อรอุมา ศิลป์วัฒนานุกูล : เรียบเรียง
ประเวช ตันตราภิรมย์ : ภาพ

๓๐ ปีที่รอคอย กับ ๓๐ เรื่องราว กว่าจะเป็น หุ่นกระบอกตะเลงพ่าย

นับเป็นการรอคอยที่คุ้มค่า กว่าที่หุ่นกระบอก “ตะเลงพ่าย” ฝีมือรังสรรค์ของ “อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต” และคณะ จะได้เบิกโรงต้องใช้เวลากว่า ๓๐ ปี ผู้ชมหลายคนต้องตะลึงพรึงเพริดในความวิจิตรตระการตาของฉาก แสง สี เสียง ท่วงทำนองดนตรี และการขับร้องสอดประสานกับท่วงท่าร่ายรำของผู้เชิด ที่ใส่จริตงดงามราวมีชีวิตให้หุ่นได้เฉิดฉายพริ้งพรายยามแสงไฟต้องเครื่องปักอัญมณีเหล่านี้ล้วนผ่านการคิดและลงมือทำจากความรักที่มีของนายช่างเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ก่อนที่ใครหลายคนจะได้ชมการแสดงอย่างเป็นทางการในอนาคต เราขอชวนให้ท่านแง้มประตูดูเรื่องราวของหุ่นกระบอกตะเลงพ่ายด้วยกัน

talengpai02 talengpai03


ในปี ๒๕๓๒ หลังปิดการแสดงหุ่นกระบอกเรื่อง “สามก๊ก” ตอนโจโฉแตกทัพเรือ ที่หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติ สร้างความชื่นชมและประทับใจจากผู้ชมอย่างล้นหลาม และสร้างความสุขใจให้กับครูอาวุโสผู้สร้างสรรค์ผลงาน เพื่อนมิตรศิษย์ครูผู้อยู่เบื้องหลังผลงานหุ่นกระบอกของอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ได้ล้อมวงพูดคุยกันว่า อยากแต่งเรื่องใหม่เพื่อประกอบการแสดงหุ่นกระบอกอีกครั้ง


ครูบุญยงค์ เกตุคง ศิลปินแห่งชาติและผู้คุมวงปี่พาทย์ของคณะ เป็นผู้จุดประกายให้เกิดการแสดงหุ่นกระบอกชุดใหม่ขึ้น ครูประยงค์ กิจนิเทศ มือตะโพนประจำวง จึงแนะขึ้นว่าเห็นควรจะทำเรื่องตะเลงพ่าย เพราะได้ออกภาษาเป็นที่สนุกสนาน


คุณต๋อง วัลลภิศร์ สดประเสริฐ มือขวาของอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต และรองประธานมูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต เป็นผู้ประพันธ์บทตะเลงพ่ายด้วยกลบทกลอนแปด เมื่อปี ๒๕๓๒ หลังปิดฉากหุ่นกระบอกสามก๊ก ตอนโจโฉแตกทับเรือ ทั้งยังถือบังเหียนเป็นทั้งโปรดิวเซอร์ ทำหุ่น ทำฉาก และงานช่างฝีมือต่างๆ


หุ่นกระบอกตะเลงพ่ายเปิดแสดงครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๔๖โดยอาจารย์จักรพันธุ์ได้เปิดบ้านไม้ในซอยสุขุมวิท ๖๓ ให้ชมการซ้อมหุ่นฟรีทุกวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือน ณ ลานใต้ถุนบ้านที่ถูกประยุกต์ให้เป็นโรงละครชั่วคราว และหยุดแสดงไปเมื่ออาจารย์จักรพันธุ์ล้มป่วยด้วยภาวะเส้นเลือดในสมองตีบ เมื่อปี ๒๕๕๘

talengpai04 talengpai05


หลังจากการฝึกซ้อมหุ่นต้องหยุดพักไป ก็เกิดคำถามคาใจของผู้ชมว่า ชีวิตนี้จะมีโอกาสได้ชมหุ่นกระบอกตะเลงพ่ายแบบเต็มรูปแบบหรือไม่ จนกระทั่งคุณบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน เสนอตัวที่จะจัดรอบพิเศษ นับเป็นการกลับมาเปิดโรงหุ่นอีกในรอบ ๔ ปี ทำให้หลายคนมีความหวังอย่างเต็มเปี่ยมที่จะได้ชื่นชมการแสดงอันทรงคุณค่านี้สักครั้ง


