เรื่อง : แซลลี คันทาร์
แปล : อัญชนา อัศวาณิชย์
ภาพ : ปิยะวิทย์ ทองสะอาด

สี่พันดอน - ฉากสุดท้ายของ “หลี่” กลางมหานที สี่พันดอน

การขนหินมาใส่หลี่เพื่อให้หลี่มั่นคงต่อกระแสน้ำเชี่ยวเป็นงานหนักที่สุด ยิ่งที่ตั้งของหลี่อยู่ถัดออกไปจากน้ำตกถึงสามแห่ง การหาหินของชาวประมงก็ยิ่งยากขึ้นไปอีก

เป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้วที่ผู้คนบนเกาะสี่พันเกาะหรือที่เรียกว่า “มหานทีสี่พันดอน” ของลาว ยังชีพอยู่ได้ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นเส้นเลือดชีวิตของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม่น้ำโขงที่สง่างามนี้มีหลายโฉมหน้า จากแหล่งน้ำแข็ง “หลังคาโลก” ในที่ราบสูงทิเบต ไหลคดโค้งผ่านห้าประเทศ ด้วยความยาว ๔,๐๐๐-๕,๐๐๐ กิโลเมตร ก่อนจะลงสู่ทะเลจีนใต้ผ่านดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำของเวียดนามตอนใต้

แม้ยังมีข้อถกเถียงถึงความยาวอันแท้จริงของแม่น้ำสายนี้ แต่ต่างก็เห็นพ้องกันว่า แม่น้ำโขงเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้คนในบริเวณรอบข้างต่างผูกชีวิตของพวกเขาไว้กับความชุกชุมของปลาจากลุ่มน้ำอันอุดมสมบูรณ์ซึ่งมีขนาดใหญ่มากกว่า ๘๐๐,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร  ที่จริงแล้วแหล่งโปรตีนส่วนมากที่บริโภคกันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้มาจากปลาน้ำจืดกว่า ๔ ล้านตันที่จับจากแม่น้ำโขงในแต่ละปี ทว่าการสร้างเขื่อนหลายเขื่อนเพื่อควบคุมสายน้ำนานาประเทศเส้นนี้ในปัจจุบันกำลังคุกคามขับไล่ประชากรท้องถิ่นผู้ยังคงมีชีวิตอยู่ร่วมกับ “มหานที” มานานตราบเท่าความทรงจำ

ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในแม่น้ำโขงนั้นเป็นรองอยู่เพียงแม่น้ำแอมะซอนของทวีปอเมริกาใต้เท่านั้น  ในบริเวณหมู่เกาะน้ำจืดของสี่พันดอนทางตอนใต้ของประเทศลาวนั้นมีปลาหลายร้อยชนิดซึ่งเป็นทั้งอาหารและแหล่งรายได้พื้นฐานของชาวบ้านนับพันครอบครัว

การก่อสร้างเขื่อนในเขตสี่พันดอนที่ฮู (ช่อง) สะโฮง ซึ่งเคยเป็นที่โจษจันกันในหมู่ชาวบ้านมาหลายปีกลายเป็นเรื่องจริงใน ๒ ปีที่ผ่านมา พร้อมกับคำสั่งจากทางการให้ชาวประมงหลายครอบครัวที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่การก่อสร้างตัวเขื่อนย้ายถิ่นฐานจากบ้านไม้ใต้ถุนสูงตลอดแม่น้ำไปอยู่บนที่ดินใหม่ของเขตก่อสร้างที่อยู่ลึกเข้าไปในป่าทึบของเกาะสะโฮง โดยห้ามโต้แย้ง

ภาพถ่ายชุดนี้จึงอาจเป็นภาพชุดสุดท้ายที่นำเสนอการจับปลาครั้งสุดท้ายของผู้คนในท้องถิ่นนี้

ฉากสุดท้ายของ  “หลี่” กลางมหานที สี่พันดอน

บางครอบครัวแม้จะเป็นเจ้าของพื้นที่ทำหลี่ แต่ก็เลือกสร้างเครื่องมือจับปลาที่มีขนาดและความซับซ้อนกว่าหลี่เรียกว่า “ลวงขัง” ซึ่งต้องการหิน แรงงาน และไม้ก่อสร้างมากขึ้นไปอีก

lilastscene02

จุดที่วางหลี่เป็นมรดกตกทอดของแต่ละครอบครัว ช่วงเวลาที่ใช้สร้างหลี่ขึ้นอยู่กับจำนวนชายหนุ่มในครอบครัว ถ้าครอบครัวใดมีแรงงานไม่เพียงพอ พวกเขาก็ต้องแบ่งปลาที่จับได้ให้แก่คนที่มาช่วยสร้างหลี่แทนการจ่ายด้วยเงินสด

lilastscene04

หินแต่ละก้อนจะวางอย่างระมัดระวัง ชาวประมงต้องแน่ใจว่าจะวางหินลงไปได้มากที่สุดในพื้นที่จำกัด ไม่เช่นนั้นหลี่อาจพังลงมาด้วยพลังของน้ำเมื่อถึงฤดูฝน

