จินตพร จันทร์แต่งผล : เรื่อง ณัฐฐินี ศิริจันทร์ : ภาพ ผลงานจากค่ายสารคดีครั้งที่ 15

ความรักหรือความไม่รู้ที่ทำร้ายสัตว์ป่า
“ไจโกะ” ลูกหมีควาย สัตว์ป่าของกลาง จากกระบวนการลักลอบซื้อขายสัตว์ป่า

หลายสิ่งบนโลกกำลังพัฒนา แต่จิตใจมนุษย์กลับอ่อนแอลงทุกที หลายครั้งมนุษย์หลงไปตามสิ่งยั่วยุต่างๆ ทำร้ายสัตว์ที่อาศัยอยู่ร่วมกันบนโลกอย่างไม่น่าให้อภัย สำหรับคนที่เลือกทำอาชีพล่าและค้าสัตว์ป่า เงินคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดใจให้เขาเลือกทำอาชีพนี้

ปัจจุบันการลักลอบค้าสัตว์ป่ามีมากในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย ลาว และเวียดนาม ตามรายงานของหน่วยงานในสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตั้งแต่ปี 2553-2561 พบกรณีที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ป่าเกิดขึ้นรวม 5,230 คดี มีผู้กระทำความผิดรวม 5,890 คน สัตว์ป่าที่เป็นของกลางจำนวน 113,292 ตัว และจำนวนซากสัตว์ป่าที่ตายจากคดีเหล่านี้ถึง 19,738 ซาก

สัตว์ป่า 4ตัวที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของมนุษย์

wildanimal03
สุนิตา วิงวอน นายสัตวแพทย์ประจำคลินิกสัตว์ป่า กำลังเล่นกับลูกหมีควายเพื่อช่วยมันผ่อนคลายก่อนเริ่มการขนย้ายไปยังสถานีเพาะเลี้ยง

ลูกหมีควาย

“ลูกหมีวัยนี้ต้องอยู่ติดแม่ สัญชาตญาณของแม่หมีไม่มีทางทิ้งลูกแน่นอน แม่หมีส่วนใหญ่จะซ่อนลูกไว้ในรัง ถ้าต้องออกไปหาอาหารก็จะไปไม่ไกล และกว่าจะพาลูกหมีออกมาจากที่ซ่อนก็เป็นเดือน ออกมาลูกหมีก็จะเดินไม่ห่างจะอยู่ใกล้เท้าแม่ตลอด การเอาลูกหมีออกจากแม่หมีแบบนี้ได้ เกือบ 100% แม่หมีตัวนั้นต้องตาย ‘ไจโกะ’ วันแรกที่มาก็ดูแข็งแรงดี มันแสดงให้เห็นว่าได้รับภูมิคุ้มกันที่เพียงพอจากแม่มาในช่วงระยะเวลาหนึ่ง” สุนิตา วิงวอน สัตวแพทย์ประจำคลินิกสัตว์ป่า ซึ่งตั้งอยู่ภายในกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร กล่าว

หมีควาย หรือหมีดำเอเชีย เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 หมีควายชอบอาศัยในป่าเขา แต่ก็พบในที่ราบบ้าง กระจายพันธุ์ในแถบเอเชียตะวันออก

ฉากหน้าที่เห็นคือความน่ารักของลูกหมีควาย แต่ที่มาของมันไม่สวยงามนัก การพรากลูกจากอกแม่ นำสัตว์ป่าออกจากป่าที่เป็นบ้านหลังเดียวของมัน เพื่อนำมาเป็นสินค้าซื้อขายกันในปัจจุบันนั้น… คนขายได้เงิน คนซื้อได้เลี้ยง แล้วสัตว์ล่ะได้อะไร?

เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมปี 2562 มีรายงานข่าวเกี่ยวกับการล่อซื้อสัตว์ป่าทางอินเทอร์เน็ต โดยพ่อค้าสัตว์ป่าออนไลน์ได้ลงประกาศขายลูกหมีควายทางอินเทอร์เน็ต เจ้าลูกหมีควายตัวนั้นก็คือ “ไจโกะ” ลูกหมีควายที่รอดพ้นเงื้อมมือมนุษย์ที่จับมันมาเป็นสินค้าขายให้กับคนที่อยากเลี้ยงหมี มันได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการเหยี่ยวดง หน่วยงานของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช วางแผนล่อซื้อมันจากพ่อค้าสัตว์ป่าออนไลน์ และนำมาส่งให้กับคลินิกสัตว์ป่าเพื่อเป็นสถานที่พักพิงหรือหลบภัยชั่วคราว

ระยะเวลากว่า 1 เดือน ทำให้ลูกหมีควายตัวนี้โตขึ้นจากเดิมเกือบเท่าตัว แม้มันจะโตขึ้นแต่ก็ยังมีลักษณะนิสัยเหมือนเด็ก มันปีนป่ายและห้อยโหนกิ่งไม้ แล้วลงมานอนกลิ้งไปมาอยู่ในกะละมังน้ำเล็กๆ ภายในกรง คลินิกสัตว์ป่าอาจเปรียบเสมือนบ้านหลังที่ 2 ของไจโกะ ซึ่งมันเองก็คงไม่รู้ว่าทำไมต้องมาอยู่ที่นี่ แต่บ้านหลังนี้ไม่สามารถเป็นที่พักพิงของไจโกะไปได้ตลอด เพราะยังมีสัตว์ป่าอีกหลายตัวที่จะถูกส่งมาพักพิงชั่วคราว ถึงเวลาแล้วที่ไจโกะต้องถูกส่งตัวไปยังสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าบางละมุง จังหวัดชลบุรี สถานีเพาะเลี้ยงที่หมอนกขนานนามว่าเป็น “อาณาจักรของหมี”

สุนิตา วิงวอน หรือหมอนก สัตวแพทย์หญิงประจำคลินิกสัตว์ป่า ผู้ที่ตั้งใจแน่วแน่ว่าจะเป็นหมอสัตว์ป่า ผู้ดูแลไจโกะ ลูกหมีควายที่ปัจจุบันอายุประมาณ 3 เดือนเศษเล่าว่า “ตอนแรกที่มาก็น่าจะอายุประมาณ 2 เดือน ขนาดตัวเล็กกว่านี้ครึ่งหนึ่ง ช่วงแรกๆ ยังมีอาการหวาดระแวง ดุตามสัญชาตญาณสัตว์ป่า หลังจากมาอยู่ได้ 1 สัปดาห์ เราสังเกตถึงความเครียดของไจโกะ เลยย้ายจากกรงเล็กมาอยู่กรงใหญ่ขึ้น เราเคยทำงานกับหมีมาก่อน พอรู้พฤติกรรมที่เขาแสดงออกมา ลูกหมีก็ไม่ต่างจากลูกคน หรือลูกสัตว์ชนิดอื่นๆ นอกจากอาหารที่เขาต้องกินทุกวัน เขาก็ต้องการความอบอุ่น ความรัก และการปกป้องดูแล”

อันที่จริงแล้วผู้ที่จะดูแลลูกหมีได้ดีที่สุดคือแม่ของมัน

wildanimal04 1
เจ้าหน้าที่กำลังขนย้าย “ไจโกะ” ลูกหมีควาย ขึ้นรถเพื่อนำส่งไปยังสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าบางละมุง

นางอาย

“นางอายตัวนี้ก่อนจะนำมาขายมันถูกตัดเขี้ยวออกทั้งปากเพื่อไม่ให้มันกัดคน เจ้าของไม่รู้ว่ามันกินอะไรได้บ้าง เลยให้กินแต่ของหวาน มันเลยฟันผุจนส่งกลิ่นเหม็นออกมา สภาพที่เห็นคือรากฟันเน่า เลยต้องถอนฟันออกทั้งหมด แค่มันขยับปากเลือดก็ไหล ไม่อยากจะคิดว่ามันจะรู้สึกปวดขนาดไหน” สุนิตากล่าว

นางอาย สัตว์ป่าที่ถูกซื้อมาเลี้ยงอย่างผิดวิธี พอมันป่วยก็เลี้ยงไม่ไหว เจ้าของเลยนำมาส่งให้คลินิกสัตว์ป่ารักษา