การแสดงหุ่นกระบอกตะเลงพ่ายรอบปฐมทัศน์อย่างเต็มรูปแบบ พร้อมฉาก แสง สี เสียง เป็นการเบิกโรงมหรสพสาธิต จักรพันธุ์ โปษยกฤต พิพิธภัณฑ์ ณ ถนนสุขาภิบาล ๕ เขตสายไหม จัดแสดงเฉพาะรอบพิเศษ โดยมีบริษัทต่างๆ เข้ามาอุปถัมภ์รอบการแสดงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา และเมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๒ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการแสดงด้วยพระองค์เอง


บทหุ่นกระบอกตะเลงพ่ายไม่ใช่บทเดียวกันกับ “ลิลิตตะเลงพ่าย” แต่เป็นการเขียนขึ้นใหม่โดยรวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์จากพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาไทยรบพม่า พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประดิษฐ์อักษรนิติ์ และคำให้การชาวกรุงเก่า และแต่งเสริมเติมเรื่องราวตามตำนานเล่าขาน โดยใช้เพลงหุ่นกระบอกขับบรรยาย เล่าเหตุการณ์ตั้งแต่หลังเสียกรุงให้พม่าไปและจบเรื่องที่สมเด็จพระนเรศวรทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา


คุณต๋อง วัลลภิศร์ ใช้เวลาประพันธ์บทตะเลงพ่ายเพียง ๑ เดือน ทั้งที่ไม่ใช่นักอักษรศาสตร์ แต่สามารถแต่งร้อยกรองด้วยภาษาเก่าให้สำเร็จลุล่วงได้ในเวลาอันรวดเร็ว

talengpai06 talengpai07


เนื้อเรื่องตะเลงพ่ายไม่ได้แต่งขึ้นเพียงเพื่อเล่าประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเพียงเท่านั้น แต่แต่งขึ้นด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ และบูรพกษัตริย์ตลอดจนวีรบรรพชนไทยในอดีต

๑๐
หุ่นกระบอกตะเลงพ่ายเปรียบเสมือนแหล่งรวมศิลปกรรมชั้นสูงของไทย ทั้งทัศนศิลป์ ดุริยางคศิลป์ นาฏศิลป์ วรรณศิลป์ ประณีตศิลป์ ที่มีเหล่าปรมาจารย์ในแต่ละด้านผู้เป็นดั่งยอดหัวแหวนของวงการและเป็นอาจารย์ของอาจารย์จักรพันธุ์ ทั้งด้านหุ่นกระบอก ครูชื้น สกุลแก้ว (เจ้าของหุ่นกระบอกของครูเปียก ประเสริฐกุล ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้อาจารย์จักรพันธุ์สนใจหุ่นกระบอก) และครูวงษ์ รวมสุข (ศิลปินพื้นบ้านดีเด่นและผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม สาขาหุ่นกระบอก เจ้าของหุ่นกระบอกคณะชูเชิดชำนาญศิลป อัมพวา) เป็นผู้สอนเชิดหุ่นให้เสมือนมีชีวิตจิตใจ ทางดนตรีมี ครูบุญยงค์-บุญยัง เกตุคง (ครูบุญยงค์ เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงดนตรีไทย ๒๕๓๑ ได้รับคำยกย่องว่าเสียงระนาดของท่านเปรียบได้กับเสียงของไข่มุกร่วงบนจานหยก ครูบุญยัง เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงลิเก ๒๕๓๔) และครูจำเนียร ศรีไทยพันธุ์ (ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงดนตรีไทย ๒๕๓๖) ทั้งสามท่านเป็นที่ปรึกษาทางเพลงให้กับการแสดงหุ่นกระบอกทุกเรื่อง ภายหลังอาจารย์ทั้งสามท่านเสียชีวิต จึงได้อาจารย์สุเชาว์ หริมพานิช และอาจารย์ไชยยะ ทางมีศรี ศิษย์เอกของอาจารย์บุญยงค์มาช่วย นอกจากนี้อาจารย์เยื้อน ภาณุทัต ปรมาจารย์งานประณีตศิลป์ราชสำนัก ยังเป็นผู้สอนการปักดิ้นเลื่อมให้หุ่นกระบอกออกมาสวยสดงดงามอีกด้วย