มากกว่าสามชั่วอายุคนแล้วที่แต่ละบ้านได้สร้างและเก็บรักษาเครื่องมือจับปลาที่เรียกว่า “หลี่”  พวกเขามีประเพณีวางหลี่ตรงจุดเดิมในแม่โขงช่วงต้นฝนที่เริ่มในเดือนพฤษภาคมของทุกปี และยกออกเมื่อน้ำไหลท่วมนาข้าวในปลายเดือนกรกฎาคม

เป็นเวลาหลายสัปดาห์ที่ชายหนุ่มในหมู่บ้านรอบ ๆ จะสร้างสิ่งก่อสร้างไม้สูงหลายเมตรในบริเวณที่น้ำไหลเชี่ยวตอนใต้น้ำตก แต่ละครอบครัวดัดแปลงรูปแบบเครื่องมือต่างกันเล็กน้อย และต่างก็มีจุดวางเครื่องมือประจำซึ่งจับจองกันมาหลายชั่วอายุคนตามกติกาของหมู่บ้าน  เมื่อน้ำเริ่มสูงขึ้นและฝูงปลาอพยพเดินทางมาถึงน้ำตก เหล่าชาวประมงก็พร้อมจะใช้เวลาทั้งวันทั้งคืนใกล้กับหลี่ของพวกเขา  พวกเขาจะต้านทานกระแสน้ำที่รุนแรงด้วยการยึดตัวเองไปตามเชือกที่วางพาดผ่านกลางลำน้ำ หรือด้วยนั่งร้านไม้ไผ่ที่สร้างขึ้นเป็นพิเศษ  โดยปรกติฤดูกาลจับปลาจะดำเนินต่อไปตลอดเดือนกรกฎาคมจนเมื่อแม่น้ำโขงมีพลังมากกว่าหลี่อันสุดท้ายจะต้านทานไหว

lilastscene05

ชาวประมงเก็บปลาที่จับได้จาก “ลวงขัง”

lilastscene06

ชาวประมงฝ่าข้ามกระแสน้ำเชี่ยวกรากด้วยการไต่เชือกไปยังหลี่ของเขาซึ่งตั้งอยู่กลางแม่น้ำ เพื่อเก็บปลาแล้วฝ่ากระแสน้ำกลับเข้าฝั่งอีกครั้ง ถ้าเขาพลาดนั้นหมายถึงชีวิต

lilastscene07

ในเขตหลี่ที่คอนหลง หนึ่งในเกาะของสี่พันดอน ชาวประมงเก็บปลาในแต่ละคืนสามครั้ง คือตอน ๖ โมงเย็น เที่ยงคืน และตี ๕ และอีกหลายครั้งในตอนกลางวัน เพราะเมื่อปลาติดในหลี่แล้วเขาต้องรีบจับมันใส่กล่องน้ำแข็งให้เร็วที่สุดเพื่อให้ปลาสด

lilastscene08

ลูกชายชาวประมงซึ่งเป็นเจ้าของหลี่กำลังเฝ้าหลี่เพื่อป้องกันชาวประมงคนอื่นที่ผ่านมาขโมยปลา

ในปีที่ดีนั้นชาวประมงอาจจับปลาได้หลายตันด้วยหลี่เพียงอันเดียว  การจับปลานี้เลี้ยงครอบครัวไปได้หลายเดือน และยังอาจทำให้พวกเขามีเงินลงทุนเล็กน้อยเพื่อซื้อเรือลำใหม่ หรือตู้แช่แข็งใบใหม่  อย่างไรก็ตามถ้าระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มขึ้นรวดเร็วเกินไป หลี่ก็อาจถูกทำลายเสียหายก่อนที่ฝูงปลาจะมาถึงน้ำตก หากเป็นเช่นนั้นชาวบ้านไม่เพียงแต่เสียโอกาสในการจับปลา พวกเขายังต้องสูญเสียเงินลงทุนสร้างหลี่ใหม่ด้วย ซึ่งเป็นมูลค่าเท่ากับรายได้หลายเดือนทีเดียว

lilastscene09

ชาวประมงปีนขึ้นจากแม่น้ำเมื่อสิ้นสุดวัน  สำหรับชาวประมงที่ไม่มีเครื่องมือจับปลาแบบดั้งเดิมเป็นของตัวเอง การจับปลาในช่วงฤดูฝนโดยการทอดแหก็ได้ผลดีเช่นกันเพราะมีปลาอยู่เกือบทุกหนแห่ง