นางอาย หรือลิงลม เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 และบัญชีชนิด อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) ในบัญชีหมายเลข 2 นางอายเป็นลิงที่มีขนาดเล็ก ขนนุ่ม สั้นและหนาเป็นปุยสีขาวนวล และมีสีน้ำตาลเข้มคาดจากหัวไปตลอดแนวสันหลัง หน้าสั้น ตากลมโต ใบหูเล็ก ออกหากินในเวลากลางคืน อาหารของลิงลม ได้แก่ แมลง ไข่นก และผลไม้ มันมีถิ่นกำเนิดอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์แล้วในธรรมชาติ ด้วยความน่ารักจึงมักถูกจับไปเป็นสัตว์เลี้ยงบ่อยๆ โดยผู้ขายหรือผู้เลี้ยงมักจะตัดเขี้ยวหรือฟันหน้าออกทั้งซี่บนและล่างเพื่อมิให้ถูกกัด โดยยังเหลือรากฟันอยู่ ซึ่งลิงลมบางตัวอาจจะติดเชื้อจากขั้นตอนนี้ทำให้ตายได้ ลิงลมถูกจัดเป็นสัตว์ป่าที่มีการลักลอบขายกันมากเป็นอันดับ 1 ขณะที่บางพื้นที่มีการจับนำไปทำเป็นยาบำรุงตามความเชื่อ

ที่ผ่านมามีข่าวการลักลอบค้านางอายจำนวนมาก เรียกว่าเป็นสัตว์ป่ายอดนิยมที่ถูกนำมาซื้อขายกันทั้งในตลาดออนไลน์และแอบขายกันในตลาดนัดกลางกรุงเทพฯ ด้วยความน่ารักทำให้พวกมันถูกจับลงกล่องสี่เหลี่ยม นางอายขึ้นชื่อว่าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกที่มีพิษแฝงอยู่ในข้อศอกหากผสมกับน้ำลายของมันเมื่อมันกัดคนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เพื่อเตรียมส่งขายให้คนรักสัตว์ที่มีรสนิยมต้องการเลี้ยงสัตว์ป่าแปลกๆ เหล่าพ่อค้าแม่ค้าจึงต้องทำการตัดเขี้ยวของมันออกเพื่อให้ลูกค้าปลอดภัย แต่หาสนใจไม่ว่านางอายจะรู้สึกเจ็บปวดขนาดไหน

จากภาพถ่ายในเว็บไซต์ ขณะที่มีคนกำลังใช้กรรไกรตัดเล็บตัดเขี้ยวของมัน ดวงตาสีน้ำตาลกลมโตของนางอายจ้องมองมนุษย์ที่อุ้มมันไว้ในมือ เขาใช้มือขวาจับคอของมันแน่นเพื่อบังคับให้มันอ้าปาก และใช้กรรไกรตัดเล็บตัดฟันซี่เล็กๆ ของมัน เขาใช้ความแข็งแรงของข้อมือตัดฟันของมันออกมาทีละซี่ เลือดค่อยๆ ไหลออกมา มันทั้งเจ็บและปวด แต่ก็ไม่มีแม้แต่ยาชาที่จะฉีดเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวด

วิธีการปกป้องตัวเองของมนุษย์แบบนี้นั้นรู้หรือไม่ว่ามันคือการทารุณกรรมต่อสัตว์ หากมนุษย์อ้างว่าที่ทำเพราะอยากจะเลี้ยงอยากดูแลมันด้วยตนเอง นั่นคงเป็นเหตุผลที่เห็นแก่ตัวที่สุด

wildanimal05
“ใครกัน ที่อยู่ผิดที่” เต่าหับตัวนี้ ได้รับบาดเจ็บจากการข้ามถนน กระดองแตก แผลเริ่มเน่า และมีตัวหนอนไช กำลังได้รับการรักษาจาก สุนิตา วิงวอน นายสัตวแพทย์ประจำคลินิกสัตว์ป่า กรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

เต่าหับ

“รักษาไปเรื่อยๆ จนกว่ามันจะหายหรือตายจากกันไป” สุนิตากล่าวถึงเต่าหับตัวหนึ่งซึ่งกำลังได้รับบาดเจ็บ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำถูกนำมาจากต่างแดนมาเดินหลงทางอยู่บนถนนกลางกรุงเทพฯ ท้ายที่สุดมันก็หนีไม่พ้นอันตรายบนท้องถนน ถูกรถยนต์ทับจนกระดองแตก แต่มันก็ยังโชคดีที่มีชาวบ้านไปพบจึงนำมาส่งให้กับคลินิกสัตว์ป่า

เต่าหับเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทสัตว์เลื้อยคลานจำพวกเต่าชนิดหนึ่ง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ถือเป็นสัตว์ป่าหายากที่นิยมลับลอบซื้อขายกันในตลาดมืด มันถูกนำมาจากประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซียเข้ามายังประเทศไทยเพื่อผ่านไปยังประเทศจีน บ้างก็นำไปเลี้ยงเพื่อเสริมโชคลาภ บางคนเอามาต้มทำเป็นยาจีนช่วยบำรุงร่างกาย

คลินิกสัตว์ป่านอกจากเป็นที่พักพิงชั่วคราวของสัตว์ป่าในเมืองกรุงแล้ว ในยามที่มีสัตว์บาดเจ็บที่นี่ก็คือโรงพยาบาลรักษาสัตว์ดีๆ นั่นแหละ ตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต ดูจากภายนอกอาจคิดไม่ถึงว่าด้านในจะมีอุปกรณ์และยาต่างๆ ที่เตรียมพร้อมไว้สำหรับรักษาสัตว์อย่างเพียงพอ ภายในตู้คอนเทนเนอร์อบอวลไปด้วยกลิ่นยา มีเตียงสำหรับทำแผลเหมือนคลินิกทั่วไป หมอนกและผู้ช่วยช่วยกันจัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับล้างแผลให้กับเต่าหับ อาหารที่เรียกว่า critical care เป็นอาหารเหลวสำหรับสัตว์กินพืชโดยเฉพาะ และอุปกรณ์ทำแผล ได้แก่ น้ำเกลือ เบตาดีน สำลี กรรไกร และพลาสเตอร์ปิดแผล เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้วก็เริ่มต้นลงมือรักษาเต่าหับตัวนี้

หมอนกค่อยๆ จับเต่าหับขึ้นมาดูบาดแผลกระดองแตกจากการถูกรถทับทะลุเข้าไปถึงลำตัวของเต่าหับ หมอหยิบหลอดเข็มฉีดยาขึ้นมา ฉีดน้ำเกลือที่ผสมกับเบตาดีนเข้าไปบริเวณลำตัวของเต่าหับเพื่อล้างแผล พอฉีดเข้าไปแล้วหนอนก็ค่อยๆ เดินออกมา หมอนกใช้ที่คีบคีบหนอนที่ติดอยู่บนลำตัวออกมาเพื่อช่วยไม่ให้หนอนกัดกินแผลไปมากกว่านี้ หลังจากใช้น้ำเกลือผสมกับเบตาดีนล้างแผลอยู่ 4-5 รอบ หมอนกก็เปลี่ยนมาใช้แค่น้ำเกลืออย่างเดียว เพราะเบตาดีนอาจทำให้เต่าระคายเคือง ขณะล้างแผลเต่าหับพยายามจะดิ้นหนี บ้างก็หมุดหัวเข้าไปในกระดอง คล้ายมันจะเจ็บแสบไม่น้อย ต่อจากนี้ไปไหล่ซ้ายของมันคงไม่สามารถกลับมาใช้งานได้เหมือนเดิม เพราะส่วนที่ถูกทับมันกินเนื้อของแขนจนหลุด

หลังจากล้างแผลเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ถึงขั้นตอนการให้อาหาร critical care มีลักษณะเป็นสีเขียวเหมือนเป็นผักบดให้เหลว การสอดท่อสายยางเข้าไปในปากของเต่าหับดันลงไปจนถึงกระเพาะอาหาร เรียกว่า feeding tube ไม่สามารถกินอาหารเองได้ มีแค่วิธีนี้เท่านั้นที่จะสามารถทำให้มันอยู่รอดได้ แต่การให้อาหารแบบนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ระหว่างที่หมอใช้ไซรินจ์ฉีดอาหารลงในสายท่ออาหารแต่มันกลับทะลักออกเพราะสายท่อตัน ต่างคนก็ต่างตกใจ หมอนกต้องใส่ท่อสายยางลงไปใหม่เพื่อให้อาหารอีกครั้ง