๑๑
โครงเรื่องตะเลงพ่ายนั้นวางตามคำแนะนำของอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ที่ท่านเห็นว่าน่าจะมีฉากชนไก่และฉากพระสุบินของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงต่อสู้กับจระเข้ใหญ่ เนื่องด้วยเป็นฉากที่สนุก ตื่นเต้น และดำเนินเรื่องตามฉบับของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่าพระมหาอุปราชาน่าจะท้าพระองค์ดำเล่นชนไก่หลังจากตีเมืองคังแล้ว

๑๒
หุ่นกระบอกตะเลงพ่ายหาญกล้าด้วยการไม่ใช้ฉากยืนเพียงฉากเดียว แต่จะมีการเปลี่ยนฉาก และจัดทำฉากลอยตัวเลื่อนมาประกอบกัน ซึ่งแต่ละฉากผ่านการทุ่มเทฝีมืออย่างประณีต ด้วยเอกลักษณ์ของสกุลช่างจักรพันธุ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งฉากรบ ฉากท้องพระโรงไทยและพม่า ฉากกำแพงแก้วเมืองพม่า เป็นต้น

talengpai08 talengpai09

๑๓

“พระเอยพระบุตรี
จะจากธานีไปเมืองพม่า
จะไปทางไหนจะไปหงสา
ไปอยู่พาราหงสาวดี
พระเอยพระจอมขวัญ
จะจรจรัลไปสักกี่ปี
จะเฝ้านับวันจะเฝ้านับปี
คืนกลับธานีอยุธยา”

เป็นบทเพลงเร็วร้องจับทำนองเพลง “เขมรทุบมะพร้าว”ใส่เนื้อร้องเล่าเรื่องราวพระสุพรรณกัลยาต้องจำเสด็จจากบ้านเกิดเมืองนอนสู่หงสาวดี ตกเป็นบาทบริจาริกาของมังเอิงราชบุตรเพื่อไถ่คืนพระนเรศวร ความเสียสละของพระสุพรรณกัลยาสร้างความประทับใจและอาวรณ์ต่อพระองค์ได้เป็นอย่างดี และนับเป็นปฐมบทของเรื่องตะเลงพ่าย

๑๔
บทพระสุพรรณกัลยาเสด็จไปพม่าเป็นจังหวะสนุกสนาน ออกเพลงเร็วสาวสวย เพื่อสร้างภาพจำให้คนดูรู้สึกเหมือนเป็นตำนานที่เด็กร้องเล่นกันมาแต่ครั้งอยุธยา หากแต่มีความเศร้าที่แฝงอยู่ในท่วงทำนอง เพราะผู้ชมรู้อยู่แก่ใจว่าการเสด็จครั้งนี้เป็นการไปแล้วไปลับ

๑๕
หุ่นกระบอกพระสุพรรณกัลยาเป็นองค์เดียวที่พระเนตรเป็นแก้ว ยามต้องแสงจึงพริบพราวเป็นประกายราวมีชีวิต ส่วนเครื่องประดับศิราภรณ์ก็เป็นเงินประดับด้วยอัญมณีแท้ โดยเฉพาะรัดเกล้าประดับทับทิมสยาม ใบหน้าสวยวาดตามสกุลช่างจักรพันธุ์ ประณีตงดงามจนสะกดสายตาผู้ชม ท่ารำกรีดกรายอ่อนช้อยยิ่งทำให้ผู้ชมคล้อยตามกับความอาวรณ์ที่มีของขัตติยนารีผู้เสียสละ

