เรื่อง : กลุ่ม Margin 2
ผลงานจากค่ายสารดคี ครั้งที่ 15

nangyai01

ยืด…ยุบ…สะอึก…ย่างสามขุม

เสียงกังวานของครูพากย์ดังเป็นสัญญาณก่อนที่นักแสดงจะย่ำส้นเท้าลงบนเวที

ปฐมบทแห่งมหรสพหนังใหญ่ขนาดย่อมนำเราเข้าสู่วรรณคดีอันเลื่องชื่อที่โลดแล่นมีชีวิตบนแผ่นหนังวัว ผ่านงานฉลุลายด้วยฝีมือของช่างศิลป์ ท่าเยื้องย่างอันสง่างาม และการร่วมสืบสานวัฒนธรรมจากอดีตกาลของคนทั้งจังหวัด

เราท่องไปในความประณีตของศิลปกรรมหนังใหญ่ จากภูมิปัญญาของชาวบ้านสู่การอนุรักษ์ให้คงอยู่คู่ยุคสมัย จวบจนกลายเป็นเจตจำนงอันยิ่งใหญ่ของชาติ ด้วยประสบการณ์ของสามผู้สืบสาน สามบทบาทแห่งวัดขนอน จังหวัดราชบุรี

บัดนี้ เชิด…

พระครูพิทักษ์ศิลปาคม เจ้าอาวาสวัดขนอน เล่าให้ฟังว่า ก่อนที่หนังใหญ่จะข้ามพ้นกำแพงวังสู่ชุมชน เดิมทีเป็นเพียงมหรสพที่ทำการแสดงเฉพาะในวังเท่านั้น ประชาชนจะมีโอกาสน้อยหรือแทบไม่มีสิทธิ์ในการรับชม

นับตั้งแต่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ศิลปะไทยถูกลดบทบาทลงจนไม่สามารถประกอบกิจกรรมรื่นเริงได้มาก หนังใหญ่ที่เป็นของหลวงจึงถูกทิ้งขว้างโดยไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร

จนกระทั่งปี 2517 หนังใหญ่ถูกหยิบขึ้นมาปัดฝุ่นให้เป็นที่สนใจของสังคมอีกครั้ง จากการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เกิดเป็นการฟื้นฟูและการหวนกลับมาอย่างจริงจัง จนได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็น 1 ใน 6 ชุมชนดีเด่นของโลกที่มีผลงานในการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมเชิงนามธรรม ในปี 2550

ท่านพระครูยังมีเจตจำนงที่จะผลักดันให้หนังใหญ่ได้รับรางวัลมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ หรือ ICH จากยูเนสโก ซึ่งเป็นอีกรางวัลทรงคุณค่า เพื่อยกระดับศิลปะแขนงนี้ให้คนรุ่นหลังเห็นความสำคัญ เพราะเป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนรุ่นหนุ่มสาวที่อยากเป็นช่างฝีมืออาจลดลงไปตามกาลเวลา

และท่านยังมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้หนังใหญ่เข้าสู่หลักสูตรการเรียนรู้ในโรงเรียน เพื่อให้เยาวชนได้สืบสานมรดกอันล้ำค่านี้ต่อไป

“ฝึกไว้ให้มากๆ ฝึกไว้ให้เป็นเยาวชนของหมู่บ้านวัดขนอน จะได้สืบทอดต่อเนื่อง” พระราชดำรัสของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานแก่ครูฉลาด ถาวรนุกูลพงศ์ ครูสอนการเเสดงหนังใหญ่ ผู้บ่มเพาะต้นกล้าแห่งศิลปะการแสดง เมื่อครั้งที่ครูฉลาดได้มีโอกาสพาคณะหนังใหญ่ไปทำการแสดงที่กระทรวงวัฒนธรรม ปี 2532

ด้วยกระแสพระราชดำรัสในครั้งนั้นรวมถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของกลุ่มคณะได้ทำให้วัดขนอนเป็นโรงเพาะกล้าสำคัญ ที่ไม่เพียงผลิตต้นกล้ารุ่นใหม่ขึ้นมาช่วยสืบทอดศิลปะการแสดงหนังใหญ่ไม่ให้เลือนหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ แต่ที่นี่ยังเป็นบ้านหลังใหญ่ที่ทำให้ความเป็นอยู่ของคนในชุมชนเปลี่ยนแปลงไป

จิตวิญญาณความเป็นศิลปินของครูฉลาด ขณะนี้ได้ถูกสืบทอดโดยทายาทรุ่นถัดมาอย่างครูจฬรรณ์ ถาวรนุกูลพงษ์ ผู้จัดการคณะหนังใหญ่วัดขนอนคนปัจจุบัน ซึ่งมีอุดมการณ์อันแน่วแน่ที่จะอนุรักษ์ศิลปะการแสดงหนังใหญ่ให้ยั่งยืน และมีแนวคิดที่จะบูรณาการศิลปะให้มีความร่วมสมัยอย่างสร้างสรรค์ โดยที่ยังคงไว้ซึ่งจารีตดั้งเดิม

ในวันนี้วัดขนอนไม่ได้เป็นแค่เพียงแหล่งสืบสานศิลปะการแสดงหนังใหญ่ที่สำคัญ แต่ยังกลายเป็นแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรม เด็กๆ ก็จะเชิดตัวหนังไป นักท่องเที่ยวก็เดินทางเข้ามาชมหนังใหญ่ จับจ่ายซื้อของ กลายเป็นช่องทางสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน

ซึ่งครูจฬรรณ์ยังได้แสดงทัศนะต่อการที่หนังใหญ่คงอยู่คู่กับวัดขนอนไว้ว่า “เมื่อใดที่ชุมชนดูแลหนังใหญ่ หนังใหญ่ก็จะเลี้ยงตัวชุมชนเองเช่นกัน”

วงปี่พาทย์บรรเลงมาถึงตอนท้าย ส่งความศรัทธาอันแรงกล้าสู่คนรุ่นหลัง เป็นต้นแบบของการสืบสานศิลปะการแสดงที่บอกเล่าให้เราได้ตระหนักถึงคุณค่าของวัฒนธรรมซึ่งเปรียบเป็นดังรากฐานของชาติสืบไป