แท้จริงก็ไม่มีใครรู้ว่าเต่าหับตัวนี้มีที่มาจากที่ไหน รู้เพียงมันถูกรถทับจนกระดองแตก เรื่องแบบนี้เคยเกิดขึ้นกับเต่ามาหลายตัวแล้ว จะบอกว่าเป็นความผิดของเต่าที่มาเดินบนถนนอย่างนั้นหรือ เต่าก็คือเต่า มันคงไม่รู้ด้วยซ้ำว่านั่นคือถนนที่เต็มไปด้วยอันตราย หากมนุษย์รู้จักระมัดระวังสัตว์ก็คงไม่ต้องเจ็บตัว

wildanimal06
“เป็นสัตว์ป่าจึงมีสัญชาตญาณ” นกเค้ากู่ ที่ได้รับแจ้งให้ไปรับจากชาวบ้าน กำลังกางปีกขู่ด้วยสัญชาตญาณในการระวังภัย
wildanimal07
“มันคือความรัก หรือความเห็นแก่ตัว” นากเล็กเล็บสั้นตัวนี้ คงจะดีกว่านี้ถ้ามันได้อยู่กับฝูง ได้ว่ายในลำน้ำที่กว้างใหญ่ ได้อยู่บ้านที่แท้จริงของมันเอง

งูเหลือม

“พื้นที่เมืองในปัจจุบัน อดีตก็คือป่า การที่เราเจองูอยู่บริเวณบ้านหรือคอนโดมิเนียมมันไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะก็เป็นบ้านของงูเช่นกัน และการที่ประชาชนไม่รู้เจองูก็รีบโทร.แจ้งให้ไปจับนั้น มันไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ถูกหรอก จับงูมาหนูก็เต็มบ้าน สิ่งที่ประชาชนทั่วไปควรเข้าใจคือ ‘ความแฟร์’ ในพื้นที่ระหว่างมนุษย์กับ สัตว์ ซึ่งต่างอาศัยพึ่งพากันอยู่” สุรศักดิ์ อบอุ่น กล่าว

สุรศักดิ์ อบอุ่น หรือแอมแปร์ ช่วยปฏิบัติงานวิชาการป่าไม้ ด้วยความที่เรียนจบวนศาสตร์ สาขาการจัดการสัตว์ป่า และทุ่งหญ้า ทำให้เขาเข้าใจว่าสัตว์ป่าประเภทไหนอาศัยอยู่บริเวณใด ความรู้นี้ทำให้เขาเริ่มต้นทำงานวิเคราะห์ข้อมูลสารสนเทศสัตว์ป่า หรือเรียกว่า GIS (Geographic Information System) เป็นตำแหน่งแรกในกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีหน้าที่เก็บสถิติ และช่วยเหลือสัตวแพทย์ในเวลาที่มีสัตว์ป่าเข้ามารักษา แต่สัตว์ที่เขาเจอบ่อยๆ ไม่ใช่สัตว์ป่าที่ได้รับบาดเจ็บ หรือสัตว์ที่ถูกลักลอบนำมาขาย แต่กลับเป็นงู สัตว์ที่เขาให้ความสนใจ

“ผมสนใจเรื่องงูตั้งแต่ตอนเรียนวนศาสตร์เพราะไม่ค่อยมีใครสนใจ อันที่จริงงูหลายพันธุ์มันไม่ได้มีพิษ บางทีหมากัดยังเจ็บกว่าอีก” สุรศักดิ์เปรียบเทียบ

งูเหลือมเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทสัตว์เลื้อยคลาน ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 หลายคนอาจไม่รู้มาก่อนว่างูเหลือมเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองเช่นเดียวกัน ด้วยความที่มันคืองู จึงถูกมองว่าเป็นสัตว์อันตราย งูเหลือมเป็นสัตว์ไม่มีพิษ แต่มันเป็นสัตว์ที่ปากมีขนาดใหญ่และฟันแหลมคม ขากรรไกรแข็งแรง สามารถถอดขากรรไกรเพื่อกลืนเหยื่อที่มีขนาดใหญ่ ทำให้ประชาชนทั่วไปเมื่อพบเห็นงูเหลือมก็มักกลัวลนลาน ในแต่ละวันจึงมีประชาชนโทร.มาแจ้งให้ไปจับงูอยู่แทบทุกวัน กรงที่ตั้งอยู่ด้านหน้าคลินิกเต็มไปด้วยงูเหลือมนอนเกยกันและเลื้อยไปมา นอกจากนี้ยังมีถุงกระสอบที่ใส่งูชนิดอื่นๆ อีกกว่า 10 ถุง แสดงให้เห็นถึงประชากรงูที่ถูกจับออกจากเมือง

พื้นที่ภาคกลาง บริเวณเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เดิมเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ทำการเกษตรหลากหลาย ปลูกผัก ปลูกข้าว และทำสวน สัตว์ที่นิยมกินพืชจึงมักเข้ามาอยู่อาศัย และงูก็เป็นสัตว์อีกชนิดที่เข้ามาอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ หากลองสังเกตดูอาคาร บ้านเรือน และคอนโดมิเนียม ส่วนใหญ่ถูกปลูกสร้างบนพื้นที่ที่ในอดีตเคยเป็นป่ารกร้าง จึงไม่ใช่เรื่องผิดที่งูจะอาศัยอยู่ในเมือง เพราะเมืองก็คือป่า บ้านของมันเช่นกัน งูเหลือมเป็นสัตว์ที่ชอบกินหนู ถ้าไม่มีหนูงูก็ไม่เข้าบ้าน วิธีป้องกันงูคือการทำความสะอาดที่อยู่อาศัยอยู่เสมอ

ประชากรของงูหลายชนิดจำนวนมากถูกจับมาไว้ที่นี่ สะท้อนสภาพของระบบนิเวศที่มนุษย์เป็นผู้เลือกและคัดสรร จริงอยู่ที่ว่างูเป็นสัตว์ป่าควรนำไปปล่อยในป่า แต่ป่าก็ยังเป็นพื้นที่ของสัตว์ป่าอื่นๆ ด้วย หากปล่อยมากไปจะส่งผลให้งูไปทำลายเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศความสมดุลของธรรมชาติป่านั้น สุดท้ายสัตว์ประจำถิ่นจะถูกงูกินสูญพันธุ์หมด

ความเจริญและการพัฒนาที่ไม่สิ้นสุด การทำลายพื้นที่ป่า เปลี่ยนเป็นสิ่งปลูกสร้าง ทำให้เมืองศิวิไลซ์ แม้มนุษย์อาจสะดวกสบายขึ้น แต่ต่อไปก็คงไม่มีพื้นที่สำหรับสัตว์ป่าในเมือง

wildanimal09
“เพราะความไม่เข้าใจ” งูเหลือม คือตัวควบคุมประชากรหนู แต่ประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังคงไม่เข้าใจ และหวาดกลัวมันอยู่ดี
wildanimal02
“คลินิกสัตว์ป่า” สถานที่พักฟื้น และรักษาสัตว์ป่า ยังคงมีการขนย้ายสัตว์ป่าหมุนเวียนเข้ามาที่คลินิกอยู่เรื่อยๆ เมื่อพักฟื้นจนสภาพร่างกายของสัตว์ดีขึ้นแล้ว จึงส่งต่อไปยังสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าที่มีความเหมาะสมต่อไป

คลินิกสัตว์ป่า

“การที่ต้องรักษาสัตว์บาดเจ็บล้มตายทุกวันมันไม่ใช่เรื่องน่าภูมิใจ เพราะมันเป็นผลงานที่เกิดจากทุกขเวทนาของสัตว์เหล่านั้น แต่ก่อนการเกิดแก่เจ็บตายของสัตว์เป็นเรื่องที่เกิดจากธรรมชาติ แต่ปัจจุบันมันไม่ใช่ ปัจจัยการตายของสัตว์ป่า 10 ปีให้หลังมานี้ มันมีเรื่องของการคุกคามสัตว์ป่าทั้งทางตรงและทางอ้อมเข้ามาเกี่ยวข้อง ถึงเวลาแล้วที่มนุษย์ต้องยื่นมือเข้ามาแก้ไข” ภัทรพล มณีอ่อน กล่าว

ภัทรพล มณีอ่อน หรือหมอล็อต นายสัตวแพทย์ชำนาญการ หัวหน้าประจำคลินิกสัตว์ป่า หมอสัตว์ป่าที่เชื่อว่าสัตวแพทย์ทำอะไรได้มากกว่าการรักษา ด้วยความรู้ที่มีทำให้เขามุ่งมั่นที่จะสร้างความเข้าใจให้ประชาชนได้รับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่ามาจากฝีมือของมนุษย์ หากมนุษย์ช่วยเหลือสัตว์ป่า ธรรมชาติก็จะสามารถดำรงอยู่ให้มนุษย์ได้พึ่งพากันต่อไป

คลินิกสัตว์ป่าตั้งอยู่ภายในพื้นที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รูปแบบของอาคารไม่ได้เหมือนกับตึกทั่วไป สำนักงานตั้งอยู่ภายในตู้คอนเทนเนอร์ที่เรียงกัน 4 ตู้ แบ่งตามความรับผิดชอบของกลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า ได้แก่ 1. งานแก้ไข 2. งานบริหาร 3. งานคลินิกสัตว์ป่า และ 4.ห้องสำหรับใช้รักษาสัตว์ ด้านบนเป็นห้องทำงานของหัวหน้าประจำคลินิกสัตว์ป่า

มองจากภายนอกคงคาดไม่ถึงว่าด้านในจะเต็มไปด้วยสัตว์ป่าหลากหลายชนิดที่สับเปลี่ยนแวะเวียนกันเข้ามาพักพิงชั่วคราว ไม่ว่าจะเป็นหมีควาย เต่า นางอาย งู นก ไก่ หรือแม้แต่นาก แม้พื้นที่จะไม่กว้างมากนัก แต่สถานที่นี้ก็สามารถรองรับสัตว์ทุกอย่างได้ด้วยการบริหารจัดการกระจายสัตว์ที่ไม่มีปัญหาสุขภาพไปยังสถานีเพาะเลี้ยงที่เหมาะสมโดยเร่งด่วนอยู่เสมอ ทำให้สัตว์ที่มาไม่ต้องอยู่กันแบบแออัด

“พื้นที่นี้ไม่ถาวร แต่พวกเรามีแนวทางในการทำงานที่ถาวร” ภัทรพล มณีอ่อน กล่าว

การทำงานในตู้คอนเทนเนอร์ไม่ได้มีผลทำให้ประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่ลดลง ทุกคนตระหนักว่ามีภารกิจที่ต้องให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนและสัตว์ป่า คลินิกสัตว์ป่าจึงไม่ได้เป็นสถานที่สำหรับรักษาสัตว์โดยเฉพาะเหมือนคลินิกรักษาสัตว์ทั่วไป แต่เกิดขึ้นจากการเพิ่มบทบาทหน้าที่ของกลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า หรือเรียกว่า Wildlife Health Management and Monitoring คือการเฝ้าระวังและการจัดการสุขภาพสัตว์ป่า และบทบาทของสัตวแพทย์สัตว์ป่าคือการจัดการและเฝ้าระวังเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เลวร้ายกับสัตว์ป่า สำหรับที่นี่การรักษาจึงถือเป็นภารกิจสุดท้ายที่ทางคลินิกต้องช่วยรักษาสัตว์ให้ดีที่สุด

wildanimal08
จ.ส.ต.ภิญโญ พุกภิญโญ เจ้าหน้าที่ดับเพลิง และกู้ภัย กำลังสอนเทคนิคในการจับงูเห่าให้กับนายสุรศักดิ์ อบอุ่น ช่วยปฏิบัติการวิชาการป่าไม้

ความรักหรือความไม่รู้

เมื่อคิดจะรักก็ต้องมีความรู้ เพราะการเลี้ยงสัตว์มันไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง ไม่ใช่เพียงอาหาร ที่อยู่ ความรัก แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง ความเข้าใจในพฤติกรรมของสัตว์ และความพร้อมในด้านต่างๆ ทั้งผู้เลี้ยง และสภาพแวดล้อมที่ให้สัตว์อยู่อาศัย ลูกสัตว์ตอนมาแรกๆ ก็น่ารัก แต่พอเลี้ยงไปเรื่อยๆ มันก็โตขึ้น กินมากขึ้น สัตว์บางตัวพอโตก็มีกลิ่นตัวแรงขึ้น ต้องยอมรับให้ได้ก่อนที่จะนำมันมาเลี้ยง ไม่ใช่แค่เพียงสัตว์ป่า แต่สัตว์ทั่วไปก็เช่นกัน ต้องใช้ความเข้าใจและใส่ใจถ้าคิดจะเลี้ยงมัน

“พวกที่ชอบล่าสัตว์ป่าและพวกชอบกินเนื้อสัตว์ป่า ผมขอเถอะ พวกที่ชอบซื้อสัตว์ป่ามาเลี้ยงก็เช่นกัน ธรรมชาติเขาเลี้ยงได้ดีกว่าอยู่แล้ว” คำพูดของ สืบ นาคะเสถียร อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี ผู้ล่วงลับ

“สัตว์ป่า ถือเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินที่เคลื่อนที่ได้” วิรัตน์ เพ็ชรตะกั่ว หรือพี่รัตน์ นักวิชาการสัตวบาลประจำคลินิกสัตว์ป่า กล่าว ยิ่งคนในสังคมให้ความสำคัญกับสัตว์ป่ามากขึ้นเท่าไหร่ยิ่งเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมที่สัตว์ป่านั้นจะตอบแทนกลับคืนแก่มนุษย์

ท้ายที่สุดแล้วภารกิจการช่วยเหลือสัตว์ป่านั้นไม่ใช่แค่หน้าที่ของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า สัตวแพทย์ หรือนักวิชาการป่าไม้ แต่คือหน้าที่ของประชาชนทุกคน

“ไหนบอกว่ารักสัตว์ แค่นี้ก็ไล่มันละ หนูก็รักแต่สัตว์ที่มันน่ารัก แล้วสัตว์ที่ไม่น่ารักล่ะก็ไม่รักมันอย่างนั้นเหรอ” คำกล่าวของคนที่เข้ามาช่วยจับลูกเขียดตัวสีเขียวๆ ในเต็นท์นอนของเราบนดอยอ่างขางเมื่อช่วงปลายปี 2561 ประโยคสั้นๆ ในวันนั้น แต่กลับทำให้เราหวนคิด

คำว่า “คนรักสัตว์” ถึงตอนนี้เราคงไม่กล้าใช้มันได้เต็มปาก สิ่งที่เราทำได้ คือ ไม่สนับสนุนการล่า ฆ่า เลี้ยง และกินสัตว์ป่า

ขอบคุณผู้ให้สัมภาษณ์

  • ภัทรพล มณีอ่อน หรือหมอล็อต นายสัตวแพทย์ชำนาญการ หัวหน้าประจำคลินิกสัตว์ป่า
  • สุนิตา วิงวอน หรือหมอนก สัตวแพทย์ประจำคลินิกสัตว์ป่า
  • สุรศักดิ์ อบอุ่น หรือแอมแปร์ ช่วยปฏิบัติงานวิชาการป่าไม้ประจำคลินิกสัตว์ป่า
  • วิรัตน์ เพ็ชรตะกั่ว หรือ พี่รัตน์ นักวิชาการสัตวบาลประจำคลินิกสัตว์ป่า

ขอบคุณสถานที่

  • คลินิกสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

jintaporn

จินตพร จันทร์แต่งผล นักเขียนเที่ยงคืน ช่างจินตนาการไปเรื่อย มักจะเว่อร์กว่าความเป็นจริง เชื่อว่าโลกนี้ไม่มีเรื่องบังเอิญ ทุกอย่างถูกลิขิตเอาไว้แล้วส่วนหนึ่ง อีกส่วนนึงตัวเราเป็นคนลิขิตเอง

nutthinee

ณัฐฐินี ศิริจันทร์ “ภาพถ่ายคือสิ่งที่ยืนยันได้ว่าสิ่งที่เราเจอ สิ่งที่เราทำ มันเป็นเรื่องจริง ไม่อย่างนั้น ใครเขาจะเชื่อ” เด็กจบสัตว์ป่า (การจัดการสัตว์ป่าและทุ่งหญ้า) ที่อยากออกเดินทางเพื่อเป็นช่างภาพสัตว์ป่า