เก็บตก บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี..จากการลงพื้นที่ภาคสนาม


พะตีตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ บ้านสบลาน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่

“ไล่ชาวบ้านออกแล้วประกาศอุทยาน และสร้างเขื่อน เหมือนเขามีเป้าหมายอย่างนั้น”

พะตีตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ
บ้านสบลาน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่

#แด่บิลลี่

“พะตีเกิดที่นี่ พ่อแม่เกิดที่นี่ ปู่ก็เกิดที่นี่ มีลูกแต่งงานแล้วทั้งหมดก็อยู่ที่นี่ อยู่ที่นี่ดี อาหารเยอะ ข้าวพอกิน เลี้ยงสัตว์ก็ได้ สมุนไพรก็มาก ทางการไม่ต้องมาช่วยเหลืออะไร น้ำดีป่าดีอุดมสมบูรณ์ ก้อนหินที่อยู่ตามลานน้ำสวยงามมากมาย

“แถวนี้ป่าเยอะนะ ป่ารอบๆ กำลังฟื้นใหม่ หลังภาครัฐเปิดให้ฝรั่งสัมปทานทำไม้ ช่วงหลังคนไทยก็มาสัมปทาน ต้นไม้ถูกตัดฟัน ส่วนใหญ่เป็นไม้สัก ไม้แดง ประดู่ เปา

“ได้ยินเรื่องเขื่อนแม่ขานมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ เราลงไปหาข้อมูลข้างล่าง ได้ยินเจ้าหน้าที่บอกคนข้างล่างว่าจะได้ประโยชน์อย่างนั้นอย่างนี้ บอกว่าสร้างเขื่อนแล้วจะได้ใช้น้ำ ทำเกษตรดี ชาวบ้านท้ายน้ำหมู่บ้านอื่นไม่รู้เรื่องก็เซ็นชื่อให้ เขาสรุปกันแล้วข้างล่างแต่ไม่มาสรุปกับพวกเราข้างบน

“จุดที่จะสร้างสันเขื่อนจะอยู่ห่างจากบ้านพะตี ๒๓ กิโลเมตร เลาะขึ้นไปตามแม่น้ำแม่ขาน ตรงนั้นมีภูเขาสูงสองลูกและมีช่องว่าง เขาจะสร้างพนังกั้นน้ำตรงนั้น ทั้งๆ ที่ด้านล่างมีคนอยู่อาศํย อย่างห้วยโท้งมีคนอยู่ชิด มีสวนมีป่า แล้วผลกระทบมันมาถึงเรา ทั้งที่นา ป่าเขา พื้นที่ทำไร่หมุนเวียน เลี้ยงสัตว์ ที่จับปลา ทรัพยากรต้นไม้ป่าไม้ที่ชาวบ้านดูแลมานานจะถูกน้ำท่วม ถึงไม่ท่วมตัวบ้านพะตี แต่ท่วมที่ทำกินที่เลี้ยงสัตว์ทั้งหมด

“ปี ๒๕๓๖-๒๕๓๗ พะตีไปดูเขื่อนที่อีสาน แต่ละแห่งที่สร้างเกิดผลกระทบเยอะ ชุมชนแตกสลาย พื้นที่เดิมๆ เปลี่ยนไป ปี ๒๕๓๘ มีมติ ครม. ยกเลิกเขื่อนแม่ขาน พะตีดีใจมากเพราะจะได้ไม่มีปัญหาอีก แต่ผ่านไปสองปีก็กลับมาใหม่ โครงการใหญ่ๆ โผล่มา ตอนนี้ในเชียงใหม่มีโครงการเขื่อนแม่ขานกับเขื่อนแม่แจ่ม

“อุทยานแห่งชาติออบขานถ้าประกาศบ้านพะตีจะเป็นไข่แดง เจ้าหน้าที่เคยบอกว่าที่นี่ต้องเป็นอย่างนั้นต้องเป็นอย่างนี้ จะประกาศแล้วให้คนออกจากป่า เมื่อก่อนมีนโยบายไล่คนออกจากป่า เดี๋ยวนี้ก็ยังมี พะตีไปดูพื้นที่อพยพมาสองสามที่ อย่างที่คลองลาน กำแพงเพชร ชาวบ้านถูกย้ายออกมาข้างนอกมีสามเผ่า มีม้ง ลีซู ปกากะญอ ประมาณห้าสิบหลังคาเรือน พะตีถามเขาว่าย้ายออกมานอกป่าสบายมั๊ย เขาบอกลำบากมากๆ เลย ไม่มีพื้นที่ทำกิน เวลาจะเข้าไปหาหน่อไม้ก็ต้องขออนุญาตจากอุทยาน ขอห้าหน่อต้องเอาออกมาห้าหน่อ เอามาสิบหน่อผิดกฎหมาย จะใช้แรงงานก็ราคาถูก คนพื้นราบอยู่เดิมๆ เขาให้วันละสองร้อยบาท แต่ถ้าเป็นคนที่อพยพลงมา เขาให้วันละห้าสิบบาท พอกินหรือไม่ก็ต้องทำ เพราะถ้าไม่ทำก็ไม่มีกิน เขาจะจ้างไปปลูกพืชทำสวนกล้วยสวนอ้อย