lilastscene10

ในยามว่างชาวประมงมักดำน้ำโดยมุดหัวลงไปใต้น้ำ กลั้นหายใจให้นานที่สุด แม้จะดูเหมือนเป็นการละเล่น แต่ก็เป็นการฝึกฝนไปในตัวสำหรับการงมหาหินใต้น้ำเมื่อต้องการนำมาสร้างหลี่

lilastscene11

ชาวประมงที่ไม่มีหลี่ของตัวเอง บางคนจะใช้ฉมวกแทงปลาตามแอ่งน้ำเป็นอาหารและขายเป็นรายได้ในช่วงก่อนฤดูฝน เมื่อแอ่งน้ำกลายเป็นสายน้ำเชี่ยวพวกเขาจะไปเป็นแรงงานขนส่งปลาให้แก่พ่อค้าคนกลาง

lilastscene12

การจับปลาด้วยหอกเป็นวิธีจับปลาหลักในช่วงฤดูแล้งซึ่งน้ำในแม่น้ำโขงลดต่ำลง เป็นงานที่อันตรายมาก มีชาวประมงเพียงไม่กี่คนที่ชำนาญมากพอจะจับปลาด้วยวิธีนี้ได้อย่างปลอดภัยในชุมชนท้องถิ่นที่หาเลี้ยงชีพตามแบบแผนของแม่น้ำซึ่งดำเนินมาอย่างยาวนาน หัวหน้าแต่ละชุมชนยังเรียกขานกันว่า “สหาย” และครอบครัวทั้งหลายก็ดำรงชีวิตอยู่ด้วยปลาร้าเป็นหลัก  ปลาร้าทำจากปลาตัวเล็กตัวน้อยที่ไม่ค่อยเป็นที่ต้องการจากการจับปลาในแต่ละปี  ส่วนปลาตัวใหญ่กว่าจะถูกแยกออกและมีพ่อค้าจากตลาดใกล้ปากเซมาแย่งกันซื้อด้วยความอยากทำกำไรในฤดูกาลจับปลา

lilastscene13

ปลานานาชนิดที่จับได้ในช่วงกลางคืนจากหลี่ต่าง ๆ จะถูกเจ้าของนำมาเรียงไว้บนหาดหินในตอนเช้า รอพ่อค้าปลาจากฝั่งมารับซื้อ

lilastscene14

ชาวประมงช่วยกันยกปลาที่จับได้ขึ้นเรือของพ่อค้า จากนั้นถ่ายสู่รถปิกอัปเพื่อขนปลาทั้งหมดไปยังปากเซซึ่งเป็นตลาดใหญ่กว่า

ขณะที่นักสิ่งแวดล้อมคร่ำครวญถึงการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพที่กำลังจะเกิดขึ้นทั้งจากโครงการสร้างเขื่อน
และการจับปลามากเกินไป ภาพชุดนี้ก็จะเป็นทั้งการเฉลิมฉลองและการไว้อาลัยต่อการสิ้นสุดของประเพณีเก่าแก่อันเป็นรอยแผลแห่งความสูญเสียที่เกิดจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

การห้ามวางหลี่เพื่อประโยชน์ต่อการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ คือคำเตือนภัยล่วงหน้าถึงวิกฤตอันใหญ่หลวงของภูมิภาคและมนุษยชาติ เมื่อชาวบ้านหลายพันคนผู้เคยสามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ อาจถูกผลักดันด้วยความยากจนและความหิวโหยให้อพยพไปยังประเทศอื่น ๆ ในอนุภูมิภาคของแม่น้ำโขง

หลี่เป็นทั้งตัวบ่งชี้จำนวนปลาที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ และยังเป็นเครื่องมือแสดงถึงความยั่งยืนของประเพณีการจับปลา
หลี่จึงอาจถือเป็นสัญลักษณ์ของความอยู่รอดในช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอน

lilastscene15

เจ้าหน้าที่กรมประมงของจังหวัดจำปาศักดิ์บังคับเจ้าของหลี่ในเขตสี่พันดอนลงชื่อในเอกสารสั่งให้ลดและเลิกการจับปลาด้วยหลี่และเครื่องมืออื่น ๆ อีกสามชนิด การสั่งห้ามเริ่มมีผลนับจากปี ๒๕๕๖ และห้ามจับปลาด้วยหลี่อย่างสิ้นเชิงในปลายปี ๒๕๕๗

lilastscene16

แม้จะมีการสั่งห้ามจับปลาบึกออกมาเมื่อไม่นานนี้ แต่ชาวประมงต่างก็ยังติดใจเนื้อของมัน และยังแอบจับอย่างผิดกฎหมาย พวกเขาจะสับปลาเป็นชิ้น ๆ ให้ไม่รู้ว่าเป็นปลาอะไรเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกจับกุม ในภาพนี้เชื่อว่าเป็นปลาบึกหนึ่งในสี่ตัวที่จับได้ในฤดูกาลของปี ๒๕๕๖