๒๐ บาท สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตโดยใช้พื้นที่น้อยลง ไม่ทำลายระบบนิเวศ มีตัวอย่างบ้างแล้ว เช่นวิสาหกิจชุมชนผลิตเมล็ดพันธุ์ที่น้ำแพร่และเขื่อนผาก อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ เกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนเป็นเจ้าของกิจการผลิตเมล็ดพันธุ์ มิใช่การเป็นแค่แรงงานรับจ้างผลิตเมล็ดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

การแก้ปัญหาเหล่านี้ต้องมีการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานของรัฐ บรรษัทเมล็ดพันธุ์และผู้ผลิตอาหารสัตว์ ชุมชน และเกษตรกรในพื้นที่ เงื่อนไขทั้งหมดควรดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ให้เวลาและอุดหนุนทรัพยากรแก่เกษตรกรให้เกิดการปรับตัว

เหนืออื่นใดคือการตระหนักว่าเราทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา

เพราะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตอาหารสัตว์ ที่มีปลายทางคือผู้บริโภคอย่างเราๆ ทุกคน

เก็บตกจากลงพื้นที่

๑) เบื้องลึกเขาหัวโล้น เบื้องหลังไร่ข้าวโพด เมืองน่าน โครงการจากปลายคลื่นสู่ยอดดอย : ภารกิจสืบค้นความจริงป่าที่หายไป ๒๕-๒๗ กันยายน ๒๕๕๘ จัดโดย องค์การอ็อกแฟม ประเทศไทย, มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ, สมาคมผู้ปลูกข้าวโพดจังหวัดน่าน และสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ
๒) งานเสวนา “คน เขา เรา ข้าวโพด” ณ รูทการ์เด้น ทองหล่อ ซอย ๓ วันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๙