“ทีแรกเขาบอกชาวบ้านว่าที่อพยพมีไฟ มีโรงเรียน มีน้ำดื่มน้ำกิน มีที่ทำกิน พะตีไปดูไม่เห็นมีที่ทำกิน น้ำกินขุดเป็นบ่อใหญ่ๆ ฝนตกลงมาถึงจะมีน้ำ สูญเสียหลายอย่าง ผู้หญิงบางคนไม่รู้จะหาทางออกยังไงไปขายตัว เหมือนกันทั้งกำแพงเพชร ลำปาง หลังๆ ชาวบ้านบอกว่าย้ายไม่ดี ไม่ต้องหนี ต้องต่อสู้ ถ้าเราอพยพก็ไม่มีทางที่จะสู้แล้ว ไม่มีเวลาแล้ว

“ช่วงปี ๒๕๓๗ เราเคลื่อนไหวเรื่องที่ทำกิน พื้นที่ป่าอย่างจริงจัง รวมตัวกันสร้างเครือข่าย มีองค์กรสำคัญคือกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ เราลงไปเดินประท้วงในตัวเมืองเชียงใหม่ไม่ให้ประกาศอุทยานทับที่อยู่อาศัย เราเป็นชุมชนน้อยๆ ไม่มีพลังมากเท่าไหร่ ภาษาก็ไม่ค่อยเก่ง ใช้วิธีเดินรณรงค์ให้สังคมรู้ว่าเราไม่อยากได้เขื่อน เดินจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไปแม่ทา เรียกร้องให้รัฐมนตรีมาเจรจา มีรัฐมนตรีเกษตรลงมาเจรจาบอกว่าจะตั้งกรรมการขึ้นหนึ่งชุด ส่งนักวิชาการมาสำรวจว่าเราอาศัยอยู่ก่อนหรือหลัง

“ช่วงปี ๒๕๔๐ กลุ่มภาคเหนือ ๘ จังหวัดเรียกร้องป่าชุมชน เราเรียกร้องให้มีป่าชุมชนของชาวบ้าน ไม่ใช่ป่าสงวน ไม่ใช่ป่าอุทยาน แต่เป็นป่าของชุมชนให้ชุมชนเป็นผู้ดูแล ตอนนั้นสี่หมื่นรายชื่อขอกฎหมายได้ เรารวบรวมได้ห้าหมื่นสี่พันกว่ารายชื่อแต่ยื่นไปแล้วก็ไม่เห็นผลอะไรสักอย่าง

“ปัญหาเขื่อนกับปัญหาอุทยานมาไล่เลี่ยกัน เขื่อนมาก่อนน่าจะหนึ่งถึงสองปี ระหว่างสำรวจเขื่อนก็ช่วงอุทยานมาตั้งสำนักงานที่ออบขานพอดี อุทยานสำรวจป่าก็เห็นรอยสำรวจเขื่อนเป็นสีแดงๆ ป้ายติดกับต้นไม้ ที่ทำการอุทยานกับสันเขื่อนห่างกันกิโลเดียว น้ำก็จะท่วมที่ทำการ ไล่ชาวบ้านออกแล้วประกาศอุทยาน และสร้างเขื่อน เหมือนเขามีเป้าหมายอย่างนั้น”

“พะตีเคยถามเจ้าหน้าที่อุทยานที่ออบขาน เขาบอกน้ำจะท่วมหมด ถามแล้วคนจะไปอยู่ที่ไหน เขาบอกเราว่าเขาเป็นราชการพูดอะไรไม่ได้ ชาวบ้านต่อต้านก็ต่อต้านไป เขาบอกว่าอย่างนั้น”

เก็บตกจากลงพื้นที่ :

  • กิจกรรม “นิเวศศึกษา เดินป่าลุ่มน้ำขานจากบ้านสบลานถึงบ้านแม่ขนิลใต้” อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ๑๕-๑๗ มีนาคม ๒๕๕๗ เนื่องในวันหยุดเขื่อนโลก (International Day of Action against Dams).