๑๖
อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ได้เห็นหุ่นกระบอกครั้งแรกจากการแสดงของนายเปียก ประเสริฐกุล เรื่องพระอภัยมณี ทางโทรทัศน์ ขณะนั้นอาจารย์อายุ ๑๒ ปี ศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย จากครั้งนั้นก่อเกิดเป็นความสนใจ จนได้ทำหุ่นกระบอกขึ้นเองจากวัสดุต่างๆ เช่น เปลือกหอย เปลือกไข่ ไม้ระกำ ใช้ด้ามพู่กันที่เสียแล้วทำแกนตัว และทำฉากหุ่นมีประตูสำหรับหุ่นเข้าออก และเล่นเองดูเองผ่านกระจกเงา และได้มีโอกาสรู้จักกับครูชื้น สกุลแก้ว เจ้าของหุ่นกระบอกคณะนายเปียกฯ ที่กรุณาขายศีรษะหุ่นให้ และอาจารย์นำมาซ่อมจนสมบูรณ์ นับเป็นต้นแบบของหุ่นกระบอกให้กับคณะในเวลาต่อมา

talengpai10 talengpai11

๑๗
หุ่นตะเลงพ่าย เป็นลักษณะหุ่นออกภาษา (พม่ามอญ) สีหน้าของหุ่นแต่ละตัวมีเอกลักษณ์แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ทั้งยังใส่รายละเอียดในส่วนของโหนกแก้ม ถุงใต้ตา ไฝ กระ รอยย่นบนใบหน้า ใช้สัดส่วนย่นย่อให้ใกล้เคียงกับสัดส่วนมนุษย์มากที่สุด

๑๘
หลายท่านคงจะได้เห็นตัวละครหุ่นกระบอกในลิลิตตะเลงพ่าย และแปลกใจว่าเหตุใดทั้งพระนเรศวรและพระมหาอุปราชา รวมทั้งหุ่นอื่นๆ จึงมีลักษณะออกไปทางจีนเสียมาก นั่นเป็นเพราะได้รับอิทธิพลจากตัวละครหุ่นกระบอกสามก๊กมาผสมผสาน ทั้งการเขียนใบหน้าแบบอุปรากรจีนและบุคลิกลักษณะ

๑๙
เครื่องประดับหัวหุ่นตัวเอกใช้อัญมณีจริงในการสร้าง เช่น เครื่องประดับหัวหุ่นพระนางสุพรรณกัลยา สมเด็จพระนเรศวร และสมเด็จพระเอกาทศรถ ที่สร้างจากเงินแท้ฝังอัญมณีจริง รวมทั้งการติดผมจริงโดยเรียงเส้นผมไปตามทางเดียวกับหัวหุ่นให้ดูเป็นธรรมชาติ ซึ่งเราจะเห็นความพลิ้วสลวยสมจริงนี้ได้ในฉากระบำพม่า

๒๐
ถุง หรือเสื้อผ้าอาภรณ์ เป็นส่วนสำคัญและสร้างความสวยงามให้หุ่นเป็นอย่างมาก โดยอาจารย์เยื้อน ภาณุทัต เป็นผู้สอนกรรมวิธีการปักดิ้นเลื่อมไหมทอง ทองแล่ง ตลอดจนวิชาการปักตามอย่างงานฝีมือชาววังแต่โบราณ สำหรับหุ่นตัวเอกและหุ่นตัวรองบางตัวจะใช้อัญมณีจริงในการปัก ตัดเย็บที่เป็นลวดลายเฉพาะ เช่น ชุดรบพระนเรศวรเป็นลายยันต์พิชัยสงคราม หุ่นกระบอกทหารใช้การพิมพ์ลายและลงสีอีกชั้น

talengpai12

talengpai13

๒๑
เสื้อผ้าของหุ่นมีเอกลักษณ์และสมจริง เพราะใส่ใจทุกรายละเอียด เหมือนหุ่นกำลังสวมเครื่องแต่งกายจริงๆ เช่น ชุดลำลองหุ่นของพระนเรศวร มีลักษณะด้านในเป็นคอจีนตัดเย็บจากผ้าพื้นสีดำ เย็บซ้อนด้วยเสื้อคลุมผ้าพื้นสีแดงด้านนอก เสื้อหุ่นฝ่ายพม่ามอญแม้จะไม่วิจิตรอลังการ แต่ก็มีรายละเอียดเด่นชัด เห็นครั้งแรกเป็นต้องเตะตา ต้องใจ และสร้างภาพจำให้กับคนดู

๒๒
หุ่นกระบอกของอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต นับได้ว่าเป็นหุ่นกระบอกคณะแรกที่ประดิษฐ์กลไกให้หุ่นสามารถเลียนแบบท่าทางมนุษย์ได้คล้ายคลึงที่สุด สืบเนื่องจากการที่อาจารย์จักรพันธุ์ได้รับมอบหมายจากกรมศิลปากรให้ซ่อมแซมหุ่นหลวงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จึงมีโอกาสศึกษาระบบกลไกต่างๆ ของหุ่นหลวง และได้นำความรู้ที่ได้จากการศึกษากลไกหุ่นหลวงมาประยุกต์ผสมผสานกับหุ่นกระบอก ในการแสดงครั้งนี้เราจึงจะได้เห็นหุ่นตะเลงพ่ายกรีดนิ้วร่ายรำ หยิบจับสิ่งของ ชักดาบออกจากฝัก ไปจนถึงหลั่งทักษิโณทกจริงจากสุวรรณภิคาร (คนโทน้ำ)

๒๓
รูปแบบการแสดงเป็นแบบสามมิติ สามารถมองเห็นได้ทุกด้าน เครื่องประกอบฉากหุ่นก็มีลักษณะเป็นของจริงย่อขนาดเล็ก เช่น พระวอสีวิกากาญจน์ ที่สามารถนำหุ่นพระสุพรรณกัลยาเข้าไปเชิดด้านในได้ หรือการออกแบบกลไกให้สามารถเชิดหุ่นบนหลังช้างศึก หากแต่ไม่ใช่การเชิดด้วยท่วงท่าธรรมดาเท่านั้น แต่เป็นการเชิดด้วยท่าทางการต่อสู้ จับอาวุธของ้าวฟาดฟัน

๒๔
“พระพุทธมหาปารมีนุภาพพิสุทธิ์อนุตตรสังคามวิชัย” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยจำลองจากองค์จริง ใช้เป็นพระประธานในฉากพระนเรศวรทรงประกาศอิสรภาพ องค์พระพุทธรูปงดงามด้วยพุทธลักษณะ แฝงเอกลักษณ์ศิลปะช่างสกุลจักรพันธุ์อย่างเด่นชัด นับเป็นครั้งแรกที่อาจารย์จักรพันธุ์ออกแบบและจัดสร้างพระพุทธรูปเพื่อเช่าบูชา หารายได้เป็นกองทุนทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนจัดสร้างพิพิธภัณฑ์เพื่อรวบรวมผลงานของอาจารย์

talengpai14

talengpai15

๒๕
การแสดงหุ่นกระบอกตะเลงพ่ายใช้วงปี่พาทย์ในการบรรเลง โดยได้ครูบุญยงค์-ครูบุญยัง เกตุคง และครูจำเนียร ศรีไทยพันธุ์ สามศิลปินแห่งชาติมาประชุมเพื่อบรรจุเพลงให้หุ่นกระบอกเรื่องนี้ ทั้งยังมีการเพิ่มกลองศึก กลองจีน กลองทัด เพื่อใช้ตีโต้ตอบเวลาสู้รบ แตรฝรั่งใช้เป็นเสียงช้างศึก เรียกได้ว่าทุกโสตสัมผัสเกิดจากการเล่นสด ไม่มีการเปิดซาวนด์ช่วยแต่อย่างใด

๒๖
มีการนำเพลงออกภาษาสำเนียงพม่า และเพลงพม่าพื้นเมือง รวมถึงสอดแทรกภาษาพม่าในบทสนทนา เพื่อให้หุ่นมีลักษณะออกภาษาเพิ่มอรรถรส ความน่าสนใจและสมจริง

๒๗
หุ่นกระบอกสัตว์ในเรื่องตะเลงพ่าย ทั้งช้างศึก ม้าศึก ไก่ชน สร้างเลียนแบบการเคลื่อนไหวของสัตว์ได้อย่างละเอียดลออ โดยใช้การร้อยเชือกเพื่อเป็นกลไกบังคับการเคลื่อนไหว เราจะได้เห็นช้างศึกฟาดงวง ฟาดงา สะบัดหู สะบัดหาง ไปจนถึงกะพริบตา ประหนึ่งยกช้างทั้งโขลงมาไว้บนเวที

๒๘
การแสดงหุ่นกระบอก “ตะเลงพ่าย” ครั้งนี้ใช้หุ่นกระบอกกว่า ๒๐๐ หุ่น จึงต้องมีการบริหารจัดการประชุมวางแผนในการจัดตำแหน่งต่างๆ ให้กับผู้เชิด เพื่อป้องกันความชุลมุน และเป็นการจัดขบวนที่สวยงาม

talengpai16

talengpai17

๒๙
การแสดงกินเวลา ๔ ชั่วโมงเต็ม ฟังดูเหมือนยาวนาน หากแต่เป็นช่วงเวลาที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความวิจิตรอลังการ สนุกสนาน โศกเศร้า ตื่นตาตื่นใจ หลายบทหลายฉากทำให้ผู้ชมนั่งไม่ติด และไม่มีใครคาดคิดว่าการแสดงหุ่นกระบอกจะสร้างความหฤหรรษ์ใจได้เทียบเท่าการแสดงแขนงอื่นๆ ที่มีความยิ่งใหญ่กว่ามาก

๓๐
ติดตามข่าวการจัดแสดงหุ่นกระบอกตะเลงพ่ายในระยะต่อไป พร้อมการเปิดตัวพิพิธภัณฑ์จักรพันธุ์ โปษยกฤต อย่างเป็นทางการ นอกจากจะเป็นพิพิธภัณฑ์ถาวรที่รวบรวมผลงานของศิลปินเอกแห่งยุคอันทรงคุณค่าไว้แล้ว ยังมีโรงละครสำหรับจัดแสดงหุ่นกระบอกที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งแรกในประเทศ และมีแผนเปิดสอนเชิดหุ่นและดนตรีไทยให้กับผู้ที่สนใจในอนาคต

ส่วนใครรอไม่ไหว ช่วงนี้มีการจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนครั้งที่ ๒ ชุด “หุ่นกระบอก ตอนโจโฉแตกทัพเรือ” ที่บ้านอาจารย์จักรพันธุ์ สุขุมวิท ซอยเอกมัย ไปชมได้จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ (อ่านเพิ่มเติมที่เว็บไซต์นายรอบรู้ http://bit.ly/2k7Xhsz)

ขอขอบคุณ

  • ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน)
  • บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)

ข้อมูลประกอบการเขียนจาก

  • มูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต
  • บทความ “การพัฒนาหุ่นกระบอกของจักรพันธุ์ โปษยกฤต : กรณีศึกษาหุ่นกระบอกสามก๊กและหุ่นกระบอกชุดตะเลงพ่าย” โดย ดนัย อิ่มสุวรรณวิทยา วิทยานิพนธ์ตามหลักสูตรปริญญาศิลปมหาบัณฑิต สาขาวิชาทฤษฎีศิลป์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร