เก็บตก
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี

ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย เมื่อศาลให้กรมควบคุมมลพิษฟื้นฟู-เอกชนชดใช้ คดี “คลิตี้” สายน้ำอาบยาพิษ

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2562 ที่จังหวัดกาญจนบุรี ศาลจังหวัดกาญจนบุรีมีคำสั่งอนุญาตให้กรมควบคุมมลพิษเป็นผู้ฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนของสารตะกั่ว–ถือเป็นการทำหน้าที่แทนจำเลยคือผู้บริหารบริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งถูกศาลฎีกาตัดสินให้มีความผิด โดยศาลให้ถือว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น “เป็นหนี้ตามคำพิพากษา” ที่กรมควบคุมมลพิษจะต้องบังคับเอาแก่จำเลยต่อไป
.
คำสั่งที่เกิดขึ้นเป็นผลสืบเนื่องจากกรณีที่บริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ปล่อยน้ำขุ่นข้นและกากแร่ดีบุกจากบ่อกักตะกอนลงสู่ลำห้วยคลิตี้ ทำให้เกิดการสะสมของสารตะกั่วในดิน แหล่งน้ำ และสัตว์น้ำ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชาวชุมชนคลิตี้ล่าง

นำไปสู่การฟ้องคดีโดยชาวบ้านคลิตี้ล่างหลายคนต่อผู้บริหารบริษัท ต่อมาศาลฎีกามีคำพิพากษาที่ 15219/2558 ให้จำเลยทั้งสองคนชำระเงินค่าเสียหายแก่โจทก์ รวมทั้งฟื้นฟูน้ำในลำห้วยคลิตี้ให้กลับมามีสภาพที่ประชาชนสามารถใช้อุปโภคบริโภคได้

klity01
แหล่งน้ำตามธรรมชาติในหมู่บ้านคลิตี้ ช่วงปลายเดือนเมษายน ๒๕๖๒ (ภาพ : ชนะจิต รอนใหม่)

อย่างไรก็ตาม หลังจากจำเลยชำระเงินค่าเสียหายแก่โจทก์แล้ว กลับละเลยไม่ดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ โจทก์จึงยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดกาญจนบุรีขอให้ไต่สวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการฟื้นฟูลำห้วย หลังจากศาลไต่สวนจึงมีคำวินิจฉัยโดยสรุปออกมาว่า

…เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาให้แก้ไขฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสองคน จนกว่าลำห้วยคิลิตี้จะกลับมามีสภาพที่สามารถใช้อุปโภคได้ แต่จำเลยทั้งสองกลับเพิกเฉยต่อข้อบังคับที่ให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลฎีกา กรมควบคุมมลพิษจึงมีหน้าที่โดยตรงตามกฎหมายในการคุ้มครองและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมทั้งประสานเพื่อให้มีการดำเนินการฟื้นฟู ระงับเหตุที่อาจเป็นอันตรายจากมลพิษในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อน

เมื่อกรมควบคุมมลพิษมีหนังสือถึงศาล แจ้งว่าสามารถเข้าดำเนินการแก้ไขฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ให้มีสภาพที่สามารถใช้อุปโภคได้ตามมาตรฐานของทางราชการแทนจำเลย โจทก์ทั้งแปดในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาจึงมีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้กรมควบคุมมลพิษในฐานะบุคคลภายนอกคดี กระทำการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ให้กลับมาใช้อุปโภคบริโภคได้ตามมาตรฐานของทางราชการ แทนจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 358 วรรคหนึ่ง และให้ถือว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้เป็นหนี้ตามคำพิพากษาที่จะบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองต่อไป เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 358 วรรคสอง

klity02 1
ทนายความและชาวบ้านเดินทางมาฟังคำตัดสินของศาลจังหวัดกาญจนบุรี (ภาพ : สมิตา โอวาดะ)
klity03
บ่อที่จะใช้ฝังกลบตะกอนปนเปื้อนตะกั่ว ตั้งอยู่ห่างหมู่บ้านคลิตี้ล่าง ๑๒ กิโลเมตร และห่างหมู่บ้านคลิตี้บน ๓ กิโลเมตร (ภาพ : สมิตา โอวาดะ)

ทั้งนี้ มีรายงานว่ากรมควบคุมมลพิษได้ดำเนินโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่วไปแล้ว อาทิ การก่อสร้างบ่อที่จะฝังกลบตะกอนปนเปื้อนตะกั่ว การปิดคลุมพื้นที่โรงแต่งแร่และบ่อเก็บตะกอนหางแร่ การเตรียมการก่อสร้างฝายดักตะกอนเพิ่มอีก ๒ ฝาย การปรับปรุงถนนระหว่างหมู่บ้านคลิตี้บนและคลิตี้ล่าง

คำสั่งที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2562 ถือเป็นบรรทัดฐานสำคัญเนื่องจากยืนยันในหลักการ “ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย” อีกทั้งยังเป็นต้นแบบหรือแนวทางแก้ไขปัญหาการฟื้นฟูการปนเปื้อนของมลพิษในสิ่งแวดล้อมกรณีที่ผู้ประกอบการเอกชนไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ให้ผู้เสียหายร้องต่อศาลเพื่อให้หน่วยงานรัฐที่มีอำนาจและมีความเชี่ยวชาญเข้ามาแก้ไขและเรียกค่าใช้จ่ายจากผู้ประกอบการ ไม่ต้องไปฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นคดีใหม่ซึ่งต้องใช้ระยะเวลานาน

อย่างไรก็ตาม แม้ศาลจะอนุญาตให้กรมควบคุมมลพิษเป็นผู้ฟื้นฟูลำห้วย แต่แนวปฏิบัติในการบังคับคดี โดยเฉพาะการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการฟื้นฟูลำห้วยจากจำเลยจะเป็นอย่างไรยังคงต้องติดตาม

เหตุการณ์ครั้งนี้ยังไม่ใช่ปลายทางของคดี “คลิตี้” สายน้ำอาบยาพิษอย่างแน่